xs
xsm
sm
md
lg

“ส.ส.แดง” ทวงบุญคุณรัฐบาลเลือกมากับมือ จี้ดัน พ.ร.บ.นิรโทษฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.เหวง โตจิราการ (แฟ้มภาพ)
“เหวง” เรียกร้องรัฐบาล ดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทวงบุญคุณได้เป็นรัฐบาลเพราะแก๊งแดงเลือกมา เตรียมบุก ป.ป.ช.พรุ่งนี้ บี้คดี ปรส. ขณะเดียวกันจี้ศาล รธน.ลาออกพร้อมขอโทษ เหตุ “วสันต์” ยอมรับวินิจฉัยคดีผิดขั้นตอน

วันนี้ (18 มี.ค.) นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง กล่าวว่า ตนพร้อมสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ.... ของกลุ่ม 42 ส.ส.พรรคเพื่อไทย ถึงแม้จะเห็นว่าการเสนอเป็นพระราชกำหนดรวดเร็วกว่า แต่เชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ก็สามารถช่วยประชาชนที่ถูกคุมขัง และคดีชุมนุมทางการเมืองแก่ทุกสี โดยวันที่ 19 มี.ค. ตนจะได้ช่วยคุยกับสมาชิกในที่ประชุมพรรคเพื่อขอเสียงสนับสนุนด้วยอีกทาง เนื่องจากยอมรับว่ายังมีความกังวลในการโหวตเลื่อนวาระในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะมีเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งตามข้อบังคับฯ ไม่รู้ว่าจะถึง 100 เสียงเลยหรือไม่ จึงอยากขอให้ฝ่ายบริหารกล้าหาญในทางการเมือง ถ้ายังมัวเง่อง่าราคาแพงคนเสื้อแดงก็ต้องทวงบุญคุณว่าเราเป็นคนเลือกรัฐบาลชุดนี้มากับมือ รัฐบาลก็ควรรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ประชาชนเช่นกัน

นพ.เหวงกล่าวในฐานะรักษาการแทนประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ ว่าคณะกรรมาธิการฯ ได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดีเอาผิด การประมูลสินทรัพย์ของคณะกรรมการองค์การเพื่อปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาไต่สวน ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่กลับไม่มีความคืบหน้า ทั้งที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้ฟันธงแล้วว่าคดี ปรส.ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ขัดระเบียบหลักเกณฑ์ทั้งหมด 10 ประเด็น ได้แก่ 1. ปรส.ยินยอมให้นิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ ปรส. เข้าประมูลซื้อทรัพย์สินโดยมิชอบ 2. คณะกรรมการ ปรส.บางคนมีส่วนเกี่ยวข้องปกปิดข้อเท็จจริง กระทำการโดยไม่โปร่งใส 3. ข้อกำหนดของ ปรส.ที่ให้ผู้ชนะการประมูลโอนสิทธิได้ขัดต่อกฎหมาย 4. การโอนสิทธิของผู้ชนะการประมูลไม่ชอบ ขัดต่อ พ.ร.ก.ปรส. 5. ข้อกำหนดการขายทรัพย์สินของคณะกรรมการ ปรส.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 6. คณะกรรมการ ปรส. และกลุ่มนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ ปรส.ฝ่าฝืนข้อสนเทศการขายทรัพย์สิน 7. กองทุนรวมที่รับโอนสิทธิจากผู้ชนะการประมูลซื้อทรัพย์สินจาก ปรส.ยังไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล 8. มีการทำสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย 9. สิทธิของนิติบุคคลที่ชนะประมูลไม่สมบูรณ์ เนื่องจากขาดคุณสมบัติตามข้อกำหนดของ ปรส. 10. ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ปรส.บางคนขาดคุณสมบัติเนื่องจากดำรงตำแหน่งทับซ้อนกับสถาบันการเงินอีกแห่ง

นพ.เหวงกล่าวต่อว่า ในฐานะรักษาการแทนประธาน กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ จึงจะไปสอบถามความคืบหน้าในคดีดังกล่าวต่อ ป.ป.ช.ในวันพรุ่งนี้ (19 มี.ค.) เวลา 10.00 น. และขอเรียกร้องไปยัง ป.ป.ช.ให้ชี้แจงความคืบหน้าต่อสาธารณชนเป็นระยะ เพราะเป็นดคีที่สร้างความเสียหายให้ชาติกว่า 600,000 ล้านบาท และขอให้ยืนยันด้วยว่าจะไม่ปล่อยให้คดีดังกล่าวหมดอายุความในวันที่ 21 มิ.ย. เพื่อให้ไม่ซ้ำรอยกับเมื่อครั้ง การยุบพรรคประชาธิปัตย์ เพราะคดี ปรส.นี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี

นพ.เหวงยังกล่าวถึงกรณีที่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง 3 พรรคเป็นไปเพื่อรักษาความสงบของบ้านเมืองว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยคดีโดยวางอยู่บนพื้นฐานนิติรัฐ นิติธรรม แต่เป็นการใช้ทัศนะทางการเมืองของตนเอง มากกว่า เพราะนายวสันต์ก็ได้บอกว่าบ้านเมืองอยู่ในความวุ่นวาย กลุ่ม นปช.ไปปิดล้อมบ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ เมื่อ วันที่ 1 ก.ค. 2550 แต่ข้อเท็จจริงคือตอนนั้นยังเป็นกลุ่ม นปก. ไม่ใช่ นปช. อีกทั้งยังไม่ใช่การปิดล้อม แต่เป็นการไปขอคำชี้แจงว่า พล.อ.เปรมอยู่เบื้องหลักการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 49 ใช่หรือไม่ และการตัดสินยุบพรรคการเมืองเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551 ห่างจากเหตุการณ์ดังกล่าว 1 ปี 4 เดือน

“เหตุผลดังกล่าวจึงเป็นเพียงการจับแพะชนแกะ แต่ความวุ่นวายทางการเมืองที่ใกล้กับวันตัดสินคดี คือการที่กลุ่มพันธมิตรฯ ยึดสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้ที่เคยมีข้อกล่าวหาว่าศาลรัฐธรรมนูญรีบทำการวินิจฉัย เพื่อหาทางลงให้กับกลุ่มพันธมิตรฯ นั้นมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น ส่วนการย้ายสถานที่อ่านคำวินิจฉัยก็สามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่การแจ้งกระทันหัน และไม่ให้โอกาสทำคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง คำตัดสินดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างใหญ่หลวง บ้านเมืองไม่ได้สงบอย่างที่กล่าวอ้าง เพราะหลังจากยุบพรรคพลังประชาชน กลุ่ม ส.ส.งูเห่าได้ย้ายไปร่วมกับเผด็จการจัดตั้งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นนำมา ซึ่งการชุมนุมขนาดใหญ่เรียกร้องให้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งยุบสภา จนกระทั่งเกิดสลายการชุมนุมสังหารประชาชน 99 ศพ เมื่อ เม.ย. - พ.ค. 2553

นพ.เหวงกล่าวว่า นอกจากนี้ นายวสันต์ก็ได้ยอมรับแล้วว่าการวินิจฉัยถอด นายสมัคร สุนทรเวช ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นการวินิจฉัยผิดขั้นตอนด้วยการนำข้อกฎหมายมาวางก่อน แล้วค่อยนำข้อเท็จจริงมาใส่ ดังนั้นจึงเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการดังนี้ 1. กล่าวขอโทษ ยอมรับความผิดพลาดต่อประชาชน และสมาชิกพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย 2. คืนเกียรติยศให้แก่นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี 3. พิจารณาลาออกทั้งคณะ แต่ก็ขึ้นอยู่กับคุณธรรม จริยธรรมของตนเองว่าจะทำอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น