xs
xsm
sm
md
lg

เหล่าผู้ว่าธนาคารกลางจากทั่วโลกนัดถกปฏิรูปดอกเบี้ย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ว่าธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับตรวจสอบภาคเงินการธนาคารของบรรดาประเทศชั้นนำ เตรียมประชุมหารือกันในเดือนกันยายนนี้ เพื่อวินิจฉัยว่าควรที่จะปรับโครงสร้างของ “ไลบอร์” (Libor ย่อมาจาก London Interbank Offered Rate ) อันเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงซึ่งทรงความสำคัญยิ่งของโลก หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเกินเยียวยาเสียแล้ว ขณะเดียวกันมีรายงานว่ามีอีก 4 แบงก์ยักษ์ เป็นต้นว่า เอชเอสบีซี และดอยช์ แบงก์ ก็กำลังถูกสอบฐานพัวพันกับการปั่นอัตราดอกเบี้ยตัวนี้

เมอร์วิน คิง ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) กล่าวในจดหมายที่ส่งถึงผู้ว่าการแบงก์ชาติอื่นๆ ว่ามีความชัดเจนมากในอันที่จะต้องปฏิรูประบบไลบอร์

คิงบรรจุประเด็นไลบอร์เอาไว้ในวาระการประชุมคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาเศรษฐกิจของผู้ว่าการธนาคารทั่วโลก ซุ้วจะหารือกันที่เมืองบาเซิล, สวิตเซอร์แลนด์ ในวันที่ 9 กันยายนที่จะถึงนี้ รวมถึงในการประชุมคณะกรรมการกำหนดวาระการประชุม ของคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability Board) ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์ถัดไป ซึ่งจะมีมาร์ก คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางแคนาดาเป็นประธาน และประกอบด้วยบรรดาผู้อำนวยการของหน่วยงานกำกับตรวจสอบภาคการเงินการธนาคารจากทั่วโลก

วันพุธที่ผ่านมา (18) คาร์นีย์กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวว่า หากไลบอร์มีข้อบกพร่องเชิงโครงสร้างกระทั่งไม่สามารถแก้ไขได้ ก็จำเป็นต้องพิจารณาทางเลือกอื่นๆ เพื่อให้ได้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นอยู่กับภาวะของตลาดอย่างแท้จริงมากขึ้น

ไลบอร์นั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยสัญญาตราสารอนุพันธ์มูลค่าถึง 550 ล้านล้านดอลลาร์ และมีอิทธิพลอย่างกว้างขวางต่อผลิตภัณฑ์การเงินตั้งแต่สินเชื่อที่อยู่อาศัยไปจนถึงบัตรเครดิต จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ตลาดจะต้องสามารถไว้ใจอัตราดอกเบี้ยนี้ได้

คาร์นีย์พาดพิงถึงความเป็นไปได้ในการใช้อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (Repo rates) และอัตราดอกเบี้ยสวอปดัชนีข้ามคืน (Overnight Index Swap rates) ซึ่งเป็นแนวคิดที่เบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวถึงในวันเดียวกัน

เบอร์นันกียังระบุถึงอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรคลัง แต่สำทับว่า เฟดยังไม่ได้ปักใจทางเลือกใดโดยเฉพาะ
กำลังโหลดความคิดเห็น