xs
xsm
sm
md
lg

กอ.รมน.ภาค 4 แจงขยาย พ.ร.บ.มั่นคงอีก 5 อำเภอ “เหวง” เหน็บ ม.21 หนทางมืดมน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (ภาพจากแฟ้ม)
ที่ประชุม กมธ.ความมั่นคง “หมอเหวง” อวดรู้ผู้เชี่ยวชาญไฟใต้ อ้างประกาศ พ.ร.บ.มั่นคงแค่ 5 อำเภอได้ประโยชน์อะไร เหน็บมาตรา 21 ไฟใต้สงบเรื่องยาก ด้าน กอ.รมน.แจงเล็งขยายพื้นที่ใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ อีก 5 อำเภอ ย้ำเปิดโอกาสให้ผู้ก่อความไม่สงบกลับใจ ตามมาตรา 21 ชี้ปัญหาแก้ไม่ได้เพราะกองทัพไม่มีที่หมายเข้าตี ชาวบ้านนิ่งเฉย แถมใช้หลักกองโจรหวังยูเอ็นแทรกแซง

วันนี้ (27 ก.พ.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.00 น. ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นพ.เหวง โตจิราการ รองประประธานกรรมาธิการคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาเรื่องการบังคับใช้มาตรา 21 ตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี พล.ท.โชค เพิกโสภณ ผู้ชำนาญการประจำสำนักงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า, นายพรชาต บุนนาค รักษาการที่ปรึกษาด้านการประสานงานกิจการความมั่นคง สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ ผู้อำนวยการสำนักประสานนโยบายสังคมจิตวิทยา ศอ.บต.เข้าชี้แจง โดย นพ.เหวงกล่าวว่า พื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มีเพียง 5 อำเภอ ได้แก่ จ.สงขลา 4 อำเภอ ได้แก่ อ.จะนะ, อ.นาทวี, อ.สะบ้าย้อย, อ.เทพา และ จ.ปัตตานี 1 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่ลาน แล้วจะได้ประโยชน์อะไร เพราะยังมีอีก 33 อำเภอที่ยังไม่ประกาศใช้ การที่มาตรา 21 จะเป็นแสงสว่างในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สงบคงเป็นไปได้ยาก

พล.ท.โชคชี้แจงว่า มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ไม่ใช่กฎหมายที่จะใช้แก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ได้ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้คนที่สำนึกผิดให้เขากลับเนื้อกลับตัว ซึ่งการจะใช้มาตรา 21 ได้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องมอบพื้นที่ให้กอ.รมน. ตามมาตรา 15 ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวต้องไม่ซ้ำซ้อนกับการประกาศใช้กฎหมายฉบับอื่น อาทิ พ.ร.ก.รักษาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยขณะนี้มีการจัดอันดับความรุนแรงของสถานการณ์ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งโซนที่มีความรุนแรงน้อยลงก็จะขยายพื้นที่ใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ได้มากขึ้น หลังจากประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคง มีคนที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 3 รุ่น จำนวน 7 คน แต่มี 4 คนยกเลิกกลางคันเพราะเนื่องจากไม่สมัครใจในการเข้ารับกทารอบรม ส่วนอีก 2 คน ได้อบรมแล้วเสร็จ กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ และกลับมาเป็นเครือข่ายในการทำความเข้าใจที่ถูกต้องกับคนในพื้นที่ ส่วน 1 คนที่เหลือก็ยังอยู่ในการอบรม ทั้งนี้ในอนาคตจะมีการประกาศยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใน 5 อำเภอได้แก่ อ.เบตง อ.กาบัง จ.ยะลา, อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี, อ.แว้ง อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เพื่อมาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงแทน แต่ทั้งนี้ต้องมีการเสนอเข้าสู่ ครม. ตามมาตรา 15 ก่อน สำหรับบุคคลที่มีคดีอาญาติดตัวเมื่อเข้ารับการอบรมตามมาตรา 21 คดีก็ยังดำเนินอยู่ แต่จะมีการช่วยเหลือในการประกันตัวและต่อสู้คดี

พล.ท.โชคกล่าวว่า การที่ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่สามารถแก้ไขได้ เนื่องจากกองทัพไม่มีที่หมายในการเข้าตี กลุ่มคนร้ายแฝงตัวในหมู่บ้าน เมื่อถึงเวลาปฏิบัติการถึงจะมีคนเอาอาวุธมาให้ ชาวบ้านแม้ไม่เห็นด้วยแต่ก็จะนิ่งเฉย ไม่ให้ข้อมูลกับหน่วยงานราชการ จึงแยกแยะคนร้ายกับชาวบ้านลำบาก แต่ขณะนี้ทางกองทัพพิสูจน์ทราบและมีทำเนียบกำลังรบของกลุ่มที่ก่อความไม่สงบแล้ว นอกจากนี้ยังใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร คือการใช้กิจการพลเรือนทำงานด้านยุทธการ ปฏิบัติงานด้านจิตวิทยา เน้นการทำความเข้าใจกับชุมชุน

“เขายั่วยุให้ทางทหารใช้กำลังเข้าปราบ แต่เราไม่ทำ เขาใช้หลักกการกองโจร แต่ทำไม่ได้เหมือนเวียดนามเหนือ จึงใช้วิธีเดียวกันกับติมอร์ คือทำให้เกิดความวุ่นวายเพื่อให้องค์การสหประชาชาติเข้ามา เพราะเขาต่อสู้ด้วยอาวุธกับเราไม่ได้ มีกำลังน้อยกว่า” พล.ท.โชค กล่าว

ด้านนายพรชาตกล่าวว่า ตามนโยบายด้านความมั่นคง ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เน้นความยั่งยืน ยึดตามหลักกฎหมายโดยใช้เท่าที่จำเป็น เน้นคุ้มครองคนในพิ้นที่เป็นหลัก ใช้กฎหมายโดยไม่กระทบต่อผู้บริสุทธิ์ เปิดโอกาสให้คนที่หลงผิดได้มีโอกาสอยู่ในสังคม เป็นแนวทางโดยสันติ

ส่วนนายศุภณัฐกล่าวว่า ศอ.บต.ทำงานร่วมกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เมื่อพื้นที่ใดประกาศใช้มาตรา 21 แล้วเบื้องต้นต้องแจ้งให้คนในพื้นที่ทราบว่ามีผลดี-ผลเสียอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ยังมีบัณทิตอาสา ที่เป็นคนในพื้นที่ช่วยให้ความรู้และทำความเข้าใจกับหมู่บ้านต่างๆ ทั้งสำรวจว่าบ้านไหน ใครถูกดำเนินคดีหรือมีหมายจับ ซึ่งเสียงสะท้อนที่ดีกลับมา แต่ก็มีข้อกังวลอย่างเช่น บุคคลที่ถูกคดีร้ายแรง อาทิ คดีฆ่าผู้อื่น ญาติผู้ที่เสียชีวิตจะรับได้หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น