xs
xsm
sm
md
lg

‘ผี’ป๋อซีไหลยังหลอกหลอน‘สมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน’

เผยแพร่:   โดย: อู่ จง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Bo's ghost to haunt CCP congress
By Wu Zhong
10/07/2012

พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะพบว่า เป็นเรื่องง่ายที่จะยุติชีวิตทางการเมืองและชีวิตในเวทีสาธารณะของ ป๋อ ซีไหล อดีตเลขาธิการพรรคสาขามหานครฉงชิ่งผู้อัปยศ ด้วยข้อกล่าวหาความผิดเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นต่างๆ ทว่าในขณะที่พรรคกำลังเตรียมการสำหรับการประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 18 ของตนอยู่นี้ พรรคไม่สามารถที่จะเพิกเฉยละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า “โมเดลฉงชิ่ง” ของป๋อ ที่มุ่งปิดช่องว่างด้านความมั่งคั่งร่ำรวยของจีน ยังคงได้รับความนิยมชมชอบจากประชาชนจำนวนมากอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นแล้ว ศูนย์กลางพรรคยังจะต้องเผชิญคำถามอันฉกาจฉกรรจ์ที่ว่า คนอย่าง ป๋อ ทะยานขึ้นมาอย่างเจิดจ้าจนกระทั่งอยู่ในตำแหน่งซึ่งสูงมากขนาดนี้ได้อย่างไร

ฮ่องกง – เวลานี้เป็นอันแน่นอนแล้วว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะจัดการประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 18 ของตนขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ตามกำหนดการที่วางเอาไว้ โดยคาดกันว่าน่าจะมีขึ้นในเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน ทั้งนี้การเตรียมการต่างๆ กำลังดำเนินไปอย่างราบรื่น กล่าวคือ ทั้ง 31 มณฑลและมหานครเทียบเท่ามณฑล ต่างก็มีการจัดตั้งคณะกรรมการพรรคสาขาขึ้นมาใหม่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งผู้แทนจำนวนกว่า 2,200 คนซึ่งจะเข้าร่วมการประชุมสมัชชาที่ทรงความสำคัญยิ่งกว่าการประชุมระดับอื่นๆ ของพรรค ก็ “ได้รับการเลือกตั้ง” เสร็จสิ้น

ความสนใจในเวลานี้จึงควรที่จะหันไปสู่การชุมนุมหารือกันอย่างไม่เป็นทางการของเหล่าผู้นำพรรคอาวุโสทั้งที่กำลังดำรงตำแหน่งอยู่และที่เกษียณอายุแล้ว ในตอนปลายเดือนนี้หรือไม่ก็เดือนหน้า ณ เป่ยไต้เหอ ตำบลตากอากาศฤดูร้อนชื่อดังซึ่งอยู่ห่างจากกรุงปักกิ่งไปทางเหนือราวๆ 250 กิโลเมตร ที่นั่น บรรดาผู้นำจะตัดสินใจเกี่ยวกับรายชื่อของผู้สมควรให้เข้าแข่งขันเป็นคณะผู้นำพรรคชุดใหม่ ซึ่งจะทำการ “เลือกตั้ง” กันในการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 18

ตามการปฏิบัติซึ่งได้เคยกระทำกันมา คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ชุดปัจจุบัน (ชุดที่ 17) จะจัดการประชุมเต็มคณะเป็นครั้งสุดท้าย ไม่นานนักก่อนการเปิดประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 18 เพื่อให้การรับรองอย่างเป็นทางการแก่รายชื่อผู้สมควรให้เข้าร่วมการเลือกตั้งซึ่งได้จัดทำกันออกมาจากการประชุมอย่างไม่เป็นทางการที่เป่ยไต้เหอ รวมทั้งจัดทำวาระของการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 18 ด้วย

