xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำใหม่ของจีนเน้น ‘เสถียรภาพ’มากกว่าการปฏิรูป (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: วิลลี ลัม

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China underlines 'stability' beats reforms
By Willy Lam
18/03/2012

ทันทีที่เข้ารับมอบอำนาจจากผู้นำชุดเก่าอย่างเสร็จสิ้นกระบวนการ ผู้นำใหม่ของจีนไม่ว่าจะเป็น สี จิ้นผิง หรือ หลี่ เค่อเฉียง ต่างก็ออกมาฟาดกระหน่ำใส่ความคาดหวังที่ว่า พวกเขาจะริเริ่มดำเนินการปฏิรูปต่างๆ ชุดใหญ่ที่เป็นไปในทางเปิดเสรีมากขึ้น โดยแทนที่จะกระทำเช่นนั้น พวกเขากลับเน้นย้ำถึงความสำคัญอย่างที่สุดของ “เสถียรภาพ”, การที่พรรคคอมมิวนิสต์จะต้องอยู่ในฐานะเป็นผู้นำอย่างชนิดครอบงำ, รวมทั้งพวกเขายังวิพากษ์วิจารณ์ว่าประชาธิปไตยแบบตะวันตกเป็นสิ่งที่ล้มเหลว แล้วมิหนำซ้ำยังสำทับด้วยการควบคุมตัวและการตักเตือนพวกปัญญาชนที่ต้องการให้แดนมังกรเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในเส้นทางอื่นอีกด้วย

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

พวกปัญญาชนของจีนที่แอบมีความคาดหวังลึกๆ อยู่ในใจว่า คณะบริหารของสี จิ้นผิง – หลี่ เค่อเฉียง อาจจะเริ่มต้นเขี่ยบอลเปิดวัฏจักรแห่งการปฏิรูปรอบใหม่ขึ้นมา ต่างต้องประสบความผิดหวังอย่างเจ็บแสบตั้งแต่วันแรกของการประชุมเต็มคณะสมัยแรกของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (รัฐสภาจีน) ชุดที่ 12 เมื่อนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ผู้กำลังจะพ้นตำแหน่งอำลาเวที กล่าวคำรายงานกิจการรัฐบาลครั้งสุดท้ายของเขา

เวิน ผู้ซึ่งยังคงเป็นผู้ปฏิบัติงานอาวุโสเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ออกมาเรียกร้องให้ดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอในระยะเวลาหลายๆ ปีที่ผ่านมา กลับมิได้เอ่ยถึงวลีนี้เอาเลยในการกล่าวปราศรัยเป็นเวลา 100 นาที ณ มหาศาลาประชาชน ของเขาในคราวนี้ ยิ่งกว่านั้น กระทั่งการพาดพิงถึงการปฏิรูปด้านอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดเสียงโต้แย้งน้อยกว่าการปฏิรูปทางการเมือง เป็นต้นว่า การปรับปรุงองค์กรรัฐบาลและโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้ทะมัดทะแมงคล่องตัวมากขึ้น ก็อยู่ในลักษณะที่จำกัดจำเขี่ยมากกว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้โดยสื่อมวลชนของทางการแดนมังกร

ในคำปราศรัยครั้งสุดท้ายของเขาต่อรัฐสภาจีนคราวนี้ เวิน ซึ่งปัจจุบันอายุ 70 ปี ได้กล่าวว่า ปักกิ่งจะ “ผลักดันการปฏิรูปและนโยบายการเปิดประตูประเทศ ให้เดินหน้าต่อไปอีกอย่างมีความลึกซึ้งยิ่งขึ้น ด้วยความกล้าหาญและสติปัญญาทางการเมืองมากยิ่งกว่าเดิม” อย่างไรก็ตาม ไม่เหมือนกับในโอกาสครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา ในครั้งนี้ การปฏิรูปที่เวินกำลังพูดถึง มิได้หมายความถึงการเปิดให้มีความเป็นเสรีในทางการเมืองให้มากขึ้น หากแต่เป็น “การสร้างประชาธิปไตยแบบสังคมนิยมและหลักนิติธรรมขึ้นมา”

ไม่มีอีกแล้วที่จะมีการพาดพิงถึง “สิทธิในการเลือกตั้ง” ของประชาชน หรือสิทธิของมวลชนที่จะเข้าร่วมมีส่วนในการเมือง สิ่งที่ขาดหายไปเช่นกันอีกประการหนึ่ง ได้แก่ประโยคคำประกาศอันแสนคุ้นเคยของเขาที่ว่า “หากปราศจากการปฏิรูปทางการเมืองอย่างได้สัดส่วนกันแล้ว การปฏิรูปทางเศรษฐกิจก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้”

