xs
xsm
sm
md
lg

อาจารย์นิด้ายื่นเอกสารระงับจำนำข้าวศาล รธน.เพิ่ม-รัฐส่ง “โอฬาร” แจงยิบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายโอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย (แฟ้มภาพ)
หน.โฆษกศาล รธน.เผย คณบดีนิด้ายื่นเอกสารเพิ่มจำนำข้าวแล้ว ยังไม่ชัวร์ชงเข้าที่ประชุมตุลาการทันสัปดาห์หน้าหรือไม่ รัฐส่ง “โอฬาร” แจงจำนำข้าว อ้างตั้งราคาสูงหวังทำให้เอกชนซื้อข้าวเกษตรกรราคาใกล้เคียงกัน โอ่ข้าวหอมมะลิดีที่สุดในโลก ไม่ควรลดราคาขายแข่งกับข้าวด้อยคุณภาพ

วันนี้ (4 ต.ค.) ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา นายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ผู้ร้องที่ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยับยั้งหรือยุติโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 43 และ 81 (1) หรือไม่ ได้มายื่นเอกสารประกอบคำร้องเพิ่มเติมแล้ว หลังจากที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้แจ้งกลับไปว่าเอกสารยังไม่ครบถ้วนตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย โดยนายอดิศร์ได้มายื่นสำเนาเอกสารจำนวน 9 ชุด รวมทั้งยังมีบทความที่เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวของนายเมธี ครองแก้ว อดีตกรรมการ ป.ป.ช. และบทวิจัยเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวซึ่งเอกสารที่ส่งมาเพิ่มเติมด้วย อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการประชุมในวันพุธที่ 10 ต.ค. ทันหรือไม่

ทั้งนี้ มีรายงานว่าเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลได้นำคำสัมภาษณ์ของนายโอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย มาเผยแพร่ โดยนายโอฬารได้กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลตั้งราคารับจำนำข้าวชนิดต่างๆ เอาไว้สูง และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าตั้งราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาดโลกว่า โครงการรับจำนำข้าวนั้นต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าข้าวไทยมีทั้งข้าวหอมมะลิที่มีราคาสูงและข้าวเจ้าขาว ซึ่งรัฐบาลก็มีการตั้งราคาจำนำเอาไว้สำหรับข้าวแต่ละชนิด กรณีข้าวหอมมะลิที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลตั้งราคาจำนำเอาไว้สูงถึงตันละ 2 หมื่นบาท สาเหตุที่รัฐบาลดำเนินการตั้งราคาจำนำเอาไว้สูงก็เป็นเพราะต้องการที่จะทำให้โรงสีและพ่อค้าเอกชนต้องตั้งราคาซื้อขาดจากเกษตรกรสูงกว่าหรือใกล้เคียงกับราคารับจำนำ แต่ข้าวหอมมะลิเป็นข้าวที่มีคุณภาพสูง เป็นที่นิยมของคนเอเชียในหลายประเทศทั่วโลก จึงต้องตั้งราคาเพื่อดึงราคาในตลาดให้สูงขึ้น เพื่อทำให้เกษตรกรสามารถขายข้าวได้ราคาที่ควรจะได้ และพ่อค้าและโรงสีที่เข้าใจว่าตัวเองสามารถขายของดีมีคุณภาพทั้งในประเทศ และส่งออก ก็ยินดีที่จะรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิในราคาที่เหมาะสม

“ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตข้าวหอมมะลิรายเดียวของโลกที่ขายกันอยู่ในตลาดตอนนี้ ก็หมายความว่าไทยเราก็คือตลาดโลกสำหรับข้าวหอมมะลิ เพราะผลผลิตเรามาก เป็นผู้ผลิตรายเดียว และข้าวมีคุณภาพดีที่สุดในโลก ไม่ว่าราคาข้าวจะเป็นเท่าไรถ้าอยู่ในระดับที่พอเหมาะพอสม เช่น กรณีชาวนาในภาคอีสานและภาคเหนือจำนวน 3 ล้านครอบครัวขายข้าวเปลือกหอมมะลิได้ตันละ 20,000 บาท และผู้บริโภคไทยซึ่งมีจำนวนหลายสิบล้านคนก็สามารถและยินดีซื้อข้าวสารหอม มะลิได้ในราคาปัจจุบันที่ขายในห้างโมเดิร์นเทรดคือ 35,000 บาทต่อตัน หรือราคา 175 บาทต่อถุง 5 กก. และถ้ายังมีข้าวหอมมะลิเหลือจากการบริโภคของคนไทย เราก็ยังพอเจียดขายให้กับชาวเอเชียที่อาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้บ้างในราคาที่ใกล้เคียงกับราคาที่ผู้บริโภคไทยจ่าย และโดยข้อเท็จจริงในวันนี้ ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2555 ข้าวหอมมะลิ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่งออกโดยผู้ส่งออกเอกชนที่ทำการบ้านมาอย่างดี มีราคาเท่ากับ 1,143 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 35,113 บาทต่อตัน แล้วเราจะไปกดราคาให้ต่ำลงเพื่อเอาข้าวคุณภาพดีไปขายถูกๆ ทำไม เพราะเราตั้งราคาขายเอาไว้สูงก็จะทำให้ชาวนามีรายได้มากขึ้น ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยในการยกระดับรายได้ของชาวนาไทยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นายโอฬารกล่าว

