xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“แม้ว”เอาเท้าก่ายหน้าผาก ศาลขวางรุมโทรมรธน. เอ่ยปากขอ “นิรโทษกรรม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขณะมีคำวินิจฉัยในวันศุกร์ที่ 13
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- ดีใจกันจนเนื้อตัวสั่นทีเดียวสำหรับคนเสื้อแดง “ชั้นรากหญ้า” หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยใน “วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม 2555” ว่า สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ และไม่มีคำสั่งยุบพรรคเพื่อไทย ก่อนที่จะเพิ่งตื่นจากความฝันในเวลาถัดมาไม่นานนักว่า พวกเขามิได้รับชัยชนะจากคำวินิจฉัยเลยแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำคำ วินิจฉัย ดังกล่าวยังทำให้การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อรัฐไทยใหม่ติดกับดักชนิดไปไม่เป็นเลยทีเดียว

ทั้งนี้ ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะยกคำร้องว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลมิได้เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมิได้มีคำสั่งทางกฎหมายให้มีการยุบพรรคที่เสนอร่างแก้ไขฯ เข้ามา ซึ่งนั่นหมายความว่า รัฐสภาสามารถเดินหน้าโหวตรับร่างฯ วาระ 3 ที่ค้างเติ่งอยู่ในรัฐสภาต่อไปได้ แต่เพียงแค่ 2 ข้อแรกที่ศาลมีคำวินิจฉัย พร้อมมีคำแนะนำเอาไว้ก็เพียงพอที่จะทำให้กระบวนการผลิตรัฐธรรมนูญฉบับรัฐไทยใหม่ต้องมีอันซวนเซเรรวนอย่างไม่เป็นขบวน

ด้วยเหตุดังกล่าว ในเวลานี้ พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึงกับต้องนอนเอา “เท้าก่ายหน้าผาก” กันเลยทีเดียว เพราะจะเดินหน้าหรือจะถอยหลังก็ยังหาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้ เนื่องจากเกรงว่า การขับเคลื่อนดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของรัฐบาลที่กำลังฝันอร่อยถึงงบประมาณก้อนมหึหา

ข้อวินิจฉัย 2 ข้อที่สำคัญยิ่งก็คือ

หนึ่ง-นับจากนี้เป็นต้นไป มิใช่แค่อัยการสูงสุด(อสส.) เท่านั้นที่มีหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญและเป็นเพียงองค์กรเดียวที่สามารถวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นการล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หากแต่เป็นหน้าที่ที่ “ปวงชนชาวไทย” ทุกคนสามารถทำได้

ประเด็นสำคัญที่เกิดจากคำวินิจฉัยข้อนี้มีอยู่ว่า นับจากนี้ต่อไป ศาลรัฐธรรมนูญได้ทำลายกำแพงผูกขาดของ อสส.ลงอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่อ้ายอีผู้ใดต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปวงชนชาวไทยเห็นว่า มีเจตนาที่จะล้มล้างการปกครอง ก็สามารถยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ทันที ซึ่งนั่นหมายความว่า การสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างนักการเมือง รัฐบาลและ อสส.เพื่อที่จะ “เป่าคดี” หรือ “ฆ่าตัดตอน” ให้สะดุดหยุดลงตรงที่สำนักงานอัยการสูงสุดจะไม่สามารถทำได้อีกต่อไป

ดังนั้น กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะมิได้กระทำได้ง่ายๆ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ทำให้รัฐธรรมนูญได้กลายเป็น “สมบัติสาธารณะอย่างแท้จริง”

และนั่นปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่งผลกระทบต่อการเดินทางกลับประเทศไทยของผู้เป็นประมุขแห่งรัฐไทยใหม่โดยที่ไม่ต้องติดคุกติดตะรางจะมิได้ทำได้ง่ายๆ เหมือนที่วาดฝันกันเอาไว้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีการยื่นแก้ไขเข้ามาและมีเรื่องของการนิรโทษกรรมลบล้างความผิดปรากฏ ปวงชนชาวไทยก็จะสามารถยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง

ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องการ “กำจัด” องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น ศาล ป.ป.ช.ฯลฯ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อรัฐไทยใหม่และการเดินทางกลับไทยของประมุขแห่งรัฐไทยใหม่ก็จะไม่สามารถทำได้ง่ายๆ

สอง-ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบ “รายมาตรา” เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถกระทำได้ และมิได้ห้ามเสียด้วยซ้ำไปถ้าหากจะมีการแก้รัฐธรรมนูญด้วยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ แต่การ ที่ศาลรัฐธรรมนูญให้คำแนะนำว่า ถ้าหากจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับควรที่จะต้องทำ “ประชามติ” เพื่อสอบถามความเห็นคนไทยทั้งประเทศ ก็ทำให้การเคลื่อนเกิดความละล้าละลัง เพราะมิใช่เรื่องง่ายสำหรับผลที่จะออกมาว่า เป็นไปตามที่ต้องการหรือไม่ แม้ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ระบอบทักษิณจะผูกขาดชัยชนะการเลือกตั้งมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม

ประเด็นสำคัญที่เกิดจากคำวินิจฉัยข้อนี้มีอยู่ว่า ศาลมีคำแนะนำที่ทรงพลังยิ่งว่า แม้ฝ่ายนิติบัญญัติจะมีอำนาจอันชอบธรรมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าหากต้องการจะแก้ทั้งฉบับควรจะต้องสอบถามความคิดเห็นของปวงชนชาวไทยที่เป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ 2550 เสียก่อน ซึ่งแม้เป็นเพียงข้อเสนอแนะแต่ก็ต้องบอกว่า เป็น “เดดล็อก” ที่มัดตราสังข์เอาไว้อย่างแน่นหนาพอสมควร เพราะถ้าพรรคร่วมรัฐบาลจะดึงดันแก้ต่อไปโดยไม่มีการทำประชามติ ก็สามารถทำให้ประชาชนเข้าใจไปได้ว่า มีการหมกเม็ดหรือมีวาระซ่อนเร้นแอบแฝงอยู่

หรือถ้ามีการทำประชามติโดยกำหนดหัวข้อกว้างๆ ว่า ประชาชนเห็นด้วยกับการแก้ไขหรือไม่โดยไม่ลงรายละเอียด สังคมก็จะตั้งคำถามย้อนกลับไปในทำนองเดียวกันว่า จะมีการหมกเม็ดหรือวาระซ่อนเร้นหรือไม่ เพราะถ้าบริสุทธิ์ใจจริงก็ย่อมต้องนำสิ่งที่จะแก้มาตีแผ่ให้สังคมเห็นเสียก่อน

นอกจากนี้ ถ้าหากนำรายละเอียดออกมาให้เห็นว่าจะแก้ตรงไหนบ้าง เช่น แก้หมวดพระมหากษัตริย์ ยุบหรือจำกัดอำนาจขององค์กรอิสระ เช่น ศาล ป.ป.ช. ฯลฯ โอกาสที่จะได้รับชัยชนะผ่านการทำประชามติก็มิใช่เรื่องง่าย

ขณะเดียวกันชัยชนะที่จะได้รับถ้าหากตัดสินใจทำประชามติจริงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย กล่าวคือ ถ้าหากย้อนกลับไปดู พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 ซึ่งตราขึ้นตามมาตรา 165 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ก็จะพบเงื่อนไขประการสำคัญระบุเอาไว้ในมาตรา 9 ว่า “การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในเรื่องที่จัดทำประชามติต้องมีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น”

ตรงนี้มีความสำคัญยิ่ง

ตรงนี้หมายความว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับผ่านการทำประชามตินั้น จะมีผลสมบูรณ์ทางกฎหมายด้วยเงื่อนไขสำคัญคือ มิใช่จะชนะเพียงแค่มีผู้มาออกเสียงเห็นด้วยเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้ไม่เห็นด้วยเท่านั้น หากแต่ต้องมีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งประเทศ แปลไทยเป็นไทยคือ จะต้องมีผู้มาใช้สิทธิเห็นด้วยกับการแก้ไขมากกว่าจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้มีสิทธิออกเสียงมีจำนวน 40 ล้านคน ก็จะต้องมีผู้มาออกเสียงมากกว่า 20 ล้านคน

