เอเจนซี - แม้เหลือเวลาอีกไม่ถึงสัปดาห์ แต่ยังไม่มีวี่แววว่า อเมริกาจะปลงใจส่งใครเข้าชิงตำแหน่งประธานธนาคารโลก เท่ากับว่าประเทศอื่นๆ ยังมีสิทธิ์ลุ้น
สหรัฐฯ นั้นผูกขาดตำแหน่งประธานเวิลด์แบงก์มานับจากก่อตั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ยุโรปยึดเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มาตลอดเช่นเดียวกัน
แต่จนถึงขณะนี้ วอชิงตันยังไม่ได้ระบุตัวแคนดิเดทแม้แต่คนเดียว และผู้สังเกตการณ์บางคนคิดว่า ความล่าช้านี้อาจเป็นสัญญาณว่า ทำเนียบขาวมีปัญหาในการโน้มน้าวเจ้าหน้าที่ระดับสูงให้สืบทอดตำแหน่งจากโรเบิร์ต เซลลิก ที่จะหมดวาระปลายเดือนมิถุนายนนี้ โดยทั้งทำเนียบขาวและกระทรวงคลังสหรัฐฯ ต่างปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
แหล่งข่าววงในเผยว่า ทำเนียบขาวหวังโน้มน้าวผู้สมัครหญิง เนื่องจากจะช่วยลดทอนกระแสเรียกร้องของประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงกันบ้าง และธนาคารโลกนั้นไม่เคยมีประธานหญิงมาก่อน
แหล่งข่าว 2 คนแย้มว่า ซูซาน ไรซ์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ เป็นตัวเก็งอันดับต้นๆ อย่างไรก็ดี ไม่แน่ชัดว่าเจ้าตัวอยากได้ตำแหน่งนี้หรือไม่ ชื่อของไรซ์มักถูกอ้างอิงว่าอาจเป็นแคนดิเดทสืบทอดตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศจากฮิลลารี คลินตัน
สัปดาห์ที่แล้วเมื่อถูกถามว่า จะช่วยซูดานใต้อย่างไรหากได้เป็นนายใหญ่เวิลด์แบงก์ ไรซ์ก็ตอบว่า “เป็นสมมติฐานที่น่าขัน”
วุฒิสมาชิกจอห์น เคร์รี และอินทรา นูยี ซีอีโอหญิงของเป๊ปซี่โคซึ่งเกิดในอินเดีย อยู่ในโผของประธานาธิบดีบารัค โอบามา เช่นเดียวกัน ทว่า เคร์รีบอกปัดไปแล้ว ขณะที่แหล่งข่าวอีกคนแย้มว่า นูยีไม่ได้อยู่ในการแข่งขันอีกต่อไป
อีกคนในโผคือ ลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส อดีตที่ปรึกษาของโอบามาและอดีตรัฐมนตรีคลัง ซัมเมอร์สปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น แต่บอกเพียงว่า จะปล่อยให้กระบวนการสรรหาเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ
ความล่าช้าในการเสนอชื่อของแดนอินทรีอาจเปิดช่องให้แคนดิเดทม้ามืดจากอเมริกา รวมทั้งทำให้ประเทศอื่นๆ มีเวลามากขึ้นในการพิจารณาเสนอชื่อผู้สมัคร
วิทนีย์ เดเบวัวส์ อดีตสมาชิกบอร์ดเวิลด์แบงก์ที่เป็นตัวแทนของสหรัฐฯ กล่าวว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทำเนียบขาวต้องลงแรงมากกว่าจำเป็น เนื่องจากสูญเสียโอกาสในการเสนอชื่อแต่เนิ่นๆ ทั้งนี้ถ้าสหรัฐฯเสนอชื่อออกไป ก็จะทำให้ไม่มีประเทศใดส่งผู้สมัครลงแข่ง เพราะรู้ว่าไม่มีทางสู้ได้
ประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนานั้น พยายามผลักดันเพื่อเพิ่มบทบาทของตนเองในธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ และดักคอว่า ผู้สืบทอดของเซลลิกจะต้องพิจารณาจากความสามารถ
ทั้งชาติตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนา กำลังหารือกันเพื่อเสนอชื่อแคนดิเดทที่ไม่ใช่คนอเมริกัน กระนั้น ปัญหาสำหรับพวกเขาคือ การหาแคนดิเดทที่ยังคงพร้อมเข้าร่วมการแข่งขันที่เชื่อกันว่า มีการตัดสินผลไว้ก่อนแล้ว
ทั้งนี้ 2 ชื่อที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาคือ เอ็นโกซี โอโคอนโจ-ไอวีลา อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารโลกและปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีคลังไนจีเนีย กับเทรเวอร์ มานูเอล รัฐมนตรีวางแผนแห่งชาติของแอฟริกาใต้ ขณะที่ศรี มัลยานี อินทราวาติ อดีตขุนคลังอิเหนาและกรรมการผู้จัดการธนาคารโลกในปัจจุบัน รวมทั้งอากัสติน คาร์สเตนส์ ผู้ว่าการแบงก์ชาติเม็กซิโก ขอถอนตัวไปแล้ว
แหล่งข่าวในคณะกรรมการบริหารของเวิลด์แบงก์เผยว่า อาจมีข้อตกลงเกิดขึ้นโดยที่ประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ได้รับการรับรองว่า จะได้ตำแหน่งสูงสุดในบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี) สถาบันสินเชื่อภาคเอกชนของธนาคารโลก ซึ่งที่ผ่านมาเป็นของยุโรปเป็นส่วนใหญ่ โดยประธานบริหารคนปัจจุบันคือ ลาร์ส ทูเนลล์ จากสวีเดน จะสิ้นสุดวาระในเดือนมิถุนายนนี้
อนึ่ง บอร์ดธนาคารโลกที่มีสมาชิก 24 คน ซึ่งเป็นตัวแทนของสมาชิก 187 ชาติ กำหนดเส้นตายในการเสนอชื่อผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานธนาคารโลกไว้ในวันศุกร์นี้ (23) โดยจะพิจารณาเลือกภายใน 1 เดือน
จนถึงขณะนี้ เจฟฟรีย์ แซคส์ นักเศรษฐศาสตร์อเมริกัน ที่ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เป็นผู้สมัครอย่างเป็นทางการเพียงคนเดียว แซคส์ได้รับการเสนอชื่อโดยภูฏานและประเทศกำลังพัฒนากลุ่มหนึ่ง อาทิ ติมอร์ตะวันออก จอร์แดน เคนยา นามิเบีย และมาเลเซีย และล่าสุดยังได้รับการสนับสนุนจากชิลีและกัวเตมาลา
สัปดาห์ที่แล้ว สมาชิกรัฐสภาอเมริกัน 27 คน ส่งจดหมายเรียกร้องให้โอบามาเสนอชื่อแซคส์
การที่ถูกเสนอชื่อตั้งแต่ต้น ทำให้แซคส์มีเวลาล็อบบี้เพื่อขอการสนับสนุนจากประเทศกำลังพัฒนาที่เขามีผลงานที่ดีในจัดการปัญหาต่างๆ ทั้งการศึกษา สุขภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และการต่อสู้กับความยากจน และแซคส์เผยว่า เขาได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งจากชาติกำลังพัฒนาในทุกภูมิภาค รวมถึงยุโรป
เขาชี้ว่า ขณะที่อเมริกาจะยังเป็นผู้ตัดสินใจว่าใครจะได้กุมบังเหียนเวิลด์แบงก์ ดังนั้น แม้มีเสียงเรียกร้องมากขึ้นจากประเทศกำลังพัฒนาให้มีการเปลี่ยนแปลง แต่ทำเนียบขาวคงไม่ไฟเขียวให้ใครง่ายๆ
ด้านเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่า สหรัฐฯ จำเป็นต้องผูกขาดตำแหน่งประธานธนาคารโลก ไม่เช่นนั้นการสนับสนุนทางการเมืองและการเงินจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้บริจาครายใหญ่สุดอาจลดทอนลง เนื่องจากขณะนี้คองเกรสส์กำลังขะมักเขม้นตัดลดงบประมาณ