xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด หนี้สาธารณะพุ่งพรวด ธ.ก.ส.กระอัก!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- โครงการรับจำนำพืชผลทางการเกษตรของรัฐบาลตามนโยบายประชานิยมที่มีมาตั้งแต่ฤดูการผลิต 2547/2548 สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ฤดูการผลิต 2551/2552 สมัยนายสมัครสุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งสิ้น 13 โครงการ เป็นโครงการจำนำข้าว 11 โครงการ โครงการมันสำปะหลัง 1 โครงการและข้าวโพด 1 โครงการ ที่ยังมีผลผลิตตกค้างในโกดังและยังไม่มีการจำหน่ายเพื่อนำเงินเข้ามาใช้หนี้โครงการ

สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเพื่อปิดโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรย้อนหลังไปตั้งแต่ฤดูการผลิต 47/48 ถึงปี 51/52 ทั้ง 13 โครงการนั้น ยังไม่สามารถสรุปตัวเลขที่ชัดเจนของปริมาณผลผลิตที่เหลือในโกดังและแนวทางการขายผลผลิตดังกล่าวรวมทั้งประเมินรายได้ที่จะมีเข้ามาเพื่อหักลบกับส่วนที่ขายไปแล้วเพื่อดูผลขาดทุนของแต่ละโครงการ

โดยโครงการจำนำข้าว 11 โครงการนั้นยังเหลือข้าวในโกดังประมาณเกือบ 1 ล้านตัน ข้าวส่วนนี้เก็บไว้นานหลายปี อาจจะเสื่อมคุณภาพหากขายออกไปอาจจะไม่ได้ราคาโดยขณะนี้ยังประมาณยอดเงินที่จะเข้ามาไม่ได้เพาะต้องคำนวณราคาตลาด วันที่จำหน่ายออกไป ส่วนข้าวโพดเหลือในโกดังประมาณ 9.4 หมื่นตัน และมันสำปะหลังเหลืออีกประมาณ 2.7 แสนตัน ซึ่งส่วนนี้คงต้องให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่ายังมีผลผลิตเหลือตามจำนวนที่ระบุไว้หรือไม่

จนมาถึงฤดูการผลิต 2554/2555 ที่มียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายรัฐมนตรี นั้นส่วนใหญ่ข้าวที่รับจำนำเข้ามายังไม่มีการขายออกไปจึงยากที่จะดำเนินการตรวจสอบและปิดโครงการเพื่อหาเงินมาจ่ายคืนให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ได้โดยเร็ว แต่ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่รวบรวมตัวเลขผลผลิตที่รับจำนำและวงเงินที่ใช้ในโครงการเพื่อเตรียมดำเนินการปิดบัญชีในระยะต่อไป

สิ่งที่รองปลัดกระทรวงการคลังมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งคือ หากในอนาคตจะมีการเปิดโครงการรับจำข้าวทั้งปีไม่แยกระหว่างข้าวนาปีและข้าวนาปรัง อาจส่งผลเสียต่อการดำเนินโครงการทั้งในแง่การใช้งบประมาณที่จะมีมากขึ้น และยากที่จะตรวจสอบข้าวที่หมุนเวียนออกมาจำนำหรือข้าวที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อสวมสิทธิ เนื่องจากตามปกติเกษตรกรจะมีรอบการเพาะปลูก 2 ครั้งต่อปีอยู่แล้วจึงควรกำหนดให้ชัดเจนในแง่ปริมาณผลผลิตที่รับเข้าโครงการ อีกทั้งมองว่าผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกเป็นของโรงสีมากกว่าจะตกถึงมือเกษตรกร

แต่นโยบายของรัฐบาลก็ยังคงยืนยันว่าจะเดินหน้ารับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดต่อไปในฤดูการผลิต 2555/2556 โดยไม่สนว่าจะใช้เม็ดเงินมหาศาลเพียงใดก็ตาม

ลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส.ได้ชี้แจงผลการดำเนินงานของโครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิตล่าสุดว่าโครงการรับจำนำข้าวตามนโยบายรัฐบาลที่ปิดโครงการไปแล้วคือ ข้าวนาปี ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 7 ล้านตัน คิดเป็นเงิน 1.2 แสนล้านบาท และที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ข้าวนาปรัง โดยเป็นการรับจำนำที่ต่อเนื่องจากปัญหาอุทกภัย ทำให้เกษตรกรเร่งรัดปลูกและได้ผลผลิตมาก โดยมีเกษตรเข้าโครงการทั้งสิ้นเกือบ 10 ล้านตัน คิดเป็นเงินเกือบ 1.4 แสนล้านบาท และคาดว่าเมื่อปิดโครงการในเดือนหน้าจะมีจำนวนข้าวเข้าโครงการทั้งสิ้น 11-12 ล้านตัน คิดเป็นเงิน 1.6 แสนล้านบาท

