xs
xsm
sm
md
lg

ซัดจงใจพ่ายคดีไม่ต่างกบฎชาติ-รัฐแหกตาทหาร-การเมืองลากกองทัพทำเสียดินแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - พันธมิตรฯอีสานใต้ เรียกร้องทหารปกป้อง “พระวิหาร” ด้านเวทีสู้คดีศาลโลก“วัลย์วิภา” ซัดจงใจพ่ายคดีไม่ต่างกบฏ หวั่นศาลยึดแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน แถมการเมืองลากกองทัพร่วมเจบีซีทำเสียดินแดน อดีตทนายความ ยันไทยไม่เคยยกตัวปราสาทให้เขมร สว.ชี้ส่อเสียดินแดน เศร้าคนไทยนิ่ง ส่วน"นพดล" โผล่!อ้างพระวิหารเป็นของเขมร ปชป. หดหู่เจ้ากระทรวงฯทำตัวเป็นโฆษกฮุนเซน

วานนี้ (24 ม.ค.) ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี(ย่าโม) อ.เมือง จ.นครราชสีมา กลุ่มธรรมยาตรากอบกู้รักษาผืนแผ่นดินไทย กรณีเขาพระวิหาร-มณฑลบูรพา กว่า 10 คนนำโดยนายสมาน ศรีงาม ประธานคณะธรรมยาตรา และเลขาธิการทั่วไปขบวนการประชาธิปไตยแห่งชาติ รวมตัวกันประกาศเจตนารมณ์ต่อหน้าย่าโม ในการคัดค้านขอบเขตอำนาจศาลโลก และทวงคืนแผ่นดินไทย โดยได้ประกอบพิธีบวงสรวงสักการะย่าโม และอ่านแถลงการณ์ "คำประกาศย่าโมกู้ชาติ เขาพระวิหารและมณฑลบูรพา ตามอนุสัญญาโตเกียว ค.ศ. 1941" ต่อหน้าอนุสาวรีย์ เพื่อขอพรให้การต่อสู้ของกลุ่มธรรมยาตราและประชาชนไทยได้รับชัยชนะ

“ขออำนาจย่าโมได้ช่วยให้ประชาชนทั่วประเทศมีความเป็นเอกภาพ สามัคคีกันกอบกู้แผ่นดินไทยกรณีเขาพระวิหารและมณฑลบูรพาให้ประสบความสำเร็จให้จงได้”

เวลา 12.00 น. ที่บริเวณด้านหน้ากองกำลังสุรนารี (กกล.สุรนารี) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 ส่วนแยก 2 ค่ายวีรวัฒน์โยธิน จังหวัดทหารบก (จทบ.)สุรินทร์ ต.นอกเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ได้มีกลุ่มเครือข่ายรวมพลังปกป้องแผ่นดินไทย (อีสานใต้-ตะวันออก)และ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) จ.สุรินทร์ และ จ.บุรีรัมย์ เดินทางด้วยรถยนต์กระบะและรถยนต์เก๋งหลายสิบคันจำนวนกว่า 30 คน มารวมตัวกันแสดงพลังเรียกร้องให้ทหารทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของชาติไทยบริเวณเขาพระวิหาร ชายแดนไทย-กัมพูชา

**ยันไทยไม่เคยให้ตัวปราสาทให้เขมร

ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เครือข่ายราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบัน และกลุ่มสยามสามัคคี ร่วมกันจัดสัมมนาในหัวข้อ “แนวทางของไทยต่อการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่าด้วยปราสาทพระวิหาร”

ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิชาการสถาบันไทยคดีศึกษา กล่าวตอนหนึ่งว่า ได้ประเมินผลการวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตามคำฟ้องของกัมพูชา คาดว่าน่าจะออกมา 3 แนวทาง คือ 1. พื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตร.กม.มีความเกี่ยวข้องกับแผนที่มาตรา 1 ต่อ 2 แสน 2. พื้นที่รอบปราสาทจะต้องมีการกำหนดอาณาเขตกันต่อไป และ 3. ให้มีการปักปันเขตแดนโดยผ่านกลไลคณะกรรมการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ไทย-กัมพูชา ทั้ง 3 ข้อถือเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากหากมีการนำแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสนมาใช้กำหนดอาณาเขตทางบกทั้งหมด ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออธิปไตยของไทย เท่ากับเราจงใจสละอธิปไตย เพราะที่ผ่านมาเราใช้แผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 5 หมื่นมาโดยตลอด ซึ่งหากพิจารณาตามข้อกฎหมายของไทย จะถือว่าผู้ที่กระทำการดังกล่าวเป็นกบฏ และเชื่อว่าผู้ที่มีความผิดก็จะอ้างว่าเป็นคำตัดสินของศาลโลก

ในส่วนข้อที่ 3 ที่แม้ว่ากลไกเจบีซีจะเป็นเรื่องที่ดีและเป็นสากล แต่ก็คลอดมาจากเอ็มโอยู 2543 ซึ่งจะทำให้เราต้องเสียดินแดน เพราะจะมีการนำแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสนมาใช้เช่นกัน เนื่องจากมีการระบุแผนที่ฉบับนี้เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันร่วม นอกจากนี้ เจบีซียังทำเกินบทบาทหน้าที่ของตัวเองมาโดยตลอด เพราะในเอ็มโอยู 2543 ระบุว่าเป็นเรื่องของการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนเพียง 73 หลัก แต่ปรากฏว่าเจบีซีกลับกำหนดเป็นแผนแม่บทเพื่อพยายามขยายอำนาจตัวเองให้สามารถปักปันได้ตั้งแต่หลักเขตที่ 1 ไปจนถึง จ.อุบลราชธานี แล้วอ้างว่าเป็นพื้นที่ที่ยังปักปันไม่แล้วเสร็จ ทั้งที่จริงๆ แล้วการปักปันเขตแดนนั้นเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

ในส่วนของเจบีซีฝ่ายไทยยังปรากฏว่ามีการกระชับอำนาจโดยฝ่ายการเมือง โดยการนำเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย และฝ่ายทหารมาร่วมเป็นกรรมการ อยู่ในโครงสร้างเจบีซีฝ่ายไทย ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศที่เป็นประธาน ยิ่งเมื่อมีการกำหนดให้ใช้แผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสนเป็นพื้นฐาน ก็เท่ากับเป็นการรับรองจากทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายการทูตและฝ่ายความมั่นคง ซึ่งถือเป็นการร่วมกันกระทำผิด ทั้งที่ทหารสมควรจะทำหน้าที่ในการรักษาอธิปไตยของชาติ ถือเป็นเล่ห์กลที่ฝ่ายการเมืองพยายามให้เกิดขึ้น

นายสมปอง สุจริตกุล อดีตทนายความไทยต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารในศาลโลก ปี 2505 กล่าวว่าตั้งแต่ปี 1907 ไทยแลกเอา จ.ตราด กับ จ.พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ ให้ฝรั่งเศส ซึ่งพระสยามเทวาธิราชมีจริงช่วยเราได้ทรัพยากรทางทะเลมหาศาล และใช้เส้นสันปันน้ำเป็นแนวแบ่งอาณาเขตเทือกเขาพนมดงรัก จะเห็นได้ชัดเจนส่วนเหนือทิวเขาพนมดงรักเป็นของไทย และส่วนล่างเป็นของกัมพูชา ซึ่งอาณาเขตไทย กัมพูชา เป็นที่แน่นชัดมาเป็นเวลา 100 ปีแล้ว ไทยเป็นอิสระมีอธิปไตยเหนือดินแดนมาเป็นเวลานานเราพยายามให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและมนุษยธรรมแก่ประเทศเพื่อนบ้านมาตลอด แต่กัมพูชา กลับนำเรื่องปราสาทพระวิหารไปฟ้องศาลโลก

สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนฝรั่งเศสทำเพียงฝ่ายเดียวมาจากกรุงปารีส ก่อนที่เราจะปักปันเขตแดนไทย กัมพูชา ระวางที่ 1-37 และที่สำคัญแผนที่เขียนผิดระบุน้ำไหลจากห้วยตาเสนขึ้นไปบนยอดเขาไปสันปันน้ำ ซึ่งไทยไม่ได้ตอบรับแผนที่นั้น เพราะเรามีแผนที่อีกฉบับเป็นแผนที่สังเขป ในสนธิสัญญาศาลปี 1907 เป็นมาตราส่วน 1 ต่อ 5 หมื่น และรัฐบาลไทยในขณะนั้นไม่เคยยอมรับคำตัดสินใน ตัวปราสาทพระวิหาร เพราะแผนที่มันผิด และไม่เคยส่งมอบให้เขมร เราสงวนสิทธิในการเรียกคืนโดยไม่มีอายุความซึ่งไทยไม่จำเป็นต้องไปขึ้นศาลโลกอีกแล้ว ขอฝากรัฐบาลนี้ไว้ด้วยต้องรักประชาชนยึดถือผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นใหญ่ อย่ายึดถือผลประโยชน์ตัวเองมันไม่คุ้ม ลูกหลานวงศ์ตระกูลจะขายหน้าเพื่อนฝูงคนไทยรุ่นหลังได้

**ส่อเสียดินแดน เศร้าคนไทยนิ่ง

ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ส่วนตัวมีความเสียดายว่าการต่อสู้ในกรณีปราสาทเขาพระวิหารภาค 2 ครั้งนี้ ไม่สามารถทำให้คนในชาติที่มีความเห็นแย้งในเรื่องอื่นตลอดหลายปีที่ผ่านมา ร่วมกันรวมพลังตามแนวคิดชาตินิยมเชิงบวกให้รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะส่วนตัวเชื่อว่า แม้หลายคนจะไม่ชอบรัฐบาลชุดนี้ แต่ในขณะที่คดีกำลังจะตัดสินภายในสิ้นปีนี้ หากรัฐบาลกล้าประกาศว่าเราไม่รับอำนาจของศาลโลก และหากศาลโลกตัดสินออกมากระทบกับอธิปไตยของชาติแล้วเราจะไม่ปฏิบัติตาม ตนเชื่อว่าพี่น้องประชาชนจะสนับสนุนรัฐบาลเฉพาะในเรื่องนี้อย่างแน่นอน ที่สำคัญยังไม่มีการนำพลังปัญญาของบรรพบุรุษในอดีตมารวมพลังกับปัจจุบันเพื่อต่อสู้ในกรณีนี้ เพราะหากย้อนไปศึกษาประวัติศาสตร์ จะเห็นว่าบรรพบุรุษของเรามีกุศโลบายในการปกป้องอธิปไตยของชาติ ซึ่งทางหนึ่งที่ทำได้คือการแต่งตั้ง ศ.ดร.สมปองเข้าไปเป็นที่ปรึกษาคดีตามที่ตนได้เคยเสนอไปก่อนหน้านี้ และจากการสอบถามเป็นการส่วนตัว ศ.ดร.สมปองก็ยินดีที่จะเข้าร่วม แต่รัฐบาลกลับเลือกไปจ้างที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศชาวต่างชาติ 3 คนแทน

“ผมไม่ปฏิเสธความรู้ความสามารถของศาสตราจารย์ชาวต่างชาติทั้ง 3 ท่านนั้น แต่กรณีนี้เป็นอธิปไตยของแผ่นดิน ต้องใช้ความรู้สึกของความเป็นคนไทยลงไปเจือในการอ่านกฎหมาย ตีความ และวางแนวทางการต่อสู้คดีด้วย ไม่เห็นมีความเสียหายอะไรเลยที่จะเพิ่มคนไทยเข้าร่วมคณะไปอีกคนหนึ่ง” นายคำนูณ กล่าว