น้ำเสียงแบบอนุรักษนิยมในคำรายงานของเวิน สะท้อนถึงการจัดลำดับความสำคัญของเหล่าสมาชิกในคณะกรรมการประจำของกรมการเมือง ซึ่งได้รับการรับรองโดยการประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 18 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว นั่นคือการมุ่งให้น้ำหนักมากที่สุดแก่การสงวนรักษาฐานะผูกขาดอำนาจของพรรคเอาไว้

เป็นต้นว่า ในคำปราศรัยเป็นการภายในที่เขากล่าวระหว่างไปตรวจเยี่ยมมณฑลกวางตุ้งในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน สี จิ้นผิง ได้เตือนบรรดาสมาชิกพรรคให้ต่อต้านเชื้อโรคร้ายที่เรียกกันว่า “ภาวะจิตวิญญาณขาดแคลนแคลเซียม” (calcium deficiency of the spirit) ซึ่งเขาอธิบายว่าคือตัวการที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียตต้องถึงแก่การล่มสลายลงไป ทั้งนี้ สี ย้ำว่า “เราจะต้องเน้นหนักในเรื่องการมีความเชื่อมั่นในตนเอง ต่อเส้นทาง (สังคมนิยม)” และ “เราจะต้องมีความเชื่อมั่นในตนเอง ต่อทฤษฎี (ลัทธิมาร์กซ์) และสถาบันต่างๆ”

คำชี้แนะเช่นนี้ของผู้นำสูงสุดของพรรค ยังได้รับการกล่าวซ้ำโดย หลิว อิ๋ว์นซาน (Liu Yunshan) สมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมการประจำกรมการเมือง ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานด้านความคิดอุดมการณ์และการโฆษณาเผยแพร่ ขณะที่เขาพูดคุยกับพวกสมาชิกรัฐสภาที่มาจากเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน หลิว ซึ่งในอดีตเคยเป็นผู้ว่าการทบวงการโฆษณาเผยแพร่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน บอกว่า “เราจะต้องมีความมั่นคงเหนียวแน่นมากขึ้น และมีความเด็ดเดี่ยวยิ่งขึ้น เกี่ยวกับเส้นทางแห่งสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะของจีน เราจะต้องมีความเชื่ออย่างแท้จริงในระบบทฤษฎีแห่งสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะของจีน”

ไม่เพียงเท่านี้ ในการกล่าวคำรายงานกิจการทางด้านนิติบัญญัติ ต่อสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติเป็นครั้งสุดท้ายของเขา อู่ ปางกว๋อ (Wu Bangguo) ประธานรัฐสภาผู้กำลังจะพ้นตำแหน่งและอดีตสมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมการประจำของกรมการเมืองพรรค ได้เรียกร้องให้บรรดาสมาชิกรัฐสภา "ยึดมั่นในแนวทางนโยบายทางการเมืองของพรรค" และ “มีความเด็ดเดี่ยวในการต่อต้านความคิดทฤษฎีที่ผิดๆ ประเภทต่างๆ” อู๋ ยังสะท้อนประเด็นซึ่งเลขาธิการใหญ่สี ได้ชี้เน้นถึงความจำเป็นที่จะต้อง “มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ในเรื่องเส้นทาง, ทฤษฎี, และระบบ (ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน)” อู๋บอกกับบรรดาผู้แทนว่า “เราจะต้องไม่ลอกเลียนระบบการเมืองและโมเดลทางการเมืองของพวกตะวันตกอย่างเด็ดขาด”

สิ่งที่น่าตระเหนกตกใจที่สุดก็คือ การออกมากล่าวถ้อยคำแบบอนุรักษนิยมของ วัง หยาง (Wang Yang) อดีตเลขาธิการพรรคสาขามณฑลกวางตุ้ง ผู้ซึ่งมีชื่อเสียงเกียรติคุณจากการส่งเสริมสนับสนุนการเลือกตั้งในระดับหมู่บ้าน และจากการขยายขนาดขอบเขตการทำงานของพวกองค์กรนอกภาครัฐบาล (เอ็นจีโอ) ในมณฑลทางภาคใต้ของจีนแห่งนั้น วัง ผู้เพิ่งได้รับแต่งตั้งหมาดๆ ให้เป็น 1 ใน 4 รองนายกรัฐมนตรี บอกกับพวกผู้แทนของรัฐสภาที่มาจากมณฑลอานฮุย อันเป็นบ้านเกิดของเขาว่า โลกตะวันตกกำลังหวาดกลัวการท้าทายของโมเดลจีน

