xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’ปฏิรูประบบบริหารยุบ‘กระทรวง’ลงเกือบครึ่ง

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China seizes the day for market forces
By Francesco Sisci
13/03/2013

การที่จีนตัดลดกลไกรัฐลงมา ด้วยวิธีปรับโครงสร้างอำนาจหน้าที่และปรัชญาชี้นำของกระทรวงต่างๆ บวกกับการหันมารวมศูนย์ควบคุมกิจการที่สำคัญยิ่งยวดทั้งหลาย เป็นต้นว่านโยบายด้านพลังงาน เอาไว้ที่ตรงส่วนกลาง เหล่านี้คือความเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งและส่งผลระยะยาวไกลซึ่งปรากฏออกมาให้เห็นจากการประชุมเต็มคณะของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (รัฐสภาจีน) ในเดือนนี้ เมื่อพิจารณาทั้งสองส่วนนี้ควบคู่กันไป มันก็ดูจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ากำลังมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนจริงจังเพื่อเปิดทางให้แก่พลังของตลาด

ปักกิ่ง – ในช่วงท้ายของการประชุมเต็มคณะประจำปีของรัฐสภาจีน ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (National People's Congress) ได้มีการประกาศการปฏิรูปทางการบริหารราชการอันลึกซึ้งและจะส่งผลในระยะยาวไกลรวม 2 ด้านด้วยกัน ด้านหนึ่งดูเหมือนกับเป็นการปฏิบัติให้เป็นไปตามประเพณีที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยจักรพรรดิปกครองแดนมังกร นั่นคือการรวมศูนย์อำนาจเอาไว้ที่ศูนย์กลางและกำจัดสกัดกั้นบรรดาพลังตรงส่วนกลางที่เป็นตัว “ชักใบให้เรือเสีย” จากการนำพานโยบายภายในประเทศและต่างประเทศให้หลุดออกจากการควบคุม ทั้งนี้ผมได้เคยชี้ปัญหาอันสำคัญนี้เอาไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2011 (ดูเรื่อง Too many cooks spoil foreign-policy stew, Asia Times Online, January 7, 2011)

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้บรรลุผลลัพธ์เช่นนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังกำลังดำเนินการในด้านที่สองอีกด้วย นั่นคือ การปฏิรูปเพื่อให้มีความเป็นเสรีเพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาล แท้ที่จริงแล้ว การปฏิรูปกระทรวงต่างๆ ที่ออกมาจากการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติในครั้งนี้ มิได้เป็นเพียงเรื่องของตัวเลขจำนวนกระทรวงเท่านั้น หากแต่เป็นการปรับโครงสร้างอย่างใหญ่โตทั้งในด้านปรัชญาและในด้านอำนาจหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการงานของกระทรวงเหล่านี้

หม่า ข่าย รองนายกรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบเรื่องการปฏิรูปนี้ อธิบายแจกแจงว่า วัตถุประสงค์ของการปรับโครงสร้างก็คือการให้อำนาจแก่ตลาดและสังคม, การลดการแทรกแซงของรัฐบาลในเรื่องเล็กเรื่องน้อย, และตรงกันข้ามหันไปปรับปรุงยกระดับความสามารถของรัฐบาลในการบริหารจัดการเรื่องเศรษฐกิจมหภาค ตลอดจนการจัดดำเนินการกำกับตรวจสอบ
ภายใต้จิตวิญญาณเช่นนี้เอง จำนวนกระทรวงและหน่วยงานเทียบเท่ากระทรวง ก็ได้ถูกลดลงมาเกือบๆ ครึ่งหนึ่ง นั่นคือจากที่เคยมี 44 หน่วยงาน ถูกหั่นเหลือเพียง 25 หน่วยงานเท่านั้น ตัวเลขใหม่นี้นับว่ามีความสำคัญทางการเมืองอย่างลึกซึ้งทีเดียว เพราะมันหมายความว่าคณะผู้นำใหม่ของ สี จิ้นผิง –ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนว่าได้รับการสนับสนุนจาก หู จิ่นเทา ผู้นำที่กำลังจะอำลาเวที— ประสบความสำเร็จในความพยายามที่จะสำแดงอำนาจเหนือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ของระบบราชการอันทรงพลัง

การปฏิรูปยังจะมีเพิ่มเติมต่อไปอีกดังปรากฏหลักฐานจากการแถลงต่างๆ อย่างเป็นทางการ หวัง ฉีซาน (Wang Qishan) ประธานคณะกรรมการตรวจสอบวินัยของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ทรงอำนาจมาก มิหนำซ้ำในฐานะที่เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีผู้ดูแลรับผิดชอบด้านการเงินการคลังมานาน เขาจึงยังมีอิทธิพลเหนือแวดวงการเงินของจีนอีกด้วย หวัง ได้ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนอ่านงานของ อเล็กซิส เดอ ท็อกเกอวิลล์ (Alexis de Tocqueville เกิดปี 1805 เสียชีวิตปี 1859) และการวิพากษ์วิจารณ์ “ancien regime” (ระบอบเก่า) ของนักคิดทางการเมืองผู้นี้ ด้วยเหตุนี้เอง ผลงานของนักเขียนชาวฝรั่งเศสแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งยกย่องสรรเสริญระบบการเมืองของสหรัฐอเมริกา จึงกลับมาติดอันดับกลายเป็นหนังสือขายดีในแดนมังกร อันที่จริงแล้ว การปฏิรูปในปัจจุบันของจีนก็ดูเหมือนได้รับแรงบันดาลใจจากท็อกเกอวิลล์ พรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นต้องการที่จะเป็นเสรีนิยมและเป็นอเมริกันให้มากขึ้น และต้องการที่จะดำเนินไปในทิศทางเดียวกับระบบของเขาให้มากขึ้น

ชัยชนะอันแท้จริงประการแรกจากการปฏิรูประบบบริหารของคณะผู้นำใหม่ของ สี ในครั้งนี้ ได้แก่ชัยชนะเหนือกระทรวงการรถไฟ (Ministry of Railways) ซึ่งเคยอยู่ยงคงกระพันชนิดคัดค้านกับหลักเหตุผลตรรกศาสตร์ทุกข้อทุกประการ โดยที่สามารถต้านทานกระแสคลื่นแห่งการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารราชการเมื่อปี 1998 ได้สำเร็จ และกลายเป็นกระทรวงสุดท้ายที่ยังคงมีอำนาจในการบริหารจัดการเรื่องการเงินโดยตรง –ซึ่งในกรณีนี้ก็คือการมีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติการเดินรถไฟนั่นเอง แต่มาถึงตอนนี้ มันก็จะเป็นเช่นเดียวกับกระทรวงอื่นๆ อำนาจหน้าที่ทางการบริหารของกระทรวงการรถไฟจะถูกแยกออกมาจากอำนาจหน้าที่ในทางการพาณิชย์ โดยที่อย่างหลังถูกมอบหมายให้อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐวิสาหกิจ มิหนำซ้ำ ขณะนี้ชื่อกระทรวงการรถไฟก็ไม่หลงเหลืออยู่แล้ว โดยที่งานทางด้านการบริหารของกระทรวงถูกโอนไปอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกระทรวงการขนส่ง (Ministry of Transportation) สิ่งที่ยังคงเป็นปริศนาก็คือพวกตำรวจและศาลยุติธรรมที่เคยทำงานภายใต้อำนาจของกระทรวงการรถไฟโดยตรงนั้น จากนี้ไปจะมีชะตากรรมอย่างไร

นอกเหนือจากการยุบเลิกกระทรวงต่างๆ หลายๆ แห่งแล้ว ยังมีการก่อตั้งหน่วยงานระดับกระทรวงขึ้นมาใหม่ด้วยเหมือนกัน เป็นต้นว่า สำนักงานพลังงานแห่งชาติ (National Energy Administration) ซึ่งจะรับผิดชอบการประสานความร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเมื่อก่อนเคยถูกแบ่งซอยให้เป็นงานของหน่วยงานต่างๆ ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการด้านไฟฟ้า, น้ำมันปิโตรเลียม, การทำเหมืองถ่านหิน ฯลฯ

ยังจะต้องใช้เวลาอีกเป็นเดือนๆ กว่าที่กลไกรัฐจะย่อยและดูดซึมการปฏิรูปเหล่านี้ได้อย่างสมบูรณ์ แต่ถ้าหากการปฏิรูปของปี 1998 จะสามารถบอกเค้าลางอะไรได้บ้างแล้ว ภายในเวลาเพียงแค่ประมาณ 1 ปี รูปร่างลักษณะของทั่วทั้งระบบราชการก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ในเวลานั้นศูนย์กลางต้องส่งมอบอำนาจการบริหารจัดการเรื่องเศรษฐกิจให้แก่พวกรัฐวิสาหกิจมากขึ้น และปลดปล่อยรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ออกจากข้อผูกมัดทางการบริหารและทางสังคม การปฏิรูปเหล่านั้นประสบความสำเร็จอย่างสูงมากจนกระทั่งเวลาผ่านไปเพียง 1 ทศวรรษ รัฐวิสาหกิจทั้งหลายก็กลายเป็นพลังครอบงำเศรษฐกิจจีน และกำลังก่อให้เกิดปัญหาอย่างเรื่องการผูกขาด ตลอดจนทำให้พวกบริษัทเอกชนมีบทบาทน้อยจนแทบไม่มีความสำคัญอะไรไปเลย

