xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำใหม่ของจีนเน้น ‘เสถียรภาพ’มากกว่าการปฏิรูป (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: วิลลี ลัม

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China underlines 'stability' beats reforms
By Willy Lam
18/03/2012

ทันทีที่เข้ารับมอบอำนาจจากผู้นำชุดเก่าอย่างเสร็จสิ้นกระบวนการ ผู้นำใหม่ของจีนไม่ว่าจะเป็น สี จิ้นผิง หรือ หลี่ เค่อเฉียง ต่างก็ออกมาฟาดกระหน่ำใส่ความคาดหวังที่ว่า พวกเขาจะริเริ่มดำเนินการปฏิรูปต่างๆ ชุดใหญ่ที่เป็นไปในทางเปิดเสรีมากขึ้น โดยแทนที่จะกระทำเช่นนั้น พวกเขากลับเน้นย้ำถึงความสำคัญอย่างที่สุดของ “เสถียรภาพ”, การที่พรรคคอมมิวนิสต์จะต้องอยู่ในฐานะเป็นผู้นำอย่างชนิดครอบงำ, รวมทั้งพวกเขายังวิพากษ์วิจารณ์ว่าประชาธิปไตยแบบตะวันตกเป็นสิ่งที่ล้มเหลว แล้วมิหนำซ้ำยังสำทับด้วยการควบคุมตัวและการตักเตือนพวกปัญญาชนที่ต้องการให้แดนมังกรเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในเส้นทางอื่นอีกด้วย

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

เซี่ย เย่เหลียง (Xia Yeliang) ปัญญาชนภาคสาธารณะและศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยปักกิ่งผู้มีชื่อเสียง ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างต่างๆ ในองค์กรรัฐบาลของจีนคราวนี้ โดยชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างต่างๆ ต้องเผชิญกับอุปสรรคอันเนื่องมาจากการต่อต้านอย่างดื้อรั้นของพวกที่มีผลประโยชน์ฝังแน่นอยู่กับระบบเดิมๆ เขากล่าวเตือนด้วยว่า “จำเป็นที่จะต้องมีการกำกับตรวจสอบพวกกระทรวงที่กำลังมีขนาดใหญ่โตขึ้นและมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ กระทรวงต่างๆ จะต้องให้คำอธิบายที่มีความโปร่งใสเพิ่มมากขึ้นต่อสาธารณชน ในเรื่องวิธีการจัดสรรทรัพยากรด้านต่างๆ ของประเทศจีน นอกจากนั้นยังต้องมีวิธีที่ดียิ่งขึ้นในการป้องกันไม่ให้มีการใช้อำนาจไปในทางมิชอบ”

เรื่องอื่นๆ ที่มีความสำคัญพอๆ กัน ก็คือการที่คณะบริหาร สี-หลี่ ดูเหมือนจะล้มเหลวไม่ได้ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปของพวกกลุ่มรัฐวิสาหกิจส่วนกลางซึ่งรวมกันแล้วมีอยู่กว่า 120 กลุ่ม และจำนวนมากทีเดียวมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง กลุ่มรัฐวิสาหกิจเหล่านี้กำลังมีสภาพเป็นกลุ่มผูกขาดภาคเศรษฐกิจที่สามารถทำรายได้งดงามทั้งหลาย ไล่ตั้งแต่น้ำมันและก๊าซ ไปจนถึงการเงินและโทรคมนาคม กลุ่มรัฐวิสาหกิจส่วนกลางเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นสัตว์ร้ายตัวยักษ์ที่เต็มไปด้วยความเย่อหยิ่งโอหังและปราศจากความโปร่งใส ซึ่งคอยแต่จะต่อสู้คัดค้านกฎเกณฑ์ในเรื่องตลาดเสรีทั้งหลาย

แม้กระทั่งสื่อมวลชนของทางการเองก็ยังออกมาร้องเรียนบ่นพึมว่า พวกกิจการยักษ์ใหญ่อย่างบริษัทน้ำมันใหญ่ทั้ง 3 อันได้แก่ บริษัทน้ำมันปิโตรเลียมแห่งชาติของจีน (China National Petroleum Corporation), บริษัทซิโนเปก (Sinopec), และบริษัทน้ำมันนอกชายฝั่งแห่งชาติของจีน (China National Offshore Oil Corporation หรือ CNOOC) สามารถทำเงินทองได้อย่างมากมายมหาศาล ซึ่ง “พวกเขาควรที่จะคืนความมั่งคั่งร่ำรวยกลับมาให้ประชาชน”