สำหรับในคราวนี้ การประชุมเต็มคณะครั้งสุดท้ายดังกล่าวนี้ยังจะต้องจัดการกับเรื่องพิเศษอีกเรื่องหนึ่ง ได้แก่การตัดสินชะตากรรมของ ป๋อ ซีไหล ผู้อัปยศ ป๋อนั้นได้ถูกปลดออกจากเลขาธิการพรรคสาขาฉงชิงตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และกำลังถูกสอบสวนว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันแค่ไหนกับการที่ กู่ ไคไหล ภรรยาของเขาเองกระทำฆาตกรรมนักธุรกิจชาวอังกฤษนาม นีล เฮย์วูด (Neil Heywood) ตลอดจนข้อกล่าวหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ฐานะการเป็นสมาชิกคณะกรรมการกรมการเมือง (โปลิตบูโร) และสมาชิกคณะกรรมการกลางพรรคของเขาก็ถูกระงับไปแล้ว ทว่าเขายังคงเป็นสมาชิกพรรคอยู่ ในประเทศจีน สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะไม่ถูกฟ้องร้องกล่าวโทษต่อสาธารณชน ถ้าหากไม่มีการยกเลิกสมาชิกภาพของบุคคลผู้นั้นเสียก่อน

คดีของ ป๋อ เกิดขึ้นมาภายใต้การนำของคณะกรรมการกลางพรรคชุดปัจจุบัน ดังนั้นเรื่องราวยุ่งเหยิงนี้จึงควรชำระสะสางกันให้เสร็จสิ้นก่อนการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่คาดหมายกันอย่างกว้างขวางว่า ป๋อ จะถูกขับออกจากการเป็นสมาชิกภาพ และถูกส่งตัวให้ฝ่ายอัยการดำเนินคดีก่อนหน้าการเปิดประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 18

นี่เป็นเพียงการปฏิบัติตามรูปแบบอย่างเป็นทางการเท่านั้น ไม่ว่า ป๋อ จะถูกลงโทษในทางกฎหมายอย่างไรก็ตามที ชะตากรรมของเขาได้ถูกกำหนดเอาไว้เสร็จสรรพแล้ว กล่าวคือ เขาจะหายลับไปจากชีวิตทางการเมืองและชีวิตในทางสาธารณะเป็นเวลายาวนานทีเดียว –ถึงแม้ไม่น่าเป็นไปได้อย่างยิ่งที่เขาจะถึงขั้นถูกลงโทษประหารชีวิต

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้หมายความอย่างชัดเจนเลยว่า อิทธิพลของ ป๋อ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เรียกกันว่า “โมเดลฉงชิ่ง” ของเขาจะถูกกำจัดกวาดถูออกไปได้อย่างง่ายดาย โมเดลฉงชิ่งนั้นมีจุดมุ่งหมายที่มุ่งส่งเสริมสนับสนุนให้รัฐบาลมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจโดยผ่านทางการลงทุน ตลอดจนให้มีการกระจายความมั่งคั่งร่ำรวยในสังคมให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ –ซึ่งก็คือการลดช่องว่างความมั่นคั่งที่เกิดขึ้นในระหว่าง 3 ทศวรรษแห่งการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเปิดประตูประเทศนั่นเอง

ภายใต้การกำกับสั่งการของ ป๋อ รัฐบาลท้องถิ่นของฉงชิ่งได้จัดสรรเงินทุนไปสร้างที่พักอาศัยราคาถูกสำหรับครอบครัวผู้มีรายได้น้อย, ไปอุดหนุนการศึกษาสำหรับเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน, และเพิ่มการลงทุนของรัฐบาลเพื่อสร้างตำแหน่งงานให้มีมากขึ้น

