ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-หลังจากที่คณะกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่มี นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 เลิกจ้างนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี)การบินไทย แม้จะไม่ใช่สิ่งที่เกินความคาดหมาย เพราะเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นเพื่อไทย การจัดการไล่คนเก่า ...ตั้งคนใหม่ ที่เป็นพวกตัวเป็นแบบนี้มาทุกยุคทุกสมัย
แต่เหตุผลของการเลิกจ้างนายปิยสวัสดิ์ ที่นายอำพน ชี้แจงผ่านสื่อ ว่า “เพื่อให้การทำงานระหว่างบอร์ดและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ มีความเป็นเอกภาพ และสามารถผลักดันการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย คือ กำไรประมาณ 6,000 ล้านบาทปีนี้ เนื่องจากการในช่วงที่ผ่านมาการทำงานของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่กับบอร์ดไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน”
กลายเป็นที่มา ของวลีเด็ดที่ว่า ”การสื่อสารไม่มีเอกภาพ” ที่เข้าใจยาก และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไปทั่ว แล้ว 2 ปีที่ผ่านมา บอร์ดกับปิยสวัสดิ์ ทำงานร่วมกันมาได้อย่างไร
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การบินไทย เดินเกมกดดันยื่นร้องเรียนให้ผู้มีอำนาจตรวจสอบการทำหน้าที่ของนายอำพน ในฐานะประธานบอร์ด ตั้งแต่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในขณะเดียวกัน มีกลุ่มผู้ถือหุ้นบริษัท การบินไทยได้ยื่นร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ให้ดำเนินการตรวจสอบ บมจ.การบินไทย กรณีการเลิกจ้างนายปิยสวัสดิ์ อีกทาง
แต่แล้วไม่มีคำตอบ....งานนี้ไม่สามารถทำอะไรได้ หมายความว่า นายอำพนสามารถปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายมาได้สำเร็จลุล่วงดีมาก
แม้กระทั่ง นายปิยสวัสดิ์ที่ตัดสินใจยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง “กรณีถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและเพื่อต้องการสร้างบรรทัดฐานและหลักธรรมาภิบาลที่ถูกต้องอย่างเป็นธรรม” เป็นการต่อสู้.....ที่นายปิยสวัดสิ์เองก็รู้ๆ คำตอบสุดท้ายกันอยู่แล้วว่า เมื่อมาโดยการเมือง ก็ต้องไปเมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว
บอร์ดการบินไทยตั้งคณะกรรมการสรรหา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย คนใหม่วันเดียวกับที่เลิกจ้าง ปิยสวัสดิ์โดยมีนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานสรรหาฯ และเร่งกระบวนการสรรหาให้แล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือน
หลังจากนั้น 1 เดือน จึงมีการประกาศรับสมัคร โดยให้ยื่นใบสมัครระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน-6 สิงหาคม 2555 โดยมีผู้สมัคร 5 ราย โดย 1 ใน 5 คือ นายสรจักร เกษมสุวรรณ ประธานกรรมการ บมจ.อสมท. (MCOT) ซึ่งมายื่นวันสุดท้ายของการรับสมัคร ตามคาด ท่ามกลางกระแสข่าวที่ยืนยันว่า นี่แหละที่ถูกการเมืองระดับสูง วางตัวไว้ว่า จะเป็นดีดีการบินไทย คนต่อไป
