xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิรูปราชการใน‘จีน’ทดสอบอำนาจ‘สีจิ้นผิง’

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Bureaucratic reforms to test Xi’s power
By Francesco Sisci
10/01/2013

ประเทศจีนกำลังใกล้จะเริ่มดำเนินการปฏิรูประบบราชการของตนครั้งใหญ่โต โดยเป็นที่คาดหมายกันว่าหน่วยงานระดับกระทรวงต่างๆ จะถูกลดจำนวนลงไปถึงครึ่งหนึ่งทีเดียว เรื่องนี้น่าที่จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างมากมายทั้งสำหรับรัฐและทั้งสำหรับตลาด แต่ก็จะสร้างกองทัพของผู้ที่ไม่พออกพอใจขึ้นมาด้วย เนื่องจากพวกเขากำลังเผชิญการสูญเสียอำนาจและแหล่งทำมาหากินสร้างความมั่งคั่งร่ำรวย ในขณะที่ต้องทำการเจรจาต่อรองกันเพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงคราวนี้ พร้อมๆ กับต้องกุมบังเหียนคอยตะล่อมกลุ่มพลังอนุรักษนิยมต่างๆ ให้อยู่ในร่องในรอย เหล่านี้จึงถือเป็นบททดสอบอันหนักหน่วงสาหัสสำหรับ สี จิ้นผิง ผู้กำลังจะก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีของแดนมังกรในเดือนมีนาคมนี้

ในกลางเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ อันเป็นเวลาแห่งการประชุมเต็มคณะของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ ซึ่งก็คือรัฐสภาของแดนมังกรนั้น ประเทศจีนจะเปิดฉากดำเนินการปฏิรูประบบบริหารราชการครั้งใหญ่โตที่สุดนับแต่ปี 1998 เป็นต้นมา ทั้งนี้การปฏิรูปครั้งก่อนในปีดังกล่าว ได้มีการลดจำนวนหน่วยงานระดับกระทรวงลงมาอย่างฮวบฮาบ จาก 70 เหลือ 44 กระทรวง ส่วนในคราวนี้ คาดหมายกันว่าจำนวน 44 กระทรวงจะถูกตัดถูกยุบลงอีกครึ่งหนึ่ง โดยอำนาจหน้าที่ต่างๆ จะได้รับการจัดสรรแบ่งปันกันใหม่

มันจะเป็นจังหวะก้าวอันสำคัญอีกก้าวหนึ่งในการขยับตัวห่างออกมาจากมรดกแห่งระบบบริหารรัฐแบบลัทธิเลนิน (Leninist state administration) ทว่าสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นอีกก็คือ มันจะเป็นสัญญาณแสดงถึงขั้นตอนใหม่ของการปรับโครงสร้างทางการเมือง และอาจจะเป็นการเปิดหนทางแก้ไขอย่างซับซ้อน ให้แก่การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจที่ดำรงอยู่มายาวนานแล้วในประเทศจีน การประจันหน้ากันเมื่อเร็วๆ นี้ในกรณีของหนังสือพิมพ์ยอดนิยมรายสัปดาห์ เซาเทิร์น วีกลี่ (Southern Weekly) คือบทพิสูจน์ให้เห็นว่าสถานการณ์ในปัจจุบันมีความซับซ้อนยุ่งยากถึงขนาดไหน

เวลานี้ยังไม่มีรายละเอียดอันชัดเจน อีกยังยังไม่มีความแน่นอนชนิดไม่มีการพลิกผันกันอีกแล้ว แต่อะไรบางอย่างในทำนองที่ผมจะกล่าวต่อไปนี้น่าที่จะเกิดขึ้นมาได้ นั่นคือ กระทรวงการรถไฟ (Ministry of Railways) ซึ่งพยายามอย่างประสบผลจนหลีกหนีไม่ถูกนำไปรวมเข้าในกระทรวงการขนส่ง (Ministry of Transport) มาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว ในคราวนี้จะถูกยุบ ขณะเดียวกัน กระทรวงกิจการพลเรือน (Ministry of Civil Affairs), กระทรวงแรงงาน (Ministry of Civil Labor) และบางทีกระทั่งกระทรวงสาธารณสุข (Ministry of Health) ด้วย จะถูกรวมกันเป็นกระทรวงเดียวกัน

