xs
xsm
sm
md
lg

ใครจะหยุดผู้ตัดสินตาถั่ว / กษิติ กมลนาวิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน

แม้ว่าจะมีการลงโทษผู้เกี่ยวข้องให้เห็นเป็นเรื่องเป็นราว แต่การตัดสินผิดพลาดในเกมฟุตบอลของไทย ก็ยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดูว่าการเพิ่มอัตราค่าจ้างหรือมาตรการลงโทษคงใช้ไม่ได้ผล ก็ผมจะตาถั่ว ใครจะทำไม

ล่าสุด นัดที่ บางกอกกล๊าส เอฟซี เปิด ลีโอ สเตเดียม ต้อนรับ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ทีมแชมป์ฤดูกาลที่แล้ว ช่วงต้นครึ่งหลัง หลังจากที่ทีมเยือนได้ประตูขึ้นนำ 1-0 อีก 2-3 นาทีถัดมาก็เกิดจังหวะปัญหา เมื่อ ฟลาเวียง มิเชลลินี ของ กระต่ายแก้ว ซัดบอลชนคานกระดอนลงพื้นข้ามเส้นเข้าไปทั้งใบแล้วกระเด้งออกมา แต่ผู้ตัดสินไม่ให้เป็นประตู บุรีรัมย์ จึงรอดจากการถูกตีเสมอ ซึ่งภายหลังต่างก็ได้อีกคนละประตู จบเกม บีจี แพ้คาบ้าน 1-2

นัดนี้แฟนเจ้าบ้านคงรู้สึกเจ็บใจ ฉุนอย่างแรง แต่ไม่มีปฏิกิริยาห่ามๆ จากกองเชียร์ ไม่มีการปิดล้อมผู้ตัดสิน ได้แต่เก็บอาการอึดอัดเอาไว้ในใจ แล้วค่อยทำหนังสือประท้วงไปยัง บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ผู้จัดการแข่งขันในภายหลัง มันเป็นกระบวนการขั้นตอนของผู้ดี เหมือนกับกรณีของ บีอีซี เทโรศาสน ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ก่อนหน้านั้น ผมขอชื่นชมตรงนี้ครับ

คุณเนวิน ชิดชอบ บอกกับผมพร้อมกับสีหน้าเครียด ไม่สบายใจว่า “เข้าครับ! และถ้าการตัดสินยังเป็นอย่างนี้ ฟุตบอลไทยจะเสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ” แกไม่มีความภูมิใจเลยกับชัยชนะที่ได้มาแบบนี้

หลังเกม แฟน บีจี ถามผมว่า มันจะมีหนทางใดแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้จังหวะนั้นเป็นประตู และมีการเปลี่ยนแปลงผลการแข่งขันให้เป็นเสมอได้หรือไม่ ผมว่า ถ้าหลังเกม ตามกฎของ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า มันคงเปลี่ยนผลการแข่งขันไม่ได้หรอก แม้ในเกมก็เถอะ เมื่อผู้ตัดสินชี้ขาดไปแล้ว จะกลับคำก็ไม่ได้

เหตุการณ์ที่ผู้ตัดสินกลับคำตัดสินเคยเกิดขึ้นในฟุตบอลโลก ปี 1982 ที่สเปน ฝรั่งเศส พบกับ คูเวต ในรอบแรก กลุ่ม 4 หลังจาก ฝรั่งเศส นำอยู่ 3-1 อแล็ง ชีแรส (Alain Giresse) มิดฟีลด์ 1 ใน 3 ทหารเสือ ของ ฝรั่งเศส ยิงประตูเข้าไป ผู้ตัดสินเป่าให้เป็นประตูไปแล้ว แต่เกมต้องมาหยุดชะงักด้วยความไม่พอใจของนักเตะและแฟนบอลชาวคูเวต แล้ว เช็ค ฟาฮิด อัล อาหะหมัด อัล ซาบา (Sheikh Fahid Al-Ahmad Al-Sabah) น้องชายของ นายกสมาคมฟุตบอลคูเวต ในขณะนั้นก็ถือวิสาสะเดินดุ่ยๆ ลงไปในสนาม แกเข้าไปคุยกับ มิโรสลาฟ สตูปาร (Miroslav Stupar) ผู้ตัดสินชาวโซเวียต อยู่พักใหญ่

หลังการเจรจานั้น ผู้ตัดสินกลับคำตัดสิน ไม่ให้เป็นประตูหน้าตาเฉย ยังความงุนงงและโกรธจัดให้แก่บรรดาสตาฟฟ์โค้ชของทีมชาติฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม ก่อนหมดเวลา ฝรั่งเศส มาได้อีก 1 ประตูจาก มักซิม บอสซิส (Maxim Bossis) จึงจบเกมด้วยการเอาชนะ คูเวต ไป 4-1 และผลสืบเนื่องจากเหตุกลับคำตัดสินดังกล่าว ฟีฟ่าดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตตัดสินเกมระดับนานาชาติของ สตูปาร และปรับเงิน เช็ค อัล ซาบา เป็นจำนวน 1 หมื่น ยูเอสดอลลาร์

ในกรณีของ กระต่ายแก้ว มันช้าไปแล้วครับ มันควรจะต้องเกิดจากผู้ตัดสินที่จะหยุดเกมตอนนั้นทันที แล้วเดินไปหารือกับผู้ช่วยผู้ตัดสิน เมื่อได้ความว่า บอลผ่านเส้นประตูไปทั้งใบแล้ว จึงเป่าให้เป็นประตู

แต่ในกรณีที่เกิดขึ้น ถ้าต้องใช้แนวเส้นประตูเป็นหลักเปรียบ กับตำแหน่งของลูกบอล ผมก็ว่า ผู้ตัดสินอยู่ในมุมที่มองลำบาก แต่ผู้ช่วยผู้ตัดสินนั่นแหละที่น่าจะเห็นเด่นชัด ซึ่งจากจังหวะปัญหา ก็ไม่เห็นผู้ช่วย วิ่งจากเส้นประตูเข้าหาแนวเส้นกลางสนามเป็นระยะ 20-30 เมตร อันเป็นกิริยาที่ต้องกระทำเพื่อเป็นการส่งสัญญาณ ว่า ลูกบอลเข้าประตูอย่างปกติ แต่ผู้ช่วยคงยืนนิ่ง นั่นเป็นการสื่อความหมายว่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้นทั้งสิ้น ผู้ตัดสินเองก็มิได้จัดจังหวะนี้เป็นเรื่องที่ต้องมาดูกันให้เป็นเรื่องเป็นราว คงให้เล่นต่อไป รวมความว่า ทั้งผู้ตัดสินและผู้ช่วยงานไม่ละเอียดทั้งคู่ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น