เอเจนซีส์/ASTVผู้จัดการรายวัน - สื่อนอกตีข่าว มาร์ก ฟาเบอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนชื่อก้องโลก ออกโรงโจมตี “ระบบพวกพ้อง” ในการเมืองไทย พุ่งเป้าไปยังรัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน แต่งตั้งบุคคลที่เชื่อมโยงกับ “ระบอบทักษิณ” เข้ามานั่งในตำแหน่งเป็นจำนวนมาก เตือนนโยบายจำนำข้าวทำลายกลไกตลาดเสรีอย่างเลวร้าย ด้านครม.ไม่สนกระแสค้าน ละเลงอีก 4.05 แสนล. จำนำข้าวนาปีฤดูกาล 55/56 กลุ่ม 40 ส.ว.จี้รัฐบาลต้องปรับจำนำตามราคาท้องตลาด ชี้หากยังดึงดันอาจอยู่ไม่ครบวาระ แนะรับจำนำ 2 ระบบ "โกตี๋ โจกแดงปทุมฯ"ขนสมุน 500 บุกนิด้า ยื่นหนังสืออัดนักวิชาการ ซัดขัดขวางผลประโยชน์ชาวนา "สุริยะใส” ประณามแดงวิถีเผด็จการ คุกคามคณาจารญ์นิด้า
ในที่สุดรัฐบาลภายใต้การนำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ฟังเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายต่อนโยบายโครงการรับจำนำข้าว ที่จะสร้างปัญหาและผลกระทบในระยะยาว และอาจจะเป็นโครงการที่เอื้อผลประโยชน์ให้แก่นายทุนและนักการเมือง
โดยนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติกรอบวงเงินที่ใช้ในการรับจำนำข้าวเปลือกฤดูกาลใหม่ 4.05 แสนล้านบาทตามที่เสนอ โดยได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ 1.5 แสนล้านบาท เพื่อใช้รับจำนำผลผลิตข้าวเปลือกนาปีฤดูกาลใหม่ไปก่อน ส่วนผลผลิตข้าวเปลือกนาปรังที่เหลือจะใช้เงินที่ได้จากการระบายข้าวในสต๊อกมาดำเนินการ คาดว่าจะไม่เกินวงเงินที่ขอครม.ไว้ โดยปลายปีนี้กระทรวงฯจะมีเงินคืนให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ประมาณ 8.5 หมื่นล้าน ซึ่งเป็นเงินที่ได้จากการเปิดประมูลข้าวให้เอกชนและการขายรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ให้รัฐบาลต่างประเทศ
นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. อนุมัติในหลักการรับจำนำข้าว ในกรอบ 26 ล้านตัน แต่อนุมัติเงินสำหรับข้าวนาปีก่อน 2.4 แสนล้านบาทก่อน โดยรับจำนำในจำนวน 15 ล้านตัน สำหรับนาปรัง ซึ่งจะเริ่มหลังเดือนมี.ค.56 ยังมีเวลาอยู่
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เห็นชอบให้เปิดรับจำนำข้าวเปลือกฤดูกาลผลิตปี 55/56 ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.55-15 ก.ย.56
ส่วนการรับจำนำข้าวนาปรังรอบพิเศษ ที่ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือ กนช. มีมติให้เพิ่มการรับจำนำข้าว 3.3 ล้านตัน ซึ่งขณะนี้ล่าสุด จนสิ้นฤดูนาปรังปี 55 เมื่อสิ้นก.ย ที่ผ่านมา มียอดรับจำนำข้าวทั้งสิ้น14.39 ล้านตัน ซึ่งไม่ถึง16.6 ล้านตัน โดยเชื่อว่า เมื่อถึงครบกำหนดในส่วนของภาคใต้ ก็จะอยู่เพียง 14.5 ล้านตัน แต่จะไม่มีการรับจำนำเพิ่ม
ส่วนการรับจำนำข้าวนาปรังรอบใหม่ ค่อยพิจารณาอีกครั้ง เพราะยังเหลือเวลาอีกครึ่งปี แต่ทั้งนี้ส่วนข้าวที่เหลือจากการรับจำนำ จะมากหรือน้อย ก็เป็นเรื่องข้าวนาปีทั้งหมด และในเดือนต.ค.นี้ จะมีเงินเข้ามาจากการระบายข้าวออกไปจำนวน 4 หมื่นล้านบาท และสิ้นปี จะมีเงินจากการระบายข้าวอีกจำนวน 1 แสนล้านบาท ซึ่งก็จะให้ ธ.ก.ส.ไปดำเนินการกู้ 1.5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ จะมีการตรวจสอบหากเกษตรกรนำข้าวมาจำนำเกิน 5 แสนบาท เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ และให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการประจำโรงรับจำนำข้าวอย่างจริงจัง เพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพ
**คลังค้ำประกันเงินกู้ธกส.หนุนจำนำต่อ
น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.ได้รับรายงานของกระทรวงพาณิชย์ เรื่องการระบายข้าว ตามโครงการรับจำนำ ว่า ระบายข้าวไปแล้ว 8.3 ล้านตัน คงเหลือ 4.175 ล้านตัน คาดว่าจะได้รับเงินคืนจากการขายข้าวของโครงการดังกล่าวถึงสิ้นปี 56 จำนวน 2.6 แสนล้านบาท ทั้งนี้ เงินที่ได้รับคืนมา ก็นำจะมาใช้หมุนเวียนสำหรับดำเนินการในโครงการต่อไป
นอกจากนี้ ได้ให้ความเห็นชอบโครงการรับจำนำข้าวฤดูกาล 55- 56 ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการอนุมัติเงิน เป็นเงินทุนหมุนเวียนข้าวเปลือก จำนวน 26 ล้านตัน จากจำนวนดังกล่าว เป็นข้าวนาปี 15 ล้านตัน ข้าวนาปรัง 11 ล้านตัน ซึ่งวงเงินที่ได้รับการอนุมัติที่ผ่านมา จำนวน 4.05 แสนล้านบาท แยกเป็นวงเงินสำหรับรับจำนำข้าวนาปี 2.4 แสนล้าน จำนำข้าวนาปรัง 1.65 แสนล้าน โดยให้ดำเนินโครงการตั้ง 1 ต.ค. 55 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ให้กระทรวงพาณิชย์ ใช้เงินที่ได้จากการระบายข้าวไปแล้วส่วนหนึ่งเป็นเงินทุนหมุนเวียน จำนวน8.5 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า จะมีเงินที่ได้จากการระบายข้าวคืนมาอีก 4 หมื่นล้านบาท มาดำเนินการเป็นทุนหมุนเวียนอีกเช่นกัน
ส่วนที่ต้องใช้เงินเพิ่มเติมนั้น ครม. อนุมัติให้กระทรวงการคลัง ค้ำประกันเงินกู้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) เป็นจำนวนไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท
***ต่างชาติชี้รบ."ปู"โกงกินสูง
รายงานของสื่อต่างประเทศหลายสำนัก รวมถึง “เดอะ ไชนา โพสต์” หนังสือพิมพ์รายวันภาคภาษาอังกฤษของไต้หวันซึ่งมียอดจำหน่ายกว่าวันละ 400,000 ฉบับระบุว่า นักลงทุนชื่อก้องโลกวัย 66 ปีจากนครซูริครายนี้ชี้ว่า สิ่งที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนต่างประเทศมากที่สุดขณะนี้ คือ การที่รัฐบาลไทยแต่งตั้งบุคคลที่มีความเชื่อมโยงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยที่ถูกโค่นอำนาจ และอยู่ระหว่างหลบหนีคดีทุจริตในต่างแดน ให้เข้ามารับตำแหน่งสำคัญ ในหน่วยงานและองค์กรต่างๆ จำนวนมาก เช่น กรณีของการบินไทย ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ
ฟาเบอร์ซึ่งปัจจุบันมีถิ่นพำนักอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ของไทย และเป็นเจ้าของวารสารด้านการลงทุนชื่อดัง “The Gloom Boom & Doom Report” ยังระบุว่า ถือเป็นเรื่องที่น่าแปลกอย่างยิ่งที่บรรดาบุคคลที่เข้ามาบริหารองค์กรขนาดใหญ่ในประเทศไทยเวลานี้ ล้วนได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์และส่วนใหญ่พบว่าพวกที่ได้รับแต่งตั้งให้รับตำแหน่งในหน่วยงานสำคัญๆ ต่างเป็นผู้ที่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลและมีความใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณทั้งสิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันของไทยเต็มไปด้วย “ระบบพวกพ้อง” และมีการทุจริตในระดับสูง
