xs
xsm
sm
md
lg

‘ผู้ร้าย’ใน‘กรณีเทียนอันเหมิน’หาทางกู้ชื่อตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: เคนต์ อีวิ่ง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Tiananmen villain seeks to clear his name
By Kent Ewing
05/06/2012

อดีตนายกเทศมนตรีมหานครปักกิ่ง เฉิน ซีถง ได้ถูกมองมานานแล้วว่า เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเสนอแนะ เติ้ง เสี่ยวผิง ที่เป็นผู้นำทรงอำนาจสูงสุดของจีนในเวลานั้น ให้เปิดการปราบปรามกวาดล้างพวกผู้ประท้วงเมื่อปี 1989 ซึ่งกลายเป็นเหตุการณ์ที่มีชื่อฉาวโฉ่เป็นที่รู้จักกันในนามว่า การสังหารหมู่เทียนอันเหมิน ในเวลานี้ขณะมีอายุ 81 ปี และกำลังเผชิญหน้ากับความตายจากโรคมะเร็ง เฉินได้ออกมาอ้างว่าเขาเป็นเพียงแพะรับบาป และอีกไม่นานนักหรอก ความจริงของเหตุการณ์ในเดือนมิถุนายนปีนั้นจะต้องปรากฏเผยโฉมออกมาอย่างเต็มที่เสียที

ฮ่องกง – บุรุษผู้ซึ่งถูกวาดภาพมานานนมแล้วว่า เป็นหนึ่งในวายร้ายตัวฉกาจที่สุดของเหตุการณ์ที่รัฐบาลจีนเคลื่อนกำลังทหารเข้าปราบปรามกวาดล้างพวกผู้ชุมนุมเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยในจัตุรัสเทียนอันเหมินอย่างนองเลือด เหตุการณ์ดังกล่าวได้เวียนบรรจบครบรอบ 23 ปีเต็มเมื่อวันจันทร์ (4 มิถุนายน) ที่ผ่านมา และเวลานี้เขาผู้นี้ได้ออกมากล่าวอ้างว่า แท้ที่จริงแล้วเขาคือแพะรับบาปตัวใหญ่ที่สุดต่างหาก

ในหนังสือที่นำออกวางจำหน่ายสัปดาห์ที่แล้วในฮ่องกง อดีตนายกเทศมนตรีมหานครปักกิ่ง เฉิน ซีถง ซึ่งอายุ 81 ในปีนี้ อีกทั้งกำลังเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ขั้นท้ายๆ พยายามที่จะกอบกู้ชื่อเสียงของตนเอง และนำตัวเขาขึ้นไปอยู่ทางข้างฝ่ายที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์แห่งเทียนอันเหมิน เคียงข้างเหล่านักปฏิรูปผู้มีชื่อเสียงอย่างเช่น หู เย่าปัง และ เจ้า จื่อหยาง ซึ่งทั้งคู่ต่างถูกกวาดล้างในฐานะที่เป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีแนวความคิดแบบเสรีนิยม

สิ่งที่ เฉิน พูดเอาไว้ใน หนังสือเรื่อง Conversations with Chen Xitong (สนทนากับเฉินซีถง) ซึ่งเรียบเรียงโดยนักวิชาการนาม เหยา เจียนฟู่ เล่มนี้ ถ้าหากเป็นความจริง ก็จะพลิกผันเปลี่ยนแปลงความรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบุคคลสำคัญที่สุดคนหนึ่ง ในบทตอนอันดำมืดของประวัติศาสตร์ประเทศจีนสมัยใหม่บทนี้

เป็นที่เชื่อถือกันมานานแล้วว่า เฉิน เป็นพวกแนวคิดแข็งกร้าวผู้มีบทบาทสำคัญในการชักชวนเสนอแนะให้ เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำทรงอำนาจสูงสุดในเวลานั้น ส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงนำโดยนักศึกษา ซึ่งกำลังเรียกร้องต้องการให้ดำเนินการปฏิรูปทางประชาธิปไตย และเข้าไปยึดครองจัตุรัสเทียนอินเหมินเอาไว้เป็นเวลาร่วมๆ 2 เดือนในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 1989

ตามที่โจษขานเล่าลือกันในบางเวอร์ชั่นนั้น เฉินกระทั่งขยายภัยคุกคามความมั่นคงจากพวกนักศึกษาเหล่านี้ให้เกินเลยความเป็นจริงไปมาก ด้วยความพยายามที่จะโน้มน้าวให้ เติ้ง เกิดความมั่นอกมั่นใจและสั่งเปิดฉากการปฏิบัติการอันโหดเหี้ยมทารุณ ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นในคืนวันที่ 3 มิถุนายน และลามปามต่อเนื่องไปจนถึงวันรุ่งขึ้น กระทั่งฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยขึ้นมาได้ทว่าก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปหลายร้อยคน ถ้าหากไม่ถึงเรือนพันๆ คน ขณะเดียวกันก็เข่นฆ่าสังหารการถกเถียงอภิปรายทั้งหลายอันเกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปทางการเมืองในประเทศจีน

การประท้วงเทียนอันเหมินนั้น แรกเริ่มทีเดียวจุดชนวนขึ้นมาจากการถึงแก่มรณกรรมของ หู อดีตเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ผู้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการรณรงค์ต่อสู้ของบรรดานักปฏิรูป สำหรับ เจ้า ซึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคต่อจาก หู ก็ได้ถูกถอดถอนเนื่องจากคัดค้านการปราบปรามกวาดล้างคราวนี้ และถูกกักตัวให้อยู่แต่ภายในบ้านพักจวบจนกระทั่งเขาถึงแก่มรณกรรมไปในเดือนมกราคมปี 2005 ในวัย 85 ปี

ระหว่างเวลาหลายปีที่ถูกคุมขังอยู่ในบ้านในกรุงปักกิ่ง เจ้า ได้แอบบันทึกเสียงเรื่องราวจากความทรงจำของเขา และต่อมาก็ได้รับการเรียบเรียงกลายเป็นหนังสือชื่อ Journey of Reforms (การเดินทางของการปฏิรูป) ซึ่งก็ได้รับการจัดพิมพ์จำหน่ายในฮ่องกงเช่นกัน โดยฝีมือของสำนักพิมพ์นิวเซนจูรีเพรส (New Century Press) และเริ่มวางตลาดวันแรกในวันที่ 29 พฤษภาคม 2009 เพียงไม่กี่วันก่อนหน้าวาระครบรอบ 20 ปีของการปราบปรามกวาดล้างคราวนั้น

แต่บันทึกความทรงจำของเจ้า ซึ่งอุดมไปด้วยความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จของปักกิ่งและยกย่องสรรเสริญประชาธิปไตยสไตล์ตะวันตกนั้น สอดคล้องเข้ากันเป็นอันดีกับคำบรรยายบอกเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์เทียนอันเหมินเวอร์ชั่นซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป โดยที่คำเล่าขานดังกล่าวผูกโยงการตกลงจากอำนาจของเขาเข้ากับการที่เขาให้ความสนับสนุนบรรดาความคิดอุดมคติทั้งหลายที่พวกนักศึกษายกย่องเชิดชู ในระหว่างช่วงเวลา 7 สัปดาห์แห่งความหวังและความสิ้นหวังในปี 1989 ครั้งนั้น

ทว่าหนังสือว่าด้วยการสนทนาของ เฉิน ของ เหยา เล่มนี้ ซึ่งก็จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นิวเซนจูรีเพรส มีเนื้อหาที่หักล้างตรงกันข้ามกับคำบรรยายบอกเล่าซึ่งเป็นที่เชื่อถือกันทั่วไป ในการให้สัมภาษณ์อย่างต่อเนื่องเป็นชุดรวมทั้งสิ้น 8 ครั้งในช่วงเวลาระหว่างเดือนมกราคม 2011 จนถึงเดือนเมษายน 2012 เฉินได้พรรณนาถึงตัวเขาเองว่าเป็นพวกเสรีนิยมอย่างลับๆ ซึ่งไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจส่งกองทหารแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเข้าไปบดขยี้กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงเลย เขายังเรียกการใช้กำลังเข้าปราบปรามการประท้วงเทียนอันเหมินอย่างรุนแรงคราวนั้นว่า เป็น “โศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าเสียใจซึ่งควรที่จะหลีกเลี่ยงได้”

เฉิน บอกกับ เหยา ว่า ขณะที่เขาต้องการทำให้ “ความปั่นป่วนวุ่นวาย” ของการชุมนุมเดินขบวนสิ้นสุดลง แต่เขาไม่ได้เรียกร้องสนับสนุนการนองเลือดเลย

“ไม่มีใครควรต้องตายเลยสักคนถ้าหากมีการจัดการกันอย่างถูกต้องเหมาะสม” หนังสือเล่มใหม่นี้อ้างคำพูดของเฉิน “ผู้คนจำนวนหลายร้อยคนต้องเสียชีวิตไปในวันนั้น ในฐานะที่เป็นนายกเทศมนตรี ผมรู้สึกเสียใจมาก ผมหวังเอาไว้ว่าเราจะสามารถแก้ไขกรณีนี้ได้อย่างสันติ สิ่งต่างๆ จำนวนมากยังคงไม่เป็นที่กระจ่างชัดเจน แต่ผมเชื่อว่าสักวันหนึ่งความจริงจะต้องปรากฏออกมา”

แต่คำบรรยายที่เพิ่งผลิตออกมาใหม่ๆ หมาดๆ ของเฉิน เกี่ยวกับบทบาทของตัวเขาเองในการเข่นฆ่าเลือดท่วมที่บังเกิดขึ้นในวันนั้น สมควรที่จะได้รับความเชื่อถือหรือไม่?

เหนือสิ่งอื่นใดเลย นี่คือบุคคลเดียวกันกับที่เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 1989 ได้รับการคัดเลือกจากคณะผู้นำจีน ให้เป็นผู้เสนอรายงานอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการปราบปรามกวาดล้างคราวนั้น ต่อคณะกรรมการประจำของสมัชชาประชาชนแห่งชาติของจีน ในตอนนั้น เฉินเรียกการชุมนุมเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยนี้ว่า เป็น “การจลาจลที่เป็นปฏิปักษ์ปฏิวัติ” ซึ่งมีเหตุผลสมควรอย่างชอบธรรมที่จะใช้กำลังเข้าปราบปราม –และนี่ก็ยังคงเป็นจุดยืนที่รัฐบาลจีนยืนยันอยู่จวบจนถึงวันนี้

อย่างไรก็ตาม เฉินเล่าเรื่องนี้ให้เหยาฟังว่า ถึงแม้เขาได้รับมอบหมายหน้าที่ให้อ่านรายงานฉบับดังกล่าว แต่เขาไม่ได้มีส่วนในการเขียนรายงานนี้เลย และไม่ได้ให้การรับรองเห็นด้วยกับสิ่งที่ระบุเอาไว้

“ผมอ่านรายงานชิ้นนี้อย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ตามที่พวกเขา (เติ้ง และผู้นำคนอื่นๆ) จัดเตรียมเอาไว้ให้ผม แม้กระทั่งทำตามเครื่องหมายวรรคตอนทุกๆ เครื่องหมายในรายงานทีเดียว” เขากล่าว

การแสดงความจงรักภักดีของเขาในระหว่างความหายนะแห่งเทียนอันเหมิน น่าจะมีส่วนสำคัญอย่างน้อยที่สุดก็ส่วนหนึ่งแหละ ที่ทำให้เฉิน ได้รับเลือกเลื่อนขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคสาขากรุงปักกิ่ง อีกทั้งได้รับแต่งตั้งให้เป็น 1 ในคณะกรรมการกรมการเมือง (โบลิตบูโร) อันทรงอำนาจยิ่ง ในลักษณะของขุนทหารข้าราชการผู้จงรักภักดี กำลังได้รับเหรียญรางวัลตามความดีความชอบของเขา

เป็นสิ่งที่ชัดเจนทีเดียวว่า ดาวของเฉินกำลังพุ่งสูงสู่ความรุ่งโรจน์ ถ้าหากเขามีความโน้มเอียงไปในทางเสรีนิยมอย่างลับๆ จริงๆ แล้ว เขาก็เก็บงำซุกซ่อนมันเอาไว้อย่างดีเยี่ยมทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ไม่ช้าไม่นานต่อมา การงานอาชีพทางการเมืองของเฉิน ก็กลับดำดิ่งสู่ความวิบัติ ในสภาพการณ์ที่เวลานี้เขาเปรียบเทียบว่า ช่างเหมือนกับการตกลงสู่อำนาจของ ป๋อ ซีไหล เลขาธิการพรรคสาขามหานครฉงชิ่ง ผู้ซึ่งกำลังถูกกล่าวหาว่า “ละเมิดวินัยพรรคอย่างร้ายแรง” และน่าที่จะถูกเปลี่ยนข้อหามาเป็นเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น ขณะเดียวกัน กู่ ไคไหล ภรรยาของป๋อ ก็กำลังถูกจับกุมคุมขังด้วยข้อหาเป็นฆาตกรสังหารนักธุรกิจชาวอังกฤษนาม นีล เฮย์วูด (Neil Heywood)

เหมือนๆ กับ ป่อ ในช่วงต้นปีนี้ ตลอดจนเหมือนๆ กับ เฉิน เหลียงอี๋ว์ อดีตเลขาธิการพรรคสาขามหานครเซี่ยงไฮ้ ผู้ถูกถอดออกจากตำแหน่งในปี 2006 เฉิน ซีถง ผู้ทะเยอทะยานก็เข้าไปอยู่ในวังวนแห่งการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจภายในชนชั้นนำที่เป็นผู้ปกครองพรรค และถูกแขวนป้ายด้วยข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่น

ในฐานะผู้นำของกลุ่มที่เรียกขานกันว่า “ก๊กปักกิ่ง” เฉินถูกมองว่าเป็นคู่แข่งของ เจียง เจ๋อหมิน ผู้เป็นประธานาธิบดีของประเทศในเวลานั้น และเป็นหัวหน้าของ “ก๊กเซี่ยงไฮ้” มีข่าวลือเผยแพร่กันมานานแล้วว่า เจียง เกิดความสงสัยว่า เฉิน กำลังพยายามบ่อนทำลายเขาในจดหมายประณามกล่าวโทษฉบับหนึ่งที่เขียนไปถึง เติ้ง และ ป๋อ อี้โป บิดาผู้ล่วงลับไปแล้วของ ป๋อ ซีไหล ซึ่งเวลานั้นมีฐานะเป็น 1 ใน “8 ผู้อมตะ” ของพรรค ได้แจ้งให้ เจียง ทราบถึงเนื้อหาต่างๆ ในจดหมายฉบับนั้น

ไม่ว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไรก็ตามที แต่ที่แน่ๆ คือ เฉิน ถูกจับกุมด้วยข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่นในปี 1995 อีก 3 ปีต่อมา เขาถูกตัดสินว่ากระทำผิดจริงฐานรับเงินสินบนเป็นจำนวน 550,000 หยวน (ประมาณ 2.75 ล้านบาท) รวมทั้งเบียดบังเงินหลวงมาสร้างบ้านอันหรูหราให้แก่ตัวเขาเอง เขาถูกลงโทษจำคุก 16 ปีในเรือนจำฉินเฉิง ซึ่งต้องถือเป็นตลกร้ายเรื่องหนึ่ง เพราะคุกที่มีสภาพอับชื้น, มืดมิด, และปิดลับแห่งนี้เอง คือสถานที่ซึ่งพวกผู้นำนักศึกษาเทียนอันเหมินจำนวนมากถูกจองจับคุมขัง

เขาได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนดในปี 2006 สืบเนื่องจากโรคภัยของเขา และเวลานี้อยู่ในสภาพเหมือนกับคนที่กำลังจะตายซึ่งยังคงวิตกห่วงใยมรดกตกทอดของตนเอง เขาเล่าให้ เหยา ฟังว่า ตัวเขาเองไม่เคยพยายามที่จะโค่นล้ม เจียง เลย และบ่งบอกในทำนองว่า ข้อกล่าวหาต่อตัวเขาในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตที่ประดิษฐ์สร้างขึ้นมาจากโรคจิตหวาดระแวงไปเองของ เจียง

“ผมไม่เคยปฏิบัติต่อ เจียง โดยถือว่าเป็นศัตรูเลย” เฉิน กล่าว “ผมสนับสนุน เจียง อย่างเต็มที่ และให้ความเคารพเขาอย่างเต็มที่”

เฉินเรียกคำตัดสินที่ระบุว่าเขากระทำความผิดฐานทุจริตคอร์รัปชั่น ว่าเป็น “ความอยุติธรรมครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การปฏิวัติวัฒนธรรม” อีกทั้งปฏิเสธทุกๆ ข้อหาความผิดที่ถูกนำมาเล่นงานเขา อันที่จริงแล้ว เมฆดำทะมึนแห่งการคอร์รัปชั่นที่ปกคลุมอยู่เหนือประวัติแห่งชีวิตของเขา ดูเหมือนจะสร้างความลำบากเดือดร้อนให้แก่ตัวเขา มากยิ่งกว่าสิ่งที่เขากำลังพยายามวาดภาพออกมาให้เห็นไปว่าตัวเขานั้นมีบทบาทแบบเป็นฝ่ายถูกกระทำและลังเลใจมาก ในการตัดสินใจส่งขบวนรถถังเคลื่อนเข้าไปในจัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อ 23 ปีก่อน

ในระหว่างที่เขาถูกขังในเรือนจำ เฉินบอกว่าเขาปฏิเสธไม่ยอมรับเงินเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 3,500 หยวน (ประมาณ 17,500 บาท) ซึ่งเขามีสิทธิที่จะได้รับ โดยคิดว่าเป็นหนทางหนึ่งที่จะสาธิตให้เห็นว่าเขานั้นไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลในคดีของเขา เฉินยังกล่าวต่อไปว่าการที่เขายอมสนทนากับเหยาคราวนี้ มีเหตุจูงใจจากการที่เขาถูกปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า เมื่อเขาพยายามอุทธรณ์ต่อผู้มีอำนาจให้ทบทวนรื้อฟื้นคดีของเขาขึ้นมาพิจารณาใหม่

“ผมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องพูดออกมา” เขากล่าว “นี่คือการพิทักษ์ปกป้องความจริง แล้วมันก็สอดคล้องกับหลักการของพรรคของเราอีกด้วย ถ้าศาลประชาชนสูงสุดไม่อาจพลิกคดีของผมได้แล้ว คำกล่าวอ้างเรื่องความเป็นอิสระของศาลยุติธรรมก็เป็นเพียงคำโกหกเท่านั้น”

ในท้ายที่สุดแล้ว ประวัติศาสตร์นั่นแหละจะเป็นผู้พิพากษาในคดีของ เฉิน ในระหว่างนี้ วันครบรอบ 4 มิถุนายนก็ได้เวียนมาถึงและผ่านเลยไปอีกคำรบหนึ่ง มันเป็นอีกครั้งหนึ่งซึ่งถึงแม้ปักกิ่งตกอยู่ภายใต้การปิดตายจากการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด แต่ผู้คนหลายหมื่นคนยังคงออกมาเข้าร่วมพิธีจุดเทียนประจำปีเพื่อไว้อาลัยแด่เหยื่อของกรณีเทียนอันเหมิน ณ สวนสาธารณะวิกตอเรีย พาร์ก (Victoria Park) ของฮ่องกง รวมทั้งยังมีการจัดพิธีรำลึกไว้อาลัยอย่างปวดร้าวขมขื่นขึ้นตามสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจีนกลับคำตัดสินของตนที่ระบุว่า ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 1989 เป็น “การก่อกบฏที่เป็นปฏิปักษ์ปฏิวัติ”

จวบจนถึงทุกวันนี้ คำตัดสินดังกล่าวยังคงไม่ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข

เคนต์ อีวิ่ง เป็นครูสอนหนังสือและเป็นนักเขียนที่ทำงานอยู่ในฮ่องกง สามารถติดต่อเขาทางอีเมลที่ kewing56@gmail.com และสามารถติดตามเขาทางทวิตเตอร์ที่ @KentEwing1
กำลังโหลดความคิดเห็น