xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.ชี้แก้ ม.291ไม่ล้มล้างการปกครอง-หากแก้ทั้งฉบับควรผ่านประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย แก้ รธน.มาตรา 291 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ตามมาตรา 68 หรือไม่ ฟันธงประเด็นแรก ศาล รธน.มีอำนาจรับคำร้องโดยตรง ส่วนการตั้ง ส.ส.ร.แก้ไขทั้งฉบับไม่สอดคล้องเจตนารมณ์ ม.291 ควรผ่านประชามติก่อน แต่พฤติกรรมของผู้ถูกร้องยังไม่ชัดเจนว่าจะล้มล้างการปครอง ให้ยกคำร้อง (อ่านคำวินิจฉัยคำต่อคำ)





วันี้(13 ก.ค.) เมื่อเวลา 14.45 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 8 คน ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการกระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ตามคำร้องของผู้ร้อง 5 ราย ประกอบด้วย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม, นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์, นายวันธงชัย ชำนาญกิจ, นายวิรัตน์ กัลยาศิริ, นายวรินทร์ เทียมจรัส และนายบวร ยสินทรและคณะ

สำหรับการพิจารณาวินิจฉัยของคณะตุลาการฯ เรียงตามประเด็นที่ได้ตั้งไว้ 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ผู้ร้องมีอำนาจร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ 3.การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่ และ 4.หากมีการกระทำดังกล่าวจะเป็นเหตุให้มีการยุบพรรค และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสาม และวรรคท้ายหรือไม่

สำหรับรายละเอียดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีดังนี้

การวินิจฉัยคดีตามคำร้องดังกล่าวนี้ในประเด็นส่วนที่เป็นคำร้อง และคำแก้ข้อกล่าวหานั้น อยู่ในสำนวน ซึ่งมีเนื้อความจำนวนมาก ศาลจะอ่านเฉพาะช่วงที่ศาลได้พินิจพิเคราะห์และพิจารณา ได้ยึดหลักประเด็นที่ว่า มี 4 ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามที่ได้แจ้งให้ทราบแล้วว่า

ประเด็นที่ 1 คือศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่

ประเด็นที่ 2 ศาลวินิจฉัยว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่

ประเด็นที่ 3 การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง หรือไม่ หากกรณีเข้าเงื่อนไขตามประเด็นที่ 3 ดังกล่าวนี้ ศาลวินิจฉัยต่อไปว่าจะมีผลให้ยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิ์หัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคได้หรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวเนื่องประเด็นที่ 3 ต่อไป

ในประเด็นที่ 1ที่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ มีประเด็นที่พรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 3 ยื่นคำร้องของให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในข้อกฎหมายว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องของผู้ร้องทั้ง 5 ไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง ได้หรือไม่

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 68 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้

และวรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิ์เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ในมาตรา 68 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิ์แก่ผู้ที่ทราบถึงการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง ที่จะใช้สิทธิ์ให้มีการตรวจสอบการกระทำดังกล่าวได้ โดยให้มีสิทธิ์ 2 ประการ คือ ประการที่ 1 เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และประการที่ 2 สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ เพราะอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและวินิจฉัยสั่งการ ในกรณีที่ผู้ร้องใช้สิทธิ์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 วรรคสอง เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ อัยการสูงสุดเพียงแต่มีหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เท่านั้น หาได้ตัดสิทธิ์ของผู้ร้องที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงไม่ เมื่อผู้ร้องได้เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบแล้ว ชอบที่จะใช้สิทธิ์

