xs
xsm
sm
md
lg

แฉ 3 กลุ่มโกยผลประโยชน์จำนำข้าว 4 แสนล. แบ่งกันงาบ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิด 3 กลุ่มได้ประโยชน์สูงสุดจำนำข้าวที่ยิ่งลักษณ์ ยันรัฐสูญกว่า 1 แสนล้านแน่ เพราะไม่ใช่แค่ขาดทุน แต่ต้องรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เสียไปด้วย ชี้เกษตรกรชีช้ำ 80% ต้องเช่าที่ทำนา ไม่มีเงินทุน-ไม่มีลานตาก ทำให้ต้องกู้เงินโรงสีล่วงหน้า-เกี่ยวข้าวเสร็จต้องรีบขายแม้โดนหักค่าความชื้นสูง เคราะห์ร้าย ค่าเช่านาขึ้นราคาแล้ว 2 เท่า นักเศรษฐศาสตร์ชี้เกษตรกรเตรียมแห่เลิกปลูกพืชอื่น แถมต้นทุนผลิตข้าวเตรียมราคาพุ่งทุกตัว 10-20% “นิด้า” เสนอให้รัฐบาลหารเงินขาดทุน 1 แสนล้านแจกให้เกษตรกรครอบครัวละ 1 แสนบาท อย่าทำลายกลไกตลาด ขณะที่กลุ่มผู้ส่งออกจับตา “สยามอินดิก้า” ได้ประโยชน์สูงสุด

หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของกลุ่มนักวิชาการที่นำโดยคณาจารย์นิด้า ที่ขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยยับยั้งหรือยุติโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ตามมาตรา 84 (1)

ที่ระบุไว้ชัดว่า รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรมโดยอาศัยกลไกตลาดและสนับสนุนให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยยกเลิกและยกเว้นการตรากฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ควบคุมธุรกิจซึ่งมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวมหรือการจัดให้มีสาธารณูปโภค โดยศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลของการไม่รับคำร้องว่า เรื่องร้องเรียนดังกล่าวอยู่นอกเหนืออำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ความจริงแล้วเรื่องการจำนำข้าวของรัฐบาลนี้ ก็ยังถือว่าเป็นโครงการของรัฐบาลที่ทำลายกลไกตลาดที่ชัดเจน และเห็นได้ชัดว่ารัฐไม่ได้สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม

การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของคณาจารย์นิด้าครั้งนี้ ทำให้ภาพความขัดแย้งระหว่างนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์กับรัฐบาล จบลงด้วยคะแนนด้านบวกไปให้กับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีว่าดำเนินนโยบายมาถูกทางแล้ว และมีเหตุผลให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการนี้ต่อ

ไม่ว่า ดร.โกร่ง-วีรพงษ์ รามางกูร ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ไม่ว่า ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐบาลยิ่งลักษณ์เอง ไม่ว่า นิพนธ์ พัวพงศ์ธร อดีตประธานสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ไม่ว่าคณาจารย์จากรั้วนิด้า ธรรมศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ จำนวน 146 คน ที่เรียงหน้ากันมาคัดค้าน

ณ ขณะนี้ รัฐบาลไม่สนใจเสียงค้านใดๆ จากนักวิชาการ และยิ่งเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวอย่างเต็มพิกัด โดยใครหน้าไหนก็ขวางกั้นไม่ได้

แล้วใครล่ะที่ช้ำ ถ้าไม่ใช่คนไทยทั้งประเทศ!

เพราะโครงการรับจำนำข้าวไม่เพียงแต่ทำลายกลไกตลาดให้พังยับด้วยการใช้ภาษีอากรของคนไทยปีละ 2.4 แสนล้านบาท อย่างสุรุ่ยสุร่ายเท่านั้น โครงการรับจำนำข้าวนี้ยังเป็นโครงการที่มีวาระซ่อนเร้นแบบอภิมหาโคตรโกงที่มีวาระซ่อนเร้นเป็นผลประโยชน์ด้านธุรกิจ และผลประโยชน์ด้านการเมืองให้กับพรรคเพื่อไทยไปเต็มๆ

ใครที่เกี่ยวข้องและได้ประโยชน์กับวงจรอุบาทว์นี้?

กลุ่มแรกที่จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้คือ “กลุ่มการเมือง” โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่ยังดำเนินยุทธศาสตร์ “แจกเงิน” เพื่อคะแนนเสียงรากหญ้า เพราะโดยภาพรวมแล้ว เกษตรกรยังเข้าใจว่าได้เงินช่วยเหลือด้วยน้ำใจของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยฟรีๆ 4,000 บาท จากการรับจำนำข้าวเปลือก 100% ในราคาตันละ 15,000 บาท ทั้งๆ ที่ราคาข้าวในท้องตลาดอยู่ที่ 11,000 บาทเท่านั้น

