xs
xsm
sm
md
lg

เตือน “โต้ง” หยุดข่ม ธปท.“กรณ์-มาร์ค” ชี้ ทำลายความเชื่อมั่นทาง ศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“กรณ์-มาร์ค” เตือน “กิตติรัตน์” ตั้งสติให้ดี หยุดแสดงความฉุนเฉียว ใช้อารมณ์เลิกข่มแบงก์ชาติ เพราะกระทบต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้เศรษฐกิจโดยรวม แนะให้กลับไปดูบทเรียนวิกฤตปี 40 เพราะผู้มีอำนาจสั่งฝืนกลไกตลาด เป็นผลให้ประเทศเจ๊ง ชี้ควรเร่งช่วยเหลือปากท้องประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจะดีกว่า

กรณี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่ามีนโยบายทำให้ค่าเงินบาทอ่อนพร้อมสั่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับนโยบายและหยุดพูดนั้น เมื่อวานนี้ (28 มี.ค.) นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาเรียกร้องให้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ตั้งสติก่อนใช้อารมณ์ตอบโต้ตนเองเกี่ยวกับการส่งสัญญาณให้กำหนดนโยบายค่าเงินบาทอ่อนที่ระดับ 32-34 บาทต่อดอลลาร์ เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อระบบเศรษฐกิจไทย

นายกิตติรัตน์ ต้องถามตัวเองว่า มีเหตุผลใดที่ต้องดำเนินนโยบายเช่นนี้ เพราะหลังจากที่พูดเรื่องดังกล่าวต่อสาธารณะ โดยมีอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อย่างน้อย 3 คนที่ออกมาทักท้วง และเตือนให้รัฐบาลระมัดระวังในเรื่องของการแสดงท่าที และจุดยืนต่ออัตราแลกเปลี่ยน ทั้ง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ต่างก็แสดงความกังวลกับเรื่องนี้ และท้วงติงด้วยความหวังดีต่อประเทศชาติ

“การที่ นายกิตติรัตน์ จะแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวต่อเนื่องฟาดหัวฟาดหางไปถึงผู้ว่าการแบงก์ชาติซึ่งมีหน้าที่รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจนั้น ไม่ได้เป็นผลดีต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้เศรษฐกิจโดยรวม ผมคิดว่าแบงก์ชาติชี้แจงชัดเจนว่าระบบของเราเปิดเสรีในเรื่องของเงินทุนและใช้นโยบายดูแลอัตราดอกเบี้ย ไม่ได้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนมาเป็นเครื่องมือในการบริหารเศรษฐกิจ เพราะมีบทเรียนตั้งแต่ปี 2540 ว่า การฝืนความจริงให้ค่าเงินบาทอยู่ในอัตราเท่านั้นเท่านี้นั้นจะทำให้เกิดการเก็งกำไรในตลาดค้าเงินมากยิ่งขึ้น” นายกรณ์ กล่าวและว่า หากย้อนไปในปี 2540 ที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเพราะรัฐบาลในขณะนั้นพยายามที่จะควบคุมทุกอย่างทั้งการเคลื่อนไหวของทุน อัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนจนเกิดความเสียหายอย่างมหาศาลในทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าแนวทางเช่นนี้ส่งผลเสียหายต่อชาติ ดังนั้นนายกิตติรัตน์ ก็ควรจะได้เรียนรู้จากบทเรียนดังกล่าวด้วย

ตนเองยังไม่เห็นด้วยที่นายกิตติรัตน์ อ้างตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีดูแลเศรษฐกิจมาข่มแบงก์ชาติว่าเป็นผู้กำหนดนโยบายได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีอำนาจสั่งผู้ว่าการแบงก์ชาติได้ จึงอยากให้ตั้งสติให้ดีอย่ามองทุกคนเป็นศัตรู และเร่งรัดช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพสูง รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย อย่าเอาเวลาของตัวเองมาทะเลาะกับคนที่กำลังทำหน้าที่อยู่

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ว่า คนที่ไม่ควรพูดอะไรเลย คือ นายกิตติรัตน์ ไม่ใช่คนอื่น เพราะหากต้องการพูดอะไร ควรพูดภายใน หรือไม่ก็ควรหารือกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะจะต้องประเมินผลดีผลเสีย แต่ไม่ใช่ออกมาพูดในลักษณะดังกล่าว เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่อการเก็งกำไรในตลาด

“ถ้าหากมีคนเชื่อ นายกิตติรัตน์ จะส่งผลให้ตลาดเกิดความปั่นป่วน แล้วใครจะรับผิดชอบ และดีไม่ดีจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในภาพรวมของเศรษฐกิจ เพราะอาจจะเปิดโอกาสเก็งกำไร แสวงหาผลประโยชน์ เพราะที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย จะต้องดูแลกลไกทางท้องตลาดอยู่แล้ว หากพูดในลักษณะนี้ก็เท่ากับว่าธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังฝืนกลไกทางการตลาด” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า การกำหนดค่าเงินบาทว่าควรจะอยู่ที่ราคา 32-34 บาท นั้น เหมือนถอยประเทศไทยกลับไปสถานการณ์ในปี 2540 หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นความพยายามที่จะหาคำตอบให้กับธุรกิจส่งออก ที่คิดว่าเป็นเรื่องง่ายที่จะทำ แต่ในภาวะเดียวกันที่รัฐบาลกำลังโวยวายเรื่องราคาน้ำมันโลก หากปล่อยให้ค่าเงินอ่อนโดยจงใจ 3-4 บาท จะต้องคำนวณ ว่า ค่าน้ำมันจะแพงขึ้นลิตรละเท่าใด ดังนั้น การพูดของนายกิตติรัตน์ ไม่เกิดผลดี คือ 1.ทำให้ตลาดผันผวน 2.เป็นสิ่งที่ก้าวล่วงการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย 3.ไม่ส่งเสริมความเชื่อมั่น ทั้งในแง่ของการบริหารจัดการและนโยบายทางเศรษฐกิจ

“ที่ผ่านมา มีการสร้างความเป็นอิสระ เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤต อย่างเช่น วิกฤตต้มยำกุ้งที่เคยเกิดขึ้น ได้รับความเดือดร้อนกันทั้งประเทศ ไม่เข้าใจแนวคิดนายกิตติรัตน์ อ้างอิงจากเหตุผลอะไร ทุกคนมีความเห็นได้ แต่การพูดจาไม่ถูกต้อง แม้จะเป็นวิธีที่ถูกต้อง ก็ไม่ควรที่จะต้องมาพูดด้วยวิธีแบบนี้ เพราะไม่ควรพูดจากในทำนองข่มขู่ ที่สร้างความไม่เชื่อมั่นในสายตาต่างประเทศ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น