เอเจนซีส์/ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - สื่อนอกตีข่าว “มาร์ก ฟาเบอร์” ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนชื่อก้องโลก ออกโรงโจมตี “ระบบพวกพ้อง” ในการเมืองไทย ระบุเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลให้นักลงทุนต่างชาติอย่างใหญ่หลวง โดยการออกมาแสดงความเห็นของกูรูชาวสวิสรายนี้ถูกมองว่าเป็นการพุ่งเป้าไปยังรัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน ภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่พบการแต่งตั้งบุคคลที่มีความเชื่อมโยงกับ “ระบอบทักษิณ” เข้ามานั่งในตำแหน่งต่างๆ เป็นจำนวนมาก
รายงานของสื่อต่างประเทศหลายสำนัก รวมถึง “เดอะ ไชน่า โพสต์” หนังสือพิมพ์รายวันภาคภาษาอังกฤษของไต้หวันซึ่งมียอดจำหน่ายกว่าวันละ 400,000 ฉบับ ระบุว่า นักลงทุนชื่อก้องโลกวัย 66 ปี จากนครซูริกรายนี้ชี้ว่า สิ่งที่สร้างความกังวลให้แก่นักลงทุนต่างประเทศมากที่สุดขณะนี้ คือ การที่รัฐบาลไทยแต่งตั้งบุคคลที่มีความเชื่อมโยงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยที่ถูกโค่นอำนาจ และอยู่ระหว่างหลบหนีคดีทุจริตในต่างแดนให้เข้ามารับตำแหน่งสำคัญ ในหน่วยงานและองค์กรต่างๆ จำนวนมาก เช่น กรณีของการบินไทย ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติ
ฟาเบอร์ซึ่งปัจจุบันมีถิ่นพำนักอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ของไทย และเป็นเจ้าของวารสารด้านการลงทุนชื่อดัง “The Gloom Boom & Doom Report” ยังระบุว่า ถือเป็นเรื่องที่น่าแปลกอย่างยิ่งที่บรรดาบุคคลที่เข้ามาบริหารองค์กรขนาดใหญ่ในประเทศไทยเวลานี้ ล้วนได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์และส่วนใหญ่พบว่าพวกที่ได้รับแต่งตั้งให้รับตำแหน่งในหน่วยงานสำคัญๆ ต่างเป็นผู้ที่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลและมีความใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณทั้งสิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันของไทยเต็มไปด้วย “ระบบพวกพ้อง” และมีการทุจริตในระดับสูง
ฟาเบอร์ยังกล่าวโจมตีโครงการรับจำนำข้าวในราคาสูงลิ่วของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ใช้งบประมาณหลายพันล้านบาท โดยระบุว่าเป็นวิธีการที่บิดเบือนทำลายกลไกตลาดเสรีอย่างเลวร้าย
“ข้าวไม่ใช่สินค้าประจำถิ่นของไทยเพียงชาติเดียว แต่ข้าวเป็นสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญที่มีการค้าขายไปทั่วทุกมุมโลก ถ้าจะมีการกำหนดราคาข้าวแบบตายตัวอย่างที่รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการอยู่ ก็ควรจะมีการกำหนดให้เหมือนๆกันในทุกประเทศ” ฟาเบอร์ ซึ่งเข้ามาพำนักในไทยตั้งแต่ปี 2000กล่าว
ขณะเดียวกัน นักลงทุนชื่อดังจากแดนนาฬิการายนี้ยังชี้ว่า ประเทศไทยไม่มีทางที่จะกลายเป็นเศรษฐกิจที่มีพลวัตสูงอย่างเกาหลีใต้หรือไต้หวัน แต่ไทยก็มีศักยภาพที่จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ที่ระดับ 4-5 เปอร์เซ็นต์ต่อปีตลอดระยะเวลา 10-20 ปีข้างหน้า ถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ล่มสลายหรือประสบวิกฤต