ประการที่ 2 ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ศาลเห็นว่าการแปลความดังกล่าวนี้จะสอดคล้องต่อเจตนารมณ์และมาตรา 68 ซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นไปเพื่อการรับรองสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 69 ที่ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิ์ต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศไทย โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ เนื่องจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้เลิกการกระทำที่อาจเป็นการใช้สิทธิ์และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญได้นั้น การกระทำดังกล่าวจะต้องดำเนินการอยู่และยังไม่บังเกิดผล ศาลรัฐธรรมนูญจึงจะมีคำวินิจฉัยสั่งให้เลิกการกระทำนั้นได้ หาไม่แล้วคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 วรรคสอง จะเป็นการพ้นวิสัยไม่สามารถใช้บังคับได้ ทั้งสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 นี้ มีหลักการสำคัญ มุ่งหมายให้ชนชาวไทยทุกคน มีส่วนร่วมในการปกป้อง พิทักษ์รักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการเข้าสู่อำนาจในการปกครองประเทศ ให้เป็นไปตามวิธีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มิให้ถูกล้มล้าง โดยสภาพ จึงเป็นมาตรการในการป้องกันไว้ล่วงหน้า เพื่อจะได้มีโอกาสตรวจสอบและวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำที่จะเป็นอันตรายต่อระบบการปกครอง และเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญมิให้เกิดขึ้นได้ เพราะหากปล่อยให้เกิดการกระทำที่เป็นภัยร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญ และระบบการปกครองตามรัฐธรรมนูญ ขึ้นแล้ว ย่อมสุดวิสัยที่จะแก้ไขให้กลับคืนดีได้ เช่นนี้แล้วประชาชนผู้ทราบเหตุตามมาตรา 68 วรรคสอง ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนใช้สิทธิ์ของตนต่อต้านการกระทำนั้นโดยสันติวิธี เนื่องจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรานี้ มิได้มุ่งหมายการลงโทษทางอาญา หรือการลงโทษทางรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการสั่งให้เพิกถอนการกระทำที่มิชอบ ตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง เสียก่อน ที่การกระทำนั้นจะบังเกิดผล การมีอยู่ของมาตรา 68 และมาตรา 69 แห่งรัฐธรรมนูญนี้ จึงเป็นไปเพื่อรักษา หรือคุ้มครองตัวรัฐธรรมนูญเอง ตลอดจนหลักการที่รัฐธรรมนูญได้รับรอง หรือกำหนดกรอบไว้ให้เป็นเจตนารมณ์หลักทางการเมืองของชาติ คือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และป้องกันการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญในประการนี้ต่างหาก ที่ถือเป็นเจตนารมณ์หลักของรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องยึดถือไว้เป็นสำคัญยิ่งกว่าเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ แม้จะถือเป็นเครื่องมือช่วยค้นหาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้ แต่ความเห็นของผู้ร่างรัฐธรรมนูญคนใดคนหนึ่ง ก็มิใช่เจตนารมณ์ทั้งหมดของรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากรายงานการประชุมของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ยังพิจารณาได้ว่า สาระสำคัญของการอภิปรายนั้น มีเจตนาร่วมกันอยู่ที่การจะให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิ์พิทักษ์รัฐธรรมนูญผ่านกลไกของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรานี้เป็นสำคัญยิ่งกว่าเรื่องของตัวบุคคล ผู้ที่มีสิทธิ์เสนอคำร้อง การตีความเกี่ยวกับผู้มีสิทธิ์เสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ จึงควรต้องตีความไปในแนวทางของการยอมรับสิทธิ์ มิใช่จำกัดสิทธิ์ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถเข้ามาตรวจสอบการกระทำที่อาจมีปัญหา ตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง เพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ได้สมดังเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าว

กรณีอัยการสูงสุด ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามมาตรา 68 วรรคสองแล้ว แต่ยังไม่มีคำสั่งประการใดจากอัยการสูงสุด หากปล่อยให้กระบวนการลงมติในวาระ 3 ลุล่วงไปแล้ว แม้ต่อมาอัยการสูงสุดจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้น เป็นไปโดยมิชอบด้วยมาตรา 68 วรรค 1 ให้เลิกการกระทำนั้น จะไม่สามารถบังคับตามคำวินิจฉัยในทางใดได้อีก รวมทั้งไม่อาจย้อนคืนแก้ไขผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำดังกล่าวได้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณา และวินิจฉัยได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 2

ประเด็นที่ 2 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 สามารถแก้ไขเพิ่มเติม โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ ประเด็นพิจารณาว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 291 จะนำไปสู่การแก้ไขบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ทั้งฉบับได้หรือไม่นั้นเห็นว่า อำนาจในการก่อตั้งองค์กรสูงสุดทางการเมือง หรืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจก่อตั้งองค์กรทั้งหลาย และถือว่ามีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญที่ก่อตั้งระบบกฎหมาย และก่อตั้งองค์กรทั้งหมด ในการใช้อำนาจทางการเมืองการปกครอง เป็นอำนาจสูงสุด อันเป็นที่มาโดยตรงในการให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ เมื่อองค์กรที่ถูกจัดตั้งมีเพียงอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้องค์กรนั้น ใช้อำนาจที่ได้รับมอบจากรัฐธรรมนูญนั้นเอง กลับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เหมือนการใช้อำนาจแก้ไขกฎหมายธรรมดา

สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมายยึดหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ที่รัฐธรรมนูญจะต้องกำหนดวิธีการ หรือกระบวนการแก้ไข เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไว้เป็นพิเศษ แตกต่างจากกฎหมายทั่วไป การตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2550 เป็นกระบวนการที่ได้ผ่านการลงประชามติของผู้ใช้อำนาจอธิปไตยคือ ประชาชนโดยตรง ประชาชนจึงเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 แม้จะเป็นอำนาจของรัฐสภาก็ตาม แต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ ได้มาโดยการลงประชามติของประชาชน ควรที่จะให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ได้ลงประชามติก่อนว่า สมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือรัฐสภาจะใช้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เป็นความเหมาะสม และเป็นอำนาจของรัฐสภา ที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ ซึ่งจะเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 291