เมื่อรวมโครงการรับจำนำข้าวตามนโยบายรัฐบาลทั้งข้าวนาปีและนาปรังรวมเป็นเงิน 2.7 แสนล้านบาท โดยที่เป็นเงินของธ.ก.ส.เอง 9 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นเงินสนับสนุนจากรัฐบาลภายใต้กรอบที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้ 2.69 แสนล้านบาท และจำนวนข้าวที่เข้าโครงการยังเป็นไปตามที่สำรวจไว้แต่แรกว่า ข้าวนาปรังน่าจะถึง 11.1 ล้านตัน แต่เข้าโครงการแล้ว 10 ล้านตัน ยังเหลืออีก 1 เดือนก็น่าจะเป็นไปตามที่สำรวจไว้

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลจะดำเนินการรับจำนำข้าวต่อเนื่องตามที่ประกาศไว้ชัดเจนแล้วว่า เกษตรกรจะเข้าโครงการได้ปีละ 2 ครั้ง จะต้องคำนึงถึงปริมาณของสถานที่เก็บข้าว เพราะยังมีข้าวจำนวนมากที่ยังเหลือค้างจากฤดูกาลผลิตที่ผ่านมา รวมถึงเงินทุนที่จะต้องนำมาดำเนินการรับจำนำ เพราะหากยังมีการกู้ยืมก็จะเป็นภาระต้นทุนเนื่อง จึงได้เสนอต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและคณะกรรมการ ธ.ก.ส.เองว่า รัฐบาลจะต้องเร่งระบายข้าวสารในสต๊อกออกไป

เรื่องนี้ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังในฐานะประธานกรรมการ ธ.ก.ส.รับที่นำเรื่องไปหารือในที่ประชุมคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ (กขช.) ระบุว่า เงินทุนที่ ธ.ก.ส.จะใช้ไปในการรับจำนำข้าวมี 9 หมื่นล้านบาท เพราะสภาพคล่องที่เหลือยังต้องเก็บไว้เพื่อดูแลพืชผลอื่นๆ หากขายข้าวแล้วนำเงินมาชำระคืน ธ.ก.ส.ก็จะมีวงเงินเหลือมาใช้ในการรับจำนำข้าวนาปีรอบใหม่ได้ ส่วนเงินที่เหลือ รัฐบาลก็ต้องดำเนินการจัดการ หรืออกเป็นมติ ครม.มาใหม่ เพื่อบรรจุในแผนก่อนหนี้สาธารณะของประเทศ เพราะมติเดิมที่อนุมัติไว้ 2.69 แสนล้านบาท ได้ใช้เงินรับจำนำไปแล้วเมื่อสิ้นสุดโครงการน่าจะถึง 1.7-1.8 แสนล้านบาท เหลือประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท และใช้ไปในการรับจำนำข้าวและมันสำปะหลังบางส่วน จึงจะเหลือทั้งสิ้น 5-6 หมื่นล้านบาท ที่สามารถออกมาเป็นมติ ครม.ใหม่ เพื่อให้กับการรับจำนำข้าวนาปีได้

ส่วนปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณเพื่อชำระคืนหนี้ที่ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลทั้งสิ้น 6.07 หมื่นล้านบาท โดยเป็นโครงการเก่าคือ หมอหนี้ ปุ๋ย ประกันภัยข้าว ส่วนโครงการรับจำนำข้าวก่อนปี 2554 ที่ขาดทุน ในปีนี้ได้มา 1.8 หมื่นล้าบาทเมื่อเทียบกับปี 2555 ที่ได้รับชำระคืน 3 หมื่นกว่าล้านบาท หากตั้งงบประมาณชดเชยต่อเนื่องไปเช่นนี้ ครบ 5 ปีก็จะไม่มีหนี้สินค้าง

นอกจากนั้นจะเป็นภาระชดเชยดอกเบี้ยเก่าๆ โครงการประกันรายได้ที่ชดเชยต้นทุนเงินมา 4 หมื่นล้านบาท ส่วนโครงการรับจำนำข้าวล่าสุดได้ชดเชยต้นทุนเงินไปแล้ว 8 พันล้านบาท และยังชดเชยบัตรสินเชื่อเกษตรกร 1.1 พันล้านบาท ขณะที่โครงการประกันภัยพืชผลรอบใหม่ ให้ ธ.ก.ส.สำรองจ่ายไปก่อน...เห็นแววแล้ว งานนี้ ธ.ก.ส.รับเละ!!!
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ลักษณ์ วจนานวัช
สุภา ปิยะจิตติ
กำลังโหลดความคิดเห็น