ทั้งนี้ในการปฏิรูปเชิงโครงสร้างรอบล่าสุดนี้ สำนักงานบริหารพลังงานแห่งชาติ (National Energy Administration) ซึ่งแม้ยังคงถูกจัดให้อยู่ใต้การบังคับบัญชาของคณะกรรมการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission) แต่ก็ได้รับอำนาจหน้าที่เพิ่มเติมในเรื่องการกำกับตรวจสอบภาคกระแสไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีเครื่องบ่งชี้ใดๆ เลยว่า สำนักงานบริหารพลังแห่งชาติจะสามารถใช้อำนาจหน้าที่ที่มีอยู่แต่เดิมแล้ว มาบังคับบังเหียนควบคุมความเกินเลยต่างๆ ของยักษ์ใหญ่น้ำมันและก๊าซทั้ง 3 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในคำรายงานกิจการรัฐบาลของเขา นายกรัฐมนตรีเวิน ผู้กำลังจะพ้นตำแหน่งให้สัญญาว่า จะ “ดำเนินการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจทั้งหลายให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นอีก” เขากล่าวย้ำคำมั่นสัญญาของเขาที่ว่า วิสาหกิจที่มีเอกชนเป็นเจ้าของ ควรที่จะสามารถดำเนินงานในสนามแข่งขันที่มีความเสมอภาค อย่างทัดเทียมกับพวกกลุ่มวิสาหกิจส่วนกลางรายยักษ์ทั้งหลาย โดยเขาบอกว่า “เราจะต้องมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวในเรื่องการให้การส่งเสริม, ให้ความสนับสนุน, ให้คำชี้แนะ แก่การพัฒนาของบรรดาวิสาหกิจที่มิได้อยู่ในภาครัฐทั้งหลาย”

เขากล่าวว่า เป้าหมายก็คือการทำให้พวกกิจการของระบบกรรมสิทธิ์ต่างๆ อยู่ในฐานะที่จะ “สามารถใช้ปัจจัยในการผลิตทั้งหลายได้อย่างยุติธรรม ให้พวกเขาสามารถเข้าร่วมในการแข่งขันที่เน้นตลาด บนพื้นฐานอันมีความเป็นธรรม”

อย่างไรก็ตาม ในทางเป็นจริงแล้ว ถึงแม้ว่าในหมู่สมาชิกของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติชุดนี้ มีอยู่ประมาณ 90 คนที่เป็นนักธุรกิจนอกภาครัฐ ซึ่งมีทรัพย์สินรวมกันแล้วมากกว่า 1,800 ล้านหยวน แต่ก็ดูเหมือนว่าการปฏิบัติต่อพวกกิจการภาคเอกชนของรัฐบาล ยังจะไม่มีการปรับปรุงให้กระเตื้องดีขึ้นอย่างสำคัญอะไรในอนาคตอันใกล้นี้

พวกเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทั้งหลายกระทั่งมุ่งเน้นให้น้ำหนักแก่เรื่อง “เว่ยเหวิน” (weiwen) หรือ “การดูแลป้องกันเสถียรภาพทางการเมือง-สังคม” เหนือกว่าเรื่อง “การปฏิรูป” อย่างชัดเจน ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ชนิดยิ่งกว่าการประชุมคราวก่อนๆ ของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติด้วยซ้ำ บุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล เป็นต้นว่า หู เจีย (Hu Jia) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนผู้มีประสบการณ์สูง และ ติง จื้อหลี่ (Ding Zhili) ผู้ได้รับสมญาว่า “มารดาเทียนอันเหมิน” (Tiananmen mother) หากไม่ถูกบังคับให้ออกไปจากกรุงปักกิ่งในช่วงเวลานี้ ก็ถูกจับตาเฝ้าติดตามอย่างแน่นหนาตลอด 24 ชั่วโมง ตำรวจและเจ้าหน้าที่สันติบาลยังทุบตีผู้สื่อข่าวจากฮ่องกง 2 คนเมื่อพวกเขาพยายามเข้าไปใกล้ๆ อาคารที่พักอาศัยซึ่ง หลิว เซี่ย (Liu Xia) ภรรยาของ หลิว เสี่ยวป๋อ (Liu Xiaobo) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแต่ถูกทางการจีนคุมขังเอาไว้ กำลังพำนักอยู่ในสภาพที่เป็นการถูกกักบริเวณในทางเป็นจริง

