xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ประชานิยมจำนำข้าวทุกเม็ด ของเก่า 2.5 แสนล้านยังไม่เคลียร์ จ้องงาบก้อนใหม่อีก 4 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ได้มีมติเห็นชอบให้เปิดรับจำนำข้าวฤดูการผลิตปี 2555/56 โดยอยู่ระหว่างการนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) จำนวน 4.05 แสนล้านบาท เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการรับจำนำข้าวที่คาดว่าจะมีปริมาณ 25.822 ล้านตัน จากทั้งหมด 33 ล้านตันข้าวเปลือก

โดยงบประมาณที่จะนำมาใช้จำนวน 4.05 แสนล้านบาท แบ่งเป็นข้าวนาปี 2.4 แสนล้านบาท ข้าวนาปรัง 1.65 แสนล้านบาท เป็นงบประมาณจ่ายขาด 1.17 หมื่นล้านบาท แยกเป็นข้าวนาปี 7,000 ล้านบาท ข้าวนาปรัง 4,771 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยสินเชื่อรวม 7,492.50 ล้านบาท แบ่งเป็นข้าวนาปี 4,440 ล้านบาท ข้าวนาปรัง 3,052.50 ล้านบาท
 
สำหรับราคารับจำนำ จะใช้ราคาเดิม คือ ข้าวหอมมะลิตันละ 2 หมื่นบาท ข้าวหอมจังหวัดตันละ 1.8 หมื่นบาท ข้าวปทุมธานีตันละ 1.6 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเหนียว 10% เม็ดยาว ตันละ 1.6 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเหนียว 10% เม็ดสั้นตันละ 1.5 หมื่นบาท ข้าวเปลือกจ้าว 100% ตันละ 1.5 หมื่นบาท ข้าวเปลือกจ้าว 5% ตันละ 1.48 หมื่นบาท ข้าวเปลือกจ้าว 10% ตันละ 1.46 หมื่นบาท ข้าวเปลือกจ้าว 15% ตันละ 1.42 หมื่นบาท และข้าวเปลือกจ้าว 25% ตันละ 1.28 หมื่นบาท

หลักเกณฑ์ในโครงการรับจำนำข้าวรอบใหม่ จะเป็นการเปิดรับจำนำข้าวทุกเม็ด แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นข้าวที่ผลิตได้ภายในประเทศไทยช่วงปี 2555/56 เท่านั้น โดยจะเปิดให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่ 1 ต.ค.2555-15 ก.ย.2556 ซึ่งจะให้สิทธิ์เกษตรกรเข้าสิทธิ์ได้ 2 รอบ และหากพบว่าปริมาณข้าวที่แจ้งมาไม่ตรงกับปริมาณจริงก็จะตรวจสอบ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ออกประกาศให้เกษตรอำเภอเข้มงวดในการออกใบประทวนแก่เกษตรกร เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ โดยหากพบว่ามีการสวมสิทธิ์เกิดขึ้นก็จะดำเนินการตามกฎหมาย คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3,000
บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มองผิวเผิน มาตรการที่ออกมา ดูเหมือนจะรัดกุมและป้องกันการทุจริตได้ แต่ในความเป็นจริง หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะทันทีที่การรับจำนำข้าวได้รับอนุมัติจาก ครม. และเริ่มกระบวนการรับจำนำ ก็จะเข้าสู่กระบวนการทุจริต ดึงเงินหลวง มาเป็นเงินของตัวเองเกิดขึ้นทันทีเช่นเดียวกัน

ขณะนี้ เริ่มมีกระบวนการไล่ล่ารายชื่อเกษตรกร เพื่อนำไปใช้สิทธิในการจำนำข้าว ชนิดที่เรียกว่า บางคนอาจได้เป็นเกษตรกรแบบไม่รู้ตัว หรือแม้แต่เกษตรกรตัวจริง ก็เริ่มมีคนมาติดต่อขอใช้สิทธิ โดยให้เกษตรกรแจ้งปริมาณผลผลิตให้สูงเข้าไว้ แล้วส่วนเกินก็จะนำข้าวมาสวมเป็นข้าวเกษตรกรแล้วนำไปจำนำ โดยแบ่งเงินส่วนที่ได้ให้กับเกษตรกรบ้างเล็กน้อย

ไม่เพียงแค่นั้น บางพื้นที่ยังร่วมกันเป็นขบวนการตั้งแต่ภาครัฐ ที่รับแจ้งพื้นที่เพาะปลูก คาดการณ์ปริมาณผลผลิตให้สูงเกินจริงเข้าไว้ เพื่อที่จะได้ใช้เป็นข้ออ้าง กรณีที่มีปริมาณข้าวเข้าสู่โครงการรับจำนำมาก ก็จะได้มีข้อแก้ต่างว่า มีปริมาณผลผลิตข้าวในพื้นที่มากจริงๆ

