xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปรับเกมแก้ รธน.ถึงอย่างไรก็ต้องเพื่อ“แม้ว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธาน คอ.นธ.เสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญ 2517 เป็นต้นแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันศุกร์ที่ 13 ก.ค. ถึงแม้จะไม่รุนแรงถึงขั้นตัดสินว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่เป็นการกระทำผิดถึงขั้นล้มล้างการปกครอง และมีโทษถึงขั้นยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคการเมือง ตามที่ฝ่ายผู้ถูกร้องวิตกกังวล

แต่คำวินิจฉัยประเด็นที่ 2 ที่ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ สามารถทำได้หรือไม่นั้น ก็ทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญหยุดชะงักไป

คำวินิจฉัยประเด็นที่ 2 นั้น สรุปได้ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 แม้จะเป็นอำนาจของรัฐสภาก็ตาม แต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ ได้มาโดยการลงประชามติของประชาชน ควรที่จะให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ได้ลงประชามติก่อนว่า สมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือรัฐสภาจะใช้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เป็นความเหมาะสมและเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ ซึ่งจะเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 291

หากแปลไทยเป็นไทยอย่างง่ายๆ ก็ต้องบอกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 เพื่อที่จะตั้ง ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ตามที่ได้ดำเนินการโดยผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่ 1 และ 2 มาแล้ว และกำลังจะมีการลงมติในวาระที่ 3 นั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ให้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขแค่รายมาตราเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา เครือข่ายและบริวารของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ชักใยการแก้ไขรัฐธรรมนูญตัวจริง ก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน กรณีว่าจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปอย่างไร

บางส่วนก็เห็นว่า คำวินิจฉัยมีความชัดเจนแล้วว่า การเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขมาตรา 291 ในวาระ 3 นั้น ไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีนั้น เห็นว่า หากเดินหน้าลงมติวาระ 3 พรรคเพื่อไทยจะโดนยุบแน่นอนล้านเปอร์เซ็นต์ การที่ศาลฯ ยังไม่วินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ก็เพราะว่ากระบวนการตามขั้นตอนยังไม่แล้วเสร็จ แต่หากมีการลงมติวาระ 3 ก็จะมีผู้ไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญทันที และถือว่าเป็นความผิดสำเร็จ ถึงเวลานั้นรัฐบาลจะอยู่ยาก

พร้อมแนะนำว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดื้อดึง ให้รัฐบาลพังเร็ว และศาลก็ได้แนะนำแล้วว่า ให้แก้ไขเป็นรายมาตราได้ ก็ไม่ควรจะรีบร้อน เชื่อว่าสุดท้ายแล้วก็ต้องแก้รายมาตรา จะเป็นแนวทางอื่นไม่ได้

เช่นเดียวกับนายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงต้องเดินหน้าต่อ แต่จะเป็นการแก้ไขเพียงบางประเด็นเท่านั้น ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ที่ค้างอยู่ ถือว่าเป็นอันตกไปตามวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และกระบวนการเกิดของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะไม่เกิดขึ้น

ขณะที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร มองว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ชัดเจน เพราะไม่ได้ชี้ขาดว่า การลงมติในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะฉะนั้นจึงต้องให้ฝ่ายกฎหมายศึกษาคำวินิจฉัยก่อน เพื่อหาข้อสรุปว่าสภาจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

ส่วนสายฮาร์ดคอร์ในพรรคเพื่อไทย ได้เสนอให้สภาเดินหน้าลงมติวาระ 3 ไปเลย เช่น นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่เพิ่งพ้นโทษจากคดียุบพรรค หรือนายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำคนเสื้อแดง ที่อ้างว่าศาลไม่ได้ห้ามไม่ให้ลงมติวาระ 3 แค่บอกว่า ควรจะให้ทำประชามติก่อนเท่านั้น พร้อมบอกว่า อย่าไปกลัว เพราะพรรคเพื่อไทยมี 15 ล้านเสียงที่เลือกมา

ข้อเสนอให้สภาเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 นั้น มี “กลุ่มนิติราษฎร์”คอยเป็นหางเครื่องสนับสนุน โดยอ้างว่าคำวินิจฉัยไม่ได้ห้าม รัฐบาลและรัฐสภาควรมีความกล้าหาญในการเปิดประชุมสภา และพิจารณาเดินหน้าลงมติวาระ 3 ในทันที

“กลุ่มนิติราษฎร์”ยังแสดงอาการเหิมเกริมถึงขั้นให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้ตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญจำนวน 8 คน ซึ่งนักการเมืองเป็นคนเลือก มาทำหน้าที่แทน

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ครม.วันที่ 17 ก.ค.มีมติขอให้รอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดก่อน และจะให้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ศึกษาวิเคราะห์และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาในโอกาสต่อไป