ตัวเลขสถิติที่มีการเปิดเผยกันในสัปดาห์ที่แล้ว ณ การประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ แสดงให้เห็นว่าปีนี้เป็นปีที่ 3 ติดต่อกันแล้วที่งบประมาณรายจ่ายในเรื่อง “เว่ยเหวิน” สูงเกินกว่างบประมาณที่ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน โดยที่ในปี 2013 นี้ รัฐบาลส่วนกลางกำหนดจะให้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 769,100 ล้านหยวน หรือเพิ่มขึ้นอีก 8.7% จากปี 2012 ให้แก่พวกกิจการตำรวจ, หน่วยงานตำรวจอินเทอร์เน็ต, หน่วยงานสปายสายลับต่างๆ , ตลอดจนพวกหน่วยงานของกลไกความมั่นคงภายในอันสลับซับซ้อนของจีน เปรียบเทียบกันแล้ว งบประมาณอย่างเป็นทางการในปี 2013 ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน จะอยู่ที่ 720,600 ล้านหยวน สูงขึ้นจากปีที่แล้ว 10.7%

ไม่นานนักหลังจากที่เขาขึ้นครองอำนาจ ณ การประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 18 เลขาธิการใหญ่สี ได้ให้สัญญาที่จะนำเอา “ระบอบสังคมนิยมที่มีลักษณะเฉพาะของจีนซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ” (constitutional socialism with Chinese characteristics) มาใช้ ซึ่งก็คือ ระบบการเมือง-สังคมที่ให้ความเคารพรัฐธรรมนูญและตัวบทกฎหมายต่างๆ อย่างเต็มที่ ทั้งนี้มีสัญญาณเครื่องบ่งชี้อันชัดเจนกระจ่างแจ้งว่า สี ผู้ซึ่งมีอำนาจควบคุมโดยตรงเหนือสถาบันทางด้านกฎหมาย-การเมืองของประเทศ ที่เป็นผู้กำกับดูแลเรื่องกิจการตำรวจ, ความมั่นคงแห่งรัฐ, สำนักงานอัยการ, ตลอดจนศาลยุติธรรมนั้น มีความตั้งใจอันแน่วแน่ที่จะใช้กลไกควบคุมอันน่าเกรงขามนี้ไปในการปราบปรามบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับทางการ

เป็นที่น่าสังเกตว่าในคำรายงานของเขาที่เสนอต่อสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ หวัง เซิ่งจิว์น (Wang Shengjun) ประธานศาลประชาชนสูงสุดผู้กำลังจะอำลาตำแหน่ง ได้กล่าวยืนยันบทบาทความเป็นผู้นำอย่างไม่มีข้อสงสัยของพรรคที่มีเหนือศาลยุติธรรม หวังเรียกร้องให้เหล่าผู้พิพากษาและ “คนงานด้านตุลาการ” อื่นๆ ต้องประกาศตนยืนยัน “ความจงรักภักดีอย่างที่สุดต่อพรรค, ประเทศชาติ, ประชาชน, และรัฐธรรมนูญและกฎหมาย”

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเชื่อฟังพรรคนั้นได้รับเกียรติให้อยู่นำหน้าการเคารพรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ถึงแม้มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า หวัง ยังประกาศต่อไปด้วยว่าจะส่งเสริม “ความเชื่อมั่นในศาลยุติธรรมของประชาชน” ตลอดจน “ความเป็นธรรมและความซื่อสัตย์ของศาลยุติธรรม”

ในช่วงก่อนหน้าการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติครั้งนี้ มีนักวิชาการ, นักเขียน, และปัญญาชนภาคสาธารณะชาวจีนจำนวนกว่า 100 คน ร่วมกันลงนามในหนังสือร้องเรียนฉบับหนึ่งที่เผยแพร่ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเนื้อความขอให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทางด้านนิติบัญญัติให้สัตยาบันรับรอง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของสหประชาชาติ (United Nations' International Covenant on Civil and Political Rights) พวกเขาชี้ว่าในขณะที่รัฐบาลจีนได้ลงนามในกติการะหว่างประเทศฉบับนี้อย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี 1998 แต่ยังไม่มีการนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศจีนเนื่องจากสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติยังไม่เคยให้สัตยาบัน

บรรดาผู้ร่วมลงนามในหนังสือร้องเรียน ซึ่งมีทั้งศาสตราจารย์ชื่อดังๆ เป็นต้นว่า ฉิน ฮุ่ย (Qin Hui) และ เหอ เว่ยฟาง (He Weifang) ชี้เอาไว้ว่า กุญแจสำคัญประการหนึ่งในการไปสู่ความทันสมัยของจีน ก็คือ “การเชื่อมต่อเข้าได้อย่างสนิทกับบรรทัดฐานระดับโลกในเรื่องสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน” อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า หนังสือร้องเรียนฉบับนี้ได้ถูกนำออกจากไซเบอร์สเปซของจีนอย่างรวดเร็ว และผู้ร่วมลงนามจำนวนหนึ่งก็ได้รับคำตักเตือนด้วยวาจาจากหน่วยงานที่พวกเขาสังกัดอยู่

กล่าวโดยสรุปแล้ว ดูเหมือนว่าคณะบริหาร สี-หลี่ ยังต้องทำอะไรอีกมากมายนักจึงจะสามารถทำให้ชาวจีนและผู้สังเกตการณ์ชาวต่างชาติบังเกิดความมั่นอกมั่นใจขึ้นมาว่า การที่คณะบริหารนี้หมกมุ่นกับเรื่องเสถียรภาพ –และการผูกขาดอำนาจของพรรค— จะไม่ใช่การตีกระหน่ำเข้าตรงแสกหน้าของการปฏิรูปในแทบจะทุกๆ ด้าน

ดร.วิลลี โว-ลัป ลัม (Dr Willy Wo-Lap Lam) เป็นนักวิจัยอาวุโส ณ มูลนิธิเจมส์ทาวน์ (The Jamestown Foundation) และเคยทำงานในระดับบรรณาธิการอาวุโสของสื่อระหว่างประเทศหลายเจ้า เช่น นิตยสารเอเชียวีก, หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์, และในสำนักงานใหญ่ภาคเอเชีย-แปซิฟิก ของ ซีเอ็นเอ็น เขาเขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศจีนมาแล้ว 5 เล่ม โดยเล่มที่เพิ่งตีพิมพ์จำหน่ายเมื่อเร็วๆ นี้คือ “Chinese Politics in the Hu Jintao Era: New Leaders, New Challenges” เขายังเป็นศาสตราจารย์วุฒิคุณ (Adjunct Professor) ในด้านจีนศึกษา ณ มหาวิทยาลัยนานาชาติอะคิตะ (Akita International University) ประเทศญี่ปุ่น และที่ มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (Chinese University of Hong Kong)

(ข้อเขียนชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน The Jamestown Foundation)
ผู้นำใหม่ของจีนเน้น ‘เสถียรภาพ’มากกว่าการปฏิรูป (ตอนแรก)
ทันทีที่เข้ารับมอบอำนาจจากผู้นำชุดเก่าอย่างเสร็จสิ้นกระบวนการ ผู้นำใหม่ของจีนไม่ว่าจะเป็น สี จิ้นผิง หรือ หลี่ เค่อเฉียง ต่างก็ออกมาฟาดกระหน่ำใส่ความคาดหวังที่ว่า พวกเขาจะริเริ่มดำเนินการปฏิรูปต่างๆ ชุดใหญ่ที่เป็นไปในทางเปิดเสรีมากขึ้น โดยแทนที่จะกระทำเช่นนั้น พวกเขากลับเน้นย้ำถึงความสำคัญอย่างที่สุดของ “เสถียรภาพ”, การที่พรรคคอมมิวนิสต์จะต้องอยู่ในฐานะเป็นผู้นำอย่างชนิดครอบงำ, รวมทั้งพวกเขายังวิพากษ์วิจารณ์ว่าประชาธิปไตยแบบตะวันตกเป็นสิ่งที่ล้มเหลว แล้วมิหนำซ้ำยังสำทับด้วยการควบคุมตัวและการตักเตือนพวกปัญญาชนที่ต้องการให้แดนมังกรเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในเส้นทางอื่นอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น