ดูตัวเลขย้อนหลังกันสักนิด

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2554 จำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด 46,921,682 คน โดยในการลงคะแนนเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 35,203,107 คนคิดเป็นร้อยละ 75.03 % บัตรเสีย 1,726,051 ใบ คิดเป็นร้อยละ 4.9 ผู้กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน (vote no) 958,052 ใบ คิดเป็นร้อยละ 2.72 ส่วนการลงคะแนนเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 35,119,885 คนคิดเป็นร้อยละ 74.85 % บัตรเสีย 2,039,694 ใบ คิดเป็นร้อยละ 5.79 ผู้กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน (vote no) 1,419,088 ใบ คิดเป็นร้อยละ 4.03

ในจำนวนนี้มีผู้เลือกพรรคเพื่อไทยในระบบบัญชีรายชื่อ 15,744,190 คน พรรคประชาธิปัตย์ 11,433,762 ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วแตกต่างกันไม่มากนัก แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า ถ้าหากสถิติเป็นเช่นนี้ ก็สุ่มเสี่ยงที่ประชามติครั้งนี้รัฐบาลจะมีคะแนนเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งประเทศ ต่อให้รวมพรรคเล็กๆ ที่เหลือคือพรรคชาติไทยพัฒนา 906,656 คะแนน พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน 494,894 คะแนน พรรคพลังชล 178,110 คะแนน หรือพรรคเล็กพรรคน้อยที่เหลืออยู่ เช่น พรรคมาตุภูมิของพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน พรรครักประเทศไทยของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ผลรวมของคะแนนก็ยังไม่ถึง 23 ล้านเสียง ซึ่งนั่นหมายความว่า คะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง

ถามว่า เห็นสถิติตัวเลขดังกล่าวแล้ว รัฐบาลมีความมั่นใจแค่ไหนที่จะเดินในเส้นทางสายนี้

ยิ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตกอยู่ในสภาวะง่อยเปลี้ยเสียขา ปัญหารุมเร้าสารพัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องข้าวของแพง ไหนจะราคาน้ำมันที่ขยับขึ้นสูงเอาสูงเอา เรื่องที่เคยหาเสียงไว้ก็ไม่เป็นไปตามคำคุยโม้ ส่วนที่ทำได้จริงอย่างค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทก็กระทบต่อภาคธุรกิจอย่างแสนสาหัส หรือโครงการรับจำนำข้าวที่ทำเอาธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ถังแตก

ปัญหาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยทั้งสิ้น

ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ การทำประชามติก็ต้องใช้เงินไม่ต่างอะไรจากการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า จะสามารถกุมชัยชนะเอาไว้ แต่ปัญหามีอยู่ว่า ส.ส.หรือนักการเมืองที่เป็นเจ้าของพื้นที่จะจริงจังในการรณรงค์มากน้อยแค่ไหน

ดังนั้น จึงสุ่มเสี่ยงเกินไปที่พรรคเพื่อไทยจะเลือกหนทางทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะถ้าแพ้การลงประชามติ นั่นย่อมหมายถึงเสถียรภาพของรัฐบาลจะต้องสั่นคลอนตามไปด้วย

เหมือนดังเช่นที่ “นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทยยอมรับว่า “แทบเป็นไปไม่ได้เลย” เพราะในช่วงที่เป็นพรรคไทยรักไทยที่มีจำนวน ส.ส.378 คน ยังได้คะแนนแค่ 19 ล้านเสียงเท่านั้น

ขณะเดียวกันถ้าหากจะดึงดันแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราทันที โดยนำร่างฯ เข้าสู่รัฐสภาเพื่อโหวตวาระ 3 เหมือนเช่นที่แกนนำคนเสื้อแดง คณะนิติราษฎร์ ยุส่งนั้น ก็สุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาทางกฎหมายตามมาและอาจนำไปสู่การยุบพรรค การตัดสิทธิทางการเมือง และการดำรงอยู่ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้

