xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แก้ รธน.ย้อนยุคไปก่อนปี 40 ยังมีหน้าอ้างประชาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แสดงความกระหายชัดเจนที่จะแก้ไขหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2550
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ถึงแม้ว่า นช.ทักษิณ ชินวัตร จะดึงเกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยืดเยื้อออกไป พร้อมกับมีการเล่นละครในพรรคเพื่อไทยเพื่อสร้างภาพว่าเป็นพรรคที่เปิดโอกาสให้มีความเห็นหลากหลาย ทั้งฝ่ายที่ต้องการให้ทำประชามติก่อน ฝ่ายที่ให้เดินหน้าลงมติวาระ 3 ไปเลย และฝ่ายที่ต้องการให้แก้ไขรายมาตรา แต่กระนั้น จากประเด็นความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่โผล่ออกมา ก็ทำให้เห็นว่า นช.ทักษิณและบริวารยังคงเจตนารมณ์ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ส่วนตัวอยู่เช่นเดิม

แนวทางที่แตกต่างกันภายในพรรคเพื่อไทย เป็นเพียงการถกเถียงกันในเรื่องวิธีการที่จะนำไปสู่การชำเรารัฐธรรมนูญว่าวิธีการใดจะได้ผลที่สุดเท่านั้น ไม่ได้เห็นต่างกันในเรื่องเนื้อหาหรือประเด็นที่จะแก้ไขแต่อย่างใด

นั่นเพราะประเด็นต่างๆ ที่ถูกนำเสนอออกมานั้น ล้วนแต่มีความสอดคล้องกัน จะแตกต่างกันก็เพียงประเด็นปลีกย่อยเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นที่ออกมาจากปากของนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ หรือนายโสภณ เพชรสว่าง ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร

นายจารุงพงศ์กล่าวในการเปิดสัมมนาพรรคเพื่อไทยที่เขาใหญ่ เมื่อวันที่ 6 ม.ค.อ้างว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยเนื่องจากรัฐธรรมนูปี 2550 มีเจตนารมณ์ทำลายระบบตรวจสอบถ่วงดุลผ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ มีความพยายามเพิ่มอำนาจองค์กรอิสระ โดยที่ผู้บริหารองค์กรอิสระไม่เชื่อมโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2550 ใช้อำนาจเกินขอบเขต และมุ่งทำลายพรรคการเมืองที่ประชาชนไว้วางใจ ด้วยความพยายามยุบพรรคการเมืองอย่างง่ายดาย รัฐธรรมนูญยังสร้างอุปสรรคปัญหาและทำความคล่องตัวในการทำข้อตกลงระหว่างประเทศจนเกิดความล่าช้าในการสร้างความร่วมมือ

นายจารุพงศ์อ้างว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ได้วางกับดักทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในเรื่องการทำประชามติ จนทำให้กระบวนการแก้เป็นไปด้วยความยากลำบาก รัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นใจกลางความขัดแย้ง และเป็นเหตุวิกฤตที่จะนำมาให้เกิดความไม่เสถียรภาพ และเป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ

คำกล่าวของนายจารุพงศ์ในพิธีเปิดงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยดังกล่าว เป็นเหมือนคำประกาศแนวทางของพรรคว่า รัฐธรรมนูญ 2550 จะต้องถูกแก้ไขในประเด็นใดบ้าง

ซึ่งโดยหลักการก็ไม่ได้แตกต่างกันเลยกับสิ่งที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เสนอแนวคิดให้แก้ไข 9 ประเด็น รวม 81 มาตรา เพียงแต่ ร.ต.อ.เฉลิมเสนอให้แก้ไขรายมาตรา แทนที่จะตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างใหม่

ข้อเสนอทั้ง 9 ประเด็นของ ร.ต.อ.เฉลิมนั้น ประกอบด้วย 1. ยกเลิกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2.ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 3.ศาลรัฐธรรมนูญให้คงอยู่แต่เป็นแผนกหนึ่งของศาลฎีกา 4.ศาลปกครองให้เป็นแผนกหนึ่งในศาลฎีกา 5. ยุบผู้ตรวจการแผ่นดิน

6.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ยังมีอยู่ แต่ให้มาจากการเลือกตั้งของรัฐสภา อยู่คราวละ 4 ปี และต้องตรวจสอบได้ 7.คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)มาจากเลือกตั้งของรัฐสภา ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี อยู่บนเงื่อนไขที่ตรวจสอบได้ 8.แก้ไขมาตรา 190 ไม่ต้องขออำนาจจากรัฐสภาในการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ เนื่องจากบั่นทอนการทำงานของรัฐบาล และ 9.แก้ไขมาตรา 237 ไม่ให้มีการยุบพรรรคการเมือง เพราะพรรคการเมืองต้องคงไว้เป็นสัญลักษณ์

