xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” เตือน “โต้ง” ตั้งสติ อย่ามองทุกคนเป็นศัตรู แนะดูบทเรียนต้มยำกุ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (แฟ้มภาพ)
อดีต รมว.คลัง แนะ “กิตติรัตน์” ตั้งสติก่อนพล่ามบาทอ่อน ชี้เรื่องละเอียดอ่อน ศก.ไทย ระบุฟาดงวงฟาดงาผู้ว่าฯ ธปท.ไม่เป็นผลดีต่อความเชื่อมั่น ยันฝืนค่าเงินส่อถูกเก็งกำไรสูง วอนดูบทเรียนวิกฤตต้มยำกุ้ง อย่ามองทุกคนเป็นศัตรู

วันนี้ (29 มี.ค.) ที่รัฐสภา นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า ตนขอเรียกร้องให้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ตั้งสติก่อนใช้อารมณ์ตอบโต้ตนเกี่ยวกับการส่งสัญญาณให้กำหนดนโยบายค่าเงินบาทอ่อนที่ระดับ 32-34 บาท ต่อดอลล่าร์ เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่ง นายกิตติรัตน์ ต้องถามตัวเองว่ามีเหตุผลใดที่ต้องดำเนินนโยบายเช่นนี้ เพราะหลังจากที่พูดเรื่องดังกล่าวต่อสาธารณะ มีอดีต รมว.คลัง อย่างน้อย 3 คนที่ออกมาทักท้วง และเตือนให้รัฐบาลระมัดระวังในเรื่องของการแสดงท่าทีและจุดยืนต่ออัตราแลกเปลี่ยน ทั้ง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ หม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล ต่างก็แสดงความกังวลกับเรื่องนี้และท้วงติงด้วยความหวังดีต่อประเทศชาติ

“การที่ นายกิตติรัตน์ จะแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวต่อเนื่องฟาดหัวฟาดหางไปถึงผู้ว่าการแบงก์ชาติซึ่งมีหน้าที่รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจนั้น ไม่ได้เป็นผลดีต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้เศรษฐกิจโดยรวม ผมคิดว่าแบงค์ชาติชี้แจงชัดเจนว่าระบบของเราเปิดเสรีในเรื่องของเงินทุน และใช้นโยบายดูแลอัตราดอกเบี้ย ไม่ได้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนมาเป็นเครื่องมือในการบริหารเศรษฐกิจ เพราะมีบทเรียนตั้งแต่ปี 2540 ว่า การฝืนความจริงให้ค่าเงินบาทอยู่ในอัตราเท่านั้นเท่านี้นั้นจะทำให้เกิดการเก็งกำไรในตลาดค้าเงินมากยิ่งขึ้น คือ พูดง่ายๆ ถ้านักลงทุนทราบว่ารัฐบาลมีนโยบายที่จะฝืนอัตราค่าเงินบาทในระดับที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ การเก็งกำไรจะมากขึ้น ไม่ได้เป็นไปตามที่นายกิตติรัตน์กังวลว่าการที่ค่าเงินบาทแข็งเกินไปจะทำให้เกิดการเก็งกำไร จึงอยากให้นายกิตติรัตน์ ตั้งสติให้ดีจะได้ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาให้ประเทศชาติ ผมมีหน้าที่เตือนเมื่อเห็นว่านายกิตติรัตน์ กำลังดำเนินนโยบายที่จะส่งผลลบต่อระบบเศรษฐกิจก็ต้องออกมาทักท้วง ซึ่งไม่ว่านายกิตติรัตน์ จะฟังหรือไม่ ประชาชนจะพิจารณาว่าการที่นายกิตติรัตน์ ออกมาแสดงท่าทีขัดแย้งกับผู้ว่าการแบงก์ชาติเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือไม่” นายกรณ์ กล่าว

นายกรณ์ กล่าวด้วยว่า ในปี 2540 ที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเพราะรัฐบาลในขณะนั้น พยายามที่จะควบคุมทุกอย่างทั้งการเคลื่อนไหวของทุน อัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนจนเกิดความเสียหายอย่างมหาศาลในทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าแนวทางเช่นนี้ส่งผลเสียหายต่อชาติ ดังนั้น นายกิตติรัตน์ ก็ควรจะได้เรียนรู้จากบทเรียนดังกล่าวด้วย อีกทั้งไม่เห็นด้วยที่ นายกิตติรัตน์ อ้างตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีดูแลเศรษฐกิจมาข่มแบงค์ชาติว่าเป็นผู้กำหนดนโยบายได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีอำนาจสั่งผู้ว่าการแบงก์ชาติได้ จึงอยากให้ตั้งสติให้ดีอย่ามองทุกคนเป็นศัตรู และเร่งรัดช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพสูง รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย อย่าเอาเวลาของตัวเองมาทะเลาะกับคนที่กำลังทำหน้าที่อยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น