วังบอกว่า ความสำเร็จต่างๆ ของจีนในช่วงปีหลังๆ มานี้ คือ “การป่าวประกาศให้กว้างไกลออกไปยิ่งขึ้นอีก เกี่ยวกับความเลอเลิศเหนือล้ำของสถาบันต่างๆ และเส้นทาง (ของประเทศจีน)” ขณะที่กล่าวพาดพิงถึงวิกฤตการเงินระดับโลก วังชี้ว่า “สิ่งต่างๆ ที่โลกตะวันตกรู้สึกภาคภูมิใจนักหนา เป็นต้นว่า ระบบตลาดเสรีและประชาธิปไตย ล้วนแต่ล้มเหลวทำงานไม่ได้ผล ประสบการณ์ของจีนแห่งสังคมนิยมแสดงให้เห็นว่า ประชาธิปไตยนั้นมีโมเดลต่างๆ มากมาย ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (consultative democracy) (อย่างที่จีนใช้อยู่) ก็เป็นสิ่งที่สามารถนำมาใช้ปฏิบัติได้เช่นกัน”

เมื่อพิจารณาจากความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวของคณะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะยึดมั่นในความเชื่อและหลักปฏิบัติแบบเดิมๆ เช่นนี้ บางทีอาจจะไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไรหรอกที่กระทั่งวาระซึ่งก่อให้เกิดเสียงโต้แย้งน้อยกว่า เป็นต้นว่า การปรับโครงสร้างองค์กรรัฐบาลที่บวมพองอยู่ให้บังเกิดความทะมัดทะแมงเพรียวลม ก็ยังประสบผลสำเร็จเพียงจำกัดเท่านั้น ทั้งนี้ ถึงแม้กระแสข่าวต่างๆ ก่อนหน้านี้ที่ปรากฏในสื่อมวลชนของจีนจะชี้ไปในทิศทางที่ว่า พวกหน่วยงานระดับกระทรวงและคณะกรรมการที่สังกัดกับรัฐบาลส่วนกลางจำนวน 27 หน่วยงาน จะถูกตัดลงมาเหลือไม่ถึง 20 หน่วย แต่เอาเข้าจริงแล้วก็ถูกตัดออกเพียงแค่ 2 หน่วยงานเท่านั้น ยิ่งกว่านั้น คณะรัฐมนตรีจะยังคงมี “สำนักงานบริหารทั่วไป” (General Administration) และสำนักงาน (Bureau) ต่างๆ ที่อยู่ในระดับเทียบเท่ากระทรวงอีก 16 หน่วยงานต่อไปอีก

บางทีการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นที่จับตามองมากที่สุด น่าจะเป็นเรื่องของกระทรวงการรถไฟซึ่งเต็มไปด้วยความฉาวโฉ่ และถูกตั้งฉายาแดกดันว่าเป็น “รัฐที่ซ้อนอยู่ภายในรัฐ” โดยที่เป็นผู้ก่อหนี้สินจำนวนสูงลิบลิ่วถึง 2.66 ล้านล้านหยวน (427,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ทั้งนี้ปรากฏว่ากระทรวงนี้จะถูกยุบรวมเข้าไปอยู่ในกระทรวงการขนส่ง การควบรวม 2 กระทรวงนี้ ซึ่งอันที่จริงมีการเสนอกันขึ้นมาครั้งแรกตั้งแต่ปี 2003 ทว่าไม่สามารถดำเนินการได้ สืบเนื่องจากเผชิญการคัดค้านอย่างโกรธเกรี้ยวของ หลิว จื้อจิว์น (Liu Zhijun) รัฐมนตรีว่าการการรถไฟในเวลานั้น ทว่าในตอนนี้ หลิว กำลังถูกพิจารณาคดีที่อาจทำให้เขาถูกตัดสินประหารชีวิตแบบรอการลงอาญา (ซึ่งมักมีความหมายเท่ากับจะได้ลดโทษลงเหลือจำคุกตลอดชีวิตในภายหลัง) สืบเนื่องจากข้อกล่าวหาที่ว่าเขากระทำการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างมโหฬาร

ความเคลื่อนไหวอย่างอื่นๆ ยังมีดังเช่น การควบรวมกระทรวงสาธารณสุข กับ คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการวางแผนครอบครัว (National Commission on Family Planning) โดยจะตั้งเป็น คณะกรรมการสาธารณสุขและการวางแผนครอบครัวแห่งชาติ (National Health and Family Planning Commission) ขณะที่มีการจัดตั้งสำนักงานบริหารทั่วไปว่าด้วยอาหารและยา (General Administration of Food and Drugs) หลังจากควบรวมพวกหน่วยงานต่างๆ ที่มีอยู่แล้วซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารและยา ตลอดจนหน่วยงานกำกับดูแลคุณภาพและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ทางการพาณิชย์ต่างๆ สำหรับสำนักงานบริหารทั่วไปว่าด้วยหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ (General Administration on Press and Publications) และ สำนักงานบริหารแห่งรัฐว่าด้วยวิทยุ, ภาพยนตร์, และโทรทัศน์ (State Administration of Radio, Film and Television) ก็ถูกนำมาเขย่ารวมกันเพื่อจัดตั้งเป็น สำนักงานบริหารทั่วไปว่าด้วยหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์, วิทยุ, ภาพยนตร์, และโทรทัศน์ (General Administration of Press and Publication, Radio, Film and Television)

