xs
xsm
sm
md
lg

สัมมนาสู้คดีพระวิหาร สับ รบ.หลอกทหารร่วมเจบีซี ส่อเสียดินแดน เศร้าคนไทยนิ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เวทีสัมมนาคดีพระวิหาร จวกยับ! รบ.ทำไทยส่อเสียอธิปไตย “วัลย์วิภา” ซัดจงใจพ่ายคดีไม่ต่างกบฏ หวั่นศาลยึดแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน แถมการเมืองลากกองทัพร่วมเจบีซีทำเสียดินแดน “สมปอง” แนะยกคำพิพากษาแย้งปี 05 อ้าง ระบุชัดแผนที่ไม่ถูกต้อง “คำนูณ” เสียดายโอกาสรวมพลังรักชาติ สับจ้างต่างชาติทำคดีไม่หวงแหนเท่าคนไทย คาดแพ้สูง ชี้ประกาศย้ำไม่รับอำนาจศาล เตือน ปชช.ต้องรู้ทัน ยันประชามติหลังคำพิพากษาหากกระทบดินแดน “ศิริโชค” ฉะ “ปึ้ง” โทรโข่งเขมร เปิดวิกิลีกส์แฉ “แม้ว” ฮั้วประโยชน์พลังงานก่อนรัฐประหาร มั่นใจศาลไม่กล้าฟันเรื่องเขตแดนแน่ ไม่รับปากหนุนประชามติ

วันนี้ (24 ม.ค.) ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เครือข่ายราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบัน และกลุ่มสยามสามัคคี ได้ร่วมกันจัดสัมมนาในหัวข้อ “แนวทางของไทยต่อการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่าด้วยปราสาทพระวิหาร” โดยมีวิทยากรเข้าร่วมหลายคน โดย ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิชาการสถาบันไทยคดีศึกษา ได้อภิปรายเป็นคนแรกโดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ได้ประเมินผลการวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตามคำฟ้องของกัมพูชา คาดว่าน่าจะออกมา 3 แนวทาง คือ 1. พื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตร.กม.มีความเกี่ยวข้องกับแผนที่มาตรา 1 ต่อ 2 แสน 2. พื้นที่รอบปราสาทจะต้องมีการกำหนดอาณาเขตกันต่อไป และ 3. ให้มีการปักปันเขตแดนโดยผ่านกลไลคณะกรรมการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ไทย-กัมพูชา ทั้ง 3 ข้อถือเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากหากมีการนำแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสนมาใช้กำหนดอาณาเขตทางบกทั้งหมด ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออธิปไตยของไทย เท่ากับเราจงใจสละอธิปไตย เพราะที่ผ่านมาเราใช้แผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 5 หมื่นมาโดยตลอด ซึ่งหากพิจารณาตามข้อกฎหมายของไทย จะถือว่าผู้ที่กระทำการดังกล่าวเป็นกบฏ และเชื่อว่าผู้ที่มีความผิดก็จะอ้างว่าเป็นคำตัดสินของศาลโลก

ม.ล.วัลย์วิภากล่าวต่อว่า ในส่วนข้อที่ 3 ที่แม้ว่ากลไกเจบีซีจะเป็นเรื่องที่ดีและเป็นสากล แต่ก็คลอดมาจากเอ็มโอยู 2543 ซึ่งจะทำให้เราต้องเสียดินแดน เพราะจะมีการนำแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสนมาใช้เช่นกัน เนื่องจากมีการระบุแผนที่ฉบับนี้เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันร่วม นอกจากนี้ เจบีซียังทำเกินบทบาทหน้าที่ของตัวเองมาโดยตลอด เพราะในเอ็มโอยู 2543 ระบุว่าเป็นเรื่องของการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนเพียง 73 หลัก แต่ปรากฏว่าเจบีซีกลับกำหนดเป็นแผนแม่บทเพื่อพยายามขยายอำนาจตัวเองให้สามารถปักปันได้ตั้งแต่หลักเขตที่ 1 ไปจนถึง จ.อุบลราชธานี แล้วอ้างว่าเป็นพื้นที่ที่ยังปักปันไม่แล้วเสร็จ ทั้งที่จริงๆ แล้วการปักปันเขตแดนนั้นเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

