เอเอฟพี - การต่อสู้แย่งชิงอำนาจภายในหมู่ผู้ปกครองของพม่า ซึ่งเคยลึกลับดำมืดมานานภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร กลับปรากฏต่อสายตาสาธารณชนมากขึ้น อันเป็นผลจากคลื่นการปฏิรูปทางการเมืองหลายระลอกในช่วงปีที่ผ่านมา ระบอบเผด็จการทหาร ซึ่งดูเหมือนอำนาจรวมศูนย์อยู่ที่คนคนเดียว กำลังกลายเป็นอดีตไปแล้ว เช่นเดียวกับยุคสมัยซึ่งการต่อสู้ภายในจะได้รับการเปิดเผย ก็ต่อเมื่อมีผู้นำใหม่แจ้งเกิดขึ้นมาแล้ว หรือมีการจับกุมนายพลที่หมดอำนาจวาสนาแล้วเท่านั้น
ทว่า นับตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว เมื่อรัฐธรรมนูญใหม่มีผลบังคับใช้ อำนาจก็อยู่ในมือของพวกอดีตนายพลที่ผลักดันการปฏิรูป ซึ่งรวมกันก่อตั้งระบอบกึ่งพลเรือนเข้ามาแทนที่ระบอบการปกครองโดยทหาร รัฐสภาที่ประกอบด้วย สภาล่าง และสภาสูง กลายเป็นเวทีที่เปิดทางให้พวกนักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งได้ทดสอบอำนาจใหม่ๆ ของพวกตนในการกำกับตรวจสอบฝ่ายบริหาร
นอกจากนั้น รัฐสภายังกลายเป็นเวทีสำหรับการเผชิญหน้าที่ถูกจับตามองใกล้ชิด ระหว่างประธานาธิบดีเต็ง เส่ง กับประธานสภาล่าง ฉ่วย มาน ผู้ที่ได้รับการคาดการณ์อย่างกว้างขวางว่าจะกลายเป็นตัวเก็งผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้นำประเทศหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2015 ทั้งคู่ต่างเป็นบุคคลระดับอาวุโสในระบอบเผด็จการทหารก่อนหน้านี้ และตามความเห็นของนักการทูตต่างชาติคนหนึ่งนั้น ทั้งคู่ต่างก็ยึดติดกับขนบประเพณีของคณะผู้นำทหารในเรื่องลำดับชั้นความอาวุโส ถึงแม้ในขณะนี้ คนคู่นี้กำลังแข่งขันกันว่าใครกันแน่เป็นผู้ที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด
ผู้สังเกตการณ์หลายรายเห็นพ้องต้องกันว่า ความสัมพันธ์ของสองคนนี้ปีนเกลียวกันมาตั้งแต่ก่อนที่ระบอบเผด็จการทหารจะสิ้นสุดลงเสียอีก ขณะที่แหล่งข่าวหลายรายในแวดวงการเมืองแย้มว่า ทั้งคู่ต่างประหลาดใจเมื่อเต็ง เส่งได้รับเลือกเป็นว่าที่ประธานาธิบดีเมื่อต้นปี 2011 ขณะที่ฉ่วย มาน ที่มีอาวุโสสูงกว่าในระบอบเดิม ได้ตำแหน่งที่มีบทบาทน้อยกว่า เวลานี้ทั้งคู่ยังคงขับเคี่ยวกันด้วยอาวุธใหม่ๆ ที่พวกเขาสามารถหยิบฉวยออกมาใช้ได้ เช่น จากที่เคยหลบเลี่ยงสื่อ ตอนนี้ทั้งสองคนทั้งให้สัมภาษณ์ และจัดแถลงข่าว และเมื่อฝ่ายใดขัดขวางข้อเสนอของอีกฝ่าย การแก้แค้นจะตามมา