ทุกวันนี้ความเร่งด่วนอย่างแท้จริง คือเรื่องการเปิดช่องเปิดที่ทางให้แก่ตลาด นี่คือวัตถุประสงค์อันชัดเจนแจ่มแจ้งของสี จิ้นผิง

เมื่อปี 2010 ในการพูดจาหารือกันแบบปิดประตูไม่ให้คนนอกเข้าฟัง ระหว่าง สี ที่จะกลายเป็นประธานาธิบดีจีนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า กับ กิอูลิโอ เตรมอนตี (Giulio Tremonti) รัฐมนตรีเศรษฐกิจของอิตาลีในเวลานั้น ฝ่ายอิตาลีอาจจะเพียงเพื่อแสดงความสุภาพ ได้กล่าวยกย่องชมเชยบทบาทของรัฐในการเข้าแทรกแซงเศรษฐกิจ ซึ่งได้หยุดยั้งไม่ให้วิกฤตทางการเงินของสหรัฐฯแพร่กระจายเข้าไปในประเทศจีนได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า สี ไม่ยอมรับฟังอย่างนิ่งเฉย อันที่จริงแล้วเขาดูเหมือนไม่ได้รู้สึกยินดีต่อคำชมเชยนี้ด้วยซ้ำ เขาชี้ให้เห็นว่าเมื่อวิกฤตคราวนั้นสิ้นสุดลงแล้ว รัฐจะต้องถอนตัวออกจากตลาด และยินยอมปล่อยให้ตลาดสามารถดำเนินการไปได้อย่างเสรีตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ของตลาด

ในกรณีของการปฏิรูปการบริหารครั้งล่าสุดนี้ นอกเหนือจากเรื่องมาตรการทางเศรษฐกิจภายในประเทศแล้ว ยังมีการปฏิรูปที่ถือว่าสำคัญเป็นอย่างยิ่งในด้านนโยบายการต่างประเทศ นั่นคือจีนได้จัดตั้งสำนักงานบริหารเพื่อรับผิดชอบดูแลเรื่องกิจการทางทะเลอย่างครอบคลุมทั้งหมด หน่วยงานนี้ยังจะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องเกี่ยวกับชายฝั่งทะเลทั้งหลายทั้งปวง รวมถึงเรื่องหมู่เกาะที่จีนช่วงชิงกรรมสิทธิ์กับชาติอื่นๆ ในทะเลจีนใต้ ตลอดจนหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์/เซงกากุ ซึ่งแดนมังกรพิพาทอยู่กับแดนอาทิตย์อุทัย การจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาอย่างเป็นทางการก็เพื่อให้ฝ่ายจีนสามารถประกาศอ้างสิทธิ์ของตนเหนืออาณาบริเวณเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ ประเด็นนี้กลายเป็นสิ่งที่กำลังสร้างความโกรธเกรี้ยวให้แก่พวกเพื่อนบ้าน และญี่ปุ่นก็ได้เริ่มต้นดำเนินการประท้วงแล้ว

อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง การจัดตั้งหน่วยงานเช่นนี้ก็ทำให้มีระเบียบหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ในกรณีที่เกิดการเสียดสีไม่ลงรอยกันขึ้นมาในอนาคต เหมือนดังที่ผม (ฟรานเชสโก ซิสซี) ได้พูดเรื่องนี้เอาไว้โดยตรงแล้วในข้อเขียนเมื่อปี 2011 ในอดีตที่ผ่านมา มีอยู่หลายๆ โอกาสทีเดียวที่รัฐบาลกลางของจีนถูกบังคับให้ต้องคอยแก้ต่าง หรือคอยยับยั้งเอาในนาทีสุดท้าย ในเหตุการณ์ความริเริ่มบางเรื่องบางกรณีซึ่งก่อเหตุกระทำขึ้นมาอย่างอิสระตามใจชอบ โดยฝีมือของไต้ก๋งเรือประมงลำหนึ่ง หรือโดยนายทหารเรือนอกแถวบางคน

บทบาทใหม่สำหรับตลาดดังกล่าวนี้ ยังน่าที่จะกลายเป็นกระดานหกอันแท้จริงให้แก่แผนการพัฒนาเขตเมืองมูลค่า 40 ล้านล้านหยวน (ราว 196 ล้านบ้านบาท) ซึ่งมุ่งที่จะนำเอาผู้คนหลายร้อยล้านคนเข้าไปพำนักตามนครขนาดกลางและขนาดย่อมในระยะเวลา 10 ปีต่อจากนี้ไป

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นคอลัมนิสต์ให้กับ อิล โซเล 24 โอเร (Il Sole 24 Ore) หนังสือพิมพ์รายวันในอิตาลี สามารถที่จะติดต่อเขาทางอีเมล์ได้ที่ fsisci@gmail
กำลังโหลดความคิดเห็น