xs
xsm
sm
md
lg

“โต้ง” แจงวุฒิสภา ปัด “ปู” เมินสภาอ้างติดงาน ขอมั่นใจดูแลรับจำนำข้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (แฟ้มภาพ)
วุฒิฯ อภิปรายจำนำข้าวต่อ ส.ว.กำแพงเพชร ออกตัวหนุนสุดลิ่ม อ้างโกงมีทุกรัฐบาล แต่จี้ต้องแก้ แนะตั้งสหกรณ์ช่วย ด้าน ส.ว.เพชรบุรี ยันไม่เคยคิดล้มแค่อยากให้ทบทวน จวกอย่าเอาชาวนาเป็นตัวประกัน เสนอ 7 ข้อแก้ ขณะที่ “กิตติรัตน์” แจงอ้างนายกฯ ติดภารกิจมาไม่ได้ โอ่เน้นอธิบายไม่เน้นโต้การเมือง ขอมั่นใจดูแลรับจำนำ ไม่นิ่งนอนใจฟันพวกโกง

วันนี้ (23 พ.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 15.40 น. การประชุมวุฒิสภานัดพิเศษของสมาชิกวุฒิสภา เพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปคณะรัฐมนตรี โดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา เป็นประธานในที่ประชุม โดยนายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร อภิปรายสนับสนุนนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล โดยเห็นว่า ควรที่จะดำเนินนโยบายนี้ต่อไปเพราะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งราคาจำนำที่ 15,000 บาทต่อตันนั้น ตนเชื่อว่าจะมีเงินจำนวนไม่น้อยกว่า 12,000 บาทต่อตันถึงมือประชาชนอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ตนขอให้รัฐบาลใช้เงินจำนวนกว่า 4 แสนล้านบาทให้เป็นประโยชน์ และช่วยให้เกษตรกรมีอำนาจการต่อรองในการซื้อขาย ส่วนข้อบกพร่องในเรื่องของการทุจริตนั้นตนเห็นว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลก็ประสบปัญหาดังกล่าว ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเร่งแก้ไข และที่สำคัญต้องอย่าให้นักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริต

นายกฤช กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ขอฝากไปถึงรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ใช้สหกรณ์ที่มีให้เป็นประโยชน์โดยเริ่มต้นที่สหกรณ์ผู้ผลิต นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องมีการตั้งสหกรณ์คนกลาง และสหกรณ์ที่จะส่งออก ตนเชื่อว่าถ้ามีการตั้งสหกรณ์ทั้ง 3 ตามที่กล่าวมาแล้วจะทำให้รัฐบาลสามารถทำงานได้อย่างเข้มแข็ง และมีปริมาณข้าวที่จะส่งออกเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะมีการแช่แข็งประเทศไทยเป็นเวลา 5 ปีตามแนวคิดของคนบางกลุ่มแต่ตนก็เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน

ด้าน น.ส.สุมล สุตวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี อภิปรายว่า โครงการนี้มีการท้วงติงจากหลายภาคส่วน ทั้งนี้ ยืนยันว่าตนรวมถึงทุกคนไม่เคยคิดล้มเพียงโครงการดังกล่าว แต่อยากให้รัฐบาลทบทวน แทนที่จะเอาชนะเสียงทักท้วง ตนไม่อยากให้รัฐบาลเอาชาวนามาเป็นตัวประกัน และให้ผู้ที่ทักท้วงไปชนกับชาวนา เมื่อมีการทักท้วงต้องมีการชี้แจง และมีคตวามโปร่งใสหากรัฐบาลต้องการให้ดำเนินโดยไม่ถูกครหา ตนขอเสนอแนะว่า 1 สิ่งที่จะทำให้รัฐบาลดำเนินโครงการนี้ถึงชาวนาอย่างแท้จริงนั้นต้องมีบริบทที่พร้อมกันกับโครงการนี้ โดยเฉพาะในเรื่องที่ดิน รัฐบาลจะต้องให้เกษตรกรมีที่ดินเป็นของตัวเองโดยเงินในส่วนที่รัฐบาลไปรับจำนำข้าว 1 ใน 4 ส่วนนั้นควรเอามาจัดหาที่ดินให้ชาวนา หากเป็นเช่นนี้ประชาชนจะมีที่ดินเป็นของตนเอง 2.ปัญหาเรื่องน้ำ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการบริหารจัดการน้ำที่ใช้ไม่ได้ รัฐบาลจึงต้องดูแลเรื่องน้ำ ซึ่งตนหวังว่าคณะกรรมการบางชุดที่ดูแลในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ และมีการกู้เงินกว่า 4.7 แสนล้านบาทจะมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี

น.ส.สุมล ยังกล่าวว่า นอกจากนี้ 3.กำหนดราคารับจำนำให้เหมาะสมกับต้นทุน 4.ส่งเสริมให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อให้มีต้นทุนต่ำ 5.ใช้ประโยชน์จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ 6.การระบายข้าวต้องมีการดำเนินการอย่างโปร่งใสว่าเรื่องดังกล่าวมีการดำเนินการจริง และ 7.รัฐบาลต้องมีการติดตาม และประเมินผลหลังการปฏิบัติรัฐบาลว่าเป็นอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ต้องชี้แจง และบอกแก่ประชาชนว่า รัฐบาลมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง ดังนั้น ตนจึงขอฝากไปยังนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพณิชย์ว่า ต้องมีความชัดเจนในเรื่องนี้เพื่อให้การดำเนินการปราศจากคำครหา

ขณะที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญต่อหน้าที่รัฐสภามาโดยตลอด แต่ที่ผ่านมานั้น มีภารกิจต่างๆ ทั้งใน และนอกประเทศเยอะ ทำให้ไม่สามารถมาเข้าร่วมประชุม แต่นายกรัฐมนตรีก็ได้สั่งการให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้ามารับฟังการอภิปราย ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำไปพัฒนาการบริหารประเทศ อย่างไรก็ตาม ตนก็ต้องขออภัยแทนนายกฯ ด้วย

นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า เรื่องของความปรองดอง หรือการแตกต่างทางความคิดนั้น ทางนายกฯ ก็ได้ให้ความสำคัญ แต่จะเน้นในเรื่องการอธิบาย ไม่เน้นที่จะโต้เถียงทางการเมือง จึงทำให้บางครั้งดูเหมือนว่ารัฐบาลไม่ค่อยจะชี้แจงมากนัก ในส่วนปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนใต้นั้น ทุกฝ่ายก็กำลังดำเนินการกันอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นทางภาครัฐ หรือเอกชน

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ นโยบายของรัฐบาลนั้นยังมุ่งเน้นที่จะให้เกษตรกรมีรายได้มากยิ่งขึ้น และการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพ จึงพยายามที่จะดูแลราคาสินค้าพืชผลสำคัญๆ ในส่วนของโครงการรับจำนำข้าวนั้น ที่หลายฝ่ายให้ความกังวลกันว่า ทางรัฐบาลจะสามารถขายข้าวที่รับมาในโครงการได้หรือไม่ ว่าจะทำให้ขาดทุนมากเกินไปหรือไม่ บ่อยครั้งที่ผู้อภิปรายมักจะมีความเชื่อในเรื่องของการประกันรายได้ ที่รัฐบาลชุดก่อนได้ใช้ในการดูแลรายได้ให้แก่เกษตรกร จึงดูเหมือนว่านโยบายการประกันรายได้นั้นไม่ขาดทุน ส่วนการจำนำข้าวนั้นจะขาดทุนโดยการใช้งบประมาณ โดยข้อมูลแล้วการประกันรายได้คือ การสัญญาว่าหากเกษตรกรขายข้าวได้น้อยกว่าการประกัน ผู้ที่จะช่วยชดเชยในส่วนนั้นคือ รัฐบาล ซึ่งก็เอาเงินมาจากงบประมาณ โดยในปี 52-53 นั้น ใช้เงินไปกว่า 60,000 ล้านบาท แต่ในงบประมาณที่ 2 53-54 นั้นใช้งบประมาณไป 71,000 ล้านบาท ดังนั้น รวมกันก็มากกว่า 130,000 ล้านบาท โดยข้อเท็จจริงทางรัฐบาลก็ด้จัดสรรงบประมาณมาแก้ปัญหาตรงนี้ประมาณ 90,000 ล้านบาท และยังคงอีก 40,000 ล้านบาทที่รัฐบาลได้วางไว้ และยังคงตั้งใจที่จะสานต่อ และเพื่อให้ชีวิตของชาวนาที่ดีขึ้น ทางรัฐบาลจึงรับจำนำข้าวอยู่ที่ราคา 15,000 บาทต่อตัน ซึ่งมีคนวิจารณ์ว่าอาจจะไม่ถึง ก็ถือว่าเป็นความจริงเนื่องจากยังมีเรื่องของค่าความชื้นที่เกินกว่ากำหนดไว้เข้ามามีผลต่อราคาด้วย โดยการทอนราคาลง

นายกิตติรัตน์ ยังกล่าวต่อว่า ถ้าหากเราจะดูแลเกษตรกรให้มีระดับที่สูงขึ้น ก็จะต้องใช้งบประมาณที่สูงขึ้นกว่าเดิมมาก ดังนั้น รัฐบาลจึงได้เลือกใช้วิธีการจำนำ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้อยากจะซื้อขาด แต่หากกลไกตลาดราคาสูงกว่าราคารับจำนำทางรัฐบาลก็จะต้องคืนส่วนต่างให้แก่เกษตรกร แต่ในระยะสั้นจากการประเมินราคาตลาดคงจะไม่สูงกว่า เพราะฉะนั้น การขาดทุนจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ ในวันที่ขายนั้นราคาในท้องตลาดต่ำกว่าราคาที่รับจำนำ ตนขอให้ความมั่นใจในการดูแลเรื่องการรับจำนำ และการจำหน่ายนั้น ส่วนการทุจริตในระดับปฏิบัติที่เกิดขึ้นภายในโครงการนั้นทางรัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ


กำลังโหลดความคิดเห็น