xs
xsm
sm
md
lg

ผลพวง 16 ศพบาเจาะ รัฐต้องเน้นงานมวลชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานการเมือง

เป็นที่จับตามองหลังการบุกโจมตีของกลุ่มก่อความไม่สงบต่อฐานทหารนาวิกโยธินที่บ้านยือลอ ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งนำมาสู่การสูญเสียจากปฏิบัติการตอบโต้ของฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่วิสามัญฯ “เด็ดหัว” ฝ่ายผู้ก่อการเสียชีวิตไป 16 ศพ

และก็เป็นไปตามคาด เมื่อฝ่ายผู้ก่อการเริ่มปฏิบัติการ “เอาคืน” อย่างทันควัน เมื่อพบการก่อเหตุความไม่สงบในหลายพื้นที่ ครอบคลุมทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูได้จากท่าทีของ “พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์” แม่ทัพภาคที่ 4 ที่ยอมรับว่ารู้ดีว่าจะเกิดอะไรขึ้น และได้สั่งการให้ควบคุมสถานการณ์อย่างเข้มข้น รวมทั้งยังรับปากกับที่ประชุม “ศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ การแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้” (ศปก.กปต.) ไปว่า จะดูแลพื้นที่ให้ดีที่สุด

การก่อเหตุหลังจากนี้จะระบุว่าเป็นฝีมือหรือความรับผิดชอบของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้ เนื่องจากมีความพยายามจาก “กลุ่มก่อความไม่สงบ” หลายกลุ่ม ที่ออกมาแอคชั่นผสมโรง รวมการเฉพาะกิจโจมตี “เจ้าหน้าที่รัฐ” อยู่ในขณะนี้

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่อยู่ภายใต้การดูแลของ “กลุ่มอาร์เคเค” เช่น กลุ่มของ “มะซอเร ดือรามะ” แกนนำระดับปฏิบัติการที่เคยก่อเหตุเผาเมืองมาแล้วในปี 2555 หรือจะเป็นที่อยู่ภายในการดูแลของ “กลุ่มบีอาร์เอ็นคอร์ออดิเนต” เป็นอาทิ ซึ่งกลุ่มก่อความไม่สงบที่ออกมาโชว์ฝีมือในช่วงหลัง มีรายงานว่าจะจัดอยู่ในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งมีความฮึกเหิมเป็นพิเศษ คนกลุ่มนี้จะผ่านการฝึกการใช้อาวุธ ฝึกการรบ ฝึกการก่อเหตุร้าย มาอย่างน้อย 8-10 ปี บางคนฝึกการใช้อาวุธตั้งแต่ 10 ขวบ

ดังนั้นหลังจากนี้ต้องเฝ้าระวัง-ป้องกัน-ติดตาม การก่อเหตุของกลุ่มก่อความไม่สงบ ที่แตกย่อยออกไปไม่น้อยกว่า 10 กลุ่ม ที่จะออกมาก่อเหตุให้ดี ซึ่งคาดการณ์กันว่าอย่างน้อยๆต้องเฝ้าระวังสูงสุดไปอีก 2 เดือน กว่าสถานการณ์ต่างๆ จะเข้าที่ กว่าการปลุกปั้นของกลุ่มก่อความไม่สงบอันเนื่องมาจากเหตุวิสามัญฯ ที่บาเจาะจะเจือจางลง

หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าปฏิบัติการครั้งดังกล่าว สามารถทำให้กลุ่มก่อความไม่สงบ นำไปจุดกระแสให้เกิดความแค้นต่อ “ประชาชน” ได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย เพราะเชื่อว่ามีส่วนในการให้ข้อมูลจน “แผนแตก” และทำให้กองกำลังเมื่อคืนวันที่ 13 ก.พ.ต้อง “แตกพ่าย” เสียหายอย่างหนัก

ที่สำคัญมีการวิเคราะห์ว่าความผิดพลาดอย่างหนึ่งของปฏิบัติการดังกล่าว คือ หลังเหตุการณ์มีการปล่อยให้มีข่าวคราวนำเสนอผ่าน “สื่อมวลชน” มากเกินไป โดยเฉพาะการวางแผนและปฏิบัติการของกลุ่มก่อความไม่สงบ

“ข่าวที่ออกมาเป็นเรื่องดีของคนที่อยู่นอกพื้นที่ เพราะได้รับรู้ความเป็นจริงในพื้นที่ แต่ข่าวที่นำเสนอกันเป็นด้านลบของคนในพื้นที่ เพราะเขา (กลุ่มก่อความไม่สงบ) ใช้เป็นข้ออ้างกับคนในพื้นที่ได้ ว่าทหารโหดเหี้ยมอำมหิตกับคนมุสลิม และสิ่งที่เขาใช้ก่อกล่าวอ้างสามารถทำให้ประชาชนเชื่อมากกว่าที่เจ้าหน้าที่รัฐพยายามทำให้ประชาชนเชื่อ” แหล่งข่าวระดับสูงในหน่วยงานความมั่นคง สะท้อนภาพในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

