xs
xsm
sm
md
lg

8 ตุลาการไร้แรงกดดันทำคำวินิจฉัยส่วนตน ยันยึดผลประโยชน์ชาติเป็นหลัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตุลาการศาล รธน.เริ่มเขียนคำวินิจฉัยส่วนตนแล้ว ระบุ “สบายๆ ไม่กดดัน” เปิดมาตรการเข้มในการประชุมอภิปรายแถลงวาจาและลงมติ ป้องกันคำวินิจฉัยรั่วไหลก่อนนั่งอ่าน ชี้การพิจารณาวินิจฉัยจะเรียงลำดับตาม 4 ประเด็นที่กำหนด ด้าน “โฆษกศาล รธน.” เผยงดประชุมประจำสัปดาห์ เพื่อตุลาการมีเวลาจัดทำคำวินิจฉัย เชื่อตุลาการวินิจฉัยยึดหลักกฎหมาย ข้อเท็จจริงและผลประโยชน์ชาติเป็นหลัก พร้อมยันยังไม่มีตุลาการถอนตัว

วานนี้ (10 ก.ค.) นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีตุลาการคนใดสะท้อนความคิดเห็นต่อกรณีแถลงการณ์ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ระบุถึงการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา เชื่อว่าการวินิจฉัยครั้งนี้ตุลาการฯจะพิจารณาไปตามหลักของข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง และผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และส่วนมองว่ากระแสสังคมมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ไม่แน่ใจว่ากระแสสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีลักษณะอย่างไร และกระแสสังคมที่เกิดขึ้นนั้นเป็นหลักที่ถูกต้องหรือไม่

สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยคณะตุลาการฯ ยังเป็นไปตามปกติทั้งที่บ้านพักและที่สำนักงาน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้ประเมินการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตามสถานการณ์ แต่เบื้องต้นทราบว่ากำลังเจ้าหน้าที่ที่อารักขาตุลาการยังคงเหมือนเดิม ทั้งนี้ ในวันนี้ (11 ก.ค.) จะไม่มีการประชุมคณะตุลาการฯ ประจำสัปดาห์ อย่างที่ได้กระทำเป็นประจำ เนื่องจากนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้สั่งให้สำนักงานไม่ต้องเสนอวาระประชุมขึ้นไป เพื่อให้ตุลาการฯ ทุกคน มีเวลาศึกษาและจัดทำคำวินิจฉัยส่วนตนในคดีนี้ให้แล้วเสร็จ โดยจะมีประชุมอีกครั้งในช่วงเช้าวันศุกร์ที่ 13 ก.ค. เพื่ออภิปรายแถลงด้วยวาจาและลงมติเลย

ด้าน นายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขณะนี้ตุลาการแต่ละคนอยู่ระหว่างศึกษาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพื่อเตรียมเขียนคำวินิจฉัยส่วนตน จึงยืนยันได้ว่าเวลานี้ยังไม่มีตุลาการฯ คนใดถอนตัวจากการนั่งพิจารณาคดีนี้อย่างที่เกิดกระแสข่าว

ขณะที่แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า สำหรับประเด็นในการวินิจฉัยคดีที่ศาลกำหนดไว้ 4 ประเด็นคือ 1. อำนาจฟ้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสอง 2. การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ 3. การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่ และ 4. หากมีการกระทำดังกล่าวจะเป็นเหตุให้มีการยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสาม และวรรคท้ายหรือไม่นั้น การพิจารณาของคณะตุลาการจะพิจารณาเรียงลำดับตามประเด็นที่กำหนดไว้ จะไม่ยกประเด็นใดประเด็นหนึ่งขึ้นมาพิจารณาก่อน และหากตุลาการฯวินิจฉัยแล้วเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 อย่างที่มีการกล่าวอ้าง คณะตุลาการฯ จึงจะนำผลของการกระทำมาพิจารณาว่ามีเหตุให้สมควรยุบพรรคหรือไม่

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะนี้ตุลาการแต่ละคนได้เริ่มลงมือเขียนคำวินิจฉัยส่วนตนของตนเองแล้ว โดยการเขียนคำวินิจฉัยของตุลาการแต่ละคน จะดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่ตุลาการคนดังกล่าวมีความไว้วางใจให้เป็นผู้จัดพิมพ์คำวินิจฉัยให้ และคอมพิวเตอร์ที่ตุลาการใช้จะไม่มีการเชื่อมต่อกับระบบของสำนักงาน หรือเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อป้องกันไม่ให้มีการขโมยข้อมูลได้ ซึ่งในส่วนของนายวสันต์ วานนี้ (10 ก.ค.) ก็ไม่ได้เดินทางเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงาน โดยได้แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าจะเขียนคำวินิจฉัยส่วนตนให้แล้วเสร็จ

สำหรับการนัดฟังคำวินิจฉัยคดีในวันที่ 13 ก.ค. เวลา 14.00 น.นั้น ก่อนที่คณะตุลาการจะออกนั่งบัลลังก์ในเวลาดังกล่าว ตั้งแต่ช่วงเช้าเวลาประมาณ 09.30 น. คณะตุลาการจะมีการประชุมอภิปรายแถลงด้วยวาจาและลงมติ จากนั้นก็จะมีการยกร่างคำวินิจฉัยกลางที่จะนำมาใช้อ่านให้คู่กรณีฟัง ซึ่งกระบวนการประชุมอภิปรายจนถึงการลงมติ ตุลาการจะดำเนินการจนกว่าเสร็จโดยจะไม่มีการออกจากประชุม หรือรับโทรศัพท์ ที่ส่วนใหญ่ตุลาการฯ ก็จะไม่มีการนำโทรศัพท์เข้าไปภายในห้องประชุม ขณะเดียวกันก็จะมีการจำกัดจำนวนเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปอำนวยความสะดวกภายในห้องประชุม และห้ามมีการนำเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดเข้าไปภายในห้อง โดยนอกเหนือจากการตัดสัญญาณโทรศัพท์รอบบริเวณสำนักงานตลอดการประชุมแล้ว บริเวณหน้าห้องประชุมจะมีเครื่องตรวจจับสัญญาณติดตั้งไว้คอยตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง เนื่องจากคณะตุลาการไม่ต้องการให้มีการรั่วไหลของคำวินิจฉัยออกไปก่อนที่จะมีการอ่านคำวินิจฉัย

อย่างไรก็ตาม ในการอ่านคำวินิจฉัยครั้งนี้คณะตุลาการยังเชื่อว่าสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มมวลชนที่จะเดินทางมานั้นไม่น่าจะมีความรุนแรงเหมือนเมื่อครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในคดียุบ 3 พรรคการเมือง จึงไม่ได้มีการเตรียมในเรื่องของเซฟเฮาส์ หรือเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็ก เพื่อรองรับสถานการณ์หากมีการปิดล้อม และจากการสอบถามตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่างก็กล่าวว่า “สบายๆ ไม่กังวล หรือรู้สึกกดดันอะไร รวมทั้งยังพักที่บ้านพักตามปกติ”
กำลังโหลดความคิดเห็น