***อัดจำนำข้าวทำลายตลาดเสรีอย่างเลวร้าย
ฟาเบอร์ยังกล่าวโจมตีโครงการรับจำนำข้าวในราคาสูงลิ่วของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ใช้งบประมาณหลายพันล้านบาท โดยระบุ เป็นวิธีการที่บิดเบือนทำลายกลไกตลาดเสรีอย่างเลวร้าย
“ข้าวไม่ใช่สินค้าประจำถิ่นของไทยเพียงชาติเดียว แต่ข้าวเป็นสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญที่มีการค้าขายไปทั่วทุกมุมโลก ถ้าจะมีการกำหนดราคาข้าวแบบตายตัวอย่างที่รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการอยู่ ก็ควรจะมีการกำหนดให้เหมือนๆกันในทุกประเทศ ” ฟาเบอร์ ซึ่งเข้ามาพำนักในไทยตั้งแต่ปี 2000กล่าว
** 40ส.ว.แนะรับจำนำราคาท้องตลาด
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ในฐานะแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะมีการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย แต่ก็ควรที่จะสนับสนุนค่าเช่าที่ดิน ค่าปุ๋ย และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่โครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด จะเป็นการช่วยนักธุรกิจรายใหญ่ นายทุน เจ้าของโรงสี ข้าราชการ เพราะเป็นการนำภาษีที่เก็บไปช่วยเหลือบุคคลเหล่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ และไม่ถูกจุด
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตนได้ข่าวมาว่า เจ้าของที่ดินที่ปล่อยให้เกษตรกรรายย่อยเช่าพื้นที่เพื่อปลูกข้าว ปัจจุบันได้เรียกคืนที่ดินเหล่านั้นเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเจ้าของที่จะดำเนินการปลูกข้าวเอง เพราะโครงการรับจำนำข้าว ให้ราคารับจำนำที่สูงกว่าตลาดทั่วไป ทำให้เกษตกรผู้เช่าเดือดร้อน ขณะที่นายทุนก็พยายามกว้านซื้อที่ดินอีกด้วย จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาให้รอบคอบ อยากให้อยู่ครบวาระ แต่โครงการดังกล่าวอาจทำให้รัฐบาลเสียหาย กลายเป็นคดีอาญา เพราะขณะนี้ทราบว่าคดีก็อยู่ใน ป.ป.ช. แล้ว
นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า ขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงโครงการรับจำนำข้าว โดยแบ่งแยกเป็นโควตาธรรมดาและโควตาพิเศษ ซึ่งโควตาธรรมดาไว้สำหรับนายทุน และนักธุรกิจ โดยรับจำนำในราคาทั่วไปตามท้องตลาด ส่วนโควต้าพิเศษ สำหรับเกษตรกรรายย่อย โดยจะต้องระบุให้ชัดเจนด้วยว่าจะได้รับเงินรวดเร็ว เพราะปัญหาตอนนี้คือรัฐบาลรับข้าวไปแล้ว แต่เกษตรกรจำนวนมากยังไม่ได้รับเงิน
**หวั่นจำนำข้าวทำเจ๊งทั้งระบบ
นายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หนึ่งในคณาจารย์สถาบันนิด้า ตัวแทนคณาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตัวแทนนักศึกษา จำนวน 146 คน ที่ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 และ 81 (1) หรือไม่ กล่าวถึง กรณีที่มีตัวแทนชาวนา ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลว่า เรื่องดังกล่าวเข้าใจได้ เนื่องจากชาวนาที่กำลังเข้าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล อาจจะได้รับผลกระทบ แต่ทางกลุ่มของตนจำเป็นต้องยื่น