ผู้ร้องศาล รธน.คดีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชาธิปัตย์เผยทำคำแถลงปิดคดีเสร็จแล้ว 26 หน้า ยื่นศาลบ่ายสามวันนี้ ชู 4 ประเด็นผิดกฎหมาย มั่นใจมีน้ำหนักมากพอ แต่รับถ้าตุลาการยกคำร้องก็ยอมรับได้แม้ไม่เห็นด้วย
วันนี้ (11 ก.ค.) นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ร้องที่ 3 ต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง กล่าวว่า ได้ทำคำแถลงปิดคดีเสร็จสิ้นแล้ว และจะไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวันนี้เวลา 15.00 น. โดยสรุปเอกสารทั้งหมด 26 หน้า ชี้ให้เห็นถึงการกระทำผิดใน 4 ประเด็น ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วางแนววินิจฉัยไว้ คือ 1. ผู้ร้องมีอำนาจฟ้องคดีตามมาตรา 68 วรรค 2 เพราะเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญชัดเจนว่าให้ประชาชนมีส่วนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ย่อมไม่ได้หมายถึงแค่ให้อำนาจการพิจารณาอยู่ที่นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดเท่านั้น การที่ศาลรับคำร้องไว้จึงเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายอัชพร จารุจินดา เลขากฤษฎีกา ก็ยอมรับว่าเจตนารมณ์คือส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญจะแปลแบบศรีธนญชัยว่าต้องร้องโดยใช้ช่องทางของอัยการสูงสุดเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะศาลสามารถวินิจฉัยรับคำร้องด้วยตัวเองได้ด้วย
2. มาตรา 291 ระบุว่า เป็นหมวดการแก้ไขเพิ่มเติม แสดงว่าไม่สามารถทำใหม่ทั้งฉบับได้ ในขณะที่นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย และนายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ยกร่างโดย ส.ส.ร.ประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 50 จะถูกยกเลิกทันที ซึ่งหมายความว่าเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญปี 50 เพื่อจัดทำใหม่ทั้งฉบับ จึงเป็นการกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 291
นอกจากนี้ยังมีประเด็นการได้อำนาจด้วยวิธีนอกรัฐธรรมนูญด้วย เพราะระหว่างการไต่สวนพยานผู้ถูกร้องหลายคนยอมรับว่า หลัง ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ยังเปิดโอกาสให้รัฐบาล ส.ส. และ ส.ว.อยู่ในอำนาจต่อ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญปี 50 จะถูกยกเลิกไปแล้ว เท่ากับว่า ส.ส.และ ส.ว.ซึ่งมาจากรัฐธรรมนูญปี 50 โอนอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติไปให้ ส.ส.ร.เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ล้มรัฐธรรมนูญปี 50 เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ และถือว่าเป็นการกระทำเพื่อให้ได้อำนาจด้วยวิธีการนอกรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 จะต้องแก้เป็นรายมาตรา มีการกำหนดประเด็นชัดเจน แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวนี้ให้อำนาจ ส.ส.ร.เหมือนการตีเช็คเปล่า ไร้หลักประกันว่าจะไม่กระทบต่อโครงสร้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และยังมีการลิดรอนอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และรัฐสภาไปไว้ที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เพียงคนเดียวในการวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร.จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐหรือไม่ ทั้งที่อำนาจวินิจฉัยดังกล่าวควรเป็นของศาลรัฐธรรมนูญ และรัฐสภา เท่ากับเป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจด้วยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด เพราะประธานรัฐสภาไม่ได้มีอำนาจนี้ในรัฐธรรมนูญปี 50
3. กรณีเรื่องการล้มล้างการปกครอง มีการชี้ให้ศาลเห็นถึงขบวนการล้มล้างสถาบันนอกสภาที่เชื่อมโยงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีการยื่นต่อศาลเป็นคลิปภาพและเสียงของบุคคลสำคัญในรัฐบาลหลายคน เพื่อประกอบคำแถลงปิดคดี โดยมีความยาวรวม 23 นาที เช่น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายอภิวันทน์ วิริยะชัย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายจักรภพ เพ็ญแข นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายสุนัย จุลพงศธร นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เพื่อให้เห็นว่ามีกระบวนการทั้งในและนอกสภาที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง และ 4. ส่วนกรณียุบพรรคหรือไม่นั้นเห็นว่า ศาลพิจารณาเองได้ และในคำร้องครั้งแรกตนไม่ได้ยื่นขอให้ยุบพรรค จึงไม่ได้มีการสรุปประเด็นนี้ไว้ในคำแถลงปิดคดี
“ผมความมั่นใจว่า จากการไต่สวนทั้งหมดและการยอมรับของพยานผู้ถูกร้องมีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้ศาลชี้ว่ามีการกระทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และ 291 จึงทำให้คนในรัฐบาลแสดงออกแบบปากกล้า ขาสั่น มีการข่มขู่ศาลเต็มที่ ซึ่งสิ่งที่ผมนำเสนอไม่ได้เป็นการชี้นำศาลว่าต้องตัดสินคดีอย่างไร เพราะคำวินิจฉัยเป็นอำนาจของศาลโดยแท้ ถ้าศาลยกคำร้อง หรือไม่ได้ตัดสินตามที่ผมคิดก็ยอมรับได้แม้จะไม่เห็นด้วย เพราะสังคมจะอยู่รอดก็ต่อเมื่อทุกคนเคารพคำตัดสินของศาล ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายผู้ร้องยึดถือสิ่งนี้มาโดยตลอด และจะไม่มีการปลุกปั่นให้ประชาชนไปคุกคามศาลอย่างที่คนเสื้อแดงและคนในรัฐบาลทำอย่างแน่นอน” นายวิรัตน์กล่าว