xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาบุรีรัมย์แห่ขนข้าวขายโรงสีใช้หนี้ เมิน “จำนำ” เหตุยุ่งยาก โคตรล่าช้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวนาบุรีรัมย์ แห่นำข้าวเปลือกมาขายให้กับโรงสีไฟสหพัฒนา อ.สตึก เพื่อเร่งนำเงินไปใช้จ่ายค่าปุ๋ยค่าแรงงานและชำระหนี้ทั้งในและนอกระบบ เมินเข้าร่วมโครงการรับจำนำของรัฐบาล เหตุยุ่งยากล่าช้า วันนี้ ( 26 ต.ค.)
บุรีรัมย์ -ชาวนาบุรีรัมย์ แห่นำข้าวเปลือกเก็บเกี่ยวใหม่ไปขายให้แก่โรงสี เพื่อเร่งนำเงินไปใช้จ่ายค่าปุ๋ย ค่าแรงงาน และชำระหนี้ที่กู้ยืมมาทั้งใน และนอกระบบต้องแบกภาระจ่ายดอกเบี้ยทุกวัน ยันไม่นำข้าวเข้าร่วมโครงการรับจำนำของรัฐบาล เหตุขั้นตอนยุ่งยาก ได้เงินล่าช้า อีกทั้งล่าสุด จ.บุรีรัมย์ยังไม่สามารถเปิดโครงการรับจำนำได้หลังล่าช้ามานานร่วมเดือน ด้านผู้ประกอบการคาดภัยแล้งทำผลผลิตข้าวปีนี้ลดฮวบ 40 %

วันนี้ (26 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรชาวนา จ.บุรีรัมย์ ได้พากันนำผลผลิตข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวใหม่สดๆ ไม่ผ่านการตากแห้งไปขายให้แก่ผู้ประกอบการที่โรงสีไฟสหพัฒนา อ.สตึก เป็นจำนวนมาก แทนการเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2555/56 ของรัฐบาล ซึ่งโรงสีข้าวนี้เพียงแห่งเดียวมีเกษตรกรนำข้าวมาขายเฉลี่ยวันละร่วม 200 ราย หรือปริมาณข้าวเฉลี่ยวันละร่วม 60 ตัน มานานกว่าหนึ่งสัปดาห์แล้ว โดยโรงสีจะรับซื้อในกิโลกรัมละ 14.80 บาท หรือตันละ 14,800 บาท ไม่ต้องผ่านการหักสิ่งเจือปน และไม่ต้องวัดความชื้น

เกษตรกรให้เหตุผลว่า การขายข้าวให้แก่โรงสีเอง แตกต่างกับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่มีขั้นตอนยุ่งยาก และได้รับเงินล่าช้า ถึงแม้โครงการรับจำนำจะตั้งราคาไว้สูงถึงกิโลกรัมละ 20 บาท หรือตันละ 20,000 บาท (ข้าวหอมมะลิ) ก็ตาม ประกอบกับโรงสีในเขตพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 19 แห่ง ล่าสุด ผ่านมานานร่วมเดือนแล้วยังไม่สามารถเปิดรับจำนำได้ เพราะยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติขององค์การคลังสินค้า (อคส.) ถึงแม้รัฐบาลจะประกาศเริ่มดำเนินโครงการฯ มาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2555 จนถึงขณะนี้ผ่านมานานร่วมหนึ่งเดือนแล้ว

ส่วนสาเหตุที่เกษตรกรเลือกนำข้าวเปลือกสดที่เก็บเกี่ยวใหม่ มาขายโดยไม่ผ่านการตาก เพราะต้องการเร่งนำเงินไปใช้จ่ายในครอบครัว และจ่ายค่าปุ๋ย ค่าจ้างแรงงาน ทั้งต้องการนำเงินไปชำระหนี้สินนอกระบบ และหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.) ที่ได้กู้ยืมมาลงทุนทำนาก่อนจะครบกำหนดชำระ ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้ยืมสูงขึ้นทุกวันตามไปด้วย

นายจง สมโภชน์ อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 4 หมู่ 10 บ.โนนกลาง ต.แคนดง อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ปีนี้ทำนา 30 ไร่ แต่ได้ผลผลิตข้าวเพียง 15 ไร่ เพราะนาข้าวประสบปัญหาภัยแล้งหนักในรอบ 10 ปี เสียหายสิ้นเชิงไป 15 ไร่ ขณะนี้กำลังทยอยเก็บเกี่ยวออกมาขายนำเงินไปใช้หนี้ ธ.ก.ส.ที่มีอยู่กว่า 500,000 บาท เนื่องจากถึงเวลาที่ต้องชำระในช่วงเดือน พ.ย.ของทุกปี เป็นเงิน 70,000 บาท ไม่รวมดอกเบี้ย หากรอให้ถึงการเปิดรับจำนำข้าวของรัฐบาล เกรงว่าจะไม่ทันใช้หนี้ และทำให้มีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นด้วย

นายจง กล่าวต่อว่า จำเป็นต้องเก็บเกี่ยวข้าวมาขายช่วงนี้ แม้ว่าจะต้องขายข้าวสด ไม่ต้องรอตากให้แห้ง และขายข้าวได้ราคาไม่สูงเท่ากับจำนำก็ตาม อีกทั้งโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เปิดรับจำนำได้ แต่ตนคงไม่เข้าร่วมโครงการ เพราะขั้นตอนยุ่งยากล่าช้า และจะขายข้าวเพียงพอใช้หนี้ ธ.ก.ส.และใช้จ่ายเท่านั้น ส่วนที่เหลือก็จะเก็บไว้กินในครอบครัว และรอทำนาปรังอีกรอบ

ด้าน นายสุทิน อึ้งพัฒนากิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่โรงสีไฟสหพัฒนา อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ในแต่ละวันต้องจ่ายเงินซื้อข้าวเปลือกสดจากเกตษรกรที่นำมาขายให้แก่โรงสีวันละกว่า 9 ล้านบาทมานานกว่าสัปดาห์แล้ว โดยทางโรงสีจะให้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 14.80 บาท ถึง 15 บาท โดยไม่ต้องวัดความชื้น และหักสิ่งเจือปน แต่หากเกษตรกรรายใดนำข้าวที่ตากแล้วมาขาย ก็จะให้ราคากิโลกรัมละ 18-19 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรพอใจ เพราะต้องการนำเงินไปใช้จ่ายตามความจำเป็น

อย่างไรก็ตาม คาดว่าปีนี้ผลผลิตข้าวจะออกสู่ตลาดลดลงไม่น้อยกว่า 30-40 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากนาข้าวของเกษตรกรในหลายอำเภอประสบปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตเสียหาย





นายจง สมโภชน์เกษตรกรปลูกข้าว อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์
กำลังโหลดความคิดเห็น