“หากศาลโลกตัดสินออกมาใน 3 ข้อข้างต้นจะไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทยเลย เพราะฉะนั้นเรายังมีเรื่องที่ต้องต่อสู้กันต่อไป ถึงแม้ว่าจะตัดสินให้เรามาเจรจาทวิภาคีและเดินตามเจบีซีก็ตาม ก็หนีไม่พ้นการเสียดินแดน เพราะเจบีซีคลอดมาจากเอ็มโอยู 2543 ที่มีการใช้แผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน” ม.ล.วัลย์วิภาระบุ

ม.ล.วัลย์วิภากล่าวต่อว่า ในส่วนของเจบีซีฝ่ายไทยยังปรากฏว่ามีการกระชับอำนาจโดยฝ่ายการเมือง โดยการนำเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย และฝ่ายทหารมาร่วมเป็นกรรมการ อยู่ในโครงสร้างเจบีซีฝ่ายไทย ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศที่เป็นประธาน ยิ่งเมื่อมีการกำหนดให้ใช้แผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสนเป็นพื้นฐาน ก็เท่ากับเป็นการรับรองจากทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายการทูตและฝ่ายความมั่นคง ซึ่งถือเป็นการร่วมกันกระทำผิด ทั้งที่ทหารสมควรจะทำหน้าที่ในการรักษาอธิปไตยของชาติ ถือเป็นเล่ห์กลที่ฝ่ายการเมืองพยายามให้เกิดขึ้น

ต่อมา ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล อดีตทนายผู้ประสานงานคณะทนายฝ่ายไทยในคดีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี 2505 ได้อภิปรายว่า เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่อยู่ดีๆ การขอให้ตีความคำพิพากษาที่ผ่านมา 50 ปีมาแล้ว เพราะปกติต้องไม่เกิน 1-2 ปี ดังนั้น นอกจากแนวทางต่อสู้ในเรื่องเขตอำนาจของศาลโลกที่เป็นปัญหาแรกที่ศาลต้องพิจารณา และผู้ที่เป็นจำเลยหากไม่ยินยอมก็ต้องมีการคัดค้านอำนาจศาลแล้ว ยังต้องนำคำพิพากษาแย้งของเมื่อปี 2505 ขึ้นมาอ้างอิงถึงด้วย เพราะบางประเด็นคำพิพากษาหลักไม่ได้พูดถึง โดยเฉพาะเรื่องแผนที่ที่คำพิพากษาหลักไม่ได้กล่าวว่าถูกหรือผิด แต่คำพิพากษาแย้งมีระบุชัดเจนว่าแผนที่ที่ใช้อ้างอิงนั้นผิด

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา อภิปรายต่อมาว่า ส่วนตัวมีความเสียดายว่าการต่อสู้ในกรณีปราสาทเขาพระวิหารภาค 2 ครั้งนี้ ไม่สามารถทำให้คนในชาติที่มีความเห็นแย้งในเรื่องอื่นตลอดหลายปีที่ผ่านมาร่วมกันรวมพลังตามแนวคิดชาตินิยมเชิงบวกให้รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะส่วนตัวเชื่อว่าแม้หลายคนจะไม่ชอบรัฐบาลชุดนี้ แต่ในขณะที่คดีกำลังจะตัดสินภายในสิ้นปีนี้ หากรัฐบาลกล้าประกาศว่าเราไม่รับอำนาจของศาลโลก และหากศาลโลกตัดสินออกมากระทบกับอธิปไตยของชาติแล้วเราจะไม่ปฏิบัติตาม ตนเชื่อว่าพี่น้องประชาชนจะสนับสนุนรัฐบาลเฉพาะในเรื่องนี้อย่างแน่นอน ที่สำคัญยังไม่มีการนำพลังปัญญาของบรรพบุรุษในอดีตมารวมพลังกับปัจจุบันเพื่อต่อสู้ในกรณีนี้ เพราะหากย้อนไปศึกษาประวัติศาสตร์จะเห็นว่า บรรพบุรุษของเรามีกุศโลบายในการปกป้องอธิปไตยของชาติ ซึ่งทางหนึ่งที่ทำได้คือการแต่งตั้ง ศ.ดร.สมปองเข้าไปเป็นที่ปรึกษาคดีตามที่ตนได้เคยเสนอไปก่อนหน้านี้ และจากการสอบถามเป็นการส่วนตัว ศ.ดร.สมปองก็ยินดีที่จะเข้าร่วม แต่รัฐบาลกลับเลือกไปจ้างที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศชาวต่างชาติ 3 คนแทน