อย่าแปลกใจว่าทำไมการที่นักวิชาการออกมาคัดค้านโครงการรับจำนำข้าว ถึงเห็นภาพเกษตรกรออกมาปิดรั้วสถาบัน เพราะเกษตรกรรู้สึกว่า นักวิชาการเหล่านี้กำลังขัดขวางการได้เงินของชาวนา เข้าทำนอง “ไม่อยากเห็นชาวนารวย” แม้จะมีแกนนำเสื้อแดงเป็นคนพามา แต่ก็ต้องยอมรับว่าเกษตรกรหลายส่วนของประเทศในขณะนี้กำลังคิดแบบเดียวกันคือรัฐบาลทำถูก แต่นักวิชาการกลับขัดขวางชาวนา เป็นอย่างนั้นไป

“โรงสี-ข้าราชการท้องถิ่น” สบช่องโกง
 

แน่นอนว่าโครงการประชานิยมด้านเกษตรขนาดใหญ่ หนีไม่พ้นกับเบี้ยบ้ายรายทาง อย่างที่ พลอากาศเอกสุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ยอมรับเองว่า มีการทุจริตแน่ๆ ในโครงการนี้ 20%

กลุ่มที่ได้ประโยชน์ต่อมาจึงเป็นกลุ่มก๊วนหัวคะแนนในพื้นที่ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นความร่วมมือกันระหว่าง “โรงสี” และข้าราชการท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ร่วมมือกับโรงสีเป็นหลัก โดยกระบวนการทุจริตรับจำนำข้าวนี้มีช่องทางให้โรงสีและข้าราชการท้องถิ่นที่ร่วมมือกับโรงสีหาประโยชน์ได้หลายประการ

แหล่งข่าวนักการเมืองในพื้นที่ภาคกลาง กล่าวว่า กระบวนการทุจริตจะเริ่มตั้งแต่ การหักค่าความชื้นของชาวนา แต่ตอนขายให้รัฐบาลกลับได้ราคาเต็ม โดยกระบวนการตักตวงผลประโยชน์จากโครงการจำนำข้าว จะเริ่มต้นจากเมื่อชาวนาเกี่ยวข้าวและเอาข้าวขึ้นรถไปขายที่โรงสี จะถูกตีราคาจากความชื้นและสิ่งเจือปน

โดยในรายที่ข้าวมีสิ่งเจือปนน้อยจะได้เงินประมาณไม่เกิน 10,700 บาท แต่ถ้าเป็นข้าวที่ชื้นมากหรือมีสิ่งเจือปนมากจะได้เงินเพียง 9,000 บาทเท่านั้น ส่วนจังหวัดที่มีข้าวคุณภาพดีอย่างเชียงราย ถ้าเป็นข้าวแห้งจะได้ราคาสูงสุดไม่เกิน 13,000 บาทต่อเกวียน ซึ่งก็ยังไม่ถึง 15,000 บาทอยู่ดี แต่เมื่อโรงสีนำข้าวเหล่านี้ไปเบิกเงินจากหลวงกลับได้ราคาจำนำเต็ม 15,000 บาทต่อเกวียน ซึ่งส่วนต่างเหล่านี้ไม่ได้ตกอยู่กับชาวนา แต่ไปตกอยู่กับโรงสีซึ่งเป็นหัวคะแนนของพรรคเพื่อไทย แต่ชาวนาจำนวนมากถึง 3,800,000 ครัวเรือนที่ปลูกข้าวแบบพอกิน ไม่มีข้าวขาย ก็จะไม่ได้ส่วนต่างจากการจำนำข้าว ซึ่งหมายถึงว่าคนที่จนจริงๆ กลับไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าวเลย

สอดคล้องกับ นายนราพัฒน์ แก้วทอง ส.ส.จังหวัดพิจิตร พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเผยว่าขณะนี้เริ่มมีเกษตรกรหลายรายที่ไม่ค่อยพอใจโครงการรับจำนำข้าว เพราะไม่ได้ 15,000 บาทตามที่รัฐบาลกำหนด แต่ถูกหักนั่นนี่จนเหลือเฉลี่ยได้ประมาณ 11,000-12,000 บาท และเกษตรกรที่ทำนาแบบพอเพียง 10-20 ไร่ หรือไม่ได้ทำนาเชิงพาณิชย์ ก็จะไม่ค่อยได้ประโยชน์จากตรงนี้มาก

นอกจากนั้น อีกปัญหาที่เกิดขึ้นคือ จำนำข้าวแล้วแต่ยังไม่ได้เงิน เงินไม่ถึงมือเกษตรกร ทำให้เกษตรกรเดือดร้อนอย่างมาก เพราะต้องไปกู้หนี้นอกระบบมาลงทุน เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จ เจ้าหนี้ทั้งรถเกี่ยวข้าว พ่อค้าปุ๋ย-ยา ก็ตามมาทวงเก็บเงิน แต่ชาวนาต้องรอเงินอีกหลายเดือน จึงกลายเป็นว่า เกษตรกรขายข้าวได้ราคาจริง แต่กำไรไม่ได้ตกอยู่กับเกษตรกรเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะถูกหักไปกับเรื่องดอกเบี้ยหนี้นอกระบบ

