xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.เจิมศักดิ์” สับโครงการจำนำข้าว “แทรกแซงกันเข้าไป... ข้าวไทยพังทั้งระบบ!!”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ จัดเสวนาวิชาการฉลองการก้าวย่างสู่ปีที่ 10 ในหัวข้อ “แทรกแซงราคาพืชผล : คนได้ คนเสีย?” โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานตั้งข้อซักถาม และร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเป็นกันเอง

ทั้งนี้ มีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงการแทรกแซงราคาสินค้าการเกษตรของรัฐบาลอย่างหลากหลาย ทั้งในส่วนของยางพารา ปาล์มน้ำมัน หรือแม้กระทั่งเหตุไฟไหม้โกดังเก็บยางพาราในโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางขององค์การสวนยาง (อสย.) ที่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อไม่กี่วันมานี้ ว่าเป็นกลวิธีแทรกแซงราคายางพาราอย่างแยบยลอย่างหนึ่งหรือไม่ แต่ย่างไรก็ตาม ประเด็นการเสวนาส่วนใหญ่เน้นหนักไปที่ “โครงการับจำนำข้าว” ซึ่งเป็นเรื่องที่ ดร.เจิมศักดิ์ คร่ำหวอด และเขียนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ภาพประกอบจากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.อ.)
 
การรับจำนำข้าวจะช่วยให้ชาวนาไทยลืมตาอ้าปากได้หรือไม่?

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง กล่าวกว้างๆ ถึงหลักเกณฑ์การรับจำนำว่า โดยปกติการรับจำนำสิ่งของตามโรงรับจำนำทั่วไปคือ จะให้ราคารับจำนำต่ำกว่าราคาจริงของสินค้านั้นๆ เช่น สินค้าราคา 100 บาท โรงรับจำนำจะจ่ายให้แค่ 70 บาท เพราะหากตั้งราคาสูง หรือเท่ากับราคาจริง เขากลัวชาวบ้านจะไม่ไปไถ่ของคืน และการตั้งราคาต่ำนั้นจูงใจให้รู้สึกเสียดาย และไปไถ่ของคืนในที่สุด

ในอดีต ประเทศไทยเริ่มรับจำนำข้าวโดยให้มูลค่า 70-80% ของราคา โดยนำข้าวไปจำนำกับโรงสี แต่ให้เก็บเป็นข้าวเปลือกไว้ที่ยุ้งของตัวเอง เพราะข้าวเปลือกนั้นเก็บรักษาง่ายกว่าข้าวที่สีแล้ว คงคุณภาพของข้าวไว้ได้มากกว่า และนานกว่า ถ้ามีเงินมากพอชาวนาก็ค่อยไปไถ่คืน

แต่ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เกิดการรับจำนำข้าวที่สูงกว่าราคาตลาดมาก ทั้งนี้ การรับจำนำข้าวที่สูงกว่าราคาตลาด หรือ “ซื้อ” ในราคาที่สูงกว่าแต่เลี่ยงโดยการใช้คำว่า “รับจำนำ” แทน ทำให้ชาวนาไม่อยากไปไถ่คืน เพราะต้องจ่ายในราคาที่แพงกว่า เช่น ราคาตลาดตันละ 10,000 บาท แต่รัฐรับจำนำในราคา 15,000 บาท เมื่อรับจำนำในราคาสูง คนก็อยากนำข้าวไปจำนำมากๆ แห่กันไป กลุ่มไหนมีเส้นสายก็มีโอกาสก่อน จำนำทิ้งไว้ ได้เงินมาแล้วภายหลังก็ไม่ไถ่ถอน ข้าวก็ค้างสต๊อกสะสมเรื่อยๆ

และข้าวที่นำมาจำนำนั้นรัฐบาลก็กำหนดว่าต้องเป็นข้าวที่สีแล้ว เมื่อสีเอาเปลือกข้าวออกไป ข้าวก็จะเสียง่าย เก็บรักษายากขึ้น และคุณภาพก็ด้อยลง เมื่อด้อยคุณภาพก็ส่งผลให้ราคารับจำนำตกต่ำอีก เพราะเขาตีราคาตามเกรดของข้าว และการตีเกรดข้าวก็เป็นความชำนาญเฉพาะด้าน เป็นภูมิรู้ที่ต้องสะสมประสบการณ์ มิใช่ว่าใครๆ ก็จะสามารถตีเกรดข้าวได้

“ข้าวหอมมะลิ” ข้าวพันธุ์พื้นเมืองถูกกลไกรัฐทำร้าย!?