เนื่องจากการจำนำข้าวของรัฐบาลนี้ จะส่งผลต่อการขายข้าวทั้งระบบ เพราะหากปล่อยให้รัฐบาลรับจำนำข้าวในราคาสูงกว่าราคาตลาดไปเรื่อยๆ อีกไม่นานงบประมาณของรัฐบาลก็จะหมด ผลดีต่อชาวนาจะมีเพียงระยะเวลาสั้นๆ เพียง 2-3 ปี เท่านั้น และที่ยิ่งกว่านั้นก็คือ กลไกการตลาดจะเสียไปทั้งหมด เมื่อรัฐบาลรับจำนำข้าวไว้ เท่ากับเป็นผู้รับซื้อข้าวไว้ผู้เดียว ไม่มีการแข่งขันทางการตลาด ไม่มีการคัดเลือกพันธุ์ข้าว และสุดท้ายผลกระทบก็จะตกอยู่กับเกษตรกรเอง
**ชี้ปัญหาต่อเนื่องเป็นลูกโซ่
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ปัญหาจะทับถมไปเรื่อย ๆ เป็นลูกโซ่ เพราะตอนนี้มีชาวบ้านร้องมามาก ว่า ยังไม่ได้เงินหลังจากที่เอาข้าวไปจำนำ อีกทั้งรัฐบาลยังขายข้าวไม่ได้ ข้าวก็ยังเต็มโกดังเงินที่ใช้หมุนเวียนจำนวนหลายแสนล้านบาทจะได้คืนมาก็ต่อเมื่อขายข้าวได้ ปัญหาจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเรื่องที่เก็บข้าว และเรื่องเงิน และถ้ารัฐบาลถลำลึกไปเรื่อยๆ คนก็เริ่มคิดว่าจะลงทุนทำธุรกิจกับรัฐบาล ทำโรงสี โกดังเก็บข้าวไว้ในสต็อก แต่ระบบการค้าข้าวก็จะถูกทำลายไปเรื่อย สุดท้ายโครงการจำนำจะกลายเป็นจำนน คือ รับจำนำไม่ได้แล้ว แต่อาจจะมีพ่อค้ามาบอกว่า ซื้อได้ วันนี้ซื้อขาดไปเลย แต่ว่าให้ราคาเท่านี้
นอกจากนี้ตนยังเห็นปฏิกิริยาที่มีต่อกรณีที่นักวิชาการไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ มีการบอกว่าคนพวกนี้มาสร้างปัญหา ไม่ช่วยเหลือเกษตรกร ถือว่าไม่ใช่เรื่องดี แต่ทุกคนต้องหนักแน่น เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศ เพราะถ้ารัฐบาลใช้วิธีการแบบนี้ เพียงเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง แต่ว่าประเทศชาติส่วนรวม เกษตรกร ได้รับความเสียหาย ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราควรจะยืนดูอยู่เฉยๆ
**โจกแดงปทุมฯคุกคามอ.นิด้า
วานนี้ (2 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ แกนนำแดงปทุมธานี พร้อมกลุ่มสมาคมชาวนาไทย อยุธยา กว่า 500 คนเดินทางมายื่นหนังสือต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้กำลังใจและสนับสนุนให้เดินหน้าโครงการรับจำนำข้าว ก่อนที่จะเดินทางไปสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ถนนเสรีไทย เขตบางกะปิ โดยนายวุฒิพงศ์ ร่วมกับเครือข่ายชาวนา ร่วมกับกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ คณะสืบสานเจตนารมณ์คณะราษฎร์ จัดแสดงละครใบ้ และร่วมอ่านแถลงการณ์ คัดค้านการเคลื่อนไหวของของนักวิชาการ
***“ยะใส” ประณามแดงคุกคามคณาจารย์นิด้า
ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กล่าวถึงกรณีที่ที่คนเสื้อแดงจัดม็อบไปปราศรัยโจมตีอาจารย์นิด้าว่า เป็นพฤติกรรมที่คุกคามเสรีภาพทางวิชาการและสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ คนเสื้อแดงเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่พฤติกรรมที่แสดงออกมาจากสำนึกแบบเผด็จการ ที่สำคัญผลพวงจากนโยบายนี้ จะทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียแชมป์ส่งออกข้าวให้เวียดนาม แต่รัฐบาลกลับอ้างว่าไม่สนใจเรื่องปริมาณ สนใจคุณภาพมากกว่า ซึ่งเป็นการปลอบใจตนเอง เพราะในแง่คุณภาพข้าวเวียดนามก็เริ่มได้รับการยอมรับมากกว่าไทย