ต่อมา “การสวมสิทธิ์” ข้าวของเกษตรกร ก็เป็นวิธีที่โรงสีบางโรงยังนิยมหากำไรจากช่องโหว่ของกฎเกณฑ์ที่ให้ เกษตรกรที่ปลูกข้าว 1 คน มีโควตาให้ 1 คนที่ขึ้นทะเบียนไว้สามารถไปจำนำข้าวได้จำนวนเท่านั้นเท่านี้ ซึ่งมีวิธีสวมสิทธิ์ 2 กรณีคือ

กรณีที่ 1 ถ้าเกษตรกรรายนั้นมีผลผลิตข้าวต่อไร่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่จะไปเข้าร่วมโครงการจำนำ เช่น สมมติรัฐบาลให้ 1 ไร่จำนำได้ 90 ถัง แต่เกษตรกรผลิตได้ 70 ถัง เกษตรกรก็ไปใช้สิทธิ์แค่ 70 ถัง ใช้สิทธิ์ไม่เต็ม 90 ถัง แต่กลับมีการตกลงกับเกษตรกรในการลงบัญชีเป็น 90 ถัง เพื่อไปหักข้าวข้างนอกมาสวมสิทธิ์ตรงนี้อีก 20 ถัง ก็เป็นผลประโยชน์ของผู้ทุจริตหรือของโรงสี เกษตรกรก็พอใจเพราะอาจจะได้รางวัลหรือราคาข้าวที่ดีขึ้นอีกนิดตามการตกลงกัน ซึ่งเป็นช่องว่างหนึ่งที่สามารถสวมสิทธิ์เกษตรกรได้

กรณีที่ 2 เกษตรกรไปขึ้นทะเบียนไว้ แล้วไม่สามารถเพาะปลูกได้เพราะนาล่ม หรือสาเหตุอื่นๆ ก็ทำให้ผู้ทุจริตรับไปเต็มๆ โดยสวมชื่อเกษตรกรไปเลย

นอกจากนี้ยังพบว่ามีกฎระเบียบที่เอื้อต่อการทุจริตได้อีก คือกฎที่ว่าให้มีการรับจำนำข้าวข้ามเขตได้ ทำให้โรงสีที่ไม่สุจริตสามารถเอาข้าวจากโรงสีตัวเองไปสวมสิทธิ์ของชาวนาเพื่อไปจำนำในอีกโรงสีหนึ่งได้เช่นกัน

สิ่งที่น่าสนใจคือ ขณะนี้แม้รัฐบาลพยายามจะบอกว่าได้เข้ามาตรวจสอบการทุจริต แต่ยังพบว่าโรงสีที่เคยถูกขึ้นบัญชีดำว่าทุจริตโครงการรับจำนำข้าวครั้งก่อนๆ รัฐบาลกลับให้ไฟเขียวให้กลับมาดำเนินการในโครงการรับจำนำข้าวต่อ

“โครงการจำนำข้าวก่อให้เกิดวิธีการทุจริตหลายรูปแบบ โดยอาศัยความร่วมมือ ซึ่งสังเกตง่ายๆ ว่า ช่วงหลังโรงสีที่เคยถูกขึ้นบัญชีดำในการทุจริตจะได้รับไฟเขียวปล่อยให้เข้ามาดำเนินโครงการนี้ทั้งหมด จึงสมควรตั้งคำถามกับรัฐบาลว่า ทำไมจึงปล่อยให้โรงสีพวกนี้กลับเข้ามาเป็นจำนวนมาก”

ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลนั้นไม่ได้จริงใจในการแก้ปัญหาการทุจริตอย่างจริงจังเท่าไรนัก

ประเด็นทุจริตระดับสูงขึ้นไปก็ยังมี โดยเฉพาะการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศค่าเฉลี่ยของการรับจำนำข้าวที่ชาวนาผลิต 1 ไร่ รับจำนำได้ 71 ถัง ซึ่งความจริงแล้วชาวนาทั้งในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, อยุธยา, อ่างทอง, สิงห์บุรี, ชัยนาท, สุพรรณบุรี ฯลฯ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตชลประทานนั้นจะมีความสามารถในการผลิตได้จำนวน 1 ไร่ ได้ผลผลิตมากกว่า 1 ตัน แต่มีตัวเลขการจำนำอยู่แค่ 710 กิโลกรัม

ตัวเลขส่วนต่างนั้นเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ในระดับที่สูงขึ้นหรือไม่?

