xs
xsm
sm
md
lg

ศุกร์ 13 คำตัดสิน เด็ดทั้งยวงหรือแค่ปรามอย่าเหลิงอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการออนไลน์ - คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในวันศุกร์ที่ 13 ก.ค.จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งหรือไม่ยังต้องลุ้นระทึก หากเสียงข้างมากชี้ขาดเข้าข่ายล้มล้างการปกครองให้เด็ดทั้งยวงอาจจะกลายเป็นเงื่อนไขฉวยใช้โหมไฟขัดแย้งลุกโชน แต่ถ้าแค่หวังปรามอาจไม่ถึงขั้นสั่งยุบพรรค-ตัดสิทธิทางการเมือง
 
วันนี้ (11 ก.ค.) คำแถลงปิดคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ของฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องถูกส่งถึงมือศาลรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว หลังจากมีการไต่สวนคดีเมื่อวันที่ 5-6 ก.ค. ที่ผ่านมา และศาลนัดฟังคำวินิจฉัยในวันศุกร์ที่ 13 ก.ค.นี้

คดีนี้ ศาลได้กำหนดประเด็นในการพิจารณาไว้ 4 ประเด็น คือ 1) ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้หรือไม่ 2) มาตรา 291 จะถูกแก้ให้นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้หรือไม่ 3) การแก้มาตรา 291 เป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามมาตรา 68 หรือไม่ และ 4) มีการกระทำที่นำไปสู่การยุบพรรค หรือตัดสิทธิทางการเมืองหรือไม่

ทางฝ่ายผู้ร้องจัดทำคำแถลงปิดคดีพร้อมส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ โดยคำแถลงจะเป็นไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญตั้งประเด็นไว้ข้างต้น

ประเด็นแรกว่าด้วยอำนาจการฟ้องร้องตามมาตรา 68 วรรคสอง ยืนยันว่าผู้ร้องมีสิทธิยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง และศาลได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว
 
ประเด็นที่สอง กรณีมาตรา 291 ไม่ได้ให้อำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และไม่สามารถแก้ไขเพื่อเปิดทางให้มีอำนาจนอกระบบ คือ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแทนสมาชิกรัฐสภาที่มาตรา 291 กำหนดไว้ ซึ่งทำไม่ได้

ประเด็นที่สาม มีการเชื่อมโยงพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลที่มีแนวคิดและมีพฤติกรรมหมิ่นสถาบัน และการรับหลักการจากวาระแรกมาจนถึงวาระที่สอง เท่ากับเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญแล้ว หากปล่อยให้มีการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดการรัฐประหารแน่นอน นอกจากนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังเป็นการมุ่งแก้ไขปัญหาให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มากกว่าแก้ปัญหาประเทศชาติ

ส่วนฟากของผู้ถูกร้อง คือ รัฐบาล รัฐสภา และพรรคเพื่อไทยนั้น ในส่วนรัฐสภา เน้นสาระสำคัญในคำแถลงปิดคดี ด้วยประเด็นการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติและเป็นอำนาจโดยชอบของรัฐสภาต่อกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 และชี้ว่า จัดตั้ง ส.ส.ร.เป็นอำนาจโดยชอบของสมาชิกรัฐสภา อีกทั้งกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นการกระทำเข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ตามที่ฝ่ายผู้ร้องกล่าวหาแต่อย่างใด
 
ส่วนพรรคเพื่อไทยได้สรุปประเด็นที่ยื่นแถลงปิดคดี 3 ประเด็นหลัก คือ

1) ยืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เพราะการยื่นคำร้องทั้ง 5 คำร้องไม่ต่างจากครั้งที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.การต่างประเทศ เคยยื่นเรื่องให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น ดังนั้น คำร้อง 5 คำร้องในกรณีนี้จึงต้องทำผ่านอัยการสูงสุดเช่นกัน เพราะมาตรา 68 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ มีโทษฐานเป็นกบฏ ดังนั้น อัยการสูงสุดต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน และไม่มีกฎหมายใดในโลกให้ประชาชนยื่นคำร้องต่อหน่วยงานของรัฐ 2 หน่วยได้ในเวลาเดียวกัน

2. รัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมาวินิจฉัยเรื่องความชอบหรือไม่ชอบในการแก้มาตรา 291 ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถอ้างเรื่องสิทธิการพิทักษ์รัฐธรรมนูญมาเป็นข้ออ้างในการวินิจฉัยได้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญมาวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวเป็นการก้าวล้ำอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการมี ส.ส.ร.มาแก้รัฐธรรมนูญ

3. การแก้ไขมาตรา 291 ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะหมวด 1 และ 2 ตามรัฐธรรมนูญปี 50 ไม่มีการแก้ไข อีกทั้งร่างรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขนั้นก็มีการระบุที่เป็นหลักประกันชัดเจนด้วยว่าเรื่องใดที่ไม่สามารถแก้ไขได้บ้าง