จะเห็นได้ว่าข้อเสนอ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ล้วนแต่ตอบโจทย์ที่นายจารุพงศ์ตั้งไว้ในงานเปิดสัมมนาพรรคเพื่อไทยทั้งสิ้น

เช่นเดียวกับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายโสภณ เพชรสว่าง ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นประธาน

นายโสภณได้แถลงที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้มีข้อสรุปเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยมีสาระสำคัญ คือ ที่มาของ ส.ส. ส.ว.จะย้อนกลับไปใช้แบบปี 2540 คือ มี 700 คน แยกเป็น ส.ส.500 คน (ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน) ส่วน ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน

นอกจากนี้จะเสนอให้มีการยุบศาลรัฐธรรมนูญ แล้วกลับไปใช้ ตุลาการรัฐธรรมนูญให้มีอำนาจเพียงการตีความกฎหมายที่ขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หรือการขัดกันระหว่างหน่วยงานของรัฐเท่านั้น ไม่มีอำนาจตัดสินเรื่องของการยุบพรรค โดยที่มาของตุลาการรัฐธรรมนูญ มาจากการคัดเลือกของรัฐสภา มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4-5 ปี

นอกจากนี้จะเสนอให้การยกเลิกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสิน คดีที่เกี่ยวกับการเมืองแทน รวมทั้งให้ยุบผู้ตรวจการแผ่นดิน แล้วให้ ศาลปกครองเป็นผู้ทำหน้าที่แทน

ส่วน ป.ป.ช. จะเสนอให้มีการลดอำนาจลง จากเดิมหลังจากที่ ป.ป.ช.ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดฟ้องศาล หากอัยการสูงสุดมีความเห็นไม่สั่งฟ้อง ป.ป.ช. ก็สามารถยื่นฟ้องเองได้ จะแก้ไขให้อำนาจการสั่งฟ้องอยู่ที่อัยการสูงสุดเท่านั้น ป.ป.ช.ไม่สามารถยื่นฟ้องได้

ส่วนมาตรา 309 นายโสภณระบุว่า จะยกเลิก เพราะเป็นมาตราที่สนับสนุนการทำรัฐประหารโดยไม่มีความผิด เพื่อไม่ให้มีการทำรัฐประหารอีก โดยจะเขียนให้ชัดเจนว่าอำนาจที่ได้มาจากการรัฐประหารถือว่าเป็นการได้มาซึ่งอำนาจโดยมิชอบ แต่จะไม่มีผลย้อนหลังกับคดีความที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ตัดสินไปแล้ว ส่วนคดีที่ยังไม่ตัดสินก็ให้สู้คดีกันไป

ถึงแม้ว่า ข้อเสนอคณะอนุกรรมการฯ ตามที่นายโสภณแถลงจะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างจากข้อเสนอของ ร.ต.อ.เฉลิม แต่ก็ยืนอยู่บนหลักการเดียวกัน นั่นคือ การยุบหรือลดอำนาจองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ และอำนาจตุลาการ รวมทั้งลดอำนาจการตรวจสอบจากภาคประชาชน เพื่อให้นักการเมืองใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจมากขึ้น

ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทางของ ส.ส.เพื่อไทยซีกคนเสื้อแดง ที่เคยเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับ นพ.เหวง โตจิราการ ไว้ตั้งแต่ปี 2551 รวมทั้งข้อเสนอของนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ที่คนเสื้อแดงให้การสนับสนุน ต่างก็ต้องการให้ลดอำนาจของฝ่ายตุลาการที่พวกเขาอ้างว่ามีมากเกินไป และทำให้ภาคการเมืองอ่อนแอ

นช.ทักษิณและเครือข่ายบริวาร เรียกร้องมาตลอดว่า ให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุดกลับมาใช้ใหม่

หลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านั้นไม่มีบัญญัติไว้ นั่นก็คือ การเพิ่มองค์กรอิสระ และเพิ่มอำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลจากภาคประชาชน

องค์กรอิสระหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงหลักการในมาตรา 190 ล้วนแต่เพิ่งมีในรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ นช.ทักษิณและบริวารกลับต้องการให้ยุบหรือลดอำนาจองค์กรอิสระเหล่านี้ จึงเท่ากับเป็นการทำลายหัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2540 นั่นเอง

การกระทำที่ขัดแย้งกันด้วยเหตุและผลเช่นนี้ ย่อมสะท้อนว่า นช.ทักษิณและบริวารไม้ได้ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงตามที่โฆษณาชวนเชื่อ แต่ต้องการแก้ไขเพื่อรวบอำนาจไว้ที่นักการเมืองทุนสามานย์ที่เป็นพรรคพวกของตัวเองเท่านั้น





กำลังโหลดความคิดเห็น