นอกจากนั้น อำนาจหน้าที่ของสำนักงานบริหารการมหาสมุทรแห่งชาติ (the National Oceanic Administration) ก็ได้รับการเพิ่มขยายให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ในเวลานี้หน่วยงานนี้จะเป็นผู้กำกับดูแลทั้งกิจการของกองกำลังรักษาชายฝั่ง (coast guard), กองบัญชาการงานรักษากฎหมายการประมง (fisheries enforcement command), และหน่วยปราบปรามการลักลอบค้าของเถื่อนทางทะเล (maritime anti-smuggling unit) ซึ่งหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้เคยสังกัดอยู่ในสำนักงานบริหารต่างๆ กระจัดกระจายกันออกไป

ก่อนหน้านี้มีรายงานบางกระแสที่บ่งบอกว่า จะมีการจัดตั้งหน่วยงานระดับ “มหากระทรวง” (super-ministry) ขึ้นมาหลายๆ หน่วยงาน เพื่อทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบนโยบายการเงิน, การพลังงาน, และประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี จริงๆ แล้วไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ ถึงแม้มีข้อเท็จจริงเห็นอยู่โทนโท่ว่า ปริมาณมลพิษทางอากาศในกรุงปักกิ่งและเมืองใหญ่ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกัน ได้พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา ซึ่งสาธิตให้เห็นความบกพร่องล้มเหลวของรัฐบาลส่วนกลางในการตรวจตราพวกบริษัทที่สร้างมลพิษทั้งหลาย รวมทั้งพวกวิสาหกิจทางด้านน้ำมันและถ่านหินด้วย

ดร.วิลลี โว-ลัป ลัม (Dr Willy Wo-Lap Lam) เป็นนักวิจัยอาวุโส ณ มูลนิธิเจมส์ทาวน์ (The Jamestown Foundation) และเคยทำงานในระดับบรรณาธิการอาวุโสของสื่อระหว่างประเทศหลายเจ้า เช่น นิตยสารเอเชียวีก, หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์, และในสำนักงานใหญ่ภาคเอเชีย-แปซิฟิก ของ ซีเอ็นเอ็น เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศจีนมาแล้ว 5 เล่ม โดยเล่มที่เพิ่งตีพิมพ์จำหน่ายเมื่อเร็วๆ นี้คือ “Chinese Politics in the Hu Jintao Era: New Leaders, New Challenges” เขายังเป็นศาสตราจารย์วุฒิคุณ (Adjunct Professor) ในด้านจีนศึกษา ณ มหาวิทยาลัยนานาชาติอะคิตะ (Akita International University) ประเทศญี่ปุ่น และที่ มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong)

(ข้อเขียนชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน The Jamestown Foundation)

(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
ผู้นำใหม่ของจีนเน้น ‘เสถียรภาพ’มากกว่าการปฏิรูป (ตอนจบ)
ทันทีที่เข้ารับมอบอำนาจจากผู้นำชุดเก่าอย่างเสร็จสิ้นกระบวนการ ผู้นำใหม่ของจีนไม่ว่าจะเป็น สี จิ้นผิง หรือ หลี่ เค่อเฉียง ต่างก็ออกมาฟาดกระหน่ำใส่ความคาดหวังที่ว่า พวกเขาจะริเริ่มดำเนินการปฏิรูปต่างๆ ชุดใหญ่ที่เป็นไปในทางเปิดเสรีมากขึ้น โดยแทนที่จะกระทำเช่นนั้น พวกเขากลับเน้นย้ำถึงความสำคัญอย่างที่สุดของ “เสถียรภาพ”, การที่พรรคคอมมิวนิสต์จะต้องอยู่ในฐานะเป็นผู้นำอย่างชนิดครอบงำ, รวมทั้งพวกเขายังวิพากษ์วิจารณ์ว่าประชาธิปไตยแบบตะวันตกเป็นสิ่งที่ล้มเหลว แล้วมิหนำซ้ำยังสำทับด้วยการควบคุมตัวและการตักเตือนพวกปัญญาชนที่ต้องการให้แดนมังกรเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในเส้นทางอื่นอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น