ถ้าหากจะใช้คำของ ป๋อ เอง โมเดลฉงชิ่งนั้นมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้การตัดแบ่งเค้กแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจ มีขนาดที่เท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2011 ป๋อ ได้บอกกับอาคันตุกะจากฮ่องกงผู้หนึ่งว่า ฉงชิ่งภายใต้การนำของเขาได้เลือกเดินไปในเส้นทางการพัฒนาที่แตกต่างไปจากมณฑลและมหานครอื่นๆ โดยที่ฉงชิ่งให้ความสำคัญแก่เรื่องการแบ่งเค้กอย่างเป็นธรรมยิ่งขึ้นและดียิ่งขึ้น มากกว่าเรื่องการทำเค้กให้มีก้อนใหญ่ขึ้น

ป๋อได้หยิบยกคำพูดของเติ้ง เสี่ยวผิง ที่บอกว่า “ต้องอนุญาตให้คนบางคนร่ำรวยก่อนคนอื่น แต่เป้าหมายสุดท้ายแล้วก็คือต้องให้มั่งคั่งร่ำรวยกันโดยทั่วหน้า” และกล่าวว่า “คนบางคนในประเทศจีนเวลานี้กลายเป็นคนรวยขึ้นมาก่อนคนอื่นแล้ว ดังนั้นเราจึงต้องหาทางทำให้เรื่องการมั่งคั่งร่ำรวยกันโดยทั่วหน้ากลายเป็นความจริงขึ้นมา” ต่อมาในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วนั้นเอง ป๋อ ได้เน้นย้ำอีกว่า ฉงชิ่งจะไม่รอคอยให้ตนเองกลายเป็นมหานคร “ที่พัฒนาแล้ว” เสียก่อน แล้วจึงค่อยศึกษาเรื่องการกระจายความมั่งคั่งร่ำรวยอย่างสมเหตุสมผล และเรื่องการทำให้มีความมั่งคั่งร่ำรวยกันโดยทั่วหน้า [1]

ในเวลาที่คนรวยกำลังรวยขึ้นๆ แต่คนจนกำลังจนลงๆ เช่นทุกวันนี้ แน่นอนทีเดียวว่าวิธีการที่ป๋อนำมาใช้ในฉงชิ่ง สามารถเรียกเสียงสนับสนุนจากประชาชนได้อย่างกว้างขวาง เรื่องนี้มีหลักฐานพิสูจน์จากการที่ยังคงมีประชาชนระดับรากหญ้าในฉงชิ่งจำนวนหนึ่งยังคงระลึกถึงเขา วันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นวันเกิดครบรอบ 63 ปีของเขา ปรากฏว่าตามสถานีรถโดยสารและสถานที่สาธารณะบางแห่งในฉงชิ่ง มีข้อความที่เขียนด้วยมือและพ่นด้วยสีบอกว่า “สุขสันต์วันเกิด เลขาฯป๋อ” , “เราระลึกถึงท่านอยู่เสมอ เลขาฯป๋อ”

ความไม่เสมอภาคในเรื่องความมั่งคั่งร่ำรวยของประเทศจีน มีความสาหัสร้ายแรงถึงระดับไหนแล้ว เป็นเรื่องที่ได้แต่คาดเดาเอา เนื่องจากตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนปฏิเสธไม่ยอมเปิดเผยตัวเลขข้อมูลของสัมประสิทธิจีนี (Gini Coefficient – เกณฑ์ในการวัดความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ซึ่งเป็นที่ยอมรับและนิยมใช้กันในระดับนานาชาติ) ของประเทศ “เหตุผลหลักของเรื่องนี้ หม่า เจี้ยนถัง (Ma Jiantang) ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (National Bureau of Statistics) บอกว่า ... เป็นเพราะข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มผู้มีรายได้สูงนั้นยังไม่สมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญบางคนได้วิพากษ์วิจารณ์การออกมาแถลงในลักษณะเช่นนี้ โดยกล่าวว่ารัฐบาลสักแค่คิดหาเหตุผลเพื่อไม่ให้มีการเน้นย้ำเรื่องช่องทางความมั่งคั่งร่ำรวยที่กำลังถ่างกว้างอย่างมากของจีนเท่านั้น” [2]

