xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาค้าข้าวจีทูจี สาเหตุที่ 67 ส.ว.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ โดยช่องทางมาตรา 190 วรรคหก !

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ทำไมสมาชิกวุฒิสภา 67 คนต้องยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภาให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสัญญาขายข้าวจำนวน 7 – 8 ล้านตันที่รัฐบาลไทยอ้างว่าทำกับรัฐบาลต่างประเทศ 3 – 4 ประเทศนั้นเข้าข่ายหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนหรือไม่ ?

นี่เป็นหนึ่งในแผนปฏิบัติการเพื่อล้มรัฐบาลหรือไม่ ?

นี่เป็นหนึ่งในยุทธการตุลาการภิวัตน์รอบใหม่เพื่อเปลี่ยนขั้วรัฐบาลอีกครั้งหรือไม่ ?

ตอบได้สั้น ๆ ง่าย ๆ ว่าก็เพราะไม่มีใครรู้ว่าหนังสือสัญญาดังกล่าวมีเนื้อหาสาระอย่างไร !

กระทั่งไม่รู้ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ !!


หนึ่งในหน้าที่ของวุฒิสภาก็คือตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล โครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดที่บรรจุอยู่ในนโยบายของรัฐบาลข้อ 1.11 มีปัญหามากมหาศาลในหลากหลายขั้นตอน อย่าว่าแต่คนนอกจะคัดค้านเลย แม้แต่คนในคนสำคัญอย่างดร.วีรพงษ์ รามางกูรก็ยังคัดค้านอย่างหนักมามากกว่า 1 ปีแล้ว หนึ่งในขั้นตอนที่มีปัญหามากที่สุดและถ้าหากมีการทุจริตคิดมิชอบไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็จะเป็นเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่สุด ไม่เพียงแต่เท่านั้นยังจะเป็นการทำลายระบบการค้าข้าวทั้งระบบอีกต่างหาก ก็คือขั้นตอนการขายข้าวส่งออกไปต่างประเทศ เพราะสิ่งที่รัฐบาลทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำให้ข้อมูลต่อสาธารณะนั้นมีลักษณะชวนสงสัยว่าจะไม่จริง เพราะขัดแย้งกับข้อมูลที่พ่อค้าข้าวส่งออกรับรู้

กรรมาธิการสามัญของวุฒิสภาไม่ต่ำกว่า 3 คณะ ทั้งคณะเศรษฐกิจ คณะเกษตร และคณะการเงิน รวมทั้งคณะตรวจสอบทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล ศึกษาตรวจสอบประเด็นนี้มาแรมเดือน ประสบอุปสรรคใหญ่เหมือน ๆ กันคือไม่สามารถหาหลักฐานหนังสือสัญญาขายข้าวดังกล่าวมาศึกษาได้ เพราะรัฐบาลและกระทรงพาณิชย์อ้างว่าเป็นความลับ เปิดเผยไม่ได้ ถ้าเปิดเผยแล้วรัฐบาลประเทศผู้ซื้อจะเดือดร้อน

ก็เลยไม่มีทางรับรู้ว่ารัฐบาลใดในโลกที่ซื้อข้าวจากประเทศไทยในลักษณะใหม่ที่เรียกว่าขายหน้าคลัง หรือขายหน้าโกดัง

ก็เลยไม่มีทางรู้ว่าจากหน้าคลัง หรือหน้าโกดัง ไปจนถึงกราบเรือสินค้า ที่จะต้องผ่านกระบวนการที่เรียกกันว่าเปาเกา คือแยกประเภทข้าว ปรับปรุงคุณภาพข้าว บรรจุกระสอบสำหรับการส่งออก และ ฯลฯ รัฐบาลโม่งใจดีของประเทศที่อ้างว่ามีเหล่านั้นจ้างเอกชนรายใดของประเทศไทยทำให้ ด้วยค่าใช้จ่ายเท่าไร

ก็เลยไม่มีทางรู้ว่าทั้งใต้โต๊ะและบนโต๊ะของกระบวนการเปาเกาจะมีส่วนต่างของเงินเกิดขึ้นเท่าไร

ก็เลยไม่มีทางรู้ว่ามีเงินทอนเกิดขึ้นเท่าไร

ก็เลยไม่มีทางรู้ว่านักการเมืองผู้กำหนดนวัตกรรมนโยบายอันสุดแสนจะชาญฉลาดนี้มีส่วนได้รับเงินทอนในอัตราตันละ 20 ดอลลาร์สหรัฐจริงหรือไม่

ก็เลยต้องอาศัยช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 !

มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งมีทั้งสิ้น 6 วรรค มีความก้าวหน้าอย่างยิ่ง

ขอสรุปสั้น ๆ ว่ามีหนังสือสัญญา 2 ประเภทที่ต้องดำเนินการตามมาตรานี้

ประเภทหนึ่ง - หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตารมหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา

ประเภทสอง – หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศ อย่างมีนัยสำคัญ

หลักการใหญ่คือหนังสือสัญญาทั้ง 2 ประเภท ซึ่งบรรจุอยู่ในมาตรา 190 วรรคสองจะต้องได้รับความเห็นชอบต่อรัฐสภา

นอกจากนั้นมาตรา 190 ยังกำหนดรายละเอียดไว้ด้วยทุกขั้นตอนที่หนังสือสัญญาทั้ง 2 ประเภทจะต้องเดินตามไปอย่างเคร่งครัดทั้งก่อนและหลังลงนาม และมีกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาของรัฐสภาไว้ด้วย

สัญญาค้าข้าวจีทูจีอาจจะเข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาประเภทสอง

แค่อาจจะเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าเข้าแน่ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรล่ะในเมื่อไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาหนังสือสัญญา ไม่มีการเปิดเผยกรอบการเจรจา

ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยดีไหม ?

เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรคหกกำหนดไว้ชัดเจนครับว่าในกรณีที่มีปัญหาว่าหนังสือสัญญาใดเป็นหนังสือสัญญาทั้ง 2 ประเภทที่ต้องดำเนินกระบวนการตามมาตรา 190 ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาด โดยกำหนดให้ส.ส.หรือส.ว.หรือทั้งส.ส.และส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของแต่ละสภาหรือทั้ง 2 สภาแล้วแต่กรณี เสนอความเห็นต่อประธานของแต่ละสภาหรือประธานรัฐสภาแล้วแต่กรณีเพื่อให้ประธานของแต่ละสภาหรือประธานรัฐสภาแล้วแต่กรณีส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

ส.ว. 67 คนทำไปตามหน้าที่ครับ

หน้าที่ในการกำกับตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ สัปดาห์นี้น่าจะพอรู้ ไปเปรียบเทียบกับกรณีอาจารย์นิด้าไม่ได้ เพราะนั่นเสมือนให้ศาลรัฐธรรมนูญไปยกเลิกนโยบายรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการก้าวก่ายอำนาจ แต่กรณีนี้แตกต่างกันเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง และไม่ใช่ขอให้ยกเลิกนโยบายอะไรทั้งสิ้น

และโอกาสที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เหตุผลก็อย่างที่หลายท่านที่ไม่เห็นด้วยยกมาอ้างนั่นแหละ ถ้าสัญญาค้าขายตามปรกติต้องทำตามกระบวนการมาตรา 190 หมดประเทศนี้ก็ไม่ต้องทำมาค้าขายกันแล้ว เพราะไม่ทันการณ์ ไม่ทันกิน และสัญญาค้าขายรัฐต่อรัฐอื่น ๆ ก็ไม่เห็นจะต้องเข้ามาตรา 190 เลย

ก็จริงส่วนหนึ่ง – ถ้ามันเป็นสัญญาค้าขายตามปรกติ !

ถ้ารัฐบาลเห็นว่าสัญญาค้าข้าวจีทูจีไม่ใช่หนังสือสัญญาตามมาตรา 190 แต่เป็นสัญญาค้าขายตามปรกติ ก็ไม่ต้องตีโพยตีพาย ถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย ท่านก็ส่งสัญญาที่ว่าปรกติให้ศาลรัฐธรรมนูญท่านพิจารณาก็สิ้นเรื่อง พวกเรายอมรับผลการวินิจฉัยทุกประการ เพราะอย่างน้อยเราก็จะได้รู้ความจริง 2 ประการ

หนึ่ง – มีสัญญาอยู่จริง !

สอง – เป็นสัญญาค้าขายตามปรกติ !!


เสียเวลานิดหน่อย ยุ่งยากสักเล็กน้อย แต่เพื่อความโปร่งใส ผมว่าเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

ยกเว้นความจริงไม่เป็นไปตาม 2 ประการ

หนึ่ง – ไม่มีสัญญาอยู่จริง !

สอง – ไม่เป็นสัญญาค้าขายตามปรกติ แต่เป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์อื่นที่รัฐบาลประเทศผู้ซื้อข้าวจะได้จากประเทศไทยในอนาคต !!


ถ้าอย่างนั้นก็โทษใครไม่ได้ ต้องโทษตัวเอง

เพราะแต่เดิมมาตรา 190 วรรคห้าได้กำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วย “การกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญา รวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญา” สำหรับหนังสือสัญญาประเภทสองเอาไว้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้ในช่วงปี 2553 ต่อ 2554 ได้แก้ไขวรรคห้านี้โดยเพิ่มเติมคำว่า “ประเภทของสัญญา” เข้าไป เพราะเกิดความไม่ชัดเจนว่าหนังสือสัญญาประเภทไหนจึงจะเข้าข่ายหนังสือสัญญาประเภทสอง แต่จนแล้วจนรอดรัฐบาลก็ยังไม่เสนอร่างกฎหมายตามมาตรา 190 วรรคห้าใหม่เข้าสู่การพิจารณาของสภา

ถ้ามีกฎหมายกำหนดประเภทของสัญญา แล้วระบุไว้ว่าสัญญาค้าขายจีทูจีไม่เข้าข่ายหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ก็จบแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น