**ย้ำต้องทำประชามติหลังแจงคดี

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า แม้ว่ากระทรวงการต่างประเทศจะต่อสู้ว่าศาลโลกไม่มีอำนาจในการรับคดีปราสาทพระวิหารภาค 2 เพราะไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาเมื่อปี 2505 แล้ว และกัมพูชาก็ไม่มีสิทธิ์ฟ้องคดีใหม่เข้าไป แต่คำถามมีว่า หากศาลยังชี้ว่ามีอำนาจ และพิพากษามากระทบต่ออธิปไตยของชาติ ประเทศไทยจะปฏิบัติตามหรือไม่ เพราะขณะนี้รัฐบาลก็ยังไม่ชัดเจน

“พลังของประชาชนจากช่วงนี้ไปจนถึงศาลโลกตัดสินออกมาแล้ว จะมีความหมายและมีความสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อถึงเวลาที่ศาลพิพากษาออกมากระทบอธิปไตยของเรา ประชาชนคนไทยก็ต้องตะโกนดังๆว่า ไม่ปฎิบัติตาม และที่สำคัญต้องเรียกร้องต่อรัฐบาลว่า เมื่อถึงเวลานั้นรัฐบาลไม่มีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจโดยลำพัง ต้องมีการสอบถามประชาชนเสียก่อน โดยจัดให้มีการประชามติ และก็ไม่ต้องรอให้มีการชุมนุมก่อนด้วย” นายคำนูณ กล่าว

**"นพดล"ยันพระวิหารเป็นของเขมร

ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวต่อผู้เข้าร่วมสัมมนา มรดกโลกกับอาเซียน ในการสัมมนาทางวิชาการ”อาเซียนศึกษา”

โดยนายนพดลกล่าวว่า ทางการกัมพูชายื่นขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารพร้อมกับพื้นที่โดยรอบ ซึ่งเปรียบประสาทพระวิหารเหมือนศาลพระภูมิ และพื้นที่โดยรอบ ที่เปรียบเหมือนสนามหญ้า รัฐบาลไทยในช่วงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)ได้โต้แย้ง คณะกรรมการมรดกโลกจึงมีหลักการให้ขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท ไม่รวมพื้นที่ทับซ้อน

ต่อมา ถึงช่วงรัฐบาลที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และตนดำรงตำแหน่ง รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ก็ต้องรักษาตามอาการ ไม่ให้กัมพูชารวมพื้นที่ทับซ้อนในการขอเป็นมรดกโลก ต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และทำตามกฎหมาย จึงพยายามเจรจากับทางกัมพูชาว่า ปราสาทเป็นของกัมพูชาแต่สนามหญ้าให้ตัดออกมา ทางการกัมพูชาจึงยอม เอาพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร จากแผนที่ และมีแถลงการณ์ร่วมที่แสดงการยอมรับว่า สนามหญ้าหรือพื้นที่ทับซ้อนไม่ใช่ของกัมพูชาฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นการตัดพื้นที่ทับซ้อนออกเป็นครั้งแรก ยอมขึ้นทะเบียนปราสาทเป็นเพียงอย่างเดียว แต่ตนถูกหาว่าขายชาติ โดยนายนพดล กล่าวว่า หากได้กลับเข้ามาก็ทำอีก คือไม่ให้ขึ้นทะเบียนสนามหญ้า ปราสาทขึ้นได้

ทั้งนี้สิ่งที่พูดถึงการตรวจสอบเอกสารการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก วันที่ 7 กรกฎาคม 2551 ได้ว่า ให้ขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท แสดงว่าได้ปกป้องดินแดนแล้ว แต่ศาลปกครอง มีคำตัดสินว่าแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว เป็นโมฆะ

“ศาลโลกได้เคยตัดสินว่า ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ตั้งแต่ พ.ศ.2505 แต่ไม่ได้บอกว่า ที่ดินเป็นของใคร ภายหลังการตัดสิน ประเทศไทยได้ขีดเส้นรอบปราสาทและส่งมอบปราสาทให้กัมพูชา เท่ากับว่า ปราสาทเป็นของกัมพูชาตั้งแต่ปี 2505 นอกจากนั้นในการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ปี 2541ในพื้นที่บริเวณดังกล่าว ก็ไม่รวมปราสาท โดยทุกฝ่ายยอมรับว่าปราสาทเป็นของกัมพูชามาตลอด”นายนพดลกล่าว

**ปชป.ร่วมอัด"ปึ้ง"ขาดจิตสำนึก

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงท่าทีของนายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รมว.การต่างประเทศที่เอาคำพูดของสมเด็จฮุนเซน นายกฯกัมพูชามาแถลงข่าวว่า รัฐมนตรีหรือรัฐบาลชุดนี้รับลูกของฮุนเซน ถือเป็นเรื่องที่น่าหดหู่มากที่รมว.การต่างประเทศของไทย อยู่ดีๆมาทำหน้าที่เป็นโฆษกให้กับรัฐบาลซึ่งเป็นคู่พิพาทของเราในคดีเกี่ยวกับดินแดนในศาลโลก แล้วก็เป็นโฆษกให้กับรัฐบาลเขาในการโจมตีรัฐบาลไทย คือรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งไม่น่าจะขาดสำนึกว่า หน้าที่ของตนเองคืออะไรขนาดนี้. เรื่องการเมืองภายในประเทศ แม้เราจะเห็นไม่ตรงกัน จะต่อสู้อะไรกันก็ว่ากันไป แต่นี่กลับกลายเป็นว่า รัฐบาลมัวแต่ห่วงในเรื่องของประเด็นทางการเมือง อยากจะมีประเด็นในการที่จะมาโต้ตอบกล่าวหากันทางการเมือง มากกว่าสนใจงานสำคัญ ก็คือการปกป้องประโยชน์ของประเทศ

ที่สำคัญคือ แถลงการณ์ที่ว่านี้ กัมพูชามีการลักไก่ ที่บอกว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์ โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯขณะนั้นไปพูดคุยกับเขากี่ครั้ง ซึ่งตนได้อธิบายหมดแล้ว 1.เป็นการเจรจานอกรอบ เพื่อที่จะต้องมาดูว่า ถ้าจะทำกรอบการเจรจาตามมาตรา 190 จะต้องทำอย่างไร นั่นคือ 2 ครั้งแรก แล้วพอต่อมา เราแขวน MOU ปี 44 ก็ไม่มีการดำเนินการเรื่องนี้อีก ไอ้ที่ไปใส่วันที่หลังจากที่แขวน MOU 44 ที่อ้างว่า นายสุเทพไปคุนหมิงนั้น นายสุเทพไปงานอื่น เป็นงานการประชุมนานาชาติที่จีนจัด เข้าใจว่าทางกัมพูชาก็มีคนไปแต่ไม่มีการพูดคุยกันเรื่องนี้ พวกตนไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรอยู่แล้ว แต่รมว.ต่างประเทศมากกว่าที่ต้องตอบว่า ตกลงรัฐบาลนี้โดยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรี หรือผู้ที่เกี่ยวข้องคนอื่นๆ ไปเจรจาเรื่องนี้หรือไม่ ตอบมาให้ชัดเจน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สมเด็จฮุนเซน มีผลประโยชน์ทางธุรกิจพลังงานหรือไม่ เพราะยืนยันว่าพวกตนไม่มีแน่นอน