“ผมไม่ปฏิเสธความรู้ความสามารถของศาสตราจารย์ชาวต่างชาติทั้ง 3 ท่านนั้น แต่กรณีนี้เป็นอธิปไตยของแผ่นดิน ต้องใช้ความรู้สึกของความเป็นคนไทยลงไปเจือในการอ่านกฎหมาย ตีความ และวางแนวทางการต่อสู้คดีด้วย ไม่เห็นมีความเสียหายอะไรเลยที่จะเพิ่มคนไทยเข้าร่วมคณะไปอีกคนหนึ่ง” นายคำนูณกล่าว

นายคำนูณกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ตนได้เขียนบทความที่ระบุว่าคดีปราสาทพระวิหารภาค 2 จะแพ้มีโอกาสถึง 66.66 เปอร์เซ็นต์ เป็นการประเมินจากมุมมองนักกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ใกล้เคียงกับหลักคิดของกระทรวงการต่างประเทศที่ว่ามี 4 แนวทางความเป็นไปได้ คือ 1. ศาลไม่รับการตีความ 2. ศาลรับและตีความว่าอาณาบริเวณของปราสาทพระวิหารเท่ากับที่ประเทศไทยล้อมรั้วไว้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2505 3. ศาลรับและตีความว่าอาณาบริเวณของปราสาทพระวิหารคือพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ตามแผนที่ระวางดงรัก และ 4. ศาลรับและตีความว่าอาณาบริเวณของปราสาทพระวิหารนั้นเกินจากที่ฝ่ายไทยล้อมรั้วไว้ แต่อาจจะไม่ถึง 4.6 ตร.กม. ทั้ง 4 ข้อนี้นั้นมีเพียงข้อที่ 1 เท่านั้นที่ฝ่ายไทยจะชนะ ส่วนข้อที่ 2 ถือว่าเสมอตัว ถ้าเป็นข้อที่ 3 และ 4 ก็ถือว่าฝ่ายไทยแพ้

“โอกาสที่ศาลจะไม่รับตีความนั้นค่อนข้างยาก ก็จะเหลืออยู่ 3 ทาง โอกาสเป็นไปได้คือ 1 ใน 3 โอกาสเสมอตัวของไทยมีเพียงการที่ศาลรับตีความและวินิจฉัยว่าอาณาบริเวณของปราสาทพระวิหารเท่ากับที่ประเทศไทยล้อมรั้วไว้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2505 เท่านั้น ซึ่งกัมพูชาไม่เคยคัดค้าน จึงเป็นโอกาสที่เราจะแพ้ 66.66 เปอร์เซ็นต์ นี่คือสภาพความเป็นจริงของวันนี้ จึงไม่แปลกใจว่าเหตุใด รมว.ต่างประเทศออกมาบอกว่าให้คนไทยทำใจ แม้ตอนหลังจะมาแก้คำพูดก็ตาม” ส.ว.สรรหาระบุ

