xs
xsm
sm
md
lg

อุบัติเหตุ ไม่ใช่เรื่องของเรา?

เผยแพร่:   โดย: ดร.ศิรดล ศิริธร

สถิติเจ็ดวันอันตรายช่วงปีใหม่ปีนี้ปิดบัญชีสรุปยอดออกมาด้วยตัวเลขที่ใครๆ ก็ส่ายหน้า เพราะทุกตัวชี้วัดที่ตั้งไว้มีตัวเลขเพิ่มขึ้นทั้งนั้น จำนวนอุบัติเหตุทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเกือบ 25% เสียชีวิตเพิ่มขึ้นกว่า 60% และบาดเจ็บมากขึ้นอีกราว 13% อันที่จริงการวัดจำนวนกันตรงๆ แบบนี้คงจะเป็นการชี้วัดที่บิดเบือนพอสมควร ขณะที่ปีใหม่ที่แล้วชาวไทยเพิ่งผ่านวิกฤติอุทกภัยครั้งใหญ่มาอย่างบอบช้ำ เศรษฐกิจทั้งภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนอยู่ในภาวะซบเซา คนส่วนใหญ่สาละวนอยู่กับการเก็บเงินและซ่อมแซมบ้านช่อง มีไม่กี่คนที่ออกเดินทางท่องเที่ยว ส่วนปีนี้เราผ่านปีเก่ามาแบบชิลล์ๆ ผู้คนเตรียมตัวออกเที่ยวชดเชยปีกลาย จนจำนวนนักท่องเที่ยวอาจจะมากกว่าปีอื่นๆ ด้วยซ้ำ จำนวนอุบัติเหตุที่ปรากฏเพิ่มสูงน่าเป็นผลจากการเกิดอุบัติเหตุต่อปริมาณการเดินทางในสัดส่วนเดียวกัน

การนำเสนอสถิติอุบัติเหตุเชิงเปรียบเทียบแข่งขันระหว่างจังหวัดค่อนข้างจะไม่ยุติธรรมเท่าไหร่ จังหวัดเชียงใหม่ หรือนครราชสีมา ทำยังไงก็ไม่สามารถจะลดจำนวนอุบัติเหตุสู้กับจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตราด หรือปัตตานีได้ เมื่อเทียบการเดินทางเป็นจำนวนกิโลเมตรรวมหรือในทางวิศวกรรมเรียกว่า คัน-กิโลเมตร ที่ผ่านพื้นที่ จังหวัดใหญ่ๆ หรือจังหวัดที่มีรถผ่านมากจะมีปริมาณการเดินทางมากกว่าจังหวัดที่ตั้งอยู่สุดชายแดนหรือจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวน้อย ดังนั้น โอกาสการเกิดอุบัติเหตุก็มากตามปริมาณการเดินทางนี้ไปด้วย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น ลักษณะภูมิประเทศ เวลาที่เดินทางผ่านจังหวัด ลักษณะทางเรขาคณิตของถนน สภาพผิวทางและการซ่อมบำรุง และการออกแบบทางร่วมทางแยกต่างๆ

...

การเดินทางเป็นกิจกรรมพื้นฐานในชีวิตประจำวันของทุกคน เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดความผิดพลาดในการดำเนินกิจกรรมพื้นฐานที่ว่านี้ มนุษย์ก็ไม่ควรถูกลงโทษถึงชีวิต หรือแม้แต่บาดเจ็บพิกลพิการ ถนนที่คุ้มครองผู้ขับขี่ยามผิดพลาด หรือ Forgiving Road เป็นแนวคิดที่วิศวกรการทางพยายามนำมาใช้ในการออกแบบกันอย่างแพร่หลายมาเป็นเวลานาน หากผู้ขับขี่ขับเร็ว ขับอันตราย แซงในที่คับขัน โทรศัพท์ขณะขับรถ หรือขาดสมาธิในการขับรถไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม ลักษณะทางกายภาพของถนนจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุต่อผู้ขับขี่รายนั้นได้ วิศวกรจึงมักออกแบบถนนให้กว้างๆ วงเลี้ยวใหญ่ๆ เอาต้นไม้และสิ่งกีดขวางสองข้างทางออกไปให้ไกลถนนที่สุดเพื่อให้ผู้ขับขี่ขับรถได้อย่างปลอดภัย ขณะที่ในโลกปัจจุบันเรามักจะต้องเดินทางอย่างเร่งรีบเพื่อไปทำกิจกรรมบางอย่าง หรือมีกิจกรรมอื่นๆ ที่อยากทำไปพร้อมๆ การขับรถเพื่อประหยัดเวลา ปัญหาของแนวคิดของ Forgiving Road นี้ก็คือมันทำให้เรามีแนวโน้มจะละเลยความรับผิดชอบของตัวเอง ขาดความระมัดระวังมากขึ้น เพราะเรารู้ว่าเราสามารถขับรถประมาทได้อย่างปลอดภัยมากกว่าเดิม