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวยืนยันว่า ไม่เคยเข้าไปเจรจาอะไรที่เป็นกิจจะลักษณะ และไม่มีการเซ็นเอกสารใดๆ ทั้งสิ้น เพราะส่วนตัวไม่ทำธุรกิจน้ำมัน อีกทั้งคนในพรรค ก็ไม่มี ใครทำธุรกิจดังกล่าวด้วย เชื่อว่าสมเด็จ ฮุน เซนต้องการดิสเครดิตทางการเมืองข้ามประเทศอย่างแน่นอน และส่วนตัวไม่อยากทะเลาะกับสมเด็จ ฮุน เซน

**ไฟเขียวตั้ง“ทีมโฆษกพระวิหาร”

ที่กระทรวงกลาโหม พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมสภากลาโหมว่าได้มีการอนุมัติแต่งตั้งให้ พล.ท.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ เจ้ากรมยุทธการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นหัวหน้าคณะเผยแพร่ข้อมูลในส่วนของกระทรวงกลาโหม ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศได้แต่งตั้งให้ นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะ และยังขอให้หัวหน้าขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม และ ผู้บัญชาการเหล่าทัพติดตามสถานการณ์ความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง พร้อมทั้งใช้สื่อที่อยู่ในความรับผิดชอบให้ชี้แจงต่อประชาชนและกำลังพลได้รับทราบ

** ปูปัดสัมพันธ์ส่วนตัวทำลายประเทศ

ที่กองการบินขนส่งทหารบก ขส.ทบ. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงบทบาทของนายสุรพงษ์ ว่า ทั้งหมดนี้ไม่อยากให้มีการตอบโต้กันไปมา เพราะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ขอฝากเอาไว้ อยากให้คำนึงตรงนี้ด้วยไม่อยากให้ลุกลามไปเป็นเกมการเมือง

เมื่อถามว่า จะกระทบความสัมพันธ์ที่รัฐบาลบอกว่า มีความแน่นแฟ้นหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า อันนี้เราต้องทำหน้าที่ แต่ความสัมพันธ์อันดี ถือเป็นประโยชน์ที่เราจะได้มีโอกาสเจรจาต่างๆเรื่องการค้า ขณะเดียวกันเรื่องข้อพิพาททางกฎหมาย เราต้องเดินหน้าในการปกป้องอธิปไตยอย่างเต็มที่อันนี้แยกจากกัน การต่อสู่คดีก็คือการต่อสู้คดี เราไม่มีการลดละอยู่แล้ว เราต้องทำอย่างเต็มที่ อันนี้เป็นหน้าที่คือภารกิจหลักอยู่แล้ว

“ไม่มีใครเอาความสัมพันธ์ส่วนตัวมาทำให้ผลประโยชน์ของประเทศชาติเสียไปหรอก แต่ทั้งนี้ต้องขอความร่วมมือด้วย เราถามกันเยอะๆบางทีต้องเรียนว่า จริงๆไม่มีประเด็นอะไรเลยเราก็ว่ากันไปตามขั้นตอน “ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบคำถามที่ว่า ล่าสุดยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสมเด็จฮุนเซ็น จะมีผลอะไรหรือไม่

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ศึกษาธิการ หนึ่งในคณะทำงานต่อสู้คดีข้อพิพาทปราสาทพระวิหารในศาลโลก กล่าวว่า จะมีการรายงานถึงการทำงานของแต่ละฝ่ายที่เตรียมต่อสู้คดีในศาลโลกทุกประเด็น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องศาลจะรับมาวินิจฉัย ไม่ใช่ไปตีความคำพิพากษา ปี 2505

คณะทำงานมีทั้งนักกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ มีประสบการณ์สูง มีระดับอาจารย์ทางกฎหมายระหว่างประเทศ เข้ามาทำงานตรงนี้ ซึ่งเราก็สู้ทุกประเด็น ทั้งนี้ต้องแยกแยะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การรักษาผลประโยชน์ประเทศต้องแยกแยะ รัฐบาลกัมพูชาก็ต้องแยกแยะเช่นกัน ขอให้มั่นใจรัฐบาลไทยรักษาประโยชน์อย่างเต็มที่
กำลังโหลดความคิดเห็น