xs
xsm
sm
md
lg

คลังเตือน พณ.จำนำข้าวสร้างภาระงบฯ อย่างหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คำนูณ” เผยเอกสารกระทรวงการคลังทำถึงรัฐบาลระบุจำนำข้าวสร้างภาระหนักต่องบประมาณ แค่ของปี 54-55 ต้องเสียค่าปรับโครงสร้างหนี้ราวปีละ 2.2 แสนล้านบาทต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี หากฝืนทำต่อจนครบวาระ ภาระจะพุ่งถึง 3 แสนล้านต่อปี แนะไม่เชื่อคนอื่นก็ขอให้เชื่อคนของตัวเอง เตือนเห็นเค้าลางวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ แล้วจะสาหัสกว่าปี 40




วันที่ 6 พ.ย. นายคำนูณ สิทธิสมาน และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว. สรรหา ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

โดยนายคำนูณ ได้กล่าวถึงหนังสือด่วนที่สุดของกระทรวงการคลังทำถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยฉบับแรกลงวันที่ 18 กันยายน 2555 ลงนามโดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีการคลัง โดยมีที่มาจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักจัดการหนี้ 2 และอีกฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม 2555 ลงนามโดยนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง โดยต้นร่างมาจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เช่นเดียวกัน

เมื่อวานตนได้ถามนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย ท่านบอกว่า “ลงนามจริง และแม้อยู่ร่วมรัฐบาลแต่สิ่งที่กระทรวงการคลังห่วงใยในสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ทำ ก็จะไม่ละเลยที่จะกล่าวถึง” หนังสือมาจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ก็เพราะมีหน้าที่กู้เงิน แล้วโครงการจำนำข้าวนี้ เจ้าของโครงการคือกระทรวงพาณิชย์ ในมุมมองของหนังสือ 2 ฉบับ ไม่ได้พูดเรื่องคอร์รัปชัน โครงการดีหรือไม่ดี แต่พูดถึงการเป็นห่วงภาระหนี้สาธารณะต่อรายจ่ายงบประมาณประจำปี ซึ่งตอนนี้ไทยมีหนี้สาธารณะ 5.01 ล้านล้านบาท คิดเป็น 44.8 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แต่แผนการบริหารหนี้สาธารณะปี 56 เรากำลังจะกู้ใหม่ 9.5 แสนล้านบาท ตัวที่สำคัญคือ การที่กระทรวงการคลังจะกู้มาให้รัฐวิสาหกิจรวมทั้งสถาบันการเงินกู้ต่อ หรือค้ำประกันให้รัฐวิสาหกิจ และสถาบันการเงินของรัฐ มันจะมีกรอบเพดานว่าให้ค้ำประกันได้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพราะฉะนั้น ตัวเลขเพดานนี้จะอยู่ที่ 4.8 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ คลังเสนอว่าจะค้ำประกันให้ ธ.ก.ส. แค่ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับการปรับโครงสร้างหนี้จากปีเก่าอีก 1.13 แสนล้านบาท ก็จะอยู่ที่ประมาณ 2.6 แสนล้านบาท คิดเป็น 55 เปอร์เซ็นต์ของวงเงิน ทีนี้เมื่อโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรกินไปถึง 55 เปอร์เซ็นต์ของวงเงินแล้ว มันก็ทำให้รัฐวิสาหกิจอื่นที่จำเป็นต้องใช้เงิน ที่จะต้องให้กระทรวงการคลังค้ำประกันมันถูกแช่แข็งไปโดยปริยาย และไม่เพียงแต่ 55 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในหนังสือที่ลงนามโดยนายกิตติรัตน์ มีตัวเลขปีเก่าอีกที่จะต้องปรับโครงสร้างหนี้ หรือข้าวนาปรังปีการผลิต 2554/55 รวมๆ แล้วจะกินไปถึง 66 เปอร์เซ็นต์ของวงเงิน คือ 4.8 แสนล้านบาท

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ทำไมคลังถึงต้องห่วงใยในเรื่องนี้ ตนขอใช้หนังสือลงนามวันที่ 3 ตุลาคม ประเด็นที่สงสัยคือ รัฐจะค้ำประกันให้วงเงินแค่ 1.5 แสนล้านบาทเท่านั้น ในขณะที่โครงการทั้งนาปรัง นาปี ของปี 2555/56 ต้องใช้เงินทั้งสิ้น 4.05 แสนล้านบาท คลังบอกว่า “ส่วนที่เหลือเห็นควรให้ ธ.ก.ส.ระดมเงินจากตลาดและเงินฝาก ธ.ก.ส.ตามกรอบของพระราชบัญญัติ ธ.ก.ส.เป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้ให้โดยไม่ค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว”

แล้วควรเข้าใจด้วยว่า 1.5 แสนล้านบาทที่คลังจะค้ำประกันให้ ไม่ใช่สำหรับปีการผลิตใหม่เท่านั้น ของปีเก่าที่ค้างอยู่ก็ต้องใช้ตัวนี้ด้วย โดยคณะรัฐมนตรีมีมติออกมาว่าวงเงินที่ ธ.ก.ส.ใช้ในการจำนำข้าวต่อไป ให้ใช้วงเงินจากกระทรวงพาณิชย์ที่ได้จากการขายข้าวมาส่งคืนให้ โดยต้องส่งคืนภายในสิ้นปีนี้ 8.5 หมื่นล้านบาท ตอนนี้ส่งคืนแล้ว 4.2 หมื่นล้านบาท พาณิชย์ก็บอกว่าขายได้แน่ไม่อย่างนั้นทำไมถึงมีเงินส่งคืนแล้ว 4.2 หมื่นล้านบาท แล้วสิ้นปีจะส่งครบนแน่นอน พาณิชย์พยายามให้ดูผลเป็นหลัก มากกว่าให้ดูว่าขายให้ใคร ได้เท่าไหร่

ธ.ก.ส.ก็จะเอาเงินจากพาณิชย์ไปหมุนในการรับจำนำปีต่อๆ ไป ตนก็ถามว่าถ้าเงินไม่มาทำอย่างไร ธ.ก.ส.ตอบว่าเขาก็จะไม่กู้เองโดยคลังไม่ค้ำประกัน นอกจากจะออกมติ ครม.รองรับชัดเจน ฉะนั้น การขายข้าวได้ หรือขายได้ในราคาเท่าไหร่ จึงสำคัญที่โครงการนี้จะเดินต่อไปได้หรือไม่

ทีนี้มาดูความเห็นของกระทรวงการคลัง ข้อ 2.1ระบุว่า “...เป็นภาระงบประมาณที่สูงมาก จำเป็นต้องปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากระบายสินค้าเกษตรได้ช้าและไม่มีงบประมาณเพียงพอ ดังนั้น ก่อนการดำเนินโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตรต่อไป จึงควรมีการประเมินผลกระทบโครงการ และแนวทางการบริหารจัดการวงเงินสำหรับการดำเนินโครงการอย่างเป็นรูปธรรม”

ข้อต่อไป 2.2 “ เฉพาะปีการผลิต 2554/55 เป็นวงเงินที่สูง และเป็นภาระต่อเนื่องต่องบประมาณ ทั้งในส่วนเงินทุน ธ.ก.ส. กรอบวงเงินกู้เดิม และส่วนที่อยู่ระหว่างขยายปริมาณและกรอบการใช้เงิน (กรณีพิเศษ) เพิ่มเติม รวมทั้งสิ้น 408,160 ล้านบาท รวมทั้งกินวงเงินค้ำประกันของโครงการลงทุนของประเทศของหน่วยงานอื่นๆ ดังนั้นหากจะมีการดำเนินโครงการต่อเนื่อง ควรมีการวิเคราะห์และประเมินผลของโครงการที่ได้ดำเนินการแล้ว รวมทั้งนโยบายการระบายผลิตผลทางการเกษตรที่รับจำนำอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนการดำเนินการโครงการใหม่ ซึ่งใช้วงเงินสูงถึง 405,000 ล้านบาท ทำให้ภาระงบประมาณเพิ่มสูง

หากยังไม่มีการระบายผลผลิตโครงการรับจำนำผลิตผลทางเกษตรดังกล่าว จะส่งผลต่อความสามารถของกระทรวงการคลังในการค้ำประกันเงินกู้โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56

และหากกรณีระบายผลิตผลที่รับจำนำได้ใน 3 ปี จะมีภาระการบริหารการปรับโครงสร้างหนี้เฉลี่ยปีละ 224,553 ล้านบาท ซึ่งกระทบต่อการระดมทุนในตลาดเงินที่มีสภาพคล่องตึงตัว ทั้งในด้านต้นทุน การกู้เงินที่สูงขึ้น และเป็นภาระงบประมาณเพิ่มสูงขึ้นต่อไป” หนังสือระบุ

นายคำนูณ กล่าวขยายความว่า ปี 2554-2555 ต้องปรับโครงสร้างหนี้ 3 ปีเป็นอย่างต่ำ ปีละ 2.2 ล้านบาท แล้วปี 2555-2556 และของเก่าที่ค้างอยู่อีก ถ้าโครงการรับจำนำข้าวเดินไปจนสิ้นอายุขัยรัฐบาลชุดนี้ เราจะมีภาระในการปรับโครงสร้างหนี้ปีงบประมาณปีละ 3 แสนล้านบาท เทียบกับงบประมาณรายจ่ายปี 56 ขาดดุลทั้งสิ้น 3 แสนล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่าเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ของโครงการรับจำนำข้าว จะต้องกินภาระต่องบประมาณเท่ากับการขาดดุลงบประมาณทั้งปี แล้วดูตัวเลข 408,000 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว กับปีการปลิตใหม่ 405,000 ล้านบาท ดูงบประมาณรายจ่ายปีล่าสุด 2.4 ล้านล้านบาท 4 แสนก็เท่ากับ 1 ใน 6 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และถ้าพูดถึงเฉพาะงบลงทุนในงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ประมาณ 4 แสนล้านบาท จะเท่ากับว่าเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว ใช้งบเท่ากับงบลงทุนในประเทศในปีงบประมาณหนึ่ง

ดูข้อ 2.3 ระบุอีกว่า “การรายงานผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ดังกล่าว ไม่สอดคล้องตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะต้องกำกับ ติดตาม ควบคุม รวมทั้งรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงาน การเบิกจ่าย การระบายสินค้า ปริมาณ และมูลค่าสินค้าคงเหลือ รวมทั้งปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น สำหรับโครงการที่ดำเนินการในปีการผลิต 2554/55 ทุกโครงการ”

ในข้อ 2.6 กระทรวงการคลังเสนอว่า “โครงการรับจำนำข้าวเปลือก เป็นโครงการที่ดีช่วยเหลือเกษตรกร อย่างไรก็ตาม การรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด ควรมีมาตรการวางแผนการรับจำนำที่ดี และควรดูแลเรื่องข้าวสวมสิทธิจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในอนาคตเมื่อมีการเปิดเสรีอาเซียนในปี 2558 นอกจากนั้น โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของประเทศไทยส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น ประเทศส่งออกรายอื่นได้ประโยชน์”

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ตนเป็นห่วงเรื่องหนี้สาธารณะ โดยรัฐบาลวางแผนเปลี่ยนประเทศด้วยการลงทุนในสาธารณูปโภค ซึ่งภาระหนี้สาธารณะจะสูงที่สุดในปี 2559 และพบว่า มันจะมีตัวแปรที่สำคัญคือโครงการรับจำนำข้าว ถ้ารับจำนำไปเรื่อยๆ ตัวเลขปรับโครงสร้างหนี้ก็จะไล่ไป สรุปแล้วเราต้องปรับโครงสร้างหนี้ประมาณปีละ 3 แสนล้านบาท

อีกทั้งจากนี้ไปคนจะปลูกข้าวมากขึ้น เพราะเป็นการลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยง เพราะรัฐรับซื้อทุกเมล็ด เงินที่ใช้ก็ต้องมากขึ้น ภาระหนี้ก็จะสูงขึ้น ภาระงบประมาณก็จะมีมากขึ้นด้วย แต่รัฐบอกขายได้ และเอาเงินมาให้ ธ.ก.ส. แต่แน่นอนขายขาดทุน เพราะ ธ.ก.ส.ปลอดภัย เพราะมีมาตรการช่วยเหลือด้วยการแยกบัญชีไว้ พอสิ้นปีงบประมาณก็ให้สำนักงบประมาณจ่ายคืน ซึ่งนั่นก็เป็นเงินที่มาจากภาษีประชาชน
เรายอมได้ถ้าทำให้ชาวนามีรายได้ดีขึ้น แต่ภาระหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น ภาระงบประมาณ ภาระเบียดบังโครงการอื่นๆ จะทำให้เสถียรภาพการเงินการคลัง 3 ปีจากนี้ไป รัฐจะเอาอยู่หรือไม่ แล้วจะไปกระทบโครงการเปลี่ยนประเทศด้วยการลงทุนในสาธารณูปโภคหรือไม่ ซึ่ง ดร.โกร่งบอกว่าถ้าเร่งลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐาน ตอนนี้ยุโรปกำลังทรุด พอยุโรปฟื้นใน 10 ปีข้างหน้า ไทยจะทัดเทียมยุโรปได้เลย แต่ทำไมรัฐบาลไม่เชื่อ ดร.โกร่ง ไม่เชื่อกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นคนของท่านเอง ทำให้เห็นเงาวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่

นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ จะไม่เหมือนตอนปี 40 เพราะตอนปี 40 เกิดจากภาคเอกชน แต่ภาครัฐแข็งแรง จึงเข้ามาโอบอุ้มได้ แต่นี่เกิดจากภาครัฐ อีกทั้งตอนปี 40 วิกฤตเกิดที่ไทยที่เดียว สินค้าส่งออกจึงมีความต้องการมาก แต่นี่อเมริกาก็หนัก ยุโรปก็เดี้ยง ถ้าเกิดวิกฤตครั้งนี้จะหนักหนาสาหัสกว่ามาก แล้วอย่างว่าตอนนี้หนี้สาธารณะยังไม่ถึงเพดาน แต่มันก็ตัดสินไม่ได้ เพราะมีหลายประเทศหนี้สาธารณะไม่ได้สูงแต่ประเทศล่มก็มี

กำลังโหลดความคิดเห็น