xs
xsm
sm
md
lg

‘บาเซิล’ ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ ‘สภาพคล่อง’ ที่ใช้กับแบงก์ทั่วโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรดาธนาคารต่างโล่งอกที่เกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่ออกไหลออกในภาวะวิกฤต มีความยืดหยุ่้นมากกว่าที่เคยคาดหมายกัน
ไฟแนนเชียลไทมส์/เอเจนซีส์ - บรรดาแบงก์ต่างได้รับของขวัญปีใหม่ชิ้นโตไปตามๆ กันในวันอาทิตย์ (6 ม.ค.) ที่ผ่านมา เมื่อองค์กรกำกับตรวจสอบภาคการธนาคารระดับสูงสุดของโลก เปิดเผยเกณฑ์มาตรฐานด้านสภาพคล่องฉบับแรกที่จะนำมาใช้กับธนาคาร ซึ่งปรากฏว่ามีความเข้มงวดเคร่งครัดน้อยกว่าที่คาดหมายกันไว้ แถมยังจะบังคับใช้อย่างเต็มที่เมื่อถึงปี 2019 แล้ว หรือชะลอออกไปอีก 4 ปีจากกำหนดเวลาเดิมที่คิดกัน

เกณฑ์ “การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่ออกไหลออกในภาวะวิกฤต” (liquidity coverage ratio หรือ LCR) ที่คณะกรรมการกำกับตรวจสอบภาคการธนาคารแห่งบาเซิล (Basel Committee on Banking Supervision หรือ BCBS) ประกาศที่เมืองบาเซิล, สวิตเซอร์แลนด์ ในคราวนี้นั้น ถือเป็นครั้งแรกที่พวกหน่วยงานกำกับตรวจสอบทั่วโลกเรียกร้องต้องการให้ธนาคารแต่ละแห่ง ต้องถือครองเงินสดและสินทรัพย์อันง่ายแก่การจำหน่ายทั้งหลาย เอาไว้ให้เพียงพอแก่การที่พวกเขาจะยังอยู่รอดได้ในยามเผชิญภาวะวิกฤตช่วงสั้นๆ

ทั้งนี้ LCR จัดเป็นส่วนที่ 2 ของการปฏิรูป “บาเซิล 3” (Basel III) ซึ่งคิดค้นจัดทำกันออกมาด้วยจุดมุ่งหมายที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการล่มสลายของภาคการธนาคารเฉกเช่นปี 2008 ขึ้นมาอีก โดยที่ส่วนแรกของ บาเซิล 3 ได้แก่การกำหนดหลักเกณฑ์ให้ธนาคารต่างๆ ต้องดำรงเงินทุนสำรองอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้นนั้น ได้ประกาศออกไปก่อนหน้านี้แล้ว และเริ่มต้นทยอยบังคับใช้กันตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้เป็นต้นไป

หลักเกณฑ์ LCR ฉบับสุดท้ายที่คณะกรรมการกำกับตรวจสอบภาคการธนาคารแห่งบาเซิลลงมติรับรองนี้ มีความยืดหยุ่นเพิ่มขึ้นมากจากฉบับร่างซึ่งเสนอกันขึ้นมาเมื่อกว่า 2 ปีก่อน เป็นต้นว่า แบงก์จะสามารถนำเอาสินทรัพย์สภาพคล่องประเภทต่างๆ กว้างขวางยิ่งขึ้นมานับรวมเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับยามวิกฤตของตน ดังเช่น หุ้น และหลักทรัพย์ที่หนุนหลังโดยสินเชื่อที่อยู่อาศัย บางชนิด ขณะที่วิธีการคำนวณก็มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่จะลดขนาดของสินทรัพย์สภาพคล่องซึ่งธนาคารจำนวนมากต้องดำรงเอาไว้ เพื่อรับมือกับกระแสเงินสดเคลื่อนย้ายไหลทะลักออกไป จากกรณีที่พวกผู้ฝากพากันแตกตื่นขอถอนเงิน และการกู้ยืมระหว่างธนาคารก็มีปัญหา

“เกณฑ์ที่ออกมานี้เป็นที่ชื่นชอบของแวดวงอุตสาหกรรมนี้อย่างมากมายยิ่งกว่าที่ตัวผมและตลาดได้เคยคาดหมายกันเอาไว้ การเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องนิยามของสินทรัพย์ และโดยเฉพาะเรื่องวิธีการคำนวณการเคลื่อนย้ายของสภาพคล่อง ก็ดูเป็นวิธีที่นุ่มนวลมากขึ้นเป็นอย่างมาก” แดเนียล เดวีส์ นักวิเคราะห์หุ้นภาคการธนาคารให้กับเอ็กซาเน บีเอ็นพี แสดงทัศนะในทางบวก

