ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ทอดสายตาเพ่งพินิจพิจารณารายชื่อ “ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) คนที่ 16” หลังจากเปิดรับสมัครตั้งแต่วันแรกวันที่ 21 มกราคม 2556 ที่ผ่านมาแล้วก็ต้องบอกว่า สงสารคนกรุงเทพฯ เสียจริงๆ ที่ไม่มี “ทาง” ให้ “เลือก” มากนัก เพราะแต่ละคนล้วนแล้วแต่ไม่ได้มีความโดดเด่นหรือมีฝีไม้ลายมือพอที่จะบริหารเมืองหลวงของประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าและมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเท่าใดนัก
ยิ่งเมื่อนำมาใส่ตะแกรงร่อนทีละคนทีละคนแล้ว คนกรุงเทพฯ ซึ่งตกอยู่ในภาวะจำใจและจำยอมต้องตัดสินใจเลือกคนใดคนหนึ่ง สุดท้ายก็เหลือเพียงแค่ 2 ตัวเต็งกับอีก 2 ผู้มีสิทธิลุ้นเท่านั้น
2 ตัวเต็งที่ว่านั้น ก็จะเป็นใครไปเสียไม่ได้นอกจาก จูดี้-พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครหมายเลข 9 ที่พรรคเพื่อไทยส่งเข้าประกวด และคุณชายหมู-ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้สมัครหมายเลข 16 ที่พรรคประชาธิปัตย์ส่งเข้าประกวด
ส่วน 2 ผู้มีสิทธิลุ้นที่มาแรงที่สุด ก็จะเป็นใครเสียไม่ได้นอกจาก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวสและสุหฤท สยามวาลา
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ สุดท้ายแล้วใครคือผู้ชนะ ใครคือผู้ที่จะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 16
จนกระทั่งถึงเวลานี้ ตอบอย่างฟันธง โดยที่ไม่อ้อมค้อมได้ทันทีว่า ถ้าหากยังไม่มีผู้สมัครรายอื่นใดที่โดดเด่นมากไปกว่านี้ สุดท้ายแล้ว ผู้ชนะซึ่งต้องบอกว่า “นอนมา” ตั้งแต่เริ่มต้นก็เห็นจะหนีไม่พ้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคู่แข่งขันอย่างพรรคเพื่อไทยส่ง พล.ต.อ.พงศพัศลงสมัครด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์นอนมาแบบไม่ต้องออกแรงให้ไขมันที่สะสมเอาไว้ในร่างกายต้องกระทบกระเทือนแต่อย่างใด
แน่นอน คำถามที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ อะไรคือเหตุและปัจจัยที่ทำให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์จะคว้าชัยชนะมาแบบสบายๆ
ทั้งนี้ ถ้าหากตรวจสอบกระแสแนวความคิดตามสื่อหรือโลกออนไลน์ต่างๆ ก็จะพบ “สมการการเมือง” ที่กำลังแพร่หลายและกำลังถูกขยายความออกไปอย่างกว้างขวางราวกับเผาพันธุ์แมลงสาบที่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ตายยาก กระทั่งอยู่คู่กับโลกมนุษย์มานับเป็นร้อยเป็นพันปี นั่นก็คือแนวความคิดในทำนองว่า เราสูญเสียประเทศไทยไปแล้ว ยังต้องสูญเสียเมืองหลวงอันเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายให้คนเสื้อแดงอีกหรือ
ตัวอย่างผู้นำแนวคิดในลักษณะนี้ก็อย่างเช่น
พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ที่เขียนบทความชื่อ “สงครามชิงกรุงเทพฯ : สงคราม ชิงเมืองไทย” เอาไว้ในหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 22 มกราคม 2556 โดยเนื้อความตอนหนึ่งระบุเอาไว้ว่า “คราวนี้ผมตัดสินใจแน่นอนที่จะสนับสนุนและลงคะแนนเลือกคุณชายสุขุมพันธุ์เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ อีกสมัยหนึ่ง”
เหตุผลที่ พล.ต.อ.วสิษฐอธิบายเอาไว้มี 3 ข้อ แต่ข้อสำคัญที่สุดคือข้อที่ 3 ซึ่งอดีตอธิบดีกรมตำรวจ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยขมวดปมเอาไว้ว่า “กรุงเทพมหานครเป็นปราการสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในสงครามชิงเมืองไทย ถ้าเสียกรุงเทพฯ ให้แก่ข้าศึกศัตรู ก็เกือบจะเท่ากับเสียเมืองไทยทั้งประเทศ”
หรือแม้กระทั่งดารานักร้องนักแสดงชื่อดังอย่าง “บิลลี่ โอแกน” ก็แสดงความเห็นในเฟซบุ๊กลักษณะนี้เช่นกัน
“ขอฝากเตือนด้วยความรักและปรารถนาดีต่อกรุงเทพมหานคร พรุ่งนี้ติดตามข่าวการสมัครเลือกตั้งผู้ว่ากันนะครับ ตัวเป้งๆ จะปรากฏตัวให้เห็นกันครบ คุนกรุงเทพเลือกคราวนี้ ระวัง ระวัง ระวัง อย่าเอาพวกเผาเมืองเด็ดขาด ระวังนอมินี ระวังเสียงแตก! หากเสียเมืองหลวงให้พวกจังไร ประเทศไทยบรรลัยครบสูตร ผมบอกตรงนี้เลยนะว่า ไม่ได้ปลื้มคุณชายสุขุมพันธ์กับผลงานที่ผ่านมาเลย ใจนั้นชอบสุหฤท สยามวาลา แต่ถ้าหากว่าเลือกคนใหม่แล้วคะแนนจะกลายเป็นเสียปล่าวไป พรรคเผาไทยจะชนะ ซึ่งผมและคนรักแผ่นดินไทยทุกคนยอมไม่ได้เด็ดขาด อาจจะต้องข่มขืนใจตนเอง บังคับกล้ามเนื้อมือให้ลงคะแนนเลือกคุณชายสุขุมพันธ์ไปเพื่อรักษาเมืองหลวงไว้ไม่ให้ตกในอุ้งมือมาร”
บิลลี่ โอแกน โพสต์เอาไว้ในเฟซบุ๊ก Billy Ogan
แนวคิดของพล.ต.อ.วสิษฐและบิลลี่ โอแกน สอดคล้องกับความปรารถนาของพรรคประชาธิปัตย์ที่พยายามหยิบประเด็น “ไม่เลือกเราเขามาแน่” อย่างพอดิบพอดี
เพราะต้องยอมรับว่า ภาพความพินาศฉิบหายที่เกิดจากน้ำมือ ของคนเสื้อแดงในการชุมนุมเผาบ้านเผาเมืองที่แยกราชประสงค์ยังติดตราตรึงใจคนกรุงเทพฯ ได้อย่างไม่มีวันลืม ดังนั้น โอกาสที่ พล.ต.อ.พงศพัศจะได้รับชัยชนะจึงมีน้อยเสียยิ่งกว่าน้อย
พรรคประชาธิปัตย์ย่อมรู้ซึ้งถึงสมการการเมืองดังกล่าวได้ดี
ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตรเองก็รู้ซึ้งในกมลสันดานของพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างดีว่า พรรคแมลงสาบไม่อยากเสี่ยงที่จะแตกหัก ดังนั้น ยังไม่ทันที่พรรคจะมีมติส่งใครลงสมัคร คุณชายหมูก็ชิงประกาศลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ตัดหน้าอย่างไม่สนใจหน้าอินทร์หน้าพรหม เหมือนกับมัดมือชกว่า ถ้าพรรคไม่ส่งตนเองก็พร้อมลงสมัครในนามอิสระ ซึ่งนั่นจะเป็นการตัดคะแนนผู้สมัครของพรรคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เล่มเกมอย่างนี้ นายอภิสิทธิ์หัวหน้าพรรคที่ไม่ปลื้ม ม.ร.ว.