xs
xsm
sm
md
lg

ยุโรปเร่งหาวิธีช่วย “แบงก์สเปน” หลังมาดริดระบุวิกฤตสาหัสยิ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซีส์ - ยุโรปกำลังเร่งรีบสำรวจหาวิธีในการช่วยเหลือกอบกู้ภาคการธนาคารที่ติดหนี้สินรุงรังของสเปนเมื่อวันพุธ (6) ถึงแม้มาดริดยังไม่ได้ยื่นขอรับห่วงชูชีพอย่างเป็นทางการ อีกทั้งต่อต้านอย่างหนักไม่ต้องการรับเงื่อนไขเข้มงวดต่างๆ ที่ต้องมาพร้อมแพกเกจช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ประเทศเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของอียูแห่งนี้ ยอมรับว่าหมดปัญญาระดมทุนจากตลาดสินเชื่อได้

คริสโตบัล มอนโตโร รัฐมนตรีคลังสเปน กล่าวเมื่อวันอังคาร (5) ว่า พันธบัตรรัฐบาลสเปนกำลังต้องจ่ายอัตราผลตอบแทน (ยีลด์) ที่สูงลิ่ว ในระดับที่ทำให้ประเทศของเขาไม่สามารถระดมทุนจากตลาดสินเชื่อได้ในทางเป็นจริง พร้อมกันนั้น ก็วิงวอนให้พันธมิตรในยุโรปช่วยฟื้นฟูฐานะธนาคารต่างๆ ของแดนกระทิงดุ

สเปน ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ในสหภาพยุโรป (อียู) กำลังกลายเป็นสมาชิกยูโรโซนรายล่าสุด ที่กำลังถูกกดดันให้ยอมรับความช่วยเหลือจากนานาชาติตามรอยกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส ในรอบ 2 ปีแห่งวิกฤตหนี้สิน โดยปัญหาของสเปนนั้นมาจากหนี้แบงก์หลังฟองสบู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์แตก รวมถึงการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยของบรรดาแคว้นปกครองตัวเอง

อย่างไรก็ดี ลูอิซ เด กีนโดส รัฐมนตรีเศรษฐกิจของสเปน กล่าวภายหลังการเจรจาหารือในคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของอียู เมื่อวานนี้ว่า ประเทศของเขายังไม่มีแผนจะยื่นขอเงินกู้ช่วยเหลือฉุกเฉินในเฉพาะหน้านี้ โดยที่สเปนจะรอดูรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ตลอดจนรายงานของคณะผู้สอบบัญชีอิสระที่เข้าตรวจสอบฐานะของภาคแบงก์ของแดนกระทิงดุ รายงานทั้ง 2 ฉบับนี้มีกำหนดจะออกมาในเดือนนี้ จากนั้นสเปนจึงจะจัดสินใจว่าจะฟื้นฟูฐานะเงินทุนของธนาคารทั้งหลายของตนอย่างไรต่อไป

ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งเปิดประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินเมื่อวานนี้เช่นกัน โดยที่หลายฝ่ายตั้งความหวังว่าจะมีการขยับลดดอกเบี้ยลงมาอีก ปรากฏว่ากลับยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับ 1% ตามเดิม เมื่อเป็นเช่นนี้จึงกลายเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อบรรดานักการเมืองอียู ให้ต้องหาหนทางมาแก้ไขคลี่คลายวิกฤตหนี้สินของยุโรปที่มีแต่ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ในระหว่างการประชุมสุยอดในปลายเดือนนี้

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวหลายรายที่คุ้นเคยกับการถกเถียงอภิปรายในหมู่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเยอรมนีและอียู เปิดเผยว่า กำลังมีการจัดทำแผนฉุกเฉินอย่างเร่งด่วนเพื่อให้อียูส่งความช่วยเหลือแก่ภาคการธนาคารของสเปน ภายใต้เงื่อนไขที่มาดริดเองพอยอมรับได้ ทั้งนี้พวกนักกฎหมายกำลังตรวจสอบรายละเอียดสนธิสัญญาต่างๆ ของยุโรป เพื่อดูช่องทางที่จะทำให้สเปนสามารถได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนกู้ภัยของยูโรโซน โดยที่ไม่ต้องถูกตีตราว่าต้องยอมเข้าโปรแกรมปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจอย่างเข้มข้นเต็มรูป

พวกเจ้าหน้าที่เยอรมนีกล่าวว่า การที่ต้องหาทางทำแผนฉุกเฉินเช่นนี้ ก็เพื่อช่วยให้สเปนไม่ต้องอับอายเสียหน้า จากการต้องยอมรับมาตรการการปฏิรูปทางเศรษฐกิจใหม่ๆ จากภายนอกและถูกติดตามตรวจสอบโดยคณะผู้ตรวจสอบของยุโรปและไอเอ็มเอฟ แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในกรณีของกรีซ, โปรตุเกส และไอร์แลนด์

ก่อนหน้านี้ในวันอังคาร ซึ่งมีการประชุมทางไกลระหว่างรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่ม 7 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี-7) ปรากฏว่าภายหลังการหารือ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในฐานะประธานการประชุมออกมาแถลงว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวความคืบหน้าของสหภาพการเงินและการคลังยุโรป และเห็นพ้องที่จะติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิดต่อไป

อย่างไรก็ดี ไม่มีคำแถลงร่วมจากเหล่ารัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการแบงก์ชาติจี 7 รวมทั้งไม่ได้มีการเสนอแนวทางรูปธรรมใดๆ

อเมริกาที่กดดันยุโรปมาตลอดให้ยอมรับแนวทางเชิงรุกเพื่อก่อตั้งสหภาพการเงินและการคลัง ต้องการให้มีการเสนอแผนกู้วิกฤตหนี้และการธนาคารของยุโรปในระหว่างการประชุมกลุ่ม 20 ประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าและเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ (จี-20) วันที่ 18-19 เดือนนี้

แหล่งข่าวอาวุโสของยุโรปในจี 7 เปิดเผยก่อนการประชุมทางไกลไม่นานว่า เป้าหมายการหารือฉุกเฉินครั้งนี้คือ เพื่อจี้ให้เยอมนีเพิ่มความพยายามในการกระตุ้นการเติบโต รวมทั้งลดราการบีบบังคับให้พวกสมาชิกยูโรโซนที่อ่อนแอ ต้องใช้มาตรการรัดเข็มขัดอย่างเข้มงวด

อย่างไรก็ดี การทีพวกขุนคลังจี-7 ไม่มีคำแถลงร่วมใดๆ ออกมา ส่อแสดงให้เห็นว่า พวกเขายังไม่อาจตกลงอะไรกัน

ในการประชุมสุดยอดผู้นำอียูวันที่ 28-29 เดือนนี้ พวกเขามีกำหนดหารือกลยุทธ์แก้วิกฤต กระนั้น นักวิเคราะห์ชี้ว่า ยังไม่เห็นแนวโน้มว่า บรัสเซลส์จะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเด็ดขาดและรวดเร็วแต่อย่างใด

เกี่ยวกับเรื่องนี้ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิสได้ตอกย้ำอันตรายจากการไร้มาตรการแก้ไขของยูโรโซน ด้วยการลดอันดับแบงก์หลายแห่งของเยอรมนีและออสเตรียเมื่อวันอังคาร โดยระบุความเสี่ยงจากผลกระทบของวิกฤตหนี้ในภูมิภาค
กำลังโหลดความคิดเห็น