xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.จี้ “มาร์ค-ปู” รับผิดชอบฟีฟ่าไม่ให้ใช้สนาม กทม. แนะ “โต้ง” ยึดข้อเสนอคลังจำนำข้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หมอเจตน์