เพราะมีผู้สนับสนุนหลักชื่อ ”สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” อดีตรองนายกรัฐมนตรีนั่นเอง
ส่วนผู้สมัครอีก 4 คนนั้น ปรากฏว่า มายื่นสมัครด้วยตัวเอง 2 คน คือ 1. มล.หทัยชนก กฤดากร ผู้จัดการทั่วไปบริษัทแอคคอร์ เอเชีย แปซิฟิก คอร์ปอเรชั่น จำกัด 2. นายกฤษเนตร ศรีประเสริฐ ที่ปรึกษาสถานทูตการ์ตา ประจำประเทศไทย ส่วนอีก 2 ราย ส่งใบสมัครทางไปรษณีย์ ซึ่งไม่ผ่านการพิจารณา ส่วนคนในการบินไทยที่เคยมีการคาดหมายว่าอาจจะยื่นสมัครด้วยอย่าง เรืออากาศเอก มนตรีจำเรียง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายช่างการบินไทย ไม่ได้ยื่นสมัครแต่อย่างใด
“เพราะถ้าการเมืองไม่เอา การเมืองวางคนของตัวเองไว้แล้ว แต่ให้เก่ง เป็นคนใน ทำงานดี รู้จักปัญหาองค์กร พนักงานยอมรับ แต่ถ้าเคลียร์กับการเมืองไม่ได้ อย่าสมัครให้เสียเครดิตดีกว่า”
โดยนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหายืนยันว่า จะไม่ขยายเวลารับสมัครแม้จะมีผู้สมัคร 5 คน สุดท้ายสามารถมีเพียง 3 คนที่เข้ากระบวนการพิจารณาคุณสมบัติได้
ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2555 นายอารีพงศ์แจ้งความคืบหน้าหลังจากพิจารณาคุณสมบัติของ ผู้สมัครทั้ง 3 ราย ปรากฏว่ามีนายสรจักร เกษมสุวรรณ เพียงคนเดียวที่ผ่านการพิจารณาตามเงื่อนไขที่ประกาศ โดยในวันที่ 10 กันยายน คณะกรรมการสรรหากรรมการจะเรียกนาย สรจักร มาสัมภาษณ์ และเจรจาเรื่องอัตราผลตอบแทน หลังจากนั้นจะเสนอบอร์ดการบินไทยพิจารณาในวันที่ 14 กันยายนนี้ซึ่งทางบริษัท การบินไทย ได้มีการแจ้งพนักงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เรื่องความคืบหน้าการสรรหา ดีดี คนใหม่ทันที โดยคาดว่า นายสรจักรอาจจะเริ่มทำงานในวันที่ 1 ตุลาคม 2555 นี้
นางแจ่มศรี สุกโชติรัตน์ ประธานสหภาพฯ การบินไทย กล่าวว่า การสรรหาดีดีการบินไทยปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่องการเมือง เริ่มตั้งแต่เลิกจ้างนายปิยสวัสดิ์ จนถึงกระบวนการสรรหา ชื่อนายสรจักรก็มีมาตั้งแต่แรก ซึ่งในฐานะพนักงานและประธานสหภาพฯ เห็นว่า นายสรจักรเป็นคนที่ไม่มีประวัติเสียหายอะไร ไม่ว่าจะมาโดยวิธีการใด ก็คงจะต้องให้โอกาสและเวลาในการทำงานก่อน
โดยสิ่งที่เป็นห่วงคือ ระยะเวลาในการทำงานเพียง 2 ปี อาจจะไม่สามารถทำอะไรที่เกิดประโยชน์กับการบินไทยได้มากนัก เพราะการบินไทยเป็นองค์กรใหญ่ มีปัญหามาก เมื่อเข้ามาก็ต้องเสียเวลาในการเรียนรู้งานอย่างน้อย 6 เดือน และต้องทำความรู้จักและเข้าใจวัฒนธรรมขององค์กรอีกด้วย เพราะตอนนี้ยังไม่ได้เป็นยังมีคนการบินไทย วิ่งเข้าหาแล้ว ดังนั้นถ้า ผู้นำเป็นคนหูเบาไม่หนักแน่น ก็คงแก้ปัญหาไม่ได้
“การบินไทยมีดีดี ชื่อ สรจักร ไม่ได้สร้างความหวังว่า องค์กรจะได้ประโยชน์อะไรมากนัก แต่เชื่อว่าจะมีการสร้างประโยชน์ให้กับทางอื่นมากกว่า...”