xs
xsm
sm
md
lg

“นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (5)

เผยแพร่:   โดย: ชวินทร์ ลีนะบรรจง, สุวินัย ภรณวลัย

        คนชั้นกลางล่างและคนไทยกำลังถูก “ต้ม”โดยถ้วนหน้า
            จากนโยบายจำนำข้าวที่อ้างว่าช่วยเกษตรกร

การนำเสนอแต่ความเห็น ละเลยข้อเท็จจริง จึงทำให้คนไทยที่มีพฤติกรรมชอบ “ฟังเขาเล่า” มากกว่าที่จะไปค้นหาความจริงถูก “ต้ม” ไปได้เรื่อยๆ ตัวอย่างคนชั้นกลางล่างที่เป็นคนเสื้อแดงถูกแกนนำของพวกเขาหลอกไป เจ็บ ตาย ติดคุก ในขณะที่แกนนำที่หลอกพวกเขากลับได้ดิบได้ดีเสวยสุขเป็นอำมาตย์ไปก็มีให้เห็นเป็นประจักษ์ เรื่องจำนำข้าวนี้ก็เช่นกัน

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่คนเสื้อแดงสนับสนุนบอกว่าการประกันราคาในรูปแบบของการจำนำข้าวได้ผลดีกว่าประกันรายได้ที่ทำมาโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์เพราะชาวนาได้ประโยชน์มากกว่า คนชั้นกลางล่างจะรู้ไหมว่าในข้อเท็จจริงนโยบายใดดีสำหรับชาวนาที่เป็นสหายชนชั้นเดียวกับพวกตน แม้แต่นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ปี 4 บางส่วนก็ยังเชื่อที่เขาเล่าให้ฟัง

การประกันราคาหมายถึงการกำหนดราคาให้คงที่ ณ ระดับใดระดับหนึ่ง เนื่องจากมุ่งหวังลดความผันผวนจากราคาที่อาจเปลี่ยนแปลงไปจากราคา(ประกัน) ที่ต้องการกำหนดให้สูงกว่าราคาตลาด ดังนั้นหากจะทำให้ได้ผลก็ต้องมีการแทรกแซงราคาซึ่งจะก่อให้เกิดผลการขาดทุนเพราะไปซื้อพยุงราคา(ประกัน) ที่สูงเกินราคาซื้อขาย (หากไม่มีการแทรกแซง)

การประกันจึงไม่ใช่การจำนำแต่อย่างใด เพราะการจำนำนั้นหมายถึงการนำเอาทรัพย์สินมาเป็นหลักประกันเพื่อกู้ยืมเงิน หากไม่มาไถ่ถอนนำเงินมาคืนในเวลาที่กำหนดก็ถือว่าขายทรัพย์ดังกล่าวให้ผู้รับจำนำในราคาที่จำนำเอาไว้ซึ่งจะต่ำกว่าราคาตลาด หาได้สูงกว่าราคาตลาดดังเช่นการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์แต่อย่างใดไม่เพราะจะหาใครมาไถ่ถอนคืนหากเท่ากับหรือสูงกว่าราคาตลาด

แม้การประกันราคาข้าวจะทำให้ชาวนาได้รับผลประโยชน์ในด้านลดความผันผวนของราคาขาย ดูเสมือนว่าชาวนามีหลักประกันด้านรายได้เพราะสามารถขายข้าวได้ในราคาที่แน่นอน แต่แท้จริงแล้วชาวนามีหลักประกันด้านรายได้เกิดขึ้นจากการประกันราคาจริงหรือ?

ประเด็นข้อเท็จจริงก็คือ ข้าวก็เป็นสินค้าเกษตรที่มีคุณลักษณะสำคัญแตกต่างจากสินค้าอุตสาหกรรมหรือบริการก็คือ ใช้เวลาในการผลิตนาน ทำให้เผชิญกับความไม่แน่นอนในด้านผลผลิตที่จะได้รับอันเป็นสาเหตุที่สำคัญอันหนึ่งก็ความผันผวนในรายได้ที่ชาวนาจะได้รับ หากผลผลิตเสียหายจากภัยธรรมชาติหรือเหตุอื่นใด ไม่ว่าราคาประกันจะดี(สูง)เพียงใดชาวนาก็จะไม่ได้รับประโยชน์เพราะไม่มีผลผลิตมาขายในราคาประกัน ความไม่แน่นอนในด้านรายได้ของชาวนาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอยู่ดี

นี่จึงเป็นข้อแตกต่างที่สำคัญของการประกันราคากับการประกันรายได้ เพราะรายได้มาจากราคาขายคูณกับผลผลิตที่ผลิตได้ การประกันรายได้แก้ปัญหาความไม่แน่นอนทั้งราคาและผลผลิตไปได้พร้อมๆ กันไม่ว่าราคาจะลดหรือผลผลิตจะเพิ่มจนล้นตลาดก็ตาม ในขณะที่การประกันราคาแก้ปัญหาที่ราคาแต่เพียงลำพังหาได้แก้ปัญหาที่รากฐานที่ว่าการเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนด้านดินฟ้าอากาศแต่อย่างใดไม่