วันพฤหัสบดี (6) ที่ผ่านมา สภาล่างลงมติให้ดำเนินการไต่สวนเพื่อถอดถอนผู้พิพากษา 9 คนของศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากที่มีการถกเถียงกันอยู่นานถึง 6 เดือน ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ผู้พิพากษาเหล่านี้ได้สร้างความโกรธแค้นให้แก่พวก ส.ส. ด้วยการวินิจฉัยตัดสินว่า คณะกรรมาธิการและคณะกรรมการของรัฐสภา ไม่มีอำนาจที่จะออกหมายเรียกตัวรัฐมนตรีมาให้ปากคำได้ ความขัดแย้งนี้ถือเป็นวิกฤตการเมืองใหญ่ครั้งแรกของพม่านับจากระบอบเผด็จการสิ้นสุดลงเมื่อปีที่แล้ว และเสี้ยมให้รัฐบาลเปิดศึกกับสภา โดยเฉพาะเต็ง เส่ง กับฉ่วย มาน “นั่นเป็นการต่อสู้ส่วนตัวระหว่าง เต็ง เส่ง กับฉ่วย มาน ชัดๆ" ซอ เต็ด เว่ อดีตนักข่าวผู้เพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในเดือนมกราคมกล่าวฟันธง
ขณะที่นักวิเคราะห์ต่างชาติที่ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อสำทับว่า ฉ่วย มานเสี่ยงมากที่กล้าชนกับศาล เพราะจะสร้างความไม่พอใจให้คนจำนวนมาก ไม่เฉพาะผู้นำสายอนุรักษ์ในรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเต็ง เส่ง และเหล่าผู้พิพากษาด้วย ในอีกด้านหนึ่ง ผู้สังเกตการณ์บางคนกลัวว่า กองทัพที่ยังคงวางตัวไม่เข้ายุ่งเกี่ยวโดยตรงกับการเมืองประจำวันของระบอบใหม่ อาจหมดความอดทนหากรู้สึกว่า กำลังถูกคุกคามอย่างรุนแรงจากฝ่ายบริหาร ขณะที่บางคนเตือนว่า ความขัดแย้งระหว่าง เต็ง เส่ง กับ ฉ่วย มาน อาจบ่อนทำลายกระบวนการปฏิรูป เช่น การปฏิรูปเศรษฐกิจที่มีความคืบหน้าน้อยมาก ขณะที่รัฐบาลกำลังพยายามแก้ไขปัญหาหนักหน่วงจากการบริหารเศรษฐกิจผิดพลาดของระบอบทหารนานถึงครึ่งศตวรรษ
อย่างไรก็ดี พวกผู้สนับสนุนการปฏิรูปที่กระตือรือร้นที่สุดมองว่า การต่อสู้ระดับส่วนตัว เป็นปัญหาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ในขณะที่ประเทศกำลังปฏิรูปสู่ระบอบประชาธิปไตย อ่อง ตุน เต็ด ปัญญาชนที่ชาวพม่าให้ความเคารพ เห็นว่า ไม่มีเหตุผลต้องกังวลกับวิกฤตศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่หมดสำหรับพม่า พร้อมแนะนำว่า สถาบันที่เพิ่งอยู่ในช่วงตั้งไข่ต้องทำความเข้าใจอำนาจของตนในกรอบการเมืองใหม่ อย่างไรก็ดี อ่องยอมรับว่า อดีตนายพลสายปฏิรูปที่ค่อยๆ โน้มน้าวให้ตะวันตก และฝ่ายตรงข้ามในประเทศเชื่อในความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงนั้น มีช่องทางน้อยมากสำหรับความผิดพลาด รวมทั้งมีเวลาจำกัดในการผลักดันการเปลี่ยนแปลง อดีตนายพลเหล่านั้นต้องทำให้เศรษฐกิจเกิดการเติบโต ยกระดับชีวิตของประชาชน และสร้างสันติภาพยืนยาวระหว่างชนกลุ่มน้อยเผ่าพันธุ์ต่างๆ หาไม่ก็ต้องเสี่ยงต่อการสูญเสียความน่าเชื่อถือ “คำถามคือ เราจะได้รับผลลัพธ์อย่างรวดเร็วได้อย่างไรโดยที่ไม่หลงทางไปจากเป้าหมายสูงสุด นี่เป็นความขัดแย้งในตัวเอง เป็นความท้าทาย และเป็นบททดสอบสำหรับคณะผู้นำในปัจจุบัน”