xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แก้ รธน.นิรโทษม็อบ ข้อเสนอเพี้ยนๆ จาก“นิติราษฎร์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -นับตั้งแต่ได้ประกาศก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2553 คณะ“นิติราษฎร์”อันประกอบด้วยอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 7 คน นำโดยนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ก็มักจะมีข้อเสนออะไรแผลงๆ ออกมาให้สังคมได้แสดงความสมเพชเวทนาในความคิดความอ่านของคนระดับอาจารย์อยู่เสมอ

เมื่อปีก่อนนั้น กลุ่มนิติราษฎร์ ทำตัวเป็นหัวโจกเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ทุกอย่างย้อนกลับไปมีสภาพเหมือนก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549 ด้วยข้ออ้างที่ว่าเพื่อลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร โดยมีการตั้ง “คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112” หรือ ครก.112 ขึ้นมารณรงค์ล่ารายชื่อประชาชนให้ได้ 10,000 ชื่อ เพื่อเสนอสภาผู้แทนราษฎรแก้ไข มาตราดังกล่าว

รวมทั้งมีข้อเสนอเชิงรุกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างอุกอาจ อาทิ ห้ามพระมหากษัตริย์มีพระราชดำรัสต่อประชาชนโดยตรง กำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องสาบานตนว่าจะปกป้องรัฐธรรมนูญก่อนรับตำแหน่งประมุขของประเทศ เป็นต้น

รวมทั้งยังมีข้อเสนอให้ศาล องค์กรอิสระมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าพิลึกกึกกือ เพราะขัดกับหลักการถ่วงดุลของอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ

ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์จึงไม่ได้รับการตอบสนองจากสังคมวงกว้าง แม้แต่รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยที่มีแนวทางสอดคล้องกับกลุ่มนิติราษฎร์มาโดยตลอด ก็ยังไม่รับข้อเสนอ

มาปีนี้ “นิติราษฎร์”ก็มีข้อเสนอที่ชวนอิดหนาระอาใจออกมาอีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา นายวรเจตน์ และนักวิชาการในก๊วน ได้เปิดแถลงข่าวที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอร่างรัฐธรรมนูญ “ว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง”

เนื้อหาสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ร่วมเดินขบวน ชุมนุมทางการเมืองเกี่ยวเนื่องกับการชิงอำนาจรัฐหลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 รวมทั้งบุคคลที่กระทำการโดยมีมูลเหตุจูงใจมาจากความขัดแย้งทางการเมืองหลังรัฐประหาร ที่กระทำความผิดระหว่างวันที่ 19 กันยายน 2549 ถึง 9 พฤษภาคม 2554 (วันที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภา)

ตามร่างรัฐธรรมนูญนี้จะมีคน 2 กลุ่มหลักๆ ที่จะได้รับการนิรโทษกรรม โดยกลุ่มที่หนึ่ง คือผู้ร่วมชุมนุมถูกตั้งข้อหาว่ามีความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.ความมั่นคง ให้พ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง (ตามร่างฯ มาตรา 291/1) และผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกตั้งข้อหาที่มีความผิดฐานลหุโทษ ความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว หรือความผิดที่ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ให้พ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงเช่นกัน(ตามร่างฯ มาตรา 291/2)

กลุ่มที่สองคือ ผู้ชุมนุมที่กระทำความผิดอัตราโทษสูงกว่ากลุ่มแรก หรือ ผู้ที่ไม่ได้ร่วมชุมนุมโดยตรง แต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังการยึดอำนาจวันที่ 19 กันยายน 2549 หรือการแสดงความคิดเห็นเป็นความผิดตามกฎหมายอันผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ (ตามร่างฯ มาตรา 291/3)

ส่วนการจะตัดสินว่าการกระทำใดมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองตามมาตรา 291/3นั้น ให้ตั้ง “คณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง” ขึ้นมาทำการวินิจฉัย รวมทั้งหากมีข้อสงสัยว่าการกระทำใดเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรมตามมาตรา 291/1 และ 291/2 หรือไม่ ก็ให้คณะกรรมการฯ นี้วินิจฉัยเช่นกัน
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ ถือว่าอำนาจแก่คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งอย่างมากมาย จนล่วงล้ำไปถึงอำนาจของศาลได้ โดยในระหว่างที่คณะกรรมการขจัดความขัดแย้งทำการวินิจนั้น หากผู้กระทำความผิดอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ให้ระงับกระบวนการพิจารณาคดีไว้ก่อน ส่วนผู้ที่ถูกตัดสินโทษไปแล้วก็ให้ระงับโทษชั่วคราวและปล่อยตัวโดยทันที

นอกจากนี้ ยังให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งมีผลผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร และไม่อาจเป็นวัตถุในการพิจารณาขององค์กรตุลาการหรือองค์กรอื่นใด