ขณะที่โรงสี ที่ขณะนี้มีเข้าร่วมโครงการรับจำนำกว่า 700 โรง ซึ่งหากนับปริมาณข้าวที่รับจำนำไว้ 2 ฤดูกาลก่อนหน้านี้ ก็แทบจะไม่มีพื้นที่ในการเก็บข้าวหลงเหลืออยู่ แต่โรงสีทุกโรงยังกล้าพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า สามารถรับจำนำข้าวได้อีก มีโกดังเก็บข้าว ก็ไม่รู้ว่าปริมาณข้าวที่รับจำนำไว้มากถึง 17 ล้านตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 8-9 ล้านตันข้าวสาร ข้าวส่วนนี้ไปเก็บไว้ตรงไหน อย่างไร

เพราะวันนี้ ปริมาณข้าวที่อยู่ในสต๊อกรัฐบาล ยังมีการระบายออกไปได้ไม่มาก ที่มีข่าวออกมาจากกระทรวงพาณิชย์ก็มีแค่ขายในรูปรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) ได้ไม่เท่าไร เปิดประมูลล่าสุด ก็ขายไปได้เพียงแค่ 2 แสนกว่าตัน ปริมาณข้าวในสต็อกก็น่าจะยังเหลืออีกมาก แต่ถ้าบอกว่า ปริมาณข้าวในสต๊อกเหลือไม่มาก ก็คงต้องตั้งข้อสงสัย ไปแอบขายกันแบบลับๆ เมื่อไร

การรับจำนำข้าว โรงสีชอบ เพราะได้เงินง่าย อยู่ดีๆ ก็มีข้าวเข้ามาให้สี ได้ทั้งค่าสีแปร ได้ค่าเก็บรักษา แถมได้ประโยชน์จากการนำข้าวรัฐไปหมุนขายหาเงินก่อน บางรายทำสต๊อกลม แต่งตัวเลขไปเบิกเงินกับรัฐบาล หรือหนักสุดถึงขั้นการไปนำข้าวจากเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิในโครงการรับจำนำ ซึ่งโรงสีส่วนใหญ่ ก็เป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ บางรายเกี่ยวข้องกับนักการเมืองท้องถิ่น นักการเมืองระดับประเทศ จนปรากฏมีชื่ออักษรย่อออกมากันให้ว่อน

ขณะที่ผู้ส่งออก ที่แม้จะไม่ค่อยชอบโครงการรับจำนำข้าว เพราะหาซื้อข้าวได้ยาก ต้นทุนการซื้อข้าวสูง หากเป็นผู้ส่งออกที่มีโรงสีเป็นของตนเอง ก็ไม่เดือดร้อน เพราะสามารถเล่นแร่แปรธาตุได้ แต่ผู้ส่งออกก็สามารถหาประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลได้แม่แพ้กัน โดยผู้ส่งออกมักจะใช้เส้นสายทางการเมืองที่มีอยู่ในรัฐบาล ขอซื้อข้าวในสต๊อกรัฐบาลในราคาถูกกว่าปกติ โดยยอมจ่ายส่วนต่างชนิดวัดครึ่งกรรมการครึ่งให้กับผู้มีอำนาจ

ยกตัวอย่างเช่น ซื้อข้าวถูกกว่าราคาตลาดตันละ 3-4 พันบาท ส่วนต่างก็จะถูกหักไปส่งให้นักการเมือง ตันละ 1.5-2 พันบาท หากขายข้าว 1 ล้านตัน เงินที่จะต้องส่งให้การเมืองก็สูงถึง 1.5-2 พันล้านบาท หากินกันง่ายๆ แบบนี้แหละ

นอกจากนี้ กรณีที่นำข้าวในสต๊อกไปขายแบบจีทูจี การเจรจาขาย ก็มักจะอ้างราคามิตรภาพ เช่น ราคาตลาดขายกัน 600 เหรียญสหรัฐ แต่ขายให้จริงๆ อาจจะแค่ 500 เหรียญสหรัฐ ส่วนต่าง 100 เหรียญสหรัฐ ก็เป็นการเจรจาระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายจะแบ่งกันยังไง และยังไม่จบเพียงแค่นี้ รายได้อีกเด้ง เมื่อขายไปแล้ว ก็จะส่งออเดอร์ที่ขายได้ให้กับผู้ส่งออกในประเทศทำการปรับปรุงคุณภาพข้าว โดยรัฐต้องจ่ายค่าปรับปรุง ซึ่งค่าปรับปรุงที่จ่ายก็อาจจะคิดราคาแพงๆ แล้วนำส่วนต่างส่งให้นักการเมืองอีก ถือเป็นรายได้อีกต่อหนึ่ง

ทั้งนี้ กระบวนการโกงเงินหลวงเข้ากระเป๋า ส่วนใหญ่ไม่มีใบเสร็จ เพราะเงินจำนำข้าวงวดแรกที่ใช้ไปมากถึง 2.5 แสนล้านบาท รัฐยังจับได้แค่ปลาซิวปลาสร้อย แล้วงวดใหม่ที่ตั้งไว้สูงถึง 4.05 แสนล้านบาท จะหวังจับให้ได้ปลาใหญ่ คงเป็นเรื่องที่ไกลเกินจริง เพราะที่นี่ คือ ประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น