กมธ.มั่นคงแห่งรัฐ สภาฯ ถกปมสู้คดีพระวิหารศาลโลก “สุรพงษ์” อ้างบางเรื่องพูดไม่ได้ เผย “พงศ์เทพ” นัดพาคุยทีมกฎหมายฝรั่งต้น ก.พ. บอกพูดเจ๊ากับเจ๊งพูดตรงๆ ตาม 4 แนวทาง รับปากไวไปหน่อยแต่ยันสู้เต็มที่ “สามารถ” ขอทุกฝ่ายร่วมวงสัมมนาแจงข้อมูล ด้าน “เหวง” หวังเขมรถอนเรื่องไม่ให้ร้าวฉาน “อภิชาติ” แนะอย่ารื้ออดีตจนทำเรื่องบานปลาย
วันนี้ (30 ม.ค.) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นพ.เหวง โตจิราการ ทำหน้าที่แทนประธานคณะกรรมาธิการ มีการประชุมเพื่อพิจารณาศึกษากรณีศาลโลกจะมีการพิจารณาคำร้องของกัมพูชาเกี่ยวกับข้อพิพาทบริเวณปราสาทพระวิหารในเดือนเมษายน 2556 โดยเชิญบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อแถลงข้อเท็จจริงและแสดงความคิดเห็น โดยคณะกรรมาธิการได้เชิญนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางมาชี้แจงด้วยตัวเอง โดยระบุว่าทีมทนายมีการเตรียมเนื้อหาในการสู้คดีไว้พร้อมแล้ว แต่บางเรื่องไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้เพราะอาจกระทบต่อรูปคดี โดยทีมทนายแบ่งออกเป็น 3 ทีม โดยมีที่ปรึกษาด้านข้อกฎหมาย คือ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่กำกับดูแลอีกครั้ง นอกจากนี้ นายพงศ์เทพจะพาทีมกฎหมายและสื่อมวลชนเดินทางไปพูดคุยกับทีมกฎหมายต่างประเทศที่ประเทศอังกฤษ ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ส่วนรายละเอียดและขั้นตอนของการต่อสู้ทางคดีนั้นต้องรอให้ศาลอนุญาตก่อนจึงจะสามารถนำมาเปิดเผยได้ ทั้งนี้ ผลการต่อสู้จะออกมาอย่างไรที่ก่อนหน้านี้ตนออกมาระบุว่าประเทศไทยจะมีแต่เจ๊ากับเจ๊งนั้น ตนเป็นคนพูดตรงก็วิเคราะห์ไปตามข้อกฎหมายใน 4 แนวทาง คือ ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง ศาลมีคำสั่งพิพากษายืนตามคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ศาลตัดสินตามที่กัมพูชาร้องขอ และไทยอาจสูญเสียดินแดนบางส่วนไป ซึ่งส่วนตัวยอมรับว่าปากไวไปหน่อย แต่ยืนยันว่าประเทศไทยจะสู้อย่างเต็มที่เพราะรู้ดีว่าคนไทยรักและหวงแหนทรัพย์สมบัติที่เป็นของประเทศไทย
ขณะที่นายสามารถ แก้วมีชัย คณะกรรมาธิการระบุว่า อยากให้ทุกฝ่ายมาร่วมมือกันเพื่อขอจัดเวทีสัมมนาใหญ่ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยในเวทีสัมมนาจะมีการชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยจะนำข้อมูลที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2505 มาชี้แจงให้ประชาชนได้รับรู้ ส่วนกรณีที่คณะกรรมาธิการเป็นห่วงก็ไม่ใช่ในประเด็นของผลการตัดสินแต่ห่วงในเรื่องของข้อมูลที่มีการนำออกมาเปิดเผยว่าจะเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้องมากน้อยเพียงใด
นพ.เหวงระบุว่า ส่วนตัวอยากให้กัมพูชาถอนเรื่องออกจากศาลโลก เพราะหากมีการเดินหน้าเข้าสู่ศาลโลกก็จะทำให้เกิดรอยร้าวและเกิดความบาดหมางระหว่างทั้งสองประเทศ ส่วนการพิจารณานั้นส่วนตัวเห็นว่าไม่ต้องการให้เกิดความร้าวฉาน ศาลโลกก็มีอำนาจพิจารณาสามารถพิจารณาได้ในกรอบของมาตรา 60 ของกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ เท่านั้น แต่เท่าที่ศึกษาข้อมูลของกัมพูชาในคำร้องก็พบว่าน่าจะเกินกรอบของมาตรา 60
ส่วนนายอภิชาติ ศักดิเศรษฐ์ คณะกรรมาธิการระบุว่า ส่วนตัวไม่ได้ติดใจในเรื่องของข้อกฎหมายแต่กังวลในเรื่องของข้อมูลที่จะออกมาแล้วทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งมากขึ้นมากกว่า อีกทั้งไม่ควรมีการออกมากล่าวถึงในเรื่องสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตว่าใครทำอะไร และมีการปล่อยปละละเลยจนทำให้เรื่องบานปลายมาจนถึงวันนี้หรือไม่ แต่สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดในขณะนี้ คือ เรื่องของการรับรู้ข่าวสารที่ต้องมีความเท่าเทียมกันของทุกคน ดังนั้นจึงถือเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศที่ต้องทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องกับประชาชนทุกคนเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน