“คำนูณ” หยันจำนำข้าวแหวกธรรมเนียม ยกให้เป็นโครงการ 4 ต. จี้ขอดูสัญญาจีทูจี ชี้ผลประโยชน์มหาศาลส่วนต่างราคาขายหน้าคลัง จ้างเปาเกา เตือนซ้ำรอยวิกฤตลำใยตากแห้ง ด้าน “ไพบูลย์” ลั่นตามติดปราบโกง ตั้งแง่สัญญาโคตรลับหวังซิกแซกเงินเข้ากระเป๋า
วันที่ (17 ต.ค.) เวลา 20.30-22.00 น. รายการ “คนเคาะข่าว” คุยกับ นายคำนูณ สิทธิสมาน และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ผ่านทางสถานี ASTV ถึงกรณีใครได้ใครเสียประโยชน์ต่อนโยบายรับจำนำข้าว
นายคำนูณกล่าวถึงนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลว่า ถ้าจะเรียกให้ถูกก็คือนโยบายล้มระบบการค้าข้าว เนื่องจากรัฐตั้งตัวเป็นพ่อค้าข้าวผูกขาดแต่ผู้เดียวเสียเอง ถือเป็นนโยบายที่เลวโดยตัวของมันเอง จะไปแก้ไขขันตอนปฏิบัติอย่างไรก็ไมสำเร็จ เพราะเป็นนโยบายฝืนธรรมชาติ 1. รับจำนำสูงกว่าราคาตลาด 2. เก็บไว้ในรูปข้าวสาร 3. ข้าวเป็นสินค้าที่เสียหายได้ แต่ดันเก็บไว้จำนวนมหาศาล
การขายข้าวแบบจีทูจี หรือการขายหน้าโกดัง หมายถึง ให้ประเทศผู้ซื้อมารับข้าวที่หน้าโกดังของรัฐ แล้วไปจัดการเปาเกา กล่าวคือ แยกประเภทข้าว บรรจุหีบห่อ ขนส่งลงเรือเอง ถามว่าจะมีประเทศหน้าโง่ที่ไหนมาทำสัญญาซื้อข้าวแบบนี้บ้าง ไม่ผิดที่บรรดากูรูในวงการค้าข้าว เรียกสัญญาจีทูจีแบบนี้ว่า เป็นการขายผ่านนายหน้าที่เป็นบริษัทส่งออกใหญ่ของไทย แล้วก็ไปฮั้วกับบริษัทเอกชนประเทศต่างๆเข้ามาซื้อ เพื่อกินส่วนต่างระหว่างราคาหน้าคลังกับการเปาเกา
“เป็นไปไม่ได้ที่ประเทศไหนจะยอมรับสัญญาซื้อหน้าคลัง แล้วเอาข้าวไปจ้างบริษัทในไทยบรรจุหีบห่อ แยกประเภทเอง หากไม่มีคนรู้อยู่ก่อนแล้วจัดการให้ นอกจากรู้อยู่ก่อนแล้วว่ามีคนจัดการให้ ที่น่าสนใจผลประโยชน์เงินทอนจะมีการจัดสรรปันส่วนให้ใครบ้าง ตรงนี้เป็นปริศนา”
นายคำนูณกล่าวถึงกรณีที่บรรดา ส.ว.ยื่นฟ้องร้องการขายข้าวจีทูจีขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ว่า สุดท้ายแล้วผลจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ศาลจะพิจารณา แต่สิ่งที่อยากหวังเป็นอย่างยิ่ง อยากเห็นสัญญา ถ้ารัฐบาลบอกว่าสัญญาไม่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามมาตรา 190 ก็ไม่เป็นไรขอให้เอาให้ดู แค่อยากเห็น อย่างน้อยจะได้รู้ว่ามีการขายข้าวจริงหรือไม่ ขายให้ประเทศไหนบ้าง อย่างไรก็ดี หากไม่ใช้ช่องทางนี้ยังเหลืออีกช่องทาง คือ ยืนปปช. กล่าวหารัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกระทำผิดอาญา มาตรา 157 และรัฐธรรมนูญ มาตรา 275 หรือจะให้ให้ประชาชนเข้าชื่อกัน 2หมื่นรายชื่อ ยื่นถอดถอนตามมาตรา 270
นายคำนูณจำแนกเงื่อนงำนโยบายจำนำข้าว ได้ 4 ต. มี 1. ตกเขียวคะแนนเสียง หวังผลซื้อใจชาวนา 2. ตีเมืองขึ้น ถือว่าโรงสีที่เข้าร่วมโครงการเป็นหนี้บุญคุณต่อรัฐหรือนักการเมืองที่กำหนดนโยบาย เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งต้องเทคะแนนให้ หรือบริจาคเงินเข้าพรรคการเมืองนั้นๆ 3. ใต้โต๊ะ หรือตั้งโต๊ะ พ่อค้าส่งออกบางรายที่เป็นพรรคพวกของรัฐบาล เป็นนายหน้าเร่ขายกับประเทศต่างๆ เพื่อแบ่งส่วนต่างราคา และสุดท้าย 4. ตาย ระบบการค้าข้าว คุณภาพข้าวไทย พังทลาย ชาวนาจะเลือกปลูกข้าวคุณภาพแย่ที่เก็บเกี่ยวได้ไว เพราะรัฐบาลรับจำนำไม่อั้น นอกจากนี้ระบบการเงินการคลังของประเทศ หนี้สาธารณะ ตลอดจนชาวนา สุดท้ายก็ต้องตายไปด้วย
“สุดยอดนวัตกรรม ซื้อแพงขายถูกขาดทุนไม่เป็นไร อ้างช่วยชาวนาลืมตาอ้าปากได้ ใครตำหนิโครงการต้องระวังกลายเป็นว่าไม่รักคนจน แต่อย่าลืมในขั้นตอนการขายเบี้ยรายทางมีตลอด ตั้งแต่โรงสี ขนส่ง ปลอมปนข้าว กระนั้นตรงนี้ถือว่ามันยังเล็กน้อย ของใหญ่มันอยู่ที่ “จีทูจี” ตอนขายออกขายราคาเท่าไรก็ได้ เพราะรัฐไม่ต้องคำนึงถึงราคาต้นทุน”
นายคำนูณกล่าวว่า อยากให้ประชาชนจำกรณีวิกฤตลำไยตากแห้ง รับจำนำแบบนี้สุดท้ายเน่าเสีย ต้องตั้งงบประมาณอีกจำนวนหนึ่งเพื่อไปทำลายลำไย
ขณะที่ นายไพบูลย์ กล่าวถึงสาเหตุที่อยากตรวจสอบการขายข้าว เพราะขาดทุนมโหฬาร หากขาดทุนปรกติใช้สามันสำนึกในการักษาผลประโยชน์ชาติ หรือขาดทุนโดยจำเป็นจริงๆ เราก็เข้าใจได้ แต่นี่ไม่ใช่ เป็นว่าไหนจะขาดทุนอยู่แล้ว ขอเอาผลประโยชน์ให้เต็มที่ อย่างนี้ต้องตรวจสอบ คนที่คิดโครงการนี้ ไม่ได้หวังผลเพื่อช่วยเหลือชาวนาอย่างเดียว แต่อยากหากินกับพรรคพวกด้วย จึงออกแบบต้องทำสัญญาแบบจีทูจี ตัดความเสี่ยงไม่ต้องมีการประมูล ไม่ต้องเปิดเผยราคาหน้าคลัง อ้างความลับเผิดเผยสัญญาไม่ได้ เพราะต้องการยำให้ยุ่งเข้าไว้จะได้ไม่รู้ว่าส่วนไหนช่วยชาวนาจริงๆ และส่วนไหนเข้ากระเป๋า
“หากเปิดสัญญาแล้วพบเงื่อนงำทุจริต เราตรวจต่อแน่ ถึงขั้น เอารถอะไรขน ขนไปที่ไหนอย่างไร เพราะเป็นความผิด อย่างไรก็ดีหากไม่ได้ทุจริตก็ขออนุโมทนา”
นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า ในส่วนเห็นใจชาวนา ตนเห็นแน่นอน แต่หากเกิดมีการทุจริตมโหฬารที่สุด ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ตนเชื่อชาวนาอยากให้ตนตรวจสอบ ช่วงนี้ตนทนได้หากใครจะเข้าใจผิด รอให้ตนตรวจให้ได้เสียก่อนและตนไม่คิดว่าจะตรวจไม่ได้ ตนไม่ได้คัดค้านนโยบายจำนำข้าว หากเงินตกถึงมือชาวนาเต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็เอาไปเถอะ แต่ไม่อยากให้ในส่วนที่มันไม่ใช่ไปตกอยู่กับมือนักการเมืองที่วางแผนทำทุจริต อย่างน้อยการตรวจสอบหวังว่าอาจทำให้นักการเมืองหยุดเหิมเกริมทำอะไรตามอำเภอใจ แล้วคนคิดทุจริตจะลดน้อยลง ชื่อเสียงประเทศจะดีขึ้น สุดท้ายชาวนาจะอยู่ดีกินดีขึ้นในระยะยาว