ภูมิปัญญาคนไทยในสมัยโบราณจะทำเกษตรกรรมโดยพึ่งพิงฤดูกาลธรรมชาติเป็นหลัก การปลูกข้าวก็เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ข้าวหอมมะลิซึ่งเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองของประเทศไทยนั้นเป็นข้าวนาปีที่ปลูกได้แค่ปีละ 1 ครั้ง หลังจากพิธีแรกนาขวัญในเดือนพฤษภาคมแล้ว ฝนก็จะเริ่มตก ชาวนาก็จะเริ่มหว่านไถ และปลูกในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จากนั้นข้าวก็จะเริ่มโตเป็นหนุ่มเป็นสาว และจะผสมพันธุ์กันในเดือนตุลาคม เฉพาะเจาะจงว่าเป็น 1 วันที่มีช่วงแสงพอดีเท่านั้น จนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก็ย่างเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ผลผลิตข้าวหอมมะลิต่อไร่ต่อปีจึงน้อยเมื่อเทียบกับข้าวพันธุ์อื่นๆ

จากนั้นก็จะเข้าสู่ระบบขายข้าว โดยระบบการขายข้าวแต่ดั้งเดิมของไทยคือ ผู้ส่งออกข้าวจะไปลุยหาตลาดก่อน อาจจะเป็นตลาดในประเทศฝั่งยุโรป หรืออื่นๆ เมื่อได้ออเดอร์แล้วจึงมาติดต่อโรงสีข้าว ส่วนโรงสีข้าวก็จะรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนามาเก็บไว้ก่อน ถ้าสถานการณ์ส่งออกข้าวดี ขายได้ราคาสูง และมีคนต้องการสินค้า หรือผู้ส่งออกหาตลาดได้แล้วมาสั่งซื้อ โรงสีก็จะเริ่มสีข้าว

เพราะฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลทำคือ การนำข้าวสารที่สีแล้วไปเก็บไว้ที่โกดังกลาง และทำตัวเป็นผู้ครอบครองข้าวรายใหญ่ในตลาด นอกจากจะทำให้คุณภาพข้าวเสื่อมลงแล้ว ยังทำให้ระบบซื้อขายข้าวที่มีมาแต่เดิมพังทั้งหมดด้วย!!

เมื่อรัฐรับจำนำ หรือรับซื้อข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ก็เป็นแรงจูงใจให้ชาวนาอยากขายข้าวให้มากที่สุด เร็วที่สุด ข้าวหอมมะลิที่ปลูกได้แค่ปีละ 1 ครั้งจึงมีคนปลูกน้อยลง เพราะได้ผลผลิตน้อย กว่าจะได้ขายก็ช้า ชาวนาอาจตะโกนถามว่า “จะให้ข้าปลูกข้าวหอมมะลิเพื่อรักษาชื่อเสียงประเทศไทยงั้นหรือ!!!?” จึงกลายเป็นว่า ข้าวหอมมะลิของไทยซึ่งเป็นข้าวคุณภาพดี กินอร่อย ก็มีคนปลูกน้อย แล้วหันไปปลูกข้าวพันธุ์อื่นๆ ที่ให้ปลูกได้ตลอดทั้งปี และให้ผลผลิตภายในเวลา 3 เดือนแทน

“การแทรกแซงราคาข้าวของรัฐจึงทำให้ระบบเดิมเจ๊งทั้งหมด ทั้งระบบปลูกข้าว โรงสี การพัฒนาระบบสีข้าว คุณภาพข้าว และระบบส่งออก กลายเป็นเหมือนระบบคอมมิวนิสต์ที่รัฐเข้ามาแทรกแซงทุกอย่าง ทำให้ตลาดเดินไม่ได้” ดร.เจิมศักดิ์ ย้ำความล้มเหลวของโครงการรับจำนำข้าว
เวทีเสวนา แทรกแซงราคาพืชผล : คนได้ คนเสีย? (ภาพประกอบจากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.อ.)
 