นายคำนูณกล่าวอีกว่า จึงเป็นที่มาของข้อความบนแผ่นพับของกระทรวงการต่างประเทศที่บอกว่า อย่าไปคิดว่าใครแพ้ใครชนะ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็เป็นชัยชนะของสันติภาพและการอยู่ร่วมกัน ก็เพราะทางกระทรวงประเมินแนวทางไว้เช่นนี้ อย่างไรก็มีคำถามถึงเรื่องนี้ก็คือ เมื่อโอกาสเสี่ยงมีถึง 66.66 เปอร์เซ็นต์ โอกาสเสมอตัวมีเพียง 33.33 เปอร์เซ็นต์ เหตุใดจึงไม่ตั้งหลักให้มั่นในเรื่องเขตอำนาจ ในส่วนของการเตรียมรับคำพิพากษานั้น คนไทยต้องศึกษาเรื่องนี้ให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจจะถูกหลอกว่าเราชนะหรือไม่แพ้ โดยการที่รัฐบาลออกมาบอกว่า ศาลไม่ได้ตัดสินออกมาเรื่องเขตแดน มีเพียงการตัดสินเรื่องอาณาบริเวณของปราสาทพระวิหาร ซึ่งก็เป็นไปตามความจริง เมื่อย้อนไปเมื่อปี 2505 ที่ศาลก็ไม่ได้ตัดสินเรื่องเขตแดน แต่ผลออกมาฝ่ายไทยต้องล้อมรั้วและกันคนออกมา หากครั้งนี้ศาลตีความใหม่เปลี่ยนแปลงอาณาเขตปราสาทพระวิหาร ฝ่ายไทยก็ต้องถอยร่นออกมาอีก

“สิ่งที่ทางการพยายามออกมาพูดและให้ข้อมูลอาจจะไม่ผิด แต่มันถูกไม่หมด บางครั้งการพูดความจริงไม่หมด ก็ไม่ต่างจากการโกหก ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามพูดเสมือนว่าเราจำเป็นต้องอยู่ใต้อำนาจศาลโลก เหมือนที่เราต้องอยู่ใต้อำนาจศาลไทย ทั้งที่จริงคนไทยอยู่ภายใต้อำนาจศาลไทยเท่านั้น และทุกประเทศแม้จะเป็นสมาชิกสหประชาชาติ หรือเป็นภาคีธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศก็ไม่ได้แปลว่าประเทศนั้นรับเขตอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยอัตโนมัติ” ส.ว.คำนูณกล่าว

นายคำนูณกล่าวต่อว่า แม้ว่ากระทรวงการต่างประเทศจะต่อสู้ว่าศาลโลกไม่มีอำนาจในการรับคดีปราสาทพระวิหารภาค 2 เพราะไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาเมื่อปี 2505 แล้ว และกัมพูชาก็ไม่มีสิทธิ์ฟ้องคดีใหม่เข้าไป แต่คำถามมีว่า หากศาลยังชี้ว่ามีอำนาจ และพิพากษามากระทบต่ออธิปไตยของชาติ ประเทศไทยจะปฏิบัติตามหรือไม่ เพราะขณะนี้รัฐบาลก็ยังไม่ชัดเจน

“พลังของประชาชนจากช่วงนี้ไปจนถึงศาลโลกตัดสินออกมาแล้ว จะมีความหมายและมีความสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อถึงเวลาที่ศาลพิพากษาออกมากระทบอธิปไตยของเรา ประชาชนคนไทยก็ต้องตะโกนดังๆ ว่าไม่ปฏิบัติตาม และที่สำคัญต้องเรียกร้องต่อรัฐบาลว่า เมื่อถึงเวลานั้นรัฐบาลไม่มีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจโดยลำพัง ต้องมีการสอบถามประชาชนเสียก่อน โดยจัดให้มีการประชามติ และก็ไม่ต้องรอให้มีการชุมนุมก่อนด้วย” นายคำนูณกล่าว

นายคำนูณยังได้เสนออีกว่า ฝ่ายไทยควรใช้โอกาสวันแถลงด้วยวาจาต่อองค์คณะผู้พิพากษาศาลโลกในวันที่ 17 และ 19 เม.ย.นี้ ให้ชัดเจนว่าไทยไม่รับเขตอำนาจศาลมา 50 ปีแล้ว และคดีนี้ไม่ใช้คดีตามมาตรา 60 ที่กัมพูชากล่าวอ้าง แต่เป็นการใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริตของกัมพูชาในการรื้อฟื้นคดีเก่าที่จบไปแล้ว รวมทั้งเพิ่มเติมด้วยว่า ไม่ว่าศาลมีคำพิพากษาอย่างไร รัฐบาลไทยของสงวนสิทธิ์ที่จะพิจารณาสอบถามความเห็นของประชาชนคนไทยทั้ง 70 ล้านคน ถือเป็นหนทางที่ยังพอจะทำได้