โดยเฉพาะคำยุยงของคณะนักกฎหมายแห่งรัฐไทยใหม่คือ คณะนิติราษฎร์ ที่นำโดย “วรเจี๊ยก”-นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่เสนอดับเครื่องชนด้วยการเสนอให้ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อทำหน้าที่ให้เป็นไปตามระบอบรัฐธรรมนูญและหลักนิติรัฐประชาธิปไตย เพราะไม่พอใจคำวินิจฉัยที่ไม่เป็นไปตามที่ตนเองและพวกพ้องต้องการ ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ของรัฐบาลย่ำแย่หนักขึ้นไป อีก เพราะนั่นไม่ต่างอะไรจากการสร้าง “ตุลาการแห่งรัฐไทยใหม่” ขึ้นมาทำหน้าที่แทนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

แน่นอน นกรู้ทางการเมืองอย่าง “ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง” ย่อมรู้ถึงความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

“ถ้าดื้อดึงลงมาติวาระ 3 จะมีคนร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญทันที ตรงนั้นถือเป็นความผิดสำเร็จ เวลานั้นรัฐบาลจะอยู่ยาก เพราะศาลรัฐธรรมนูญอาจมีคำสั่งให้ชะลอ ขณะที่รัฐสภาต้องเสนอนายกรัฐมนตรีนำขึ้นกราบบังคมทูลภายใน 20 วัน นายกรัฐมนตรีจะตกอยู่ในที่นั่งลำบาก ซึ่งไม่เห็นมีความจำเป็นอะไรที่ต้องไปดื้อดึง อยากให้รัฐบาลพังเหรอ เมื่อศาลเขาบอกอย่างนี้ เราก็แก้เป็นรายมาตราไป ถ้าผ่านวาระ 3 จะเร็วตรงไหน ต้องตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและต้องขอประชามติตามกระบวนการที่ลำบาก ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แรกถ้าเราบอกว่าจะแก้รายมาตราจะกลายเป็นว่ารัฐบาลเผด็จการ แต่เมื่อศาลชี้แนะมาอย่างนี้ คาดว่าเหมาะสมแล้ว จะไปรีบร้อนทำไม”

นั่นคือคำกล่าวของ ร.ต.อ.เฉลิม

และเมื่อสอบถามว่า หากดื้อโหวตวาระ 3 มีโอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะถูกยุบกี่เปอร์เซ็นต์

ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า “ล้านเปอร์เซ็นต์ ซึ่งต้องแล้วแต่มติของพรรคด้วย เมื่อก่อนนี้ตนเองไม่ค่อยแสดงความเห็นคัดค้านใคร แต่จากนี้ไปตนเห็นแก่รัฐบาล เห็นแก่ส่วนรวมและบ้านเมือง จะให้บ้านเมืองยุ่งยากทำไม มันมีความจำเป็นอะไรที่ต้องดื้อดึง เชื่อว่าสุดท้ายก็ต้องแก้รายมาตรา ไปแนวทางอื่นไม่ได้”

เฉกเช่นเดียวกับค้อนปลอมตราดูไบ-สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาที่แสดงความคิดเห็นส่วนตัวเอาไว้ว่า “การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรทำเป็นรายมาตรา เพื่อตัดปัญหาการร้องขอให้ตีความ อีกทั้งไม่ต้องสิ้นเปลืองเงินงบประมาณในการทำประชามติจำนวนที่มากกว่า 2,000 ล้านบาท”

ทั้งนี้ เนื่องจากต้องไม่ลืมว่า เหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญมิได้ก้าวล่วงไปถึงการยุบพรรคหรือการวินิจฉัยว่า ล้มล้างการปกครองหรือไม่นั้น เป็นเพราะความผิดยังไม่สำเร็จ แต่ถ้าหากรัฐบาลหรือพรรคเพื่อไทยต้องการดึงดันท้าทายอำนาจศาลด้วยการโหวตวาระ 3 ทันที เมื่อนั้นความผิดก็จะสำเร็จ และเมื่อผ่านวาระ 3 ไปแล้ว ภาระความรับผิดชอบทั้งหลายทั้งปวงย่อมหลุดออกไปจากอกของขุนค้อนปลอมตราดูไบ-สมศักดิ์ เกียรติสุรนนทน์ และเข้าสู่อ้อมอกของนางสาวยิ่งลักษณ์ที่จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อความผิด ถ้าหากมีผู้ร้องและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นการล้มล้างการปกครองเนื่องจากเป็นการแก้ทั้งฉบับอันขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเอาไว้

