ยะลา - แม่ทัพภาค 4 แถลงข่าวยันเหตุบุกฐานนาวิกฯ บาเจาะ จนท.จำเป็นต้องปฏิบัติการป้องกันตัว ระบุการใช้ พ.ร.บ..ความมั่นคง จะนำไปสู่การให้อภัยซึ่งกันและกัน พร้อมพูดคุยเพื่อสร้างสภาวะเกื้อกูลให้เกิดสันติภาพ
เวลา 13.20 น.วันนี้ (18 ก.พ.) ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาค 4 แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้บูรณาการหน่วยงานการทำงานร่วมกันระหว่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ที่แก้ไขปัญหาตามยุทธศาสตร์พระราชทาน คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เพื่อให้งานเป็นไปตามแนวทางเดียวกัน
ได้ดำเนินการยุทธศาสตร์หลักๆ 5 ด้าน คือ การรักษาความปลอดภัย การแก้ไขปัญหาภัยแทรกซ้อน การพัฒนาคุณภาพชีวิต และโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างความเป็นธรรม การดำเนินการในเรื่องสิทธิมนุษยชน และที่สำคัญคือ การสร้างสภาวะแวดล้อมที่จะให้พวกเราออกจากความขัดแย้ง กำลังตำรวจ ทหาร ที่ลงมาในพื้นที่ขณะนี้ก็มาเพื่อควบคุมสถานการณ์ ป้องปรามไม่ให้เหตุร้ายขยายตัว สิ่งที่ดำเนินการสร้างความเข้าใจเพื่อเป็นพื้นฐานในการสื่อสารซึ่งกันและกัน
พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาค 4 กล่าวว่า มีหลายฝ่ายมองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ตนมองว่าเหตุการณ์ที่ อ.บาเจาะ ถ้านาวิกโยธินไม่โต้ตอบ เหตุการณ์ก็น่าจะซ้ำแบบเดิมอย่างเช่นอดีตที่ผ่านมา เป็นการกระทำที่โหดเหี้ยม ที่ทางอิสลามก็ได้สอนคนทั้งโลกว่า การทำร้ายศพนั้นผิดหลักศาสนา แต่ก็ยังมีกลุ่มคนเหล่านี้ที่อ้างตัวว่าเป็นนักรบญีฮาดกระทำเช่นนี้ เหตุการณ์บาเจาะเจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องป้องกันตัว
กรณีเหตุการณ์วันที่ 16-17 ก.พ. ที่ปัตตานี นั้น โดยทั่วไปในพื้นที่ก็ยังมีลักษณะของสงคราม ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ยังไม่สามารถยุติเหตุการณ์ได้ ก็ยังคงเกิดเหตุโจมตีกัน ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่จะใช้การมีส่วนร่วมในการเข้าปิดล้อมตรวจค้น มีการเชิญผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนเข้าร่วม ซึ่งหลายเหตุการณ์ก็ออกมาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ถ้าหลักฐานไม่เพียงพอก็มีการปล่อยตัวไป สรุปได้ว่า พื้นที่ยังคงมีเงื่อนไขในการต่อสู้กันอยู่ ก็ยังมีความเชื่อมโยง แต่ทางรัฐเลือกที่จะใช้หลักของกฎหมาย หลักของสิทธิมนุษยชนในการดำเนินการ
พล.ท.อุดมชัย กล่าวอีกว่า สำหรับ พ.ร.บ.ความมั่นคง หากศึกษาให้ดี พ.ร.บ.นี้จะนำไปสู่ ม.21 คือ การให้อภัยกัน ซึ่งอยากให้ศึกษาแนวทาง ตนเองประเมินสถานการณ์ล่าสุดว่า ในเมื่อรัฐยึดถือแนวทางสิทธิมนุษยชน ส่วนฝ่ายตรงข้ามต้องการสร้างสงคราม ให้คล้ายว่าเป็นสงครามศาสนา แม้แต่การทำร้ายผู้บริสุทธิ์ก็ยังทำ ตนมองว่าคงจะมาถึงจุดสุดท้ายของสงครามมากกว่า ฉะนั้น กลุ่มคนเหล่านี้จะพยายามใช้ความรุนแรงเพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า กลุ่มเค้ายังคงมีอยู่ แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่เกิดความเบื่อหน่ายกับสถานการณ์แล้ว
“กรณีกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพนั้น ตนอยากจะบอกว่า เวลาเราจะพูดคุยกับใคร ถ้าเรามีอำนาจเราก็จะสามารถต่อรองได้ แต่เหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตนมองว่ารัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขมายาวนาน เราได้เปรียบในเรื่องงานมวลชน เดิมฝ่ายตรงข้ามอาจจะได้เปรียบ แต่เมื่อความจริงใจ และความตั้งใจในการแก้ปัญหาของภาครัฐ จึงทำให้ฝ่ายตรงข้ามเสียเปรียบ การพูดคุยไม่ใช่การเจรจา เพราะจะเจรจาไม่ได้ แต่กระบวนการรัฐศาสตร์เปิดเอาไว้ในสภาวะเกื้อกูล ให้ออกจากความขัดแย้งได้ สามารถกระทำควบคู่ไปกับนโยบายภาครัฐ ในการพัฒนาพื้นที่ได้ เมื่อถามตนว่าการเจรจาทำหรือไม่ ก็คงจะตอบว่าไม่ได้ทำ แต่ทำกระบวนการสร้างสภาวะเกื้อกูลให้สามารถออกจากความขัดแย้งนั้น มีการทำอยู่ในทุกระดับ รวมทั้งการเยียวยา” แม่ทัพภาค 4 กล่าว