 
เกษตรกรช้ำ เงินได้น้อย-ค่าเช่านาราคาพุ่ง

ขณะเดียวกัน ในส่วนเกษตรกรโครงการนี้ก็ไม่ใช่โครงการที่ช่วยเกษตรกรอย่างแท้จริง เพราะเอาเข้าจริงแล้ว เกษตรกรได้เพียงส่วนต่างน้อยนิด ถึงแม้จะได้ก็ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

แหล่งข่าวตัวแทนเกษตรกรสภาเกษตรกรกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เกษตรกรก็ยังเป็นผู้ได้เงินจริง ฝ่ายเกษตรกรก็ยังเห็นว่าโครงการนี้ได้ประโยชน์ แต่ก็ยอมรับว่าได้เงินมาในราคาที่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยเฉพาะประเด็นที่เกษตรกรจะถูกหักค่าความชื้นของข้าว ซึ่งเป็นเรื่องที่เกษตรกรแทบทุกรายที่ติดขัดกับปัญหานี้

โดยรัฐบาลนั้นประกาศรับจำนำข้าวในระดับความชื้น 14% แต่การที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไทยนั้น เป็นเกษตรกรที่เกี่ยวข้าวแบบสด ข้าวของเกษตรกรส่วนใหญ่จึงมีความชื้นสูงมาก บางรายสูงถึง 30%
ดังนั้นจึงโดนหักค่าความชื้น เช่น ความชื้น 30% คิดค่าความชื้นที่ 14% เท่ากับมีความต่างอยู่ที่ 16% ตามสูตรจึงมีสูตรการคิดค่าความชื้น 16 จุด โดย 1 จุดเท่ากับหักออก 1 ถัง หรือเท่ากับ 16-18 กิโลกรัม ดังนั้นหากชาวนาเกี่ยวข้าวมีความชื้นที่ 30% จะโดนหักค่าความชื้น 16 จุด เท่ากับจะถูกหักประมาณ 256-288 กิโลกรัม ดังนั้นใน 1 ตัน (1,000 กิโลกรัม) ชาวนาจะได้เงินประมาณ 10,680-11,1600 บาทต่อตัน

ปัญหาคือเวลานี้เป็นช่วงหน้าฝน แต่โครงการรับจำนำข้าวนาปี 2555/2556 ได้เปิดการรับจำนำแล้ว เกษตรกรก็อยากเกี่ยวข้าวไปจำนำเพื่อให้ได้เงินมาเร็วๆ ดังนั้นค่าความชื้นข้าวของเกษตรกรในช่วงนี้จึงมีความชื้นสูงกว่าในช่วงการรับจำนำข้าวนาปรังในช่วงที่ผ่านมาเสียอีก ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าข้าวอาจมีความชื้นสูงกว่า 30% และอาจขึ้นได้ในระดับ 35-36% ก็เป็นได้

“เคยได้ยินไหม เกี่ยวข้าวในน้ำ ตอนนี้เกษตรกรเขาอยากได้เงินก็ไปเกี่ยวข้าว โดยเฉพาะหลายคนกลัวว่าน้ำจะท่วม ไม่ใช่ช่วงที่ควรจะเกี่ยวก็เลยต้องเกี่ยวข้าวขึ้นมาก่อน พอเกี่ยวเสร็จก็ต้องเอาไปขายเลย เพราะไม่มีลานตากข้าว”

ไม่มีลานตากความชื้นอื้อ

นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ในสายตาของชาวนานั้น โครงการรับจำนำข้าว ชาวนาก็ได้ประโยชน์จริง แต่ถามว่าทำให้รวยเป็นล่ำเป็นสันเลยหรือไม่ ก็ไม่ใช่ อีกทั้งในระยะยาว โครงการนี้จะไม่ได้ช่วยอะไรกับชาวนาเลย

ดังนั้นจึงขอยืนยันว่าชาวนาไม่ได้ประโยชน์มากนัก กล่าวคือ ทุกวันนี้กว่า 80% ของชาวนาไทย เป็นชาวนารายย่อย ที่ต้องเช่าที่ทำนา ทำให้ปัญหาแรกที่เกิดขึ้นคือ ในการเก็บเกี่ยวข้าว เมื่อไม่ใช่ที่นาของตัวเอง ชาวนาส่วนใหญ่จึงไม่มีลานตากข้าว ดังนั้นความชื้นข้าวของชาวนาไม่มีทางได้ความชื้นที่ 14% ตามที่รัฐบาลต้องการ แต่จะได้ความชื้นที่ 22-30%

เมื่อชาวนาต้องเกี่ยวสดก็ไม่สามารถเก็บไว้ได้ เพราะไม่มีลานตาก และไม่มีที่เก็บ หากใครมีที่เก็บแต่ไม่ได้ตากข้าวไว้ ก็จะยิ่งทำให้ข้าวมีคุณภาพต่ำลง ดังนั้นชาวนาจึงถูกบีบให้เก็บเกี่ยวแล้วขายให้เร็วที่สุด ก็จะมีค่าระดับความชื้นที่สูง ทำให้ไม่ได้เงินในจำนวน 15,000 บาทแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยข้าวที่ไม่ถูกฝนก็จะมีค่าความชื้นเฉลี่ยประมาณ 20-22% แต่ถ้าช่วงฝนตกข้าวก็จะมีความชื้นอยู่ที่ 25-27% ได้

นอกจากนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกจุดหนึ่งคือ ต้นทุนในการทำนาเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ค่าเช่านา แต่ก่อน 500 บาทต่อ 1 รอบ ปีหนึ่งถ้าทำนา 2 รอบก็มีค่าเช่า 1,000 บาท แต่ตอนนี้ค่าเช่านาได้ขึ้นเป็น 2 เท่า คือ 1,000 บาทต่อ 1 รอบ เท่ากับปีหนึ่ง ชาวนาต้องเสียค่าเช่านาปีละ 2,000 บาท จากต้นทุนการผลิตโดยเฉลี่ย 4,000-5,000 บาทต่อการทำนา 1 ครั้ง ทุกวันนี้จึงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6,000 บาทต่อไร่แล้ว และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะค่าแรงที่ชาวนาต้องจ้างคนมาช่วยในการทำนานั้น เดิมอยู่ที่คนละ 200 บาทต่อวัน ขณะนี้ลูกจ้างทำนาเหล่านี้คิดราคาที่ 300 บาทต่อวัน ตามราคาค่าแรงขั้นต่ำด้วย” นายประสิทธิ์กล่าว

นอกจากนี้ นายกสมาคมชาวนาไทยยังยอมรับว่า การสวมสิทธิ์ข้าวก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวในบริเวณติดชายแดน ซึ่งจะเป็นความร่วมมือของทั้งพ่อค้า ข้าราชการ โรงสี และข้าราชการบางส่วน ซึ่งชาวนายอมให้เอาข้าวมาสวมสิทธิ์จะได้เงินผลประโยชน์ส่วนต่างตันละ 1,000 บาท ถ้า 10 ตัน ชาวนาก็ได้เงิน 10,000 บาท ชาวนาก็อยากได้เงินนี้ไปซื้อปุ๋ย ซื้อยาฆ่าแมลง ฯลฯ ก็จะยอมร่วมมือด้วย

คุณภาพข้าวตก-อนาคตสู้ประเทศอื่นไม่ได้

ยังไม่ได้พูดถึงคุณภาพข้าวที่จะตกต่ำลงจนยากจะแก้ไข ที่อนาคตจะส่งผลเสียกลับมาที่ตัวเกษตกรเอง!
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า คุณภาพข้าวของไทยน่าเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะ 2 ประเด็นสำคัญ กล่าวคือ

ประเด็นแรก เกษตรกรหันมาปลูกข้าวที่มีระยะเวลาเก็บเกี่ยวเพียง 75-80 วัน เพื่อเก็บเกี่ยวให้ได้เร็วที่สุดมาเพื่อขายข้าวให้รัฐบาล จากปกติที่จะมีการเก็บเกี่ยว 120 วัน ทำให้ได้ข้าวที่ยังเติบโตไม่เต็มที่ และคุณภาพข้าวตกลง ทั้งๆ ที่ข้าวที่มีระยะเวลาเก็บเกี่ยว 75-80 วันนั้น ความจริงเป็นข้าวที่ผลิตขึ้นมาให้กับชาวนาในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมเท่านั้น แต่ปรากฏว่าขณะนี้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวที่มีระยะเก็บเกี่ยวสั้นกว่าปกติกันจำนวนมาก

สิ่งที่พบตามมา ในพื้นที่ภาคอีสานที่ปลูกข้าวหอมมะลินั้น พบว่า ปกติข้าวหอมมะลิจะสามารถปลูกได้ปีละ 1 ครั้ง แต่ปรากฏว่าในภาคอีสาน เมื่อปลูกข้าวหอมมะลิในนาปีไปแล้วนั้น เกษตรกรยังเลือกที่จะปลูกข้าวหอมปทุมธานี หรือข้าวขาวอื่นๆ เพื่อให้มีข้าวไปจำนำกับรัฐบาลแม้ว่าพื้นที่การปลูกจะไม่เหมาะสม ปัญหาที่เกิดขึ้นคือในพื้นที่บริเวณนั้น ในเวลาเกี่ยวข้าวก็จะมีข้าวหอมปทุมธานีหรือข้าวอื่นที่หล่นร่วงอยู่ เมื่อถึงระยะเวลาปลูกข้าวหอมมะลิ ก็จะเกิดการปลอมปนโดยธรรมชาติ เพราะข้าวอื่นๆ ก็มีหลงเหลืออยู่ในพื้นที่ ดังนั้นต่อไปข้าวของไทยจะได้รับการยอมรับด้านคุณภาพที่น้อยลงอย่างแน่นอน การแข่งขันในตลาดโลกในอนาคตจึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

ต้นทุนปลูกข้าวเตรียมราคาพุ่ง 10-20%

ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า คณะอาจารย์นิด้าไม่ได้จะคัดค้านผลประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลเลย เพียงแต่เป็นห่วงว่าการทำลายกลไกตลาดจะทำให้เกิดความเสียหายกับประเทศชาติในระยะยาว

ที่สำคัญ ตัวเกษตรกรเองสุดท้ายแล้วก็จะเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบ!