นายโอฬารยังกล่าวด้วยว่า สำหรับข้าวเปลือกเหนียวซึ่งผลิตโดยชาวนาภาคอีสานและภาคเหนือ 100 เปอร์เซ็นต์นั้น ถูกส่งไปให้คนไทยทุกภาคบริโภคจนเกือบหมดในราคาตลาดที่ผู้บริโภคพอใจและยินดีจ่าย เหลือส่งออกน้อยมาก ราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว 16,000 บาท จึงเป็นราคาของตลาดที่เกิดจากการที่มีการแข่งขันทั้งผู้ผลิตมีจำนวนมาก ผู้บริโภคมีจำนวนมาก โรงสีมีจำนวนมาก และผู้ค้าข้าวมีจำนวนมาก

นายโอฬารกล่าวว่า สำหรับข้าวเจ้าขาว ซึ่งมีผู้ระบุว่าเป็นส่วนที่ทำให้โครงการรับจำนำมีปัญหานั้นก็มีความพยายามที่จะนำเรื่องการรับจำนำข้าวหอมมะลิและการรับจำนำข้าวเจ้าขาวมาปะปนกันจนทำให้เกิดความสับสน และสาเหตุหนึ่งของความสับสนมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ส่งออกบางรายที่เคยค้าข้าวคุณภาพต่ำโดยไปหาข้าวทั้งจากประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านไปขายให้ประเทศผู้ซื้อที่มีประชากรมากและมีฐานะค่อนข้างยากจนที่นำเข้าข้าวผ่านองค์กรของรัฐทำนองเดียวกับ อคส.ในระบบจีทูจีกับรัฐบาลของประเทศผู้ส่งออก พ่อค้าผู้ส่งออกเหล่านี้จึงทำหน้าที่เป็นเอเยนต์ของประเทศผู้ซื้อข้าว ไม่ใช่เอเยนต์ของประเทศผู้ขายข้าว ซึ่งรัฐบาลไทยในอดีตบางรัฐบาลได้ช่วยเหลือผู้ส่งออกเหล่านี้โดยการเอื้อประโยชน์ให้เขาสามารถกดราคาข้าวเปลือกเจ้าขาวนาปรังของไทยในระดับที่ถูกกว่าปกติมาก แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้ส่งออกอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมองเห็นศักยภาพในการผลิตและจำหน่ายข้าวคุณภาพสูงของไทยได้ดำเนินการเป็นผู้แทนการขายข้าวคุณภาพสูงของประเทศไทยแก่ประเทศที่มีรสนิยมในการบริโภคข้าวคุณภาพสูง มีประชากรรายได้สูงหลายร้อยล้านคน และอยากจะบริโภคข้าวคุณภาพดีจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเพราะติดใจในคุณภาพข้าวของไทย

นายโอฬารให้ความเห็นว่า สำหรับประเทศที่มีประชากรมากและยากจนในเอเชียและแอฟริกานั้น รัฐบาลไทยน่าจะยินดีจัดเก็บ “สต๊อกเชิงยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ” ไว้ขายให้คนไทยและขายให้ประเทศเหล่านี้ในปีที่เกิดการขาดแคลนเนื่องจากภัยธรรมชาติวิปริตและผลผลิตลดต่ำกว่าปกติมาก เช่นในปี พ.ศ. 2551-2552 ที่ผ่านมา

“ปัญหาของผู้ส่งออกในปัจจุบันพบว่า ผู้ส่งออกจะมีสัมพันธภาพทางการค้ากับคู่ค้าในประเทศที่มีรายได้น้อย และประชากรมาก จึงมีความต้องการข้าวในราคาที่ถูกที่สุดเท่าที่จะถูกได้ ในขณะที่ข้าวไทยเป็นข้าวคุณภาพดี ข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ของไทยมีคุณภาพที่ดีกว่าข้าว 5 เปอร์เซ็นต์ของเวียดนาม จึงไม่ควรขายในราคาเดียวกันเพราะไม่ใช่ตลาดเดียวกัน ประกอบกับสถานการณ์ตลาดโลกปัจจุบัน ผู้ส่งออกควรหันมาสนใจประเทศที่มีศักยภาพในการซื้อสูง มีความต้องการสินค้าคุณภาพอย่างข้าวหอมมะลิของไทย อย่างประเทศจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น ประเทศในแถบตะวันออกกลาง และประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งล่าสุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาให้ผู้แทนการค้าไทยทำงานร่วมผู้ส่งออกข้าวที่สนใจอย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินการเปิดตลาดค้าขายข้าวใหม่กับประเทศที่มีรายได้ดี และมีความต้องการที่จะซื้อขายข้าวคุณภาพดีกับไทย พร้อมพัฒนาสัมพันธภาพในระยะยาว โดยเน้นที่คุณภาพและมูลค่าการส่งออกเป็นหลัก” นายโอฬารกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น