แนวคิดแห่งความปลอดภัยในมุมกลับ จึงเป็นการออกแบบให้สร้างถนนแคบๆ เล็กๆ คล้ายกับแนวคิดของการยับยั้งจราจร (Traffic Calming) ที่ใช้อุปสรรคในรูปแบบต่างๆ บังคับให้ผู้ขับขี่ใช้ความเร็วต่ำและตั้งใจกับการขับรถมากขึ้น ผู้ขับไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือได้อย่างสะดวกหรือทำอย่างอื่นไปด้วยในขณะขับรถผ่านเส้นทางที่ไม่มีการคุ้มครองความปลอดภัย นักคิดกลุ่มหนึ่งเชื่อกันว่านอกจากจะทำให้คนขับรถอย่างปลอดภัยขึ้นแล้วยังทำให้คนขับรถเก่งขึ้นด้วย แต่นั่นก็อาจจะต้องแลกมากับเวลาที่สูญเสียไปในการเดินทางด้วยความเร็วต่ำกว่าที่เราอยากให้เป็น

อย่างไรก็ตามสภาพแวดล้อมเหล่านี้เป็นเพียงหนึ่งในสามของปัจจัยหลักของการเกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าวิศวกรการทางจะทุ่มเทความรู้ความสามารถลงไปสักแค่ไหนก็ไม่ยากที่จะยับยั้งอุบัติเหตุจากปัจจัยที่สำคัญอีกสองประการ ได้แก่ คนและรถ บางสาเหตุก็เกิดจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง บางสาเหตุก็เกิดจากปัจจัยร่วมสองหรือสามปัจจัยประกอบกัน และเราก็คงพอเดาได้ว่าปัจจัยที่มีบทบาทในการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดก็คือคน สาเหตุสามประการแรกที่ข้อมูลจากศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยบันทึกไว้ได้แก่ ขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด ตัดหน้ากระชั้นชิด และ แซงรถผิดกฎหมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับคนทั้งสิ้น

ความเร็วอาจจะไม่ใช่องค์ประกอบที่สำคัญที่สุด ในงานประชุมสมาคมวิชาการด้านการจราจรงานหนึ่ง มีผู้ถามตัวแทนจากบริษัทจักรยานยนต์ฮอนด้า ว่าควรจะกำหนดความเร็วสูงสุดที่เหมาะสมสำหรับการขับขี่จักรยานยนต์ไว้ที่เท่าไหร่ ผู้ตอบชาวญี่ปุ่นครุ่นคิดพักหนึ่งก่อนอธิบายว่าอันที่จริงเรื่องความเร็วไม่น่ากังวลเท่า "วิธีการขับขี่" โดยเฉพาะวิธีการขับขี่ของคนไทย เราขาดการปลูกฝังการขับขี่อย่างปลอดภัยและเอื้ออาทรมาช้านาน โฆษณารถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือแม้กระทั่งรถกระบะบรรทุกล้วนมีแต่คำว่าเร็ว แรง แซง ฯลฯ แม้การขายความปลอดภัยก็ต้องพึ่งพาอุปกรณ์สมรรถนะสูงเพราะคนขับไม่ใส่ใจที่จะรับผิดชอบตัวเอง แต่ไม่ค่อยจะมีโฆษณาไหนที่บอกว่าขับช้าๆ ด้วยความระมัดระวังและเอื้อเฟื้อเพื่อนร่วมทาง

การปลูกฝังเรื่องความปลอดภัยเรากลับไปอยู่ในมุมที่แปลกออกไป เราถูกปลูกฝังกันแต่เรื่องเข็มขัดนิรภัยและโดยเฉพาะอย่างยิ่งหมวกกันน็อค การรณรงค์การสวมหมวกนิรภัยเป็นเรื่องที่ดี แต่การมุ่งเน้นแต่เรื่องการสวมหมวกกลายเป็นการส่งข้อความที่ผิดพลาด ข้อความ "สวมหมวกนิรภัยเพื่อความปลอดภัย" เหมือนกับจะบอกว่าใส่หมวกกันน็อคแล้วจะขับขี่กันอย่างไรก็ล้วนแล้วแต่ปลอดภัยทั้งสิ้น หมวกกันน็อคไม่ได้มีไว้ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ มันเป็นแค่เครื่องมือลดความรุนแรงของอุบัติเหตุเท่านั้น ตราบใดที่คนขี่มอเตอร์ไซค์ยังมีพฤติกรรมคึกคะนองปาดซ้ายขวา หรือมักง่ายสวนทางบนทางหลวง หมวกกันน็อคก็จะมีบทบาทเพียงแค่เปลี่ยนให้คนที่จะต้องเสียชีวิตกลายเป็นบาดเจ็บสาหัส และจากบาดเจ็บสาหัสเป็นบาดเจ็บเล็กน้อย สาส์นที่ควรจะมีการสื่อมากกว่า เช่น การฝ่าไฟแดงเป็นการเสี่ยงชีวิต การขับขี่ตัดหน้าในระยะกระชั้นชิดก็อันตราย และที่สำคัญที่สุดคือการขับขี่ย้อนศรเป็นเรื่องอันตรายมากๆ เป็นที่รู้กันดีว่าการขับขี่ย้อนศรมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุสูง แต่เมื่อการวางผังเมืองและการกำหนดหน้าที่ของถนนถูกละเลย ปล่อยให้เกิดชุมชนเป็นแนวยาวข้างทางหลวงสายใหญ่ การขับขี่ย้อนศรก็เหมือนจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา กลายเป็นวัฒนธรรมที่ถูกยอมรับกันไปโดยปริยาย บางครั้งรถยนต์ที่ขับขี่มาตามทางปกติยังถูกจักรยานยนต์ย้อนศรเบียดเลนบีบแตรไล่จนแทบไม่มีที่ไป

การเน้นย้ำ ประชาสัมพันธ์ และการฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องที่น่าเบื่อในสายตาของคนส่วนใหญ่ ความปลอดภัยเป็นหัวข้อที่ฟังดูไม่ซับซ้อนเกินกว่าการหัดขับรถเกียร์ออโต้ ไม่มีใครอยากมาเรียนสิ่งที่ตัวเองคิดว่าเข้าใจดีอยู่แล้ว ทำไมจะต้องมานั่งรอให้วิทยากรสอนสั่งว่าขับรถยังไงในเมื่อตัวเองขับรถมาอาจจะมีระยะทางไกลกว่าวิทยากรผู้รู้เสียด้วยซ้ำ แต่บางครั้งเราลืมที่จะตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องเล็กๆ น้อยๆ บางครั้งมีเรื่องที่เราหลงลืม และบางครั้งมีเรื่องที่เราไม่เคยรู้