ทว่าก่อนที่เขาจะถูกถอดออกจากตำแหน่งไม่นานนัก ตัว ป๋อ เองได้เปิดเผย “ความลับของรัฐ” เมื่อวันที่ 9 มีนาคมปีนี้ ในระหว่างการประชุมเต็มคณะประจำปีของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ โดยเขาระบุว่า ค่าสัมประสิทธิ์จีนีของจีนอยู่ในระดับเกิน 0.46 ในปี 2011 เขาเตือนด้วยว่า ตัวเลขดังกล่าวหมายความว่าช่องว่างด้านความมั่งคั่งร่ำรวยของจีนได้ถ่างกว้างจนเกินจุดที่อาจเป็นชนวนทำให้เกิดความไม่สงบในสังคมขึ้นมาแล้ว

เขากล่าวต่อไปว่า “ดังที่ท่านประธานเหมากล่าวในระหว่างที่ท่านกำลังสร้างประเทศชาติแห่งนี้ขึ้นมาว่า เป้าหมายของเราในการสร้างสังคมสังคมนิยมก็คือ ต้องทำให้มั่นใจว่าทุกๆ คนต่างมีงานทำและมีอาหารกิน ทุกๆ คนต่างก็มั่งคั่งร่ำรวยด้วยกัน”

ป๋อ ยังกล่าวต่อไปอีก “ถ้ามีคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ร่ำรวย ก็หมายความว่าเราจะถลำลงไปสู่ลัทธิทุนนิยมแล้ว เราประสบความล้มเหลวแล้ว ถ้ามีการสร้างชนชั้นนายทุนใหม่ขึ้นมา ก็หมายความว่าแท้จริงแล้วเราได้หันไปเดินบนเส้นทางที่ผิดพลาดแล้ว” [3]

ถึงแม้ตัวเลขที่ ป๋อ เปิดเผย ยังต่ำกว่านิดน้อยจากตัวเลขที่ธนาคารโลกเคยประมาณการไว้ที่ 0.47 ในปี 2009 แต่มันก็ยังคงสูงกว่าระดับที่เป็นที่ยอมรับกันในระดับนานาชาติซึ่งอยู่ที่ 0.4 และเป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้อาจจะกำลังเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพทางสังคมแล้ว จังหวะเวลาที่ ป๋อ เลือกใช้มาเปิดเผยเรื่องนี้ ต้องถือว่าเป็นการจงใจวางแผนสร้างความสนใจ มันดูเหมือนกับเขาต้องการใช้ความพยายามครั้งสุดท้ายเพื่อดึงสาธารณชนให้หันมาใส่ใจกับโมเดลฉงชิ่ง โดยที่ทราบดีว่าวันเวลาของเขากำลังเหลือน้อยลงทุกที

สิ่งที่น่าสนใจมากขึ้นไปอีกได้แก่การที่ฉงชิ่งภายใต้ ป๋อ สามารถที่จะบรรลุการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ในเวลาเดียวกับที่รวมศูนย์ไปที่เรื่องการกระจายความมั่งคั่ง ป๋อ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการพรรคสาขาฉงชิ่งในเดือนพฤศจิกายน 2007 ภายใต้การนำของเขา จีดีพีของมหานครแห่งนี้เติบโตขยายตัว 14.5% ในปี 2008, 14.9% ในปี 2009, 17.1% ในปี 2010, และ 16.4% ในปี 2011 นำหน้ามณฑลและมหานครอื่นๆ

แม้กระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ยังไม่สามารถปฏิเสธความสำเร็จนี้ ถึงแม้พรรคพยายามอย่างหนักหน่วงที่จะลดทอนบทบาทความสำคัญของ ป๋อ ในเรื่องนี้ รองนายกรัฐมนตรี จาง เต๋อเจียง ซึ่งเพิ่งได้รับเลือกตั้งให้เป็นเลขาธิการของคณะกรรมการพรรคสาขาฉงชิ่งที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาใหม่ในเดือนที่แล้ว กล่าวว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในฉงชิ่งในระยะหลายๆ ปีที่ผ่านมา ถือเป็นผลงาน “รวมหมู่ของคณะกรรมการพรรคและรัฐบาลของมหานครแห่งนี้”