“ฮั้วราคาข้าวกับประเทศเพื่อนบ้าน” ฝันลมๆ จากยุคทักษิณสู่ปัจจุบัน

ทักษิณ ชินวัตร บอกว่า “เราจะไปชวนอินเดีย และเวียดนามซึ่งเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่ในภูมิภาคนี้ฮั้วกัน เพื่อจะทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น” แต่ความเป็นจริงแล้วข้าวที่ซื้อขายกันระหว่างประเทศมีแค่ 6% เท่านั้น ถ้าไทย อินเดีย และเวียดนามฮั้วกันเพื่อที่จะขายข้าวในราคาแพง ทุกประเทศก็จะแข่งกันผลิต ข้าวก็จะล้นตลาด เพราะแค่ 3 เดือนก็จะปลูกข้าวรอบใหม่ได้ ใน 1 ปีจึงปลูกข้าวได้ถึง 4 ครั้ง ที่ฮั้วกันขายแพงก็จะกลายเป็นว่าไม่มีคนซื้อ

และถ้าจะให้ราคาข้าวในตลาดสูงก็จะต้องจำกัดปริมาณการผลิตเพื่อให้สินค้าในตลาดน้อยลง ราคาจะได้สูงขึ้น คราวนี้ก็ต้องไปฮั้วกับอินเดีย และเวียดนามให้ผลิตน้อยลงด้วย แล้วคิดว่าเขาจะผลิตน้อยลงไหม? ต่อให้เขาผลิตน้อยลงจริงก็จะเกิดการลักลอบส่งออกขึ้น ซึ่งถ้าอินเดีย และเวียดนามลักลอบส่งออกข้าว เราก็ไปตรวจสอบเขาไม่ได้

“ผมบอกได้เลยว่าทักษิณเข้าใจตลาดค้าข้าวผิด เขาเคยแค่ผูกขาดสินค้าของเขา แต่ตลาดค้าข้าวเป็นตลาดใหญ่ และมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก”

“ประกันรายได้” VS “รับจำนำข้าว” ไหนดี ไหนเลว?

อีกโครงการหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับรายได้ของชาวนาคือ โครงการประกันรายได้เกษตรกร รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยใช้ระบบนี้ในการแทรกแซงแก้ไขปัญหารายได้ของเกษตรกร แต่ก็ทำได้แค่ปีเดียว และระบบประกันรายได้นี้ไม่ใช่ระบบใหม่ในโลกที่รัฐบาลอภิสิทธิ์เพิ่งทำขึ้นมา เขาทำกันมาทั่วโลกแล้ว

การประกันรายได้ เป็นการปล่อยให้กลไกทุกอย่างในตลาดเดินไปตามปกติ ทั้งโรงสี ระบบซื้อขาย และระบบส่งออก แล้วตั้งกรอบว่าอยากให้ชาวนามีรายได้อย่างน้อยเท่าไหร่ เช่น กำหนดว่า ชาวนาควรมีรายได้ขั้นต่ำตันละ 15,000 บาท ถ้าชาวนาขายข้าวได้แค่ตันละ 10,000 บาท รัฐก็จะชดเชยส่วนต่างอีก 5,000 บาทให้ โดยไม่ต้องสีข้าวมาเก็บไว้ในโกดังกลาง ซึ่งจะทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพ และใช้ต้นทุนในการเก็บรักษาสูงกว่า พร้อมตั้งข้อจำกัดว่า ชาวนาแต่ละรายจะเข้าโครงการประกันรายได้คนละไม่เกิน 20 ตันเท่านั้นด้วย

วิธีการนี้ไม่ต้องวุ่นวายกับการตีเกรดข้าว ทั้งนี้ หากเกิดภาวะน้ำท่วม ชาวนา 1 คนที่ไม่มีข้าวขาย ไม่มีรายได้เลย ก็ยังคงได้เงินอุดหนุนจากรัฐอยู่ดี แต่ข้อเสียคือ ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เพราะต้องจ่ายให้ชาวนาทุกคนที่มีพื้นที่เพาะปลูก โดยไม่สนใจว่าจะทำการเพาะปลูกจริงหรือไม่ อาจทำให้งบประมาณที่ใช้ไปไม่มีประสิทธิภาพ และเหมือนเป็นการแจกเงินมากกว่าสนับสนุนให้เกิดการปลูกข้าวอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