สุขุมพันธ์จึงต้องด้านหน้ากัดฟันสนับสนุน ทั้งๆ ที่รู้ว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ไม่ได้สร้างความประทับใจให้คนกรุงเทพฯ เท่าใดนัก แต่ด้วยสมการการเมืองไม่เลือกเราเขามาแน่ เพราะภาพการเผาบ้านเผาเมืองที่คนเมืองหลวงยังจำได้ดี พรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์ที่ไม่ได้ตั้งใจส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ลงสมัครตั้งแต่แรกจึงส่งเสาไฟฟ้าเข้าชิงชัย เพราะรู้ว่าสุดท้ายแล้วคนกรุงเทพฯ ก็ต้องเลือกผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์วันยังค่ำ
ประหนึ่งว่าเพื่อรักษาเมืองหลวงเอาไว้ไม่ให้ตกเป็นของคนเสื้อแดงทั้งแผ่นดิน คนกรุงเทพฯ จำต้องข่มขืนใจตนเอง บังคับกล้ามเนื้อมือให้ลงคะแนนเลือกคุณชายสุขุมพันธ์ไปเพื่อรักษาเมืองหลวงไว้ไม่ให้ตกในอุ้งมือมาร เหมือนเช่นที่บิลลี่ โอแกนประกาศเจตนารมณ์
นั่นเท่ากับเป็นการเล่นละครหลอกลวงคนกรุงเทพฯไปวันๆ อย่างหน้าไม่อาย
ประกอบกับนโยบายที่ “ดาราสีกากี” ที่ พล.ต.อ.พงศพัศใช้หาเสียง “กรุงเทพฯ ไร้รอยต่อ” ก็ยิ่งตอกย้ำความหวาดกลัวหนักเข้าไปอีก เพราะเวลานี้ นโยบายระดับประเทศก็เล่นเอาคนหวาดผวาและขนหัวลุกไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งนโยบายรับจำนำข้าว นโยบายรถคันแรก การขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ฯลฯ
หรือคนกรุงเทพฯ ชอบดาราสีกากีที่พร้อมจะเป็นข่าวทุกลมหายใจเข้าออก วันดีคืนดีเดินหาเสียงเลือกตั้งเจอรถเก็บขยะก็กระโดดขึ้นรถสร้างภาพให้ช่างภาพถ่ายรูป วันดีคืนดีเห็นรถเมล์ระหว่างเดินหาเสียงที่สำนักงานระบายน้ำ และสำนักงานเขตดินแดง หลังจากตรงปรี่ไปสอบถามพนักงานขับรถและคนขับรถเมล์สาย 117 ก็ขออนุญาตเป็นโชเฟอร์ขับรถเมล์ในช่วงระยะทางสั้นๆ แล้วอ้างว่าเคยขับรถเมล์มาก่อน เล่นเอารถยนต์คันอื่นๆ ก็ต้องคอยหลบกันเป็นแถว
ส่วนนโยบายที่ประกาศในช่วงหาเสียง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นไปในแนวทางเดียวกับพรรคเพื่อไทยคือนโยบายประชานิยมและเกิดคำถามตามมาว่า ทำได้จริงหรือ
ยกตัวอย่างเช่น นโยบายการจราจรที่ พล.ต.อ.พงศพัศประกาศจัดระเบียบเส้นทางเดินรถเมล์ใหม่ ให้รถเมล์มาทุก 5 นาที ขึ้นรถเมล์ต่อเดียวถึงที่หมาย ไม่ต้องต่อหลายสาย และจะให้มีรถเมล์ไปจอดรับถึงหน้าหมู่บ้าน พร้อมพัฒนาป้ายรถเมล์ 4,975 ป้ายให้มีคุณภาพ มีห้องน้ำให้บริการที่ป้ายรถเมล์ ก็เกิดข้อสงสัยตามมามากมาย
ถามว่า พล.ต.อ.พงศพัศสามารถสั่งการให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ(ขสมก.) ทำตามนโยบายที่ใช้หาเสียงได้จริงหรือ เพราะเป็นองค์กรที่มิได้อยู่ภายใต้อำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เอาแค่เรื่องแรกคือให้รถเมล์มาทุก 5 นาทีก็ยังมองไม่เห็นว่าทำได้อย่างไร
หรือเรื่องการแก้รถติดด้วยการล็อกล้อ พล.ต.อ.พงศพัศจะสามารถสั่งการให้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลทำตามได้หรือ
ถ้า พล.ต.อ.พงศพัศจะแถว่า จะใช้นโยบายไร้รอยต่อ สามารถประสานงานรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรให้บังคับ ขสมก.ทำตามได้ แล้วทำไมก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมถึงไม่คิดทำ แล้วทำไมก่อนหน้านี้กองบัญชาการตำรวจนครบาลถึงไม่คิดทำ