หลักเศรษฐศาสตร์จะอธิบายเรื่องนี้ได้ชัดเจน คือเรื่องของโครงสร้างต้นทุนจะพัง กล่าวคือ เมื่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้เงินอุดหนุนจากภาครัฐง่ายๆ ต่อจากนี้ไปเกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดอื่นจะเริ่มหันมาปลูกข้าวมากขึ้น เมื่อคนหันมาปลูกข้าวมากๆ ราคาต้นทุนการผลิตข้าวจะเพิ่มขึ้นทุกตัว

โดยขณะนี้ที่ปรากฎชัดแล้วคือ ราคาค่าเช่าที่นาที่สูงขึ้น ยิ่งชาวนาในประเทศไทยมีการเช่าทำนามากกว่า 80% ต้นทุนส่วนนี้ชาวนาจึงต้องรับไปเต็มๆ นอกจากนี้ต่อไปมีแนวโน้มว่าเจ้าของที่นารายใหญ่จะเลิกให้เกษตรกรเลิกเช่าพื้นที่ทำนา แต่เจ้าของที่รายใหญ่จะลงมาปลูกข้าวเอง ต่อไปเกษตรกรจึงมีแนวโน้มที่จะไม่มีพื้นที่ทำนา อีกทั้งต้นทุนการผลิตตัวอื่นก็มีแนวโน้มสูงขึ้น 10-20% ทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย, ยาฆ่าแมลง, เมล็ดพันธุ์ เพราะทุกฝ่ายมองว่าเกษตรกรได้เงินมาง่ายๆ จากรัฐบาล จึงไม่ได้รู้สึกผิดที่จะขึ้นราคาต้นทุนเหล่านี้

อีกทั้งการที่เกษตรกรผู้ปลูกพืชรายอื่นจะหันมาปลูกข้าวมากขึ้นแล้วนั้น สิ่งที่จะกระทบกลับไปที่รัฐบาลคือการที่รัฐบาลไม่ได้จำกัดการรับจำนำ จะทำให้ต่อไปผลผลิตข้าวจะเพิ่มมากขึ้น อย่างปีก่อนคือ พ.ศ. 2554 ใช้เงินจำนำไป 3 แสนล้านบาท ปี 2555 ใช้งบประมาณ 4 แสนล้านบาท แนวโน้มปี 2556 ที่จะต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นก็มีโอกาสมาก และมีโอกาสขึ้นสูงไปถึง 5 แสนล้านบาท

ดังนั้น เมื่อมองตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เสียหายที่จะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงอยากเสนอให้รัฐบาลเปลี่ยนวิธีอุดหนุนให้เกษตรกรใหม่ โดยหากต้องขาดทุนปีละ 1 แสนล้าน แล้วเกษตรกรมีจำนวน 1 ล้านครัวเรือน ก็เห็นว่าควรนำเงิน 1 แสนล้านมาหารให้เกษตรกรรายครัวเรือนไปเลย คือให้ 1 ครัวเรือน 1 ล้านบาท

ทำอย่างนี้ พรรคเพื่อไทยก็ไม่เสียคะแนนเสียง แถมยังไม่ได้ทำลายกลไกตลาดด้วย!

ดร.อดิศร์กล่าวว่า เรื่องที่ต้องให้ความสนใจจากกลไกการตลาดที่พังทลายนั้น ไม่เพียงแต่ความเสียหายจากการขาดทุนปีละ 1 แสนล้านบาท เพราะเป็นเพียงการขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว ยังไม่ได้คิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่กำลังจะเสียไปด้วย

มูลค่าทางเศรษฐกิจที่กำลังเสียไปนั้น วัดได้จากมูลค่าการส่งออกที่จะสูญหายไป ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ดร.อดิศร์ยังตั้งคำถามว่า ข้าวที่ใช้ในการบริโภคในประเทศ เพราะเหตุใดในเวลานี้ถึงราคาไม่สูงขึ้น ทั้งๆ ที่ตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว เมื่อข้าวมีราคาแพง ผลผลิตข้าวที่มาบรรจุถุงก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วย แต่เวลานี้ไม่ได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่า นอกจากรัฐจะอุดหนุนราคารับจำนำข้าวแล้ว ยังทำการกดราคาสินค้าบริโภคด้วยหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนั้นแสดงว่ารัฐใช้ภาษีอุ้มคนทั้งเกษตรกร และผู้บริโภค ส่วนต่างราคาที่อยู่ตรงกลางนั้นมีจำนวนเท่าไรยังไม่ได้มีการคิดคำนวณความเสียหายทั้งหมด ซึ่งคาดว่ารัฐได้ใช้เงินในส่วนนี้ไปจำนวนมาก

เกษตรกรก็พัง ประเทศชาติก็พัง ผู้เสียภาษีระทม!