โครงการรับจำนำข้าวก็ไม่ใช่โครงการใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น เช่นเดียวกัน ทักษิณ ชินวัตร ลอกแนวคิดนี้มาจาก FARM ACT ของสหรัฐอเมริกา แต่กฎหมายของสหรัฐฯ เขียนเอาไว้ว่าจะต้องปรับปรุงระบบใหม่ทุกๆ 5 ปี ตอนนั้นสหรัฐฯ กำหนดว่าต้องรับซื้อสินค้าในราคาที่สูงกว่าตลาด เช่นเดียวกับโครงการรับจำนำข้าวที่ไทยกำลังทำอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีหน่วยงานกลางในการรับจำนำด้วย ซึ่งของไทยก็คือ ธ.ก.ส. แต่ทำได้แค่ 5 ปีเท่านั้น สหรัฐฯ ก็ประกาศยกเลิกการแทรกแซงราคาด้วยวิธีนี้ และใช้วิธีการปล่อยให้ระบบตลาดเป็นไปตามกลไกของมัน และจ่ายเงินชดเชยส่วนต่าง หรือประกันรายได้แทน!!
(ภาพประกอบจากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.อ.)
 
นั่งนิ่งๆ เถิดรัฐบาลไทย... โปรดปล่อยไปตามกลไกตลาด

มีกรณีศึกษาเคสหนึ่งน่าสนใจมาก เกิดขึ้นประมาณปี 2524-2525 สมัยที่คุณบุรินทร์ หิรัญบูรณะ เป็นผู้บริหารองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) รัฐบาลในสมัยนั้นกำหนดให้ซื้อข้าวในราคาสูงกว่าตลาดตันละ 550 บาท หมายความว่า ไม่ว่าตลาดขายราคาเท่าใดก็จะบวกเพิ่มไปอีก 550 บาท ต่างจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในขณะนี้ที่กำหนดราคาไว้ตันละ 15,000 บาท คือ ไม่ว่าราคาตลาดจะอยู่ที่ระดับใด ก็จะรับจำนำข้าวในราคา 15,000 บาทเท่านั้น

การดำเนินการในสมัยนั้น รัฐจะซื้อข้าวแล้วฝากไว้ที่โรงสี โรงสีก็หัวใสนำข้าวที่รัฐฝากไว้มาสีแล้วขายทันทีโดยไม่เก็บรอไว้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “ข้าวลม” โรงสีให้เหตุผลว่าจะเก็บไว้ทำไมในเมื่อข้าวมีเยอะ ถ้ารัฐต้องการเมื่อไหร่ก็สามารถสีให้ได้ทันที ในส่วนนี้ อ.ต.ก.ก็รู้เห็นกับโรงสี เป็นการคอร์รัปชันกลายๆ

จากนั้น 2 เดือนต่อมา อ.ต.ก.สั่งให้โรงสีสีข้าว โรงสีก็รับปากว่าได้ ไม่มีปัญหา แล้วโรงสีก็ไปหาผู้ส่งออกข้าวซึ่งสมอ้าง และฮั้วกัน ให้เขียนใบรับมอบว่าได้รับข้าวสารแล้ว แต่ความจริงเป็น “ข้าวลม” แล้วโรงสีก็กลับมาบอกรัฐว่าขายข้าวไปแล้ว ผู้ส่งออกเซ็นรับแล้ว ต่อมา โรงสีก็แจ้งเก็บเงินจากรัฐ ทั้งค่าสีข้าว ค่ากระสอบ ค่าเชือกเย็บกระสอบ ค่าขนส่ง ค่าแรงงาน ฯลฯ คือเก็บทุกอย่างตามหลังรายการที่บันทึกไว้จากการขายไปก่อนหน้าแล้วทั้งหมด นี่เป็นวิธีการที่แยบยล และฉลาดกว่า!!!