ขณะที่รัฐบาลและรัฐสภารอดูคำวินิจฉัยฉบับเต็มอยู่นั้น บริวารของทักษิณส่วนหนึ่งก็ออกมาสร้างกระแสว่า ถ้าแก้รายมาตรา ก็จะทำให้เกิดความล่าช้า ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะแล้วเสร็จ

ซึ่งก็มีคำถามตามมาว่า จะเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญไปทำไม เพราะมีคนทางไกลคอยเร่งรัดมาหรือไม่

ขณะที่เครือข่ายทักษิณอีกซีกหนึ่ง อย่างนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ได้ออกแถลงการณ์แนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 18 ก.ค.เสนอว่ารัฐสภาควรปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญที่รอลงมติในวาระ 3 ตกไป เพื่อไปดำเนินการออกเสียงประชามติว่าหากไม่เอารัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว รัฐบาลจะนำรัฐธรรมนูญฉบับใดมาปรับปรุงแก้ไข และประกาศใช้บังคับแทน ซึ่งเห็นว่าควรนำรัฐธรรมนูญ 2517 มาเป็นตัวเลือก เพราะเห็นว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด มีความก้าวหน้าและเป็นเสรีนิยม ยึดโยงกับภาคประชาชน ที่สำคัญยังถูกร่างขึ้นภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน
  
 ขณะที่นายโภคิน พลกุล อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่เพิ่งพ้นโทษตัดสิทธิทางการเมืองจากคดียุบพรรค และเคยเป็นมือกฎหมายคนสำคัญของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เสนอว่า ทางเลือกที่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรานั้น ควรจะแก้ไขมาตราที่ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเอง อาทิ มาตรา 309 ที่ขัดกับมาตรา 3 และเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่ยึดอำนาจ

นายโภคินอ้างว่า ถ้าแก้ไขมาตรา 309 จะเป็นการสร้างหลักประชาธิปไตยให้ประเทศเดินหน้า ซึ่งไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตามที่ถูกตั้งข้อสงสัย

อย่างไรก็ตาม ทั้งข้อเสนอของนายโภคิน และนายอุกฤษ ล้วนแต่มีเป้าหมายที่จะให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้ประโยชน์

การแก้ไขมาตรา 309 แม้นายโภคินจะอ้างว่า เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตย แต่คนที่จะได้ประโยชน์ไปเต็มๆ คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะหากแก้ไขมาตรา 309 จะเท่ากับยกเลิกผลทางกฎหมายของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ(คตส.) ไปโดยปริยาย
เท่ากับว่า สำนวนคดีทุจริตที่ พ.ต.ท.ทักษิณเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่ง คตส.ได้ทำการสอบสวนและทำสำนวนไว้จะถูกยกเลิกไปด้วย รวมถึงคดีทุจริตที่ดินรัชดาที่ศาลพิพากษาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณไปแล้ว 2 ปี และคดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท

การแก้ไข มาตรา 309 ตามข้อเสนอของนายโภคิน เป็นเป้าหมายที่แท้จริงของการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด ที่เครือข่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณได้ดำเนินการ นับตั้งแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นต้นมา เพราะหากแก้ไขมาตรานี้มาตราเดียวก็จะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศได้โดยปราศจากความผิดและได้ทรัพย์สินคืน

ส่วนการเสนอแก้ไขมาตรา 291 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เป็นเพียงการลดกระแสต่อต้านลงเท่านั้น แต่ถึงอย่างไร รัฐธรรมนูญใหม่ที่จะคลอดออกมา จะไม่มีเนื้อความตามที่ปรากฏในมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างแน่นอน        
        
  ส่วนข้อเสนอของนายอุกฤษ มงคลนาวิน ที่ให้ใช้รัฐธรรมนูญ 2517 เป็นต้นแบบนั้น นอกจากจะเป็นการยกเลิกมาตรา 309 โดยปริยายแล้ว ยังเป็นการยกเลิกระบบตรวจสอบถ่วงดุลจากภาคประชาชน ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และหรือองค์กรอิสระต่างๆ ที่เคยมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เพราะรัฐธรรมนูญปี 2517 ยังไม่ได้วางหลักการและไม่มีมีองค์กรดังกล่าว

หากข้อเสนอของนายอุกฤษเป็นจริง ผลก็คือ สมาชิกสภาหรือนักการเมืองจะกลับมามีอำนาจล้นฟ้าเหมือนเดิม ซึ่งก็เข้าทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แบบเต็มๆ เช่นกัน
นายโภคิน พลกุล อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่เพิ่งพ้นโทษตัดสิทธิทางการเมือง เสนอให้แก้ไขมาตรา 309 เป็นอันดับแรก
กำลังโหลดความคิดเห็น