ด้าน เมอร์วิน คิง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ ในฐานะประธานกลุ่มตรวจสอบของคณะกรรมการกำกับตรวจสอบภาคการธนาคารแห่งบาเซิล พูดถึงการตกลงที่ออกมาในคราวนี้ว่า แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าพวกแบงก์ต่างๆ จะดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเอาไว้อย่างเพียงพอ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้บรรดาธนาคารกลางทั้งหลายต้องแสดงบทบาทเป็น ผู้ปล่อยกู้ช่วยแบงก์เหล่านี้กันตั้งแต่ทีแรกๆ

เมื่อตอนที่คณะกรรมการกำกับตรวจสอบภาคการธนาคารแห่งบาเซิล ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากศูนย์การเงินต่างๆ 27 ศูนย์ ตกลงกันในปี 2010 ให้จัดทำหลักเกณฑ์เรื่องการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องขึ้นมานั้น ในร่างแรกระบุว่าเฉพาะพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้ภาคเอกชนที่มีเครดิตเรตติ้งระดับดีเยี่ยมเท่านั้น จึงจะนำมานับเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องของแต่ละแบงก์ได้ แต่พวกแบงก์และสถาบันการเงินทั้งหลายได้ทำการล็อบบี้อย่างหนักหน่วงเพื่อให้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์นี้ลงมา โดยยกเหตุผลโต้แย้งว่า การคำนวณตามร่างแรก มีแต่จะทำให้พวกธนาคารผูกติดอยู่กับตราสารหนี้ภาครัฐมากเกินไป และกลายเป็นการจำกัดความสามารถของแบงก์เหล่านี้ในการปล่อยสินเชื่อให้แก่เศรษฐกิจวงกว้างอีกด้วย

ในที่สุดแล้ว เหล่าผู้กำกับตรวจสอบภาคการธนาคารทั้งหลายก็ยินยอมให้นำเอาพวกหุ้นบางชนิด และตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีเครดิตเรตติ้งตั้งแต่สูงสุดจนถึงระดับ BBB- ตลอดจนหลักทรัพย์ที่หนุนหลังด้วยสินเชื่อที่อยู่อาศัยชนิดที่ได้เรตติ้งระดับดีเยี่ยม มาใช้เป็นสินทรัพย์สภาพคล่องด้วย ในอัตรารวมกันแล้วไม่เกิน 15% โดยที่ในเวลาคำนวณ สินทรัพย์เหล่านี้แต่ละชนิดยังจะถูกหักลดมูลค่าลงไป ซึ่งบางชนิดอาจถูกหักลดถึง 50% ทีเดียว

สเตฟาน อิงเวส ผู้ว่าการธนาคารชาติสวีเดน ในฐานะประธานของคณะกรรมการกำกับตรวจสอบภาคการธนาคารแห่งบาเซิล แถลงว่า การเปลี่ยนแปลงคราวนี้ จะส่งผลทำให้อัตราส่วน LCR เฉลี่ยของพวกแบงก์ขนาดใหญ่ที่สุด 200 แห่งของโลก เพิ่มสูงขึ้นจาก 105% เป็น 125% แต่เขาชี้ด้วยว่า ไม่ใช่ว่าธนาคารทุกแห่งมีอัตราส่วน LCR ตามค่าเฉลี่ยนี้แล้ว โดยที่ยังมีบางแห่งซึ่งดำรง LCR ได้ต่ำกว่าระดับที่กำหนด ด้วยเหตุนี้เอง คณะกรรมการจึงให้เวลาอีก 4 ปี โดยที่ในปีเริ่มต้นคือปี 2015 กำหนดให้แบงก์ต่างๆ ต้องดำรง LCR ในระดับ 60% จากนั้นจึงทยอยเพิ่มปีละ 10% จนบังคับใช้เต็มที่ 100% ในปี 2019

หลังจากเสร็จเรื่องเกณฑ์เกี่ยวกับสินทรัพย์สภาพคล่องนี้แล้ว คณะกรรมการกำกับตรวจสอบภาคการธนาคารแห่งบาเซิล มีกำหนดที่จะจัดทำส่วนที่ 3 ของ บาเซิล 3 ซึ่งได้แก่ อัตราส่วนของเงินทุนเสถียรภาพสุทธิ (net stable funding ratio) ซึ่งจะเป็นเกณฑ์ซึ่งมุ่งจำกัดเรื่องที่แบงก์ไปพึ่งพาเงินทุนระยะสั้นที่ไร้เสถียรภาพ
กำลังโหลดความคิดเห็น