กระทรวงความมั่นคงแห่งชาติ (Ministry of National Security) ที่ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อหลายสิบปีก่อนเพื่อให้เป็นหน่วยงานเคจีบี แบบสหภาพโซเวียต ในเวอร์ชั่นของจีน ดังนั้นจึงทรงอำนาจมากในลักษณะเป็นหน่วยงานแบบสำนักงานข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) บวกกับ สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ในอเมริกา คราวนี้จะถูกลดชั้นลดระดับลงมา อย่างน้อยที่สุดก็ในทางรูปแบบอย่างเป็นทางการ (แต่แน่นอนทีเดียวว่า รูปแบบก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ)

สำหรับกระทรวงสิ่งแวดล้อม (Ministry of the Environment) คาดหมายกันว่าจะได้รับอำนาจหน้าที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องขอบคุณช่วงเวลาหลายๆ ปีแห่งการร่วมมือประสานงานกับพวกประเทศต่างๆ ที่กลายเป็นการส่งเสริมบทบาทของกระทรวงนี้ทั้งในระดับระหว่างประเทศและระดับภายในประเทศ

หน่วยงานระดับกระทรวงอื่นๆ ที่น่าจะถูกยุบรวมเข้าด้วยกัน ยังมี บัณฑิตยสถานทางวิทยาศาสตร์ (Academy of Science) และบัณฑิตยสถานทางสังคมศาสตร์ (Academy of Social Sciences) ซึ่งทุกวันนี้แสดงบทบาทที่แตกต่างกันเป็นอันมาก โดยที่หน่วยงานแรกเป็นศูนย์กลางการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่หน่วยงานหลังเป็นเสมือนคลังสมอง (think tank) ระดับซูเปอร์ของรัฐบาล

คณะกรรมาธิการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission) ซึ่งทรงอำนาจยิ่ง โดยในปัจจุบันเป็นเสมือน มหากระทรวงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม (super Ministry of Economy and Industry) อาจจะสูญหายไป จากนั้นก็กลับปรากฏตัวใหม่ในฐานะของคณะกรรมาธิการเพื่อการปฏิรูป ซึ่งภาระหน้าที่หลักๆ คือการปรับโครงสร้างทางการบริหารของรัฐ

ธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (People’s Bank of China) ซึ่งเป็นธนาคารกลางของประเทศ ในปัจจุบันมีฐานะเป็นหน่วยงานทางเทคนิคที่มีรองนายกรัฐมนตรีผู้หนึ่งเป็นผู้กำกับดูแล แต่จากการเปลี่ยนแปลงคราวนี้น่าจะมีฐานะสูงขึ้น อีกทั้งมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนั้น พวกรัฐวิสาหกิจที่มีขนาดใหญ่โตอุ้ยอ้ายทั้งหลาย ซึ่งจวบจนกระทั่งถึงช่วงหลังๆ มานี้ ต่างพยายามขยายแวดวงผลประโยชน์ของพวกตนและหยิบฉวยเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถไขว่คว้ามาได้นั้น จะประสบกับแรงกดดันเพิ่มขึ้นมากเพื่อให้มุ่งโฟกัสไปยังพวกธุรกิจแกนหลักของพวกตนเท่านั้น สภาพการณ์เช่นนี้น่าที่จะทำให้พวกบริษัทภาคเอกชนมีโอกาสและช่องกันกันมากขึ้น

สิ่งต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้ ก็คือการเปลี่ยนแปลงจนถึงระดับรากฐานอย่างใหญ่โตมโหฬาร ซึ่งควรที่จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมากทั้งสำหรับรัฐและสำหรับตลาด ทว่าก็จะสร้างกองทัพของพวกที่ไม่พออกพอใจขึ้นมาด้วย แท้ที่จริงแล้ว การปรับโครงสร้างนี้ ซึ่งคงจะมีการประกาศในตอนท้ายของการประชุมเต็มคณะของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติตอนกลางเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ หมายถึงการฟาดกระหน่ำอย่างแรงเข้าใส่ระบบราชการ ซึ่งอาจเหลือเก้าอี้เพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนที่เคยมีอยู่ ในเมื่อหน่วยงานระดับกระทรวงจะถูกหั่นออกไป 1 ใน 2

ครั้งที่ประเทศจีนตัดหั่นระบบราชการของตนลงไปอย่างน่าตื่นตาตื่นใจเมื่อ 15 ปีก่อน อันเป็นช่วงเวลาในยุคของประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน นั้น สถานการณ์แตกตื่นออกไปจากปัจจุบันเป็นอย่างมาก