ดังนั้น นโยบายประกันราคาจึงไม่สามารถสร้างความมั่นคงด้านรายได้อันจะเป็นผลประโยชน์ของชาวนาได้ดีเท่าการประกันรายได้ มิพักจะกล่าวถึงว่านโยบายประกันรายได้จะใช้เงินภาษีเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับชาวนาน้อยกว่าการใช้นโยบายประกันราคาอย่างเปรียบเทียบไม่ได้ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อไปซื้อผลผลิตจากชาวนาในราคาประกันเพื่อสร้างรายได้ให้ชาวนาแต่เพียงทางเดียว รัฐบาลยังมีทางเลือก เช่น จ่ายเงินสมทบชดเชยในส่วนรายได้ที่(ประกัน)ขาดไป หรือให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าโดยให้ชาวนามีทางเลือกตัดสินใจเองว่าจะปลูกข้าวหรือไม่ หรือปลูกในจำนวนเท่าใดโดยไม่ต้องนำอาข้าวมาขายให้รัฐบาลรับซื้อแต่อย่างใด พูดเข้าใจง่ายๆ ก็คือไม่จำเป็นต้อง “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” ด้วยนโยบายประกันราคานั่นเอง

ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ก็ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า หากฝ่ายการเมืองโดยรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงตลาดด้วยการประกันราคาในสินค้าใดก็ตาม มักจะก่อให้เกิดความเสียหายด้านการเงินติดตามมาอย่างมหาศาล

การตรึง(ประกัน)ราคาน้ำมันดีเซลในช่วงปลายปี 2548-9 ในสมัยทักษิณทำให้เกิดความเสียหายมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท หรือการแทรกแซงตรึง(ประกัน)ค่าเงินบาทเมื่อปลายปี 2539-40 จนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่กว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต้องหมดลงอย่างรวดเร็วจนนำมาสู่วิกฤตเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย หรือการประกันราคาข้าวในชื่อการจำนำข้าวในปี 2555-6 ที่เกิดขึ้นและพยายามปกปิดยอดความเสียหายที่อาจมีถึงหลักแสนล้านบาทอยู่ในปัจจุบัน
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือนโยบายจำนำข้าวทำให้ชาวนาได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากราคาที่เพิ่มหรือไม่ ข้อมูลราคาข้าวที่ชาวนาได้รับจากการขายข้าวในอดีตที่ผ่านมา จากตารางข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ราคาข้าวก็สามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญโดยไม่ต้องมีนโยบายจำนำข้าวในราคาที่สูงลิบเกินจริงอย่างที่ทำอยู่ เช่น ในปี พ.ศ. 2551 ที่ราคาเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึงตันละ 3 - 5 พันบาท และในอีกทางหนึ่งราคาข้าวที่ชาวนาขายข้าวได้ในปี พ.ศ.2555 (ม.ค.-พ.ย.) อันเป็นปีเริ่มต้นของนโยบายจำนำข้าวก็มิได้เพิ่มขึ้นหรือแตกต่างกับราคาในปีที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด

ไม่สงสัยบ้างหรือว่านโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคาจำนำข้าวเปลือก 5 % 15,000 บาท/ตัน หรือหอมมะลิ 20,000 บาท/ตัน ทำไมราคาข้าวที่ชาวนาขายได้จึงต่ำกว่าราคาจำนำมากทั้งๆ ที่ทำมาเกือบ 3 รอบการผลิตแล้ว แสดงว่าชาวนาขายข้าวได้ต่ำกว่าราคาประกันใช่หรือไม่? แล้วจะมาเบิกเงินกับประชาชนผู้เสียภาษีเพื่อการนี้เต็มราคาจำนำหรือไม่? การอ้างว่าขายข้าวให้ต่างประเทศได้แล้วโดยส่งมอบให้ผู้ซื้อที่หน้าโกดังภายในประเทศนั้น ไม่ได้ทำให้ข้าวออกนอกประเทศแต่กลับหมุนเวียนอยู่ภายในประเทศใช่หรือไม่?

ทั้งหมดนี้ล้วนมุ่งไปสู่ข้อสรุปคือชาวนาไม่ได้ประโยชน์จากนโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ด เป็นตัวอย่างที่ดีของการดำเนินนโยบายผิดพลาดต่อสู้กับกลไกตลาดที่แข็งแกร่งกว่าอำนาจทางการเมืองของฝ่ายการเมืองโดยความเสียหายด้านตัวเงินจะตกอยู่กับประชาชนโดยรวมหาใช่ผู้ดำเนินนโยบายไม่

คนเรามีพลาดได้ หากพลาดซ้ำซากจะถูกคนอื่นดูถูกเรียกว่า “โง่” คนชั้นกลางล่างทั้งหลายจึงควรตระหนักว่าถูกรัฐบาล “ต้ม” ซ้ำซากอีกแล้วใช่หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น