 
เงื่อนงำผลประโยชน์สู่ “สยามอินดิก้า”
ซ้ำร้าย โครงการรับจำนำข้าวยังเป็นโครงการที่มีวาระซ่อนเร้นของการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนที่มีคอนเนกชันกับกลุ่มการเมืองของพรรคเพื่อไทยไปเต็มๆ

กลุ่มธุรกิจส่งออกข้าวไปต่างประเทศ จึงเป็นกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้ด้วย เพราะนับวันยิ่งเข้าข่ายเอาเงินภาษีมาทำธุรกิจผูกขาดเอื้อบริษัทส่งออกข้าวเอกชนไม่กี่ราย

อย่าลืมว่าการรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาทนั้นเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดที่อยู่ที่ประมาณ 11,000 บาท เมื่อรัฐบาลรับจำนำข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดถึง 4,000 บาท แม้ความจริงแล้วเกษตรกรจะไม่ได้รับเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่เกษตรกรไทยก็รู้สึกว่าตัวเองได้เงินมากกว่าโครงการอื่นๆ ดังนั้นกล่าวได้ว่าข้าวทุกเม็ดของเกษตรกรจึงไหลเข้าสู่มือรัฐบาลทั้งหมด ผู้ประกอบการขายข้าวไม่สามารถไปสู้ราคากับรัฐบาลได้ เพราะไม่มีใครกล้าซื้อในราคา 15,000 บาทต่อตัน แล้วไปขายในราคาตลาดที่อยู่ที่ประมาณ 11,000 บาทในตลาดโลกเท่านั้น

ขณะนี้รัฐบาลจึงคล้ายกับเป็นผู้ผูกขาดตลาดข้าวในประเทศแต่เพียงผู้เดียว! เพราะเมื่อเอาเงินภาษีประชาชนมาซื้อข้าว จะขายขาดทุนยังไงบริษัทก็ไม่เจ๊ง

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ทางผู้ประกอบการส่งออกข้าวกังวลมากกับโครงการรับจำนำข้าวที่ทำลายกลไกตลาดที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน แต่กลุ่มผู้ประกอบการส่งออกคงจะไม่มีการรวมตัวกันเพื่อไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ เพราะกลัวว่าหากไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ แล้วศาลไม่รับฟ้อง จะกลายเป็นว่าไปเพิ่มความชอบธรรมให้ฝ่ายรัฐเหมือนกรณีที่คณาจารย์นิด้าไปยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญแล้วศาลรัฐธรรมนูญไม่รับฟ้องในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การแก้ปัญหาเรื่องนี้ทำได้ลำบากขึ้น เพราะเหมือนกับรัฐบาลมีความชอบธรรมที่จะทำโครงการนี้ และที่รัฐบาลทำมาทั้งหมดกลายเป็นถูกต้องทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่

สิ่งที่ผู้ประกอบการส่งออกข้าว อยากจะเรียกร้องต่อรัฐบาลในเวลานี้คือ เข้าใจว่ารัฐบาลสัญญากับชาวนาไว้แล้ว และยกเลิกไม่ได้เพราะจะกระทบต่อคะแนนเสียงทางการเมือง แต่อยากให้รัฐบาลมีการปรับเปลี่ยนวิธีการรับจำนำข้าว โดยบิดเบือนกลไกตลาดให้น้อยที่สุด เพื่อให้อุตสาหกรรมการค้าข้าวในประเทศไทยยังเดินหน้าต่อไปได้

แหล่งข่าวผู้ประกอบการส่งออกข้าวอีกราย เปิดเผยว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือขณะนี้เอกชนไม่สามารถซื้อข้าวในประเทศแข่งกับภาครัฐได้เลย เพราะถึงแม้จะยอมซื้อในราคาแพง แต่ก็ไม่สามารถนำไปขายในตลาดโลกอยู่ดี เพราะราคาตลาดโลกมีราคาที่ต่ำกว่า ที่สำคัญในประเทศคู่แข่งบางรายที่สำคัญของไทย หลายประเทศยังมีราคาข้าวที่ต่ำกว่าราคาตลาดเสียอีก การแข่งขันขายข้าวในตลาดโลกปัจจุบันนี้เลยทำได้ยากขึ้นมาก

เพื่อไทยรับช่วงโกงต่อ-ปชป.พูดไม่ออก

ทั้งนี้ยังเป็นที่ทราบกันดีในวงการค้าข้าวด้วยว่า วันนี้การขายข้าวในทางลับมีมากกว่าในทางปกติ และเอื้อประโยชน์ให้เอกชนไม่กี่ราย!

“เรื่องนี้ประชาธิปัตย์ไม่เคยออกมาพูด เพราะว่ากฎระเบียบนี้เกิดขึ้นในสมัยประชาธิปัตย์ ในสมัยคุณพรทิวา นาคาศัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคุณไตรรงค์ สุวรรณคีรี เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ มีการออกกฎระเบียบการค้าข้าวให้ทำในทางลับได้ เมื่อมาถึงสมัยนี้ รัฐบาลก็เนียนใช้กฎระเบียบที่เปิดช่องไว้ให้ตั้งแต่สมัยประชาธิปัตย์”

ดังนั้น การที่รัฐบาลประกาศว่าจะมีการขายข้าว 3 รูปแบบคือ ขายโดยการประมูล, ขายในทางลับ และขายโดยวิธีสินค้าเกษตรล่วงหน้านั้น ในความเป็นจริงมีการขายในทางลับมากกว่าวิธีอื่นๆ

“ข้าวที่ขายไป บริษัทที่ใกล้ชิด มีคอนเนกชันทางการเมืองมีโอกาสซื้อข้าวของรัฐบาลในราคาตลาด ที่รู้มา บริษัทเหล่านี้ทำการซื้อขายข้าวในทางลับกับรัฐบาลในราคาถูกกว่าราคาตลาดอย่างมาก”