ในปี 1998 ปักกิ่งมีความรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับความไร้ประสิทธิภาพของกลไกรัฐทั้งหมดโดยองค์รวม เริ่มต้นตั้งแต่พวกรัฐวิสาหกิจทั้งหลาย อารมณ์ความรู้สึกในตอนนั้นเหมือนกับตกอยู่ในท่ามกลางวงล้อมของศัตรู และตระหนักถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องลงมือกระทำการปฏิรูป ในเมื่อวิกฤตการเงินเอเชีย (ปี 1997-98) ทำให้ปักกิ่งรู้สึกเหมือนตกอยู่ในท่ามกลางอันตรายที่อาจถึงขั้นล้มครืนลงมา ในเวลาเดียวกัน สหรัฐฯกับฝ่ายตะวันตกเวลานั้นกลับดูแข็งแกร่งและน่าเกรงขามเหลือเกิน หลังจากที่ไม่ถึงสิบปีก่อนได้สร้างความปราชัยให้แก่สหภาพโซเวียต

ทุกวันนี้สภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง สหรัฐฯกับยุโรปยังกำลังสาละวนมุ่งหาวิธีการที่จะหลุดออกมาจากวิกฤตภาคการเงินปี 2008 ขณะที่เอเชียกำลังกลายเป็นหัวรถจักรของการเจริญเติบโตในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ ส่วนรัฐวิสาหกิจต่างๆ ของแดนมังกร สืบเนื่องจากมีอภิสิทธิต่างๆ มากมาย เวลานี้จึงมีเงินทองอยู่ในมือล้นเหลือ ด้วยเหตุนี้ ในทางทฤษฎีแล้ว จีนยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น และสามารถที่จะเดินหน้าไปตามสูตรเดิมๆ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในทางเป็นจริงแล้ว คณะผู้นำชุดปัจจุบันมองเห็นปัญหาต่างๆ ที่แฝงฝังอยู่ในระบบปัจจุบัน และต้องการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดฟองสบู่แห่งความไร้ประสิทธิภาพทั้งหลาย ซึ่งอาจขยายตัวและแตกระเบิดออกมาภายในระยะเวลา 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า จะว่าไปแล้ว พวกรัฐวิสาหกิจซึ่งอยู่ในภาวะค่อนข้างไร้ประสิทธิภาพ กำลังกลายเป็นตัวการปิดตลาดให้เหลืออยู่เฉพาะพวกเขาเองเท่านั้นแต่กีดกันภาคเอกชน ส่วนหน่วยงานระดับกระทรวงจำนวนมากก็ไม่มีพรมแดนที่ชัดเจน จึงกลายเป็นการขยับขยายระบบราชการออกไปเรื่อยๆ และทำให้เสียเวลาอย่างเปลืองเปล่า

เมื่อเป็นเช่นนี้ การปฏิรูปที่กำลังคิดอ่านดำเนินการกัน จึงอยู่ในลักษณะของการเตรียมตัวล่วงหน้า เปิดฉากทำกันขึ้นมาโดยไม่มีสถานการณ์ที่เร่งร้อน ไม่มีสัญญาณเตือนอันตรายหรือภัยคุกคามร้ายแรงใดๆ ดังนั้น มันจึงกลายเป็นบททดสอบว่า ชนชั้นนำของจีนมีความสามารถเพียงใดที่จะเข้าครอบงำบงการสถานการณ์ภายในประเทศและกลไกรัฐต่างๆ เพื่อเดินหน้าเรื่องเหล่านี้ --ซึ่งต้องจัดเป็นการท้าทายที่ยากลำบากยิ่งกว่าในอดีตที่ผ่านมา ตอนที่การปฏิรูปต่างๆ มีความจำเป็นต้องดำเนินการกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากถูก “บังคับ” จากภาวะแวดล้อมภายนอกประเทศ

ยิ่งไปกว่านั้น การปฏิรูปต่างๆ ในคราวนี้ บังเกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่ออกจะประหลาดเอาการ กล่าวคือบังเกิดขึ้นในจังหวะเวลาแห่งการถ่ายโอนอำนาจ ทั้งนี้ ในการประชุมเต็มคณะของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติกลางเดือนมีนาคมนี้แหละ ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา และนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า จะส่งมอบตำแหน่งของพวกเขาให้แก่สี จิ้นผิง และ หลี่ เค่อเฉียง ตามลำดับ ทว่าการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเตรียมการกันอยู่นี้ได้รับการวางแผนและการขับดันร่วมกันของคณะผู้นำที่กำลังก้าวพ้นตำแหน่งและที่กำลังก้าวเข้ารับตำแหน่ง