เมื่อครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปศึกษาข้อมูลเพื่อวางแผนแม่บทจราจรและขนส่งของจังหวัดอ่างทอง งานหนึ่งในแผนปฏิบัติงานได้แก่การจัดอบรมความปลอดภัยให้แก่ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ โดยเฉพาะนักเรียน คงต้องยอมรับความจริงกันว่าในปัจจุบันเมื่อการเข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้นพร้อมทั้งมีโปรแกรมผ่อนดาวน์ผ่อนดอกที่หลากหลาย เด็กอายุ 12 - 13 ขวบในต่างจังหวัดก็ก็ได้ขี่มอเตอร์ไซค์แทนจักรยานกันเป็นเรื่องปกติ อ่างทองก็เป็นเช่นเดียวกัน ผมและทีมงานในนามของคณะผู้ศึกษาได้ประสานไปทางตำรวจในพื้นที่เพื่อจัดอบรมซึ่งก็ได้รับความร่วมมืออย่างกระตือรือร้น เพราะเราเห็นพ้องต้องกันว่าการปลูกฝังวินัยจราจรให้เด็กๆ มีความสำคัญเพื่อเป็นรากฐานติดตัวเขาไปในอนาคต และเป็นสื่อที่จะนำสาส์นส่งต่อไปยังพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ทั้งหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าคุณเป็นคนไม่เคยยอมฟังใคร อย่างน้อยคุณก็ต้องฟังลูกหลานตัวเองพูดบ้างล่ะ

หนึ่งในแม่งานในวันนั้นคือท่านสารวัตรจราจรที่อ่างทอง พ.ต.ท.ศิริพงษ์ วงษ์กล้าหาญ (ปัจจุบันได้ข่าวว่าท่านเปลี่ยนสายงานไปรับตำแหน่ง สวป. ที่อำเภอวังทอง พิษณุโลก) ท่านสารวัตรเอาจริงเอาจังกับการฝึกอบรมมาก เด็กๆ ที่เข้าอบรมวันนั้นฟังด้วยความกระตือรือร้น เครื่องหมาย ป้ายจราจร ไฟสัญญาณ และกฎจราจรที่หลายคนเข้าใจผิดๆ รวมทั้งเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ในการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ หลากหลายประสบการณ์ถูกถ่ายทอดรวมถึงหนึ่งคำแนะนำที่ผมเชื่อว่าจะรักษาชีวิตเด็กบางคนได้ในอนาคต คือ เมื่อใดก็ตามที่ตำรวจเรียกตรวจในข้อหาเบาๆ อย่างหมวกกันน็อคหรือซ้อนสาม จงอย่าขับหนี เพราะมันเป็นสาเหตุที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียมากกว่าหลายเท่า นอกจากนี้ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเรื่องยาเสพติดและอาวุธ ตำรวจจะต้องระวังและปกป้องตนเองเพราะไม่รู้ว่าจักรยานยนต์คันที่แหกด่านพกสิ่งของผิดกฎหมายหรืออาวุธประเภทใด ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงทุกขณะจากสาเหตุที่ไม่สมควรเลย

...

เราคุ้นชินกับการเรียกเหตุการณ์รถชน รถคว่ำ และเหตุร้ายในรูปแบบต่างๆ บนท้องถนนว่าอุบัติเหตุ ราชบัณฑิตยสถานให้คำจำกัดความของอุบัติเหตุไว้ว่า อุบัติเหตุ น. เหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด, ความบังเอิญเป็น เราจึงมักจะคิดว่าอุบัติเหตุ หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญและขึ้นอยู่กับโชคชะตา ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีความถูกต้องบางส่วน แต่เราสามารถลดโอกาสของโชคชะตาความน่าจะเป็นนั้นได้ ในปี ค.ศ. 1997 หน่วยงานความปลอดภัยบนทางหลวงแห่งชาติ สังกัดกระทรวงการขนส่งของสหรัฐอเมริกาได้ตัดสินใจเปลี่ยนเป็นใช้คำว่า crash หรือการชน แทนคำว่า Accident หรืออุบัติเหตุ เพื่อไม่ให้สื่อถึงความบังเอิญแต่เพียงอย่างเดียว เพราะอุบัติเหตุที่แท้แล้วเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ด้วยศาสตร์และศิลป์ ผสานกับความตั้งใจ