ด้วยเหตุดังกล่าว พรรคเพื่อไทยจึงตกอยู่ในภาวะละล้าละลังไม่กล้าตัดสินใจ เนื่องจากความเห็นแตกออกเป็นหลายทาง โดยจำนวนไม่น้อยต้องการให้เดินหน้าโหวตวาระ 3 ต่อไป ขณะที่บางส่วนต้องการให้มีการทำประชามติสอบถามความคิดเห็นของประชาชนเสียให้รู้แล้วรู้รอด แต่อีกจำนวนไม่น้อยเช่นกันก็เห็นว่าไม่ควรสุ่มเสี่ยงเช่นนั้น และเห็นควรให้มีการแก้ไขเป็นรายมาตราตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ สุดท้ายจึงจำเป็นที่จะต้องอดทนรอให้คำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งคำวินิจฉัยรายบุคคลที่กำลังจะออกมาเสียก่อนเพื่อขับเคลื่อนในเชิงยุทธศาสตร์ต่อไป

แต่จะอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ล้วนแล้วแต่ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งถ้ามีเจตนาไม่บริสุทธิ์ด้วยแล้ว โอกาสที่จะมีผู้ร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ผสมโรงกับการเคลื่อนไหวของมวลชนนอกสภาก็จะกลายเป็นเงื่อนปมที่พร้อมจะสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้มีอันเป็นไปก่อนเวลาอันควรได้ทั้งสิ้น

ยิ่งถ้าแก้มาตรา 309 ด้วยแล้ว สถานการณ์ทางการเมืองก็จะยิ่งร้อนระอุหนักเข้าไปอีก เพราะสังคมก็จะเห็นกันชัดแจ้งว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยมิได้ทำหน้าที่พรรคปวงชนชาวไทย แต่หากมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อช่วย นช.ทักษิณ ชินวัตร

ทว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ ไม่เช่นนั้นแล้วมือกฎหมายชั้นครูของพรรคเพื่อไทยอย่าง “นายโภคิน พลกุล” คงไม่ออกมาโยนหินถามทางเป็นศรีธนญชัยว่า ถ้าหากแก้เป็นรายมาตราตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็คงทำได้มาตราเดียวคือแก้มาตรา 309 เพราะไม่มีส่วนเกี่ยวพันกับมาตราอื่น ทั้งๆ ที่นายโภคินก็รู้อยู่แก่ใจว่า การแก้รายมาตราในความหมายของศาลนั้น มิได้หมายความว่า ให้แก้เพียงแค่มาตราเดียว แต่สามารถแก้ได้หลายมาตราพร้อมๆ กัน เพียงแค่ไม่ใช่การร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับเท่านั้น

แต่จะอย่างไรก็ตาม งานนี้ เรียกว่าทำเอา นช.ทักษิณ ชินวัตรถึงกับต้องนอนเอาเท้าต่างมือก่ายหน้าผากกันเลยทีเดียว ไม่เช่นนั้นแล้ว ในการเดินทางไปร่วมอภิปรายที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เขาคงไม่เอ่ยปากว่าการนิรโทษกรรมคือกุญแจสำคัญสำหรับการปรองดองในประเทศไทย

"ทุกคนพูดตรงกัน ว่าการปรองดองควรรวมไปถึงการนิรโทษกรรม มันคือสิ่งที่ประเทศไทยรอคอยมาอย่างยาวนานสำหรับการคืนสู่ความปรองดอง" คุณควรเรียนรู้ที่จะให้อภัย เพราะมันคือสิ่งเดียว มันคือสิ่งสำคัญสำหรับการปรองดอง ผมจึงอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในประเทศไทย จงให้อภัย"
นช.ทักษิณ ร่วมอภิปราย ณ ที่ประชุมทบทวนยุทธศาสตร์ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ขนาบข้างด้วยอันวาร์ อิบบรอฮิม ผู้นำฝ่ายค้านมาเลเซีย(ซ้าย)และโฮเซ รามอส ฮอร์ตา อดีตประธานาธิบดีติมอร์ตะวันออก ก่อนเอ่ยปากเผยความในใจว่าต้องการให้มีการนิรโทษกรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น