เรื่องนี้แตกต่างอย่างมากจากเมื่อปี 1998 ในตอนนั้น เจียง เจ๋อหมินสามารถที่จะผลักดันการปฏิรูปต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของเขาเองอย่างแน่นอนไร้ข้อกังขา โดยที่คณะบริหารชุดก่อนมิได้อยู่ปรากฏตัวและถอยหายล่วงลับไปตามกาลเวลาแล้ว กล่าวคือ เติ้ง เสี่ยวผิง นั้นถึงแก่มรณกรรมตั้งแต่ปี 1997 ขณะที่เหล่าสหายมิตรร่วมรบของเขาส่วนใหญ่ก็หายหน้าจากเวทีการเมืองไปแล้วเช่นกัน

ยิ่งกว่านั้น จากคำปราศรัยหลายๆ ครั้งในช่วงหลังๆ มานี้ พิสูจน์ให้เห็นว่า สี มีเจตนารมณ์ที่จะสืบต่อและเพิ่มขยายการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รวมทั้งมีสัญญาณหลายหลากนานาที่บ่งบอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการปฏิรูปต่างๆ ในทางการเมือง

สี ดูเหมือนกับมีความมุ่งมั่นที่จะสร้าง “ความฝันของคนจีน” (คล้ายๆ กับที่ในสหรัฐฯก็มี “ความฝันของคนอเมริกัน”) ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันที่จะเห็นคนจีนมั่งคั่งรุ่งเรือง ขณะที่ประเทศจีนและทั่วโลกก็สามารถดำเนินการพัฒนาไปได้อย่างสันติ เฉกเช่นที่ เจิ้ง ปี้เจียน (Zheng Bijian) นักทฤษฎีของพรรค ได้อธิบายเอาไว้ในคำปราศรัยหลายครั้งเมื่อเร็วๆ นี้

การที่จะสร้าง “ความฝันของคนจีน” ของเขาขึ้นมาให้สำเร็จ สี ซึ่งได้รับความสนับสนุนจาก หู จำเป็นที่จะต้องมีอำนาจมากมายอยู่ในกำมือ และจำเป็นที่จะต้องมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวอย่างเต็มล้นด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากพวกกลุ่มผลประโยชน์ที่คัดค้านการปฏิรูปนั้นยังคงทรงอำนาจอย่างยิ่ง ป๋อ ซีไหล ซึ่งเวลานี้กำลังกลายเป็นตัวแทนของกลุ่มพลังอนุรักษนิยมทั้งหลายทั้งปวงในประเทศจีน ได้ประสบความพ่ายแพ้ยับเยินไปแล้วก็จริงอยู่ ทว่าพวกอดีตผู้สนับสนุนของเขาจำนวนมากปัจจุบันยังคงกำลังปกป้องแก้ต่างให้แก่แนวคิดเรื่องต่างๆ ของป๋อ ตลอดจนอาณาเขตผลประโยชน์ของพวกเขาเอง รวมถึงโครงสร้างกระทรวงแบบเก่าๆ และพวกรัฐวิสาหกิจที่มีเงินสดร่ำรวยอยู่ในกำมือทั้งหลาย ในกลางเดือนมีนาคมนี้แหละ เราจะได้เห็นกันว่าความมุ่งมาดปรารถนาที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนั้น จะได้รับการผลักดันให้เดินหน้าไปได้หรือไม่และไปได้ไกลเพียงใด

ในเวลาเดียวกัน สถานการณ์ก็ยังมืดมัว ยังคงห่างไกลจากความชัดเจน ความยากลำบากในการจัดการกับกรณีการเผชิญหน้ากันสืบเนื่องจากการที่ทางการเข้าไปเซนเซอร์หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ เซาเทิร์น วีกลี่ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีแนวทางเสรีนิยมที่สุดในประเทศจีน โดยที่เหล่าบุคลากรระดับบรรณาธิการของ เซาเทิร์น วีกลี่ ถึงขนาดพากันประกาศสไตรก์ประท้วงในสัปดาห์แรกของปีใหม่เพื่อต่อต้านการที่รัฐเข้าไปแทรกแซงอย่างโจ่งแจ้งไร้ความแนบเนียน นี่แหละคือตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความยากเย็นแสนเข็ญในปัจจุบัน