รวมทั้งให้รัฐสภาเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความบทบัญญัติ การตีความของรัฐสภาให้มีผลผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร
นายวรเจตน์อ้างว่า สาเหตุที่ต้องกันอำนาจศาลออกไป ก็เพราะศาลพิจารณาคดีไปตามองค์ประกอบทางกฎหมายไม่ได้พิจารณาถึงมูลเหตุจูงใจที่มาจากความขัดแย้งทางการเมือง

หากพิจารณาตามหลักการถ่วงดุลระหว่าง 3 อำนาจ คือ นิติบัญญัติ(สภา) บริหาร(รัฐบาล) และตุลาการ(ศาล)แล้ว เห็นได้ชัดเจนว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ครั้งนี้ จะดึงอำนาจทั้งหมดไปไว้ที่สภาและรัฐบาลเท่านั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อดูที่มาของกรรมการ ซึ่งกำหนดให้มี 5 คนนั้น ทั้งหมดล้วนแต่มาจากฝ่ายสภาและรัฐบาลทั้งสิ้น แบ่งเป็นคนที่คณะรัฐมนตรีเลือกมา 1 คน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 1 คน ส.ส.ฝ่ายค้าน 1 คน ผู้พิพากษาหรืออดีตผู้พิพากษาที่รัฐสภาเลือกมา 1 คน อัยการหรืออดีตอัยการที่รัฐสภาเลือกมาอีก 1 คน

ซึ่งหากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านออกมาบังคับใช้ คณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง ก็คงไม่ต่างจากร่างทรงของรัฐบาลปัจจุบันนั่นเอง
แม้คณะนิติราษฎร์จะบอกว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ นิรโทษกรรมให้แก่คนทุกสี และไม่นิรโทษกรรมให้แก่บุคคลระดับแกนนำ ผู้สั่งการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับที่กระทำความผิด แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่า กลุ่มคนเสื้อแดง มวลชนฐานเสียงของ นช.ทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง จะได้รับประโยชน์จากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้มากที่สุด

อีกประเด็นที่เห็นถึงความผิดเพี้ยน คือการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตามปกติแล้วจะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหลักการปกครองและบริหารบ้านเมืองในภาพรวม แต่กรณีนี้เป็นเพียงการนิรโทษกรรมให้คนจำนวนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งสามารถที่จะออกเป็นพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) หรือพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ก็ได้

นายวรเจตน์อ้างว่า ที่ต้องเสนอเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เพราะ พ.ร.บ.ปรองดองฉบับอื่นๆ ที่เสนอก่อนหน้านี้ไม่ครอบคลุมและไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่สลับซับซ้อนได้ นอกจากนี้ หากเป็นร่าง พ.ร.บ.อาจมีผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งจะทำให้ล่าช้า และหากเป็นร่างรัฐธรรมนูญแล้วจะไม่ถูกประธานรัฐสภาตีความเหมือนกรณีข้อเสนอแก้ไขมาตรา 112 ที่ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอต่อรัฐสภา แต่ประธานรัฐสภาตีความว่า ไม่เข้าหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ของรัฐธรรมนูญ จึงไม่บรรจุเข้าวาระการพิจารณาของสภา แต่ถ้าเป็นร่างรัฐธรรมนูญประธานรัฐสภาจะไม่บรรจุไม่ได้ เพียงแต่การเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญต้องใช้รายชื่อประชาชน 5 หมื่นชื่อ อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาล หรือ ส.ส. เห็นด้วยก็นำร่างไปเสนอได้เลย

นอกจากนี้ การเสนอตั้งคณะกรรมการขจัดความขัดแย้ง ขึ้นมาทำหน้าที่วินิจฉัยการกระทำที่เข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งการก่อตั้งอำนาจขึ้นมาใหม่ ไม่สามารถก่อตั้งโดยองค์กรระดับ พ.ร.บ.ได้ และการเสนอเป็นรัฐธรรมนูญยังป้องกันรัฐบาลในอนาคตออกกฎหมายระดับ พ.ร.บ.มานิรโทษกรรมด้วย

ข้ออ้างดังกล่าว ย่อมสะท้อนว่า คณะนิติราษฎร์กระเหี้ยนกระหือรือเหลือเกินที่จะใช้วิธีการหักดิบหลักนิติรัฐ และทำลายระบบการถ่วงดุลของสามอำนาจ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของตัวเอง ทั้งที่ปากก็ท่องบ่นมาตลอดว่า ต่อต้านเผด็จการ ต่อต้านการรัฐบประหาร การแก้ไขความไม่ถูกต้องในบ้านเมืองต้องใช้วิธีการที่เป็นประชาธิปไตย


กำลังโหลดความคิดเห็น