ในช่วงท้าย นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา ในฐานะตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมอภิปรายโดยกล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่าให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และเห็นว่าจุดประสงค์ของพรรคกับภาคประชาชนนั้นตรงกัน เพียงแต่อาจจะมีวิธีการที่แตกต่างกันอยู่บ้าง ทั้งนี้ขอตั้งสังเกตว่า การทำหน้าที่ของนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนี้นั้นไม่ต่างจากโฆษกของรัฐบาลกัมพูชา จากที่ล่าสุดได้นำแถลงการณ์ของทางการกัมพูชามาแปลที่พาดพิงมาถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ อีกทั้งก่อนหน้านี้ยังระบุอีกว่าคดีปราสาทพระวิหารครั้งนี้ประเทศไทยมีแต่แพ้กับเสมอตัว และยังอ้างอีกว่าเหตุที่ไม่ไปร่วมในการต่อสู้ที่ศาลโลกก็เพราะพูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้ เป็นคำพูดที่ไม่สมควรออกมาจากคนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งที่ฝ่ายกัมพูชามีคนระดับรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแลด้วยตนเอง

นายศิริโชคยังได้นำข้อมูลที่อ้างว่านำมาจากเว็บไซต์วิกิลีกส์ ซึ่งเป็นรายงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ลงวันที่ 15 พ.ค. 2550 พร้อมกล่าวว่า เป็นรายงานในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่ามีการตกลงผลประโยชน์พลังงานระหว่าง 2 ประเทศในทางลับช่วงก่อนการรัฐประหาร และภายหลังการรัฐประหาร พ.ต.ท.ทักษิณก็ยังพูดถึงความสนใจลงทุนในธุรกิจพลังงานอีกบ่อยครั้ง โดยข้อมูลดังกล่าวระบุถึงเจ้าหน้าที่ทูตของทางการสหรัฐฯ ทำหนังสือรายงานไปยังรัฐบาลว่า ในระหว่างที่หอการค้า US-ASEAN ไปเยือนกัมพูชา รมว.ต่างประเทศของกัมพูชา ได้กล่าวกับตัวแทนของบริษัทยักษ์ใหญ่ว่า “รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศเกือบตกลงกันได้ก่อนที่จะเกิดรัฐประหารในไทย และถ้ามีอีก 6 เดือนตกลงสำเร็จแน่” ขณะที่ บริษัท เชฟรอน ผู้พัฒนาบล็อก A ของกัมพูชา ก็ระบุว่า “พื้นที่ทับซ้อนเป็นที่น่าเจาะน้ำมันและแก๊สดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกและสามารถพลิกเศรษฐกิจของกัมพูชาได้” รวมไปถึงคำกล่าวของผู้ช่วยรัฐมนตรีกัมพูชา เกี่ยวกับข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทยที่ได้มีการแบ่งสรรรายได้กันไว้ด้วย

ส่วนกรณีการทำประชามติ หากมีการพิพากษากระทบต่ออธิปไตยนั้น นายศิริโชคกล่าวว่า ตนคงตอบแทนรัฐบาลเพื่อไทยไม่ได้ หากเป็นรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์คงไม่ต้องทำประชามติ เพราะถือว่าเรามีหน้าที่ในการปกป้องอธิปไตยของชาติ หากคำพิพากษาเข้าข่ายขัดกฎหมายและไม่ชอบธรรม ก็ต้องต่อสู้กันให้ถึงที่สุด และก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศที่ต้องไปชี้แจงว่าเหตุใดไทยจึงไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะศาลโลกเมื่อปี 2505 ก็ไม่กล้าชี้เรื่องเขตแดน ดังนั้นศาลโลกปัจจุบันก็ไม่จำเป็นที่ต้องชี้เรื่องของเขตแดน









กำลังโหลดความคิดเห็น