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เห็นได้ชัดในการรับจำนำข้าวปี 2555 นี้คือ บริษัทผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ได้เริ่มเปลี่ยนมือ จากปี 2553 ในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล มีผู้ส่งออกรายใหญ่คือ บริษัท เอเชียโกลเด้นไรซ์ จำกัด, บริษัท แคปปิตัล ซีเรียล จำกัด, บริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด, บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด และข้าวไชยพร โดย 5 บริษัทนี้มีการส่งออกข้าวในปริมาณเกิน 50% ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งปี 2553 ที่จำนวน 8.9 ล้านตัน

แต่ในปี 2555 นี้ การค้าข้าวได้เปลี่ยนมือมาสู่ผู้ส่งออกอีกกลุ่มหนึ่ง โดยกระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขส่งออกข้าว โดย 8 เดือนแรกของปี 2555 (ม.ค.-ส.ค.) ไทยมียอดการส่งออกรวม 3.29 ล้านตัน แต่จะมีการส่งออกในเดือน ก.ย.นี้ประมาณ 5.4 แสนตัน โดยผู้ส่งออกข้าวที่มีการส่งออกมากสุดเป็นอันดับหนึ่ง คือ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ตั้งแต่ ม.ค.-ก.ย.สามารถส่งออกได้มากถึง 4.75 แสนตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกข้าวขาวเกือบทั้งหมด ส่วนอันดับ 2 คือบริษัท ข้าวไชยพร จำกัด ส่งออกได้ 4 แสนตัน รองลงมาบริษัทในเครือนครหลวง ส่งออกได้ 3.5 แสนตัน และบริษัท เอเชีย โกลเด้นไรซ์ จำกัด ส่งออกได้ 3.3 แสนตัน

กลุ่มพ่อค้าใหม่เกิดขึ้น เปลี่ยนมือจากกลุ่มพ่อค้าเก่า?

สิ่งที่ผู้ประกอบการค้าข้าวในประเทศไทยจับตาคือ เหตุใด บริษัท สยามอินดิก้า ซึ่งมีโครงสร้างของผู้บริหารคล้ายกับบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง ที่ถูกฟ้องล้มละลายนั้น รวมถึงเป็นบริษัทที่ยังไม่ได้มีศักยภาพรองรับการส่งออกในจำนวนมหาศาลนั้น ถึงมีตัวเลขการส่งออกข้าวของบริษัทขึ้นจากอันดับที่ 7-8 มาเป็นอันดับ 1 ในปีนี้

ที่สำคัญในการส่งข้าวไปให้ประเทศอินโดนีเซียที่ทำสัญญาซื้อข้าวไทยในจำนวน 3 แสนตันนั้น รัฐบาลยังอ้างว่า ทางประเทศอินโดนีเซียระบุชื่อบริษัทส่งออกมาให้ด้วย คือ สยามอินดิก้า

“เรื่องมาแดงตรงที่สยามอินดิก้าเป็นบริษัทที่โครงสร้างการส่งออกยังไม่แข็งแรงพอที่จะรับการส่งออกข้าวจำนวนมากได้ ดังนั้นการทำสัญญากับอินโดนีเซียว่าจะส่งข้าว 3 แสนตันนั้น เอาเข้าจริงส่งข้าวไปให้ได้แค่ 2.6 แสนตัน และในจำนวนนี้มีถึง 2-3 ลำเรือที่ถูกส่งกลับเนื่องจากข้าวไม่ได้คุณภาพ อินโดนีเซียก็ไม่ค่อยพอใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น”

ที่ผ่านมา รัฐบาลจึงต้องแก้ปัญหาโดยเริ่มเปิดให้บริษัทรายใหญ่ที่มีศักยภาพและมีประสบการณ์ที่เพียงพอเข้ามาประมูลข้าวเพิ่ม เพื่อปิดจุดอ่อน เพราะประเทศที่ไทยไปทำสัญญา G to G ด้วย หลายประเทศเริ่มไม่ค่อยพอใจในเรื่องการส่งออกข้าวที่ช้า และไม่ได้คุณภาพ แต่ก็มีจำนวนบริษัทที่เข้าไปประมูลข้าวในราคาต่ำนี้เพียงไม่กี่รายเท่านั้น

ที่แน่ๆ สยามอินดิก้า แม้ศักยภาพยังไม่ถึงแต่ขึ้นแท่นเป็นบริษัทส่งออกข้าวอันดับ 1 เรียบร้อยแล้ว!

อย่างไรก็ดี แผนของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เรื่องรับจำนำข้าวที่ทั้งผลักทั้งดันเดินหน้ากันอย่างเต็มที่นั้น ยังมีแผนใหญ่ทางการเมืองซ่อนอยู่ โดยเฉพาะศึกการเมืองชิงคะแนนเสียงภาคกลาง โดยทีม Special Scoop จะนำเสนอต่อในตอนที่ 2 ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น