เราไม่สามารถป้องกันโชคร้ายไม่ให้เกิดขึ้นกับเราได้ทั้งหมด แต่การโทรศัพท์ขณะขับรถ การขับปาดซ้ายขวา หรือการขับฝ่าไฟแดงเป็นการเชื้อเชิญโชคร้ายให้เข้ามาหาเราได้ง่ายขึ้น ความน่ากลัวของอุบัติเหตุอยู่ที่ว่าอุบัติเหตุเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ นักในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ เราทุกคนคงผ่านประสบการณ์ที่รอดจากการเกิดอุบัติเหตุอย่างหวุดหวิดบ่อยครั้งกว่าประสบการณ์การเกิดอุบัติเหตุจริง การศึกษาของบริษัทประกันภัยรายหนึ่งพบว่าบนท้องถนนจะมีเหตุการณ์ "เกือบไป" นี้ถึง 120 ครั้งต่อการเกิดอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ 11 ครั้ง และต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงที่มีการบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตเพียงหนึ่งครั้ง บ่อยครั้งเราจึงลืมที่จะใช้ความระมัดระวังเมื่ออยู่บนท้องถนน และตราบใดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุจริงหรือเหตุการณ์ที่เกือบสุดๆ เราก็มักจะไม่รู้สึกเข็ดหลาบ ไม่ใส่ใจกับความปลอดภัย และลืมเหตุการณ์เสี่ยงต่างๆ ไปในเวลาอันรวดเร็ว

เรามักจะมุ่งเน้นกับการปรับปรุงสภาพถนนและสิ่งแวดล้อมในการขับรถ รวมทั้งจำกัดความบกพร่องของผู้ขับขี่ แต่การศึกษาหลายแห่งยืนยันตรงกัน ว่าสาเหตุของอุบัติเหตุอยู่ที่ทัศนคติ อารมณ์ และการตัดสินใจของคนขับมากกว่า บ้านเรามักจะรณรงค์ให้ผู้ขับขี่ตื่นตัวกันอยู่ในระยะเวลาสั้นๆ ก่อนและหลังเทศกาลวันหยุดยาว แต่อุบัติเหตุเกิดขึ้น 365 วันต่อปี การอบรมการฝึกฝน ปลูกฝังทัศนคติ และสร้างความตระหนักในการขับขี่อย่างปลอดภัยเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องแต่มักถูกมองข้าม

ผมนึกถึงเพื่อนที่เสียชีวิตไปในปีนี้ด้วยอุบัติเหตุทางถนนบนมอเตอร์เวย์ แน่นอนว่ามันเป็นข่าวที่สร้างความตกใจให้กับคนรอบข้างมากมาย เพราะมันเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิด แม้ว่าอุบัติเหตุดูเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นกับคนอื่นๆ ทุกวัน แต่ความน่ากลัวของอุบัติเหตุอยู่ที่ความเชื่อว่าอุบัติเหตุเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเกิดขึ้นกับเราได้ง่ายๆ นัก ความน่ากลัวยิ่งกว่าของอุบัติเหตุคือมันเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถย้อนกลับมาปรับปรุงใหม่ได้ บางครั้งแม้อุบัติเหตุจะเกิดขึ้นกับเราเพียงครั้งเดียวก็นับว่ามากเกินไปแล้ว
ปฏิรูปราชการใน‘จีน’ทดสอบอำนาจ‘สีจิ้นผิง’
ประเทศจีนกำลังใกล้จะเริ่มดำเนินการปฏิรูประบบราชการของตนครั้งใหญ่โต โดยเป็นที่คาดหมายกันว่าหน่วยงานระดับกระทรวงต่างๆ จะถูกลดจำนวนลงไปถึงครึ่งหนึ่งทีเดียว เรื่องนี้น่าที่จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างมากมายทั้งสำหรับรัฐและทั้งสำหรับตลาด แต่ก็จะสร้างกองทัพของผู้ที่ไม่พออกพอใจขึ้นมาด้วย เนื่องจากพวกเขากำลังเผชิญการสูญเสียอำนาจและแหล่งทำมาหากินสร้างความมั่งคั่งร่ำรวย ในขณะที่ต้องทำการเจรจาต่อรองกันเพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงคราวนี้ พร้อมๆ กับต้องกุมบังเหียนคอยตะล่อมกลุ่มพลังอนุรักษนิยมต่างๆ ให้อยู่ในร่องในรอย เหล่านี้จึงถือเป็นบททดสอบอันหนักหน่วงสาหัสสำหรับ สี จิ้นผิง ผู้กำลังจะก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีของแดนมังกรในเดือนมีนาคมนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น