**อ้างชาวนาเสพติดจำนำข้าว หยุดยาก
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ อดีตรองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร( ธ.ก.ส.) กล่าวกับศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ สำนักข่าวอิศรา ว่า เป็นข้อเท็จจริงที่ปัจจุบันนี้เกษตรกร ยังมีความต้องการโครงการรับจำนำข้าวอยู่ ขณะนี้ยังขาดไม่ได้ เนื่องจากได้ราคาดี หากมีการยกเลิกกะทันหันจะเกิดปัญหาอย่างแน่นอน
" หากอยู่ดีๆ จะยกเลิกไปเลย ชาวนามีปัญหาอย่างแน่นอน เหมือนรถจะจอดต้องค่อยๆชะลอความเร็ว แล้วมาเริ่มกันใหม่ ว่าจริงๆ แล้วชาวนาต้องการอะไร นโยบายจากนี้ควรให้ชาวนาพึ่งพาตัวเองได้ ไม่ใช่หวังพึ่งรัฐบาลอย่างเดียว หากปรับแก้ไปในทิศทางนั้น ย่อมดีกว่าดำเนินนโยบายจำนำข้าวอย่างแน่นอน"
นายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า พื้นที่เก็บข้าวของไทยมีเพียงพอต่อการรองรับผลผลิตแน่นอน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น มีการใช้โกดังกลางเก็บข้าวไม่เต็มประสิทธิภาพ โดยพื้นที่ 100% ใช้เพียง 20% เช่น โกดังเก็บข้าวที่รัฐนำไปเปิดประมูลขายให้กับผู้ส่งออก เมื่อนำข้าวออกไปประมูลแบบไม่เหมาคลัง ทำให้มีข้าวเหลือค้างจำนวนเล็กน้อยที่ไม่ถูกประมูล แต่ก็ไม่สามารถใช้พื้นที่โกดังได้ รัฐต้องตรวจรับมอบของที่เหลือค้างอยู่ แล้วให้นำข้าวใหม่เข้าไปเก็บแทน
ส่วนการเพิ่มกำลังรองรับข้าวให้กับโรงสี 50 เท่า ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา เพราะโรงสีถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสีแปรสภาพข้าว ไม่ใช่เป็นพื้นที่เก็บสต๊อกข้าว ซึ่งปัญหายังพอมีระยะเวลาแก้ไข เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปีจะออกมาจริงๆ ในช่วงพ.ย. ซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ส่วนข้าวเจ้านาปีออกในช่วงธ.ค. โดยเดือนต.ค.ยังไม่มีผลผลิตออกมา แต่จะเป็นนาปรังรอบพิเศษที่ต้องเร่งทำให้จบก่อน
นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการมันสำปะหลัง เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบกรอบปริมาณและงบประมาณสำหรับการรับจำนำหัวมันสำปะหลังสด ฤดูกาลผลผลิตปี 2555/56 ปริมาณ 15 ล้านตัน จากผลผลิตที่คาดว่าจะมี 27.5 ล้านตัน โดยเริ่มรับจำนำตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2555- 31 มี.ค.2556 กำหนดราคารับจำนำเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันไดตั้งแต่ราคา กก.ละ 2.50 บาท และจากนั้นเพิ่มราคารับจำนำอีกเดือนละ 5 สตางค์ จนถึงเดือนมี.ค.2556 จะมีราคารับจำนำอยู่ที่กก.ละ 2.75 บาท ใช้วงเงินดำเนินการ 3.5 หมื่นล้านบาท โดยได้มอบหมายให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ไปเตรียมความพร้อมในการรับจำนำแล้ว
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่ได้มีการเสนอวาระการเปิดโครงการจำนำมันสำปะหลังปี 2555/56 ให้ที่ประชุมพิจารณา เนื่องจากการประชุมมีวาระมาก แต่จะมีการเสนอให้ ครม. พิจารณาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า หาก ครม. เห็นชอบก็สามารถดำเนินการได้ทันที และมีผลย้อนหลังได้