ดร.เจิมศักดิ์ อธิบายคำว่า “ฉลาดกว่า” นั้นว่า เพราะกระบวนการดังกล่าวไม่ต้องเก็บข้าวไว้ จึงไม่มีการสูญเสียข้าวเลย ข้าวไม่เน่าเสีย ไม่มีค่าเก็บรักษา และหากถามว่าการที่โรงสีเก็บค่าขนส่ง ค่าเชือก ค่ากระสอบ ฯลฯ เป็นการเอาเปรียบรัฐหรือไม่ ตอบว่าไม่ เพราะนั่นเป็นค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องจ่ายอยู่แล้ว โรงสีแค่เล่นกลหลอกตาประชาชนว่ารัฐได้ทำโครงการต่างๆ นานา ทำให้กลไกตลาดเดินต่อไปได้ แต่แท้จริงแล้วรัฐไม่ได้ทำอะไรเลย ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกของมัน

“ถ้ารัฐบาลไม่เข้ามาแทรกแซงตลาด คือ นั่งเฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้ตลาดเดินไปเดิมกลไกของมันเลยจะดีกว่า ทั้งนี้ ปกติรัฐบาลจะเข้ามาแทรกแซงเมื่อระบบตลาดเดินไม่ได้ แต่ต้องพิสูจน์ก่อนว่ามันเดินไม่ได้จริง และต้องแทรกแซงด้วยการไม่ฮุบกิจการมาดำเนินการเอง เพราะถึงอย่างไร รัฐบาลก็ไม่มีความเชี่ยวชาญพอจะไปสู้กับโรงสีข้าวแน่นอน” ดร.เจิมศักดิ์ ยังคงพูดตอกย้ำแนวคิดตามกรณีศึกษาที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น

ก่อนจะทิ้งท้ายถึงนโยบายประชานิยมที่ขายฝันลมๆ แล้งๆ ให้เกษตรไทยมีความหวังว่า ผมคิดว่าเจตนาของนักการเมืองแฝงด้วยการหาเสียง และความคิดที่ว่าชาวนาส่วนใหญ่โง่ ถ้าเขาได้เข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วนั่งเฉยๆ เขาก็จะไม่ได้คะแนนนิยมในครั้งต่อๆ ไป ซึ่งเราวิเคราะห์กันแล้วว่า ถ้ารัฐบาลนั่งเฉยๆ ปล่อยให้กลไกตลาดเป็นไปตามระบบของมันจะยังดีกว่า แต่ในเมื่อเขาได้เป็นรัฐบาลแล้วก็ขอให้ได้ทำอะไรที่ยุ่งยากซับซ้อน และยิ่งระบบอุปถัมภ์ในประเทศไทยเป็นแบบ “โกงไม่ว่า ขอให้กูได้เอี่ยวเป็นพอ” ชาวนาไทยจึงต้องประสบชะตากรรมแบบนี้

“ผมว่าไม่ใช่เขาไม่รู้ว่าแทรกแซงราคาด้วยโครงการรับจำนำแบบนี้แล้วระบบจะพัง เขารู้ นี่คือความล้มเหลวของรัฐ คือ “White Lie” ที่หลอกประชาชนว่ามันดี แต่แท้ที่จริงแล้วมันทำให้ระบบทุกอย่างพังตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่คนปลูกข้าว คนสีข้าว คนขายข้าว ไปจนถึงคนกินข้าวที่ในอนาคตข้างหน้าอาจจะไม่มีข้าวคุณภาพดีกิน”

ไม่มีการพัฒนาใดเดินควบคู่ไปกับ “การโกง”

“เรากำลังสูญเสียเงินภาษีไปในสิ่งที่ไม่ควรนำไปใช้ เท่ากับรัฐเอาเงินเราไปผลาญ การพัฒนาด้านต่างๆ ก็หยุดชะงัก เสียโอกาสในการพัฒนา”

เอแบคโพลล์ผิดพลาดทางวิชาการครั้งใหญ่ที่สุดที่ตั้งคำถามว่า “เห็นด้วยหรือไม่ ถ้ารัฐบาลโกง แต่ประเทศพัฒนา”

“คำว่าโกงกับการพัฒนามันไปด้วยกันไม่ได้ เหมือนถ้าน้ำท่วมบ้านแล้วรวย เอามั้ย? ทุกคนตอบว่าเอา แต่ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นไปไม่ได้ ผมรับไม่ได้กับเรื่องคอร์รัปชัน ไม่มีการโกงไหนที่ทำให้ประเทศพัฒนา เราเสียโอกาสในการพัฒนาไปไม่รู้กี่ล้านบาทเพราะการโกง การที่คนโกงเงินจำนวนหนึ่งไป ซึ่งจริงๆ เงินนั้นก็มีโอกาสเอาไปทำอย่างอื่น นี่คือการเสียโอกาสของคนทั้งประเทศ”
 

กำลังโหลดความคิดเห็น