ประเด็นที่ 3 การกระทำของผู้ถูกร้อง เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 1 หรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 มีเจตนารมณ์เพื่อต้องการให้มีวิธีแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นรายมาตรา เพื่อปฏิรูปการเมือง และปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองขึ้นใหม่ เพื่อให้มีเสถียรภาพ และประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเป็นอำนาจที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2550 ให้ไว้เพื่อเป็นช่องทางในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น จากข้อบกพร่องในตัวรัฐธรรมนูญเอง หรือปัญหาจากข้อเท็จจริงทางการเมืองที่ต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และมีความสอดคล้องต่อเนื่องในคราวเดียวกัน ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ . ... พ.ศ. ... จึงเป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2550 มาตรา 291 อันถือได้ว่า มีที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หากพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ( ) พ.ศ. ... ที่ได้มาจากกการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อให้สภาร่างรัฐธรรมนูญมาทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกำหนดกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้นดังที่ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระที่ 2 และกำลังเข้าสู่การลงมติในวาระที่ 3 จะเห็นได้ว่า กระบวนดังกล่าวยังไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะถือได้ว่า เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง อีกทั้งขั้นตอนการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญยังไม่เป็นรูปธรรม การกล่าวอ้างของผู้ร้องจึงเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้า ซึ่งยังไม่มีผลแต่ประการใด และเมื่อพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 291 (1) วรรค 2 ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้บัญญัติไว้อย่างชัดแจ้งในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐจะเสนอไม่ได้ ประกอบกับบันทึกหลักการและเหตุผล ประกอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม( ) ฉบับที่ พ.ศ. ... ให้เหตุผลว่า จะยังคงรักษาระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้ตลอดไป และบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ตามมาตรา 291 / 11 วรรค 5 ยังบัญญัติคุ้มกันเพื่อรับรองการร่างรัฐธรรมนูญที่จะไม่กระทบสาระสำคัญแห่งรัฐว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วย พระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้ และหากร่างรัฐธรรมนูญมีลักษณะตามวรรค 5 ดังกล่าว ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 291 (11) วรรค 6

อย่างไรก็ตาม หากสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์แล้ว ทั้งประธานรัฐสภาและรัฐสภา มีอำนาจยับยั้งให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นอันตกไปได้ รวมทั้งหากบุคคลใดทราบว่า มีการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ ผู้ทราบการกระทำดังกล่าว ยังมีสิทธิ์เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวในทุกช่วงเหตุการณ์ ที่บุคคลนั้นทราบตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 68 ยังมีผลบังคับใช้ประการสำคัญ เมื่อพิจารณาคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง และการไต่สวนของศาลจากฝ่ายผู้ถูกร้อง อาทิ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา นายนายอัชพร จารุจินดา ผู้แทนคณะรัฐมนตรี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ผู้แทนพรรคเพื่อไทย นายชุมพล ศิลปอาชา ผู้แทนพรรคชาติไทยพัฒนา และนายภราดร ปริศนานันทกุล ล้วนต่างเบิกความถึงเจตนารมณ์ในการดำเนินการ เพื่อให้มีการจัดการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า มิได้มีเจตนารมณ์ที่จะทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ และผู้ถูกร้องทั้งหมดยังแสดงถึงเจตคติอันตั้งมั่นว่า จะดำรงคงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่เช่นเดิม พิจารณาแล้วจึงเห็นว่า ข้ออ้างของผู้ร้องทั้ง 5 ดังกล่าว ข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 6 เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ ข้ออ้างทั้งหมดจึงยังคงเป็นเพียงการคาดการณ์ หรือเป็นความห่วงใยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และยังห่างไกลต่อการที่จะเกิดเหตุขึ้นตามที่กล่าวอ้าง ข้อเท็จจริงขึ้น จึงยังไม่พอฟังได้ว่า เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด ดังนั้นการกระทำของผู้ถูกร้องฟังไม่ได้ว่า มีเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 68 วรรค 1 ศาลจึงให้ยกคำร้องในส่วนนี้ เมื่อได้วินิจฉัยดังกล่าวแล้ว จะไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นข้อที่ 4 อีก อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยให้ยกคำร้องทั้ง 5 คำร้อง

ส่วนคำร้องของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ลงวันที่ 11 ก.ค.2555 ที่ขอให้ศาลชะลอการวินิจฉัยบคดีนี้ไว้ก่อน เพื่อรอวินิจฉัยพร้อมกับคดีที่พันธมิตรฯ ได้ยื่นร้องไว้นั้น ศาลเห็นว่าไม่มีเหตุที่จะชะลอการวินิจฉัย จึงให้ยกคำร้อง

















กำลังโหลดความคิดเห็น