เช่นเดียวกับค่าบริการรถเมล์ร้อนฟรีตลอดสาย และรถเมล์ปรับอากาศ 10 บาทตลอดสาย ที่สุดท้ายแล้ว ก็ต้องถามว่า พล.ต.อ.พงศพัศเอาเงินที่ไหนมาชดเชยให้ ขสมก. เงินงบประมาณของกรุงเทพฯ หรือเงินอุดหนุนจากรัฐบาลที่เป็นภาษีอากรของคนทั้งประเทศ
หรือแนวคิดดึง ขสมก.ให้ย้ายสังกัดจากกระทรวงคมนาคมมาอยู่ภายใต้กทม. ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและมหานครใหญ่ในโลกใบนี้ก็เป็นไปในลักษณะนี้ แต่คำถามก็คือ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีแนวคิดเช่นนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแทบจะทุกยุคทุกสมัยก็มีความปรารถนาเช่นกัน ทว่าก็ไม่เคยประสบความสำเร็จแม้แต่ครั้งเดียว
ส่วนเรื่องต่อไปนี้น้ำต้องไม่ท่วม ไม่ขัง ไม่เอ่อ ท่อไม่ตัน จะขุดลอกท่อระบายน้ำ เชื่อมท่อจากชุมชนเข้ากับท่อของ กทม.แก้ปัญหาน้ำท่วมขังในชุมชน ถ้าทำได้จริง คนกรุงเทพฯ คงเลือก พล.ต.อ.พงศพัศไปทั้งชาตินี้และชาติหน้า คิดแค่ปัญหามหาอุทกภัยปี 2554 ขนาดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังบ้อท่าแก้ปัญหา แล้ว พล.ต.อ.พงศพัศจะเอาอะไรมาทำให้คนกรุงเทพฯ เชื่อได้ว่าไม่ได้โม้
ที่ฮาไม่หวาดไม่ไหวก็คือ การที่ พล.ต.อ.พงศพัศประกาศ ชูนโยบายให้ความปลอดภัยกับชาวกทม. แต่บ้านข้างๆ ของพล.ต.อ.พงศพัศ ยังถูกโจรงัด
แต่ที่เจ็บปวดเสียยิ่งกว่าคือ การที่จูดี้ นำเอาพวก “หัวโจก” ม็อบเผากรุงเทพฯเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 53 มาช่วยหาเสียงให้เจ็บใจเล่นอีก คล้ายประหนึ่งส่งสัญญาณว่า ถ้าได้เป็นพ่อเมืองเที่ยวนี้ แกนนำแดงก็เชื้อเชิญให้แกนนำคนเผาบ้านเผาเมืองร่วมบริหารกรุงเทพฯ ด้วย
ใครเล่าจะลืมประโยคเด็ดที่เหล่าแกนนำแดงเคยประกาศเอาไว้ว่า “ให้นำน้ำมันใส่ขวดคนละขวดรับรองกรุงเทพฯเป็นทะเลเพลิงแน่” หรือ “เผาไปเลยพี่น้องผมรับผิดชอบเอง”
ความจริง นอกจาก 2 ตัวเต็งคือ พล.ต.อ.พงศพัศและม.ร.ว.สุขุมพันธุ์แล้ว ผู้สมัครอิสระรายอื่นๆ ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวสและโต้-สุหฤท สยามวาลา เพราะนโยบายที่ใช้หาเสียง ตลอดรวมถึงทีมงานก็เรียกว่าพร้อมที่จะบริหารกรุงเทพมหานครไม่แพ้ 2 ผู้สมัครจากพรรคการเมืองเช่นกัน
ดังนั้น อย่าให้ความหวาดกลัว บีบบังคับให้ต้องเลือก
อย่าให้ความหวาดกลัวมาครอบงำจิตใจจนต้องตัดสินใจยกเงินภาษีอากรที่ใช้ในการบริหารกรุงเทพมหานครร่วม 40,000-50,000 ล้านบาทในแต่ละปี รวมถึงเวลาอีกอย่างน้อย 4 ปีที่ ต้องฝากเมืองหลวงแห่งนี้ให้กับพ่อเมืองคนใหม่อย่างไร้อนาคต
คนกรุงเทพฯ กล้าพอที่จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่
คนกรุงเทพฯ กล้าพอที่จะหลุดพ้นจากกับดักแห่งความหวาดกลัวหรือไม่
ถ้าไม่กล้า เมืองหลวงของประเทศไทยคงไม่อาจหลุดพ้นจากความเป็น “มหานครแห่งแมลงสาบ” ไปได้