ปักกิ่งนั้นจำเป็นที่จะต้องนำเอา เซาเทิร์น วีกลี่ ให้เข้ามาอยู่ในร่องในรอย และจำเป็นที่จะต้องได้รับความเห็นพ้องเป็นฉันทามติจากบรรดานักข่าวนักหนังสือพิมพ์ของหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ทรงอิทธิพลฉบับนี้ แต่ขณะเดียวกันปักกิ่งในเวลานี้ก็ไม่สามารถที่จะโยนเประดาครื่องมือในการควบคุมสื่อของตนทิ้งไปทั้งหมดได้ ทว่าการที่จะบรรลุเป้าหมายอันละเอียดอ่อนเหล่านี้ดูแล้วย่อมเป็นเรื่องลำบากยากเย็น ในเมื่อพวกผู้นำฝ่ายเสรีนิยมที่สุดมุ่งหน้าผลักดันให้เกิดการปฏิรูปโดยเร็วที่สุด ส่วนพวกอนุรักษนิยมก็นำเอาการสไตรก์ประท้วงที่เกิดขึ้นคราวนี้มาเป็นหลักฐานพิสูจน์ว่า อะไรๆ กำลังหลุดลอยไปจนควบคุมไม่อยู่แล้ว และคณะผู้นำจุดปัจจุบันกำลังสูญเสียที่มั่นอันสำคัญของตนไปแล้ว นี่จึงเป็นบททดสอบพิเศษ ไม่เพียงเฉพาะสำหรับ สี เท่านั้น แต่ยังสำหรับ หู ชุนหวา (Hu Chunhua) ผู้เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการพรรคสาขามณฑลกวางตุ้งใหม่ๆ หมาดๆ อีกทั้งได้รับการคาดหมายว่าเขาจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของจีนในปี 2022 ปักกิ่งจำเป็นที่จะต้องหาทางกลับเข้าควบคุมสถานการณ์เอาไว้ให้ได้อย่างเต็มที่อีกครั้งโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นแล้วการเดินหน้าแผนการสำหรับการปฏิรูประบบบริหารราชการดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็อาจจะถึงกับเสียกระบวน วิธีการหนึ่งที่กำลังถูกนำมาใช้ก็คือยุทธวิธีเก่าๆ แห่งการหันเหความสนใจไปที่เรื่องอื่นๆ ทั้งนี้เมื่อวันพฤหัสบดี สำนักข่าวซินหวาของทางการแดนมังกรประกาศว่า คดีของ ป๋อ ซีไหล อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขามหานครฉงชิ่ง “ถูกโอนไปยังองค์กรด้านยุติธรรมแล้ว” ด้วยเหตุนี้การไต่สวนพิจารณาคดีของเขาก็น่าที่จะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ก่อนหน้าการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ

เรื่องนี้สามารถที่จะดึงดูดความสนใจภายในแดนมังกรได้อย่างแน่นอน เพราะมันแสดงให้เห็นว่าการท้าทายต่อคณะผู้นำชุดปัจจุบัน แท้จริงแล้วคือการท้าทายจากพวกอนุรักษนิยม ขณะเดียวกันก็เป็นการบ่งบอกด้วยว่าฝ่ายเสรีนิยมไม่ควรที่จะผลักดันให้หนักหน่วงเกินไปนักเพราะไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นการทำให้รัฐนาวาโคลงเคลงเจียนพลิกคว่ำไปเปล่าๆ ในเวลาเดียวกัน การไต่สวนดำเนินคดีคราวนี้ยังเป็นหมากทีเด็ดในการตักเตือนพวกที่คัดค้านการปฏิรูปให้เห็นว่า ชะตากรรมของพวกเขาอาจจะตกอยู่ในอันตรายก็ได้ ถ้าหากยังเลือกที่จะเข้าข้างเห็นดีเห็นงามกับวาระเก่าๆ ของ ป๋อ

มันเป็นการปฏิบัติการเลี้ยงตัวสร้างความสมดุลอันละเอียดอ่อน ในขณะที่ หู จิ่นเทา กับ สี จิ้นผิง กำลังทำงานไปด้วยกันอย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดทิศทางทางการเมืองของประเทศจีนในช่วงระยะเวลา 20 ปีต่อจากนี้ไป

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นคอลัมนิสต์ให้กับ อิล โซเล 24 โอเร (Il Sole 24 Ore) หนังสือพิมพ์รายวันในอิตาลี สามารถที่จะติดต่อเขาทางอีเมล์ได้ที่ fsisci@gmail
กำลังโหลดความคิดเห็น