ประเมินแนวทางคำตัดสินของศาลฯ

สำหรับแนวทางคำตัดสินของศาลฯ มีการประเมิน วิเคราะห์กันจากหลายฝ่าย ซึ่งฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทยประเมินการวินิจฉัยของศาลฯ ไว้ 3 แนวทาง คือ
 
ทางแรก ศาลรัฐธรรมนูญจะยกคำร้อง ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าต่อไปได้ ทางที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้เป็นรายมาตรา เพื่อไม่ให้ขัดต่อมาตรา 68 ที่ระบุถึงการล้มล้างการปกครอง และทางที่สาม ขัดต่อมาตรา 68 ซึ่งนำไปสู่การยุบพรรคได้

ขณะเดียวกัน โภคิน พลกุล อดีตกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย และอดีตประธานรัฐสภา คีย์แมนคนสำคัญของพรรคเพื่อไทยในคดีนี้ ประเมินว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญน่าจะออกมาใน 4 แนวทาง คือ 1. ขัดมาตรา 68 และนำไปสู่การยุบพรรค 2. ขัดมาตรา 68 แต่ไม่นำไปสู่การยุบพรรค 3. ข้อเท็จจริงขณะนี้ยังไม่ขัดมาตรา 68 เพราะยังไม่มีการตั้ง ส.ส.ร. และ 4. การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ไม่เข้าข่ายมาตรา 68 ให้ยกคำร้อง

ส่วน วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ ได้ชี้ว่า คำวินิจฉัยของศาลฯ ในวันศุกร์ที่ 11 ก.ค.นี้มีความเป็นไปได้ใน 6 แนวทาง คือ
1) ยกคำร้อง ด้วยเหตุว่า “กระบวนการยื่นคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย” เพราะข้ามขั้นตอน “อัยการสูงสุด”

2) ยกคำร้อง ด้วยเหตุว่า การกระทำ “ไม่เข้าลักษณะการใช้สิทธิเสรีภาพ” แต่เป็นการ “ใช้อำนาจหน้าที่” ศาลจึงไม่สามารถก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยการใช้อำนาจของรัฐสภาได้

3) ยกคำร้อง ด้วยเหตุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ “บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ” ตามมาตรา 291 ศาลจึงไม่อาจนำมาตรา 68 มาวินิจฉัยปะปนกันได้

4) ยกคำร้อง ด้วยเหตุว่า แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเข้าลักษณะการใช้สิทธิเสรีภาพที่ศาลตรวจสอบได้ แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเพียงการคาดคะเน หรือ “มีกระบวนการป้องกันไม่ให้มีการล้มล้างการปกครองฯ ที่เพียงพอ”

5) วินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครองฯ แต่ด้วยเหตุว่าการกระทำของผู้ถูกร้อง (ทั้งหมดหรือบางราย) ยังไม่เสร็จสิ้น หรือยังไม่รุนแรง หรือไม่เกี่ยวโยงกับพรรคการเมือง จึงสั่งห้ามเพียงการกระทำ แต่ไม่สั่งยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมือง

และ 6) วินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครองฯ และสั่งยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคำตัดสินของศาลจะออกมาในทางไหน ก็ล้วนแต่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกใช้เป็นเงื่อนไขในการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงของสองขั้วอำนาจทั้งสิ้น

ถ้าหากศาลวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง และสั่งยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมือง แม้ว่าจะไม่กระทบถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะสถานะของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นเพียง ส.ส.ธรรมดา ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค ไม่เหมือนกรณีรัฐบาลสมชายและรัฐบาลสมัครที่ล้มกระดานไปด้วยกัน แต่เงื่อนไขนี้จะกลายเป็นเชื้อไฟชั้นดีให้แกนนำคนเสื้อแดงใช้ปลุกเร้ามวลชนให้ลุกขึ้นมาทวงถามความเป็นธรรม และหล่อเลี้ยงให้ขบวนการเสื้อแดงเติบใหญ่ต่อไป ซึ่งเวลานี้ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เตรียมพร้อมโชว์เพาฯ เต็มที่

ถ้าหากศาลวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง แต่ไม่ถึงสั่งยุบพรรค และให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา จะดูเหมือนเป็นการพบกันครึ่งทาง แค่ป้องปรามไม่ให้มีการเหลิงอำนาจ พยายามเข้ายึดกุมทั้ง 3 เสาหลักประชาธิปไตย ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ที่เพื่อไทยต้องการล้างตุลาการภิวัฒน์ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับในเวลานี้

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นแนวทางไหน คำตอบสุดท้ายอยู่ที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะพิจารณาตัดสินในวันศุกร์ 13 ก.ค.นี้เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น