นอกจากนี้ ในมิติของการให้ความร่วมมือกับ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ต้องยอมรับความยังมีน้อยมาก แม้ข่าวการให้ความร่วมมือที่ออกมาในระยะหลังจะเป็นเชิงบวก แต่ในพื้นที่แล้วความมือจากประชาชนยังมีไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์เลยด้วยซ้ำเช่น กรณีการลอบสังหารครู มีความพยายามจาก “เจ้าหน้าที่รัฐ” ที่จะเข้าไปสอบถามเกี่ยวกับรูปร่างลักษณะของผู้ก่อเหตุ เพื่อนำไปสู่การจับกุม ที่สำคัญจะนำไปสู่การหามาตรการป้องกัน ไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีก แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากบรรดาครูอยู่ดี

และอีกหลายกรณีที่ “ประชาชน” ไม่กล้าให้ข้อมูลกับ “เจ้าหน้าที่รัฐ” เพราะกลัวตกเป็นเป้าหมายของ “กลุ่มก่อความไม่สงบ” ที่จะหาช่องลอบฆ่าเอาง่ายๆ

เหตุผลหนึ่งที่ “ชาวบ้าน” ให้ความร่วมมือน้อยแบบยังคาใจอยู่ว่า “เจ้าหน้าที่รัฐ” เข้ามาสร้างความแตกแยก และยังฝังใจอยากให้แบ่งแยกดินแดนเป็น “รัฐปัตตานี” อีกเหตุผลหนึ่งคือ ไม่มั่นใจในมาตรการคุมครองพยานของ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ที่ไม่สามารถการันตีความปลอดภัยได้เลย

ทั้ง 2 เหตุผล เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ประชาชน ไม่ยอมให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่รัฐ จึงทำให้การทำงานทั้งการป้องกัน-การปราบปราม เป็นไปอย่างยากลำบากมากยิ่งขึ้น

ภาพที่ออกมาทั้งหมดสะท้อนปัญหาในพื้นที่ที่ยังมีให้เห็นอยู่จำนวนมาก แม้หลาย “รัฐบาล” ที่ผ่านมาจะนำการพัฒนาเข้าไปในพื้นที่จำนวนมาก ก็ไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นได้อยู่ดี

ทว่าการใช้การพัฒนาเข้าไปในพื้นที่เป็นแนวทางที่ถูกต้องมากที่สุดแล้ว เพราะการแก้ไขปัญหาต้องค่อยเป็นค่อยไป ดึงประชาชนมาอยู่ฝ่ายเดียวกับเจ้าหน้าที่รัฐให้มากที่สุด แม้จะเป็นโจทย์ที่ยากมาก แต่ก็ต้องทำ เพราะไม่มีแนวทางใดดีกว่านี้อีกแล้ว

หากรังแต่จะหัน “ปลายกระบอกปืน” เข้าหากัน คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ ที่สำคัญเป็นการผลักให้ “ประชาชน” เลือกข้าง “กลุ่มก่อความไม่สงบ” ไปโดยปริยาย

หลังจากนี้สำคัญอยู่ที่ “เจ้าหน้าที่รัฐ” จะสร้างความมั่นใจในการให้ความปลอดภัย “ประชาชน” ที่บางส่วนพร้อมที่จะให้ข้อมูลกับ “รัฐบาล” ได้มากน้อยแค่ไหน

และที่สำคัญกว่านั้นคือนโยบายหลักจาก “รัฐบาล” ต้องแน่ใจมากกว่า ไม่ใช่วันดีคืนดีขู่จะยกระดับประกาศกฎอัยการศึกหรือประกาศใช้ “เคอร์ฟิว” พอวันดีคืนดีจะปรับมาเป็น “พ.ร.บ.ความมั่นคง” เพราะอาจจะเกิดความสับสนได้

ทางที่ดี “รัฐบาล” ควรประเมินจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ก่อนที่จะใช้กฎหมายที่สมเหมาะสมที่สุดนำไปบังคับใช้ เพราะการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ละเอียดอ่อนมาก จึงต้องใช้ความระมัดระวังในทุกนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงาน

จำพวกคนปากมาก พูดไม่คิด ก็ไม่ควรนำเข้ามาเพิ่มปัญหาอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น