ไม่ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะมีข้อสรุปอย่างไรเกี่ยวกับ ป๋อ ก็ตามที แต่คณะผู้นำชุดใหม่ของพรรคก็จะต้องแก้ไขปัญหาเรื่องช่องว่างความมั่งคั่งร่ำรวยที่กำลังถ่างกว้างมากขึ้นทุกที เมื่อพิจารณาในแง่นี้แล้ว การทดลองของ ป๋อ ในฉงชิ่งก็น่าจะได้รับการจดจำระลึกถึงและน่าจะทำการศึกษาวิเคราะห์วิจัย

อย่างไรก็ตาม ความพยายามของ ป๋อ ที่จะลดช่องว่างความมั่งคั่งร่ำรวย ก็เหมือนกับกโลบายทางการเมืองอื่นๆ ของเขา (เป็นต้นว่า การ “ร้องเพลงแดง” แบบเหมาอิสต์ ตลอดจน การปราบปรามกวาดล้างอาชญากรรมของเขา) นั่นคือสามารถที่จะมองได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งแห่งการดำเนินกลยุทธ์ของเขาเพื่อพาตัวเองไต่เต้าขึ้นบันไดระบบราชการให้สูงขึ้นไป

เมื่อสถานการณ์เริ่มสงบนิ่งลงไป พรรคคอมมิวนิสต์น่าจะต้องให้คำตอบแก่คำถามอันน่าอับอายบางข้อ ตัวอย่างเช่น สาธารณชนอาจจะถามว่า “คนอย่างนี้” สามารถไต่เต้าขึ้นมาจนได้เป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมการกรมการเมืองได้อย่างไร (ป๋อยังอาจจะได้เลือกเลื่อนขึ้นสู่ตำแหน่งสูงกว่านี้อีก ถ้าหาก หวัง ลี่จิว์น อดีตผู้บัญชาการตำรวจฉงชิ่ง ไม่ได้เดินเข้าไปในสถานกงสุลสหรัฐฯในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมกับความลับต่างๆ ซึ่งน่าจะมีส่วนทำให้ ป๋อ ตกลงจากอำนาจในที่สุด) ประชาชนจีนอาจจะตั้งคำถามว่า ทำไม ป๋อ จึงได้รับอนุญาตให้กระทำอะไรก็ได้ตามที่เขาต้องการเมื่ออยู่ภายในขอบเขตอำนาจของเขา โดยที่ไม่ได้มีระบบถ่วงดุล หรือการกำกับตรวจสอบเอาเสียเลย

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า กรณีของ ป๋อ ได้สร้างความเสียหายอย่างหนักหน่วงให้แก่ภาพลักษณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน บทเรียนอันขมขื่นที่พรรคควรเรียนรู้จากกรณีของ ป๋อ ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถแก้ไขซ่อมแซมสิ่งที่เสียหายไปแล้ว และป้องกันไม่ให้กรณีทำนองเดียวกันนี้บังเกิดขึ้นมาอีก การสรุปบทเรียนแม้จะสายไปก็ยังดีกว่าไม่ได้เรียนรู้อะไรเอาเลย

**หมายเหตุ**
[1] ดูเรื่อง Cake-fight for CCP's soul, Asia Times Online, Jul 22, 2011.
[ 2] ดูเรื่อง Gov't Refuses to Release Gini Coefficient, Caixin, Jan 18, 2012.
[3] ดูเรื่อง China's Bo Signals Wealth Gap Breached Unrest Trigger Point, Bloomberg, Mar 9, 2012.

อู่ จง เป็นบรรณาธิการด้านจีนของเอเชียไทมส์ออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น