xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตแดนกระทิงดุป่วนตลาดเงิน อียูเสนอยืดเวลาลดยอดขาดดุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเยนซี – ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเงินในสเปนฉุดตลาดหุ้นทั่วทั้งยุโรปไล่ยาวถึงอเมริกาให้ดำดิ่ง ถึงแม้อียูเสนอทางรอดใหม่ 2 ข้อแก่แดนกระทิงดุ ด้วยการขยายเส้นตายในการปรับลดยอดขาดดุลงบประมาณ รวมถึงความช่วยเหลือโดยตรงจากกองทุนฟื้นฟูยูโรโซนเพื่อเพิ่มทุนแบงก์ที่มีปัญหา

ออลลี เรห์น กรรมาธิการกิจการเศรษฐกิจและการเงินของสหภาพยุโรป (อียู) แถลงเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (30 พ.ค.) ว่าบรัสเซลส์พร้อมขยายเส้นตายในการลดยอดขาดดุลงบประมาณของแดนกระทิงดุออกไปอีก 1 ปี เป็นปี 2014 หากสเปนสามารถควบคุมการขาดดุลในแคว้นที่ปกครองตัวเอง และเสนองบประมาณปี 2013-14 ที่มีความเข้มแข็ง

ภายใต้กฎเดิมของอียู สเปนต้องลดยอดขาดดุลการคลังจาก 8.9% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ให้เหลือ 3% ในปี 2013

ในรายงานการตรวจสอบภาวะเศรษฐกิจสมาชิกอียูประจำปีครั้งที่ 2 ที่ เรห์น นำออกมาแถลงคราวนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปยังระบุว่า มาดริดจำเป็นต้องปฏิรูปเพิ่มเติม พร้อมคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจแดนกระทิงดุจะหดตัว 1.8% ในปีนี้ และ 0.3% ในปีหน้า โดยมีอัตราว่างงาน 25.1% ในปี 2013

ที่ผ่านมา สเปนดำเนินมาตรการมากมายเพื่อแก้ไขสถานการณ์หนี้สาธารณะ ซึ่งรวมถึงมาตรการปฏิรูปสำคัญทั้งในภาคการเงินและตลาดแรงงาน แต่ยังไม่สามารถหลุดพ้นจากปัญหาได้

รายงานระบุว่า สเปนยังคงเผชิญความท้าทายด้านนโยบายภายหลังจากฟองสบู่ตลาดที่อยู่อาศัยและตลาดสินเชื่อแตก การปรับฐานะการคลังให้อยู่ในสภาวะสมดุลและวินัยทางการคลังในระดับภูมิภาคเป็นสิ่งจำเป็นในการฟื้นความมั่นใจของตลาด รวมทั้งยับยั้งการพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้ภาคสาธารณะ

คณะกรรมาธิการยังแนะนำว่า ยุโรปต้องทำลายวงจรอุบาทว์ของการที่พวกธนาคารที่อ่อนแอ และรัฐที่มีหนี้ก้อนโตที่ปล่อยกู้ให้แก่กัน รวมทั้งยุโรปยังควรที่จะก่อตั้ง “สหภาพการธนาคาร” ขึ้นมา

โฆเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป แจงว่า การรวมตัวของยูโรโซนใกล้ชิดยิ่งขึ้นน่าจะหมายรวมถึงกลไกการรับประกันเงินฝากร่วมกันเพื่อป้องกันภาวะที่สินทรัพย์และหนี้สินของธนาคารไม่สมดุลกัน และเพื่อตรวจสอบระบบการเงินภายในยูโร

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยังเสนอแนวคิดในการใช้กองทุนยูโรโซนช่วยเหลือแบงก์ที่มีปัญหาโดยตรง แทนที่จะปล่อยให้รัฐบาลของแต่ละประเทศเป็นผู้เข้าไปอุ้ม

เศรษฐกิจสเปนกลายเป็นจุดสนใจของนักลงทุนจากชะตากรรมที่ไม่อาจคาดเดาได้ของระบบการธนาคาร วันศุกร์ที่ผ่านมา (25) กลุ่มธนาคารแบงเกีย ที่เกิดจากการควบรวมระหว่างแบงก์ระดับภูมิภาคที่มีปัญหา ได้ขอความช่วยเหลือ 19,000 ล้านยูโร มากกว่าที่เคยคาดกันไว้ ทว่า ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ทางการมาดริดจะระดมทุนมาอัดฉีดแบงก์แห่งนี้อย่างไร

รายงานระบุว่า ในภาวะที่ต้นทุนการกู้ยืมพุ่งสู่ระดับที่ไม่ยั่งยืน สเปนอาจให้พันธบัตรแบงเกียแทนเงินสด เพื่อนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมจากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) อย่างไรก็ดี ยังไม่มีฝ่ายใดออกมายืนยันข่าวนี้

ความตกต่ำของตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสเปนส่งผลให้ภาคการธนาคารอ่อนแอหนัก และในภาวะที่อัตราว่างงานของแดนกระทิงดุติดกลุ่มสูงสุดในยูโรโซน การเรียกเก็บภาษีเพิ่มเพื่ออัดฉีดงบประมาณจึงทำได้ยาก

มิเกล อังเคล เฟร์นันเดซ ที่ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติสเปนก่อนกำหนด 1 เดือนเมื่อวันอังคาร (29) เตือนว่าปีนี้รัฐบาลอาจเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า ขณะที่การใช้จ่ายอาจสูงกว่าที่คาดไว้ และแนะนำว่าหากแผนการลดยอดขาดดุลไม่ประสบผลสำเร็จ รัฐบาลควรขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในปีหน้า

บาดแผลของระบบการธนาคารสเปน ยังผสมโรงไปกับความไม่แน่นอนว่ากรีซจะอยู่ในยูโรโซนต่อไปหรือไม่ จึงกระตุ้นความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตหนี้ยูโรโซนอีกครั้ง และดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสเปนระยะ 10 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 6.7% เมื่อวันพุธ พร้อมกันนี้นักลงทุนยังหันไปเล่นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และเยอรมนีแทน ฉุดผลตอบแทน (ยีลด์) พันธบัตรคลังแดนอินทรีระยะ 10 ปีต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.64% ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีระยะ 10 ปีลดลงอยู่ที่ 1.283%

ขณะที่ตลาดหุ้นในยุโรปและสหรัฐฯ ชวนกันตกลง 1-2.5% ดัชนีดาวโจนส์นั้นปิดรูดลงเกือบ 1.3%

เงินยูโรอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 2 ปีเมื่อเทียบดอลลาร์ โดยอยู่ที่ 1.2382 ดอลลาร์

ทั้งนี้ยังมีสัญญาณตอกย้ำความกังวลจากวอชิงตัน จากการที่กระทรวงคลังสหรัฐฯ ส่ง เลล เบรนาร์ด เจ้าหน้าที่ระดับสูงไปกรีซ เยอรมนี สเปน และฝรั่งเศสเพื่อหารือแผนการฟื้นเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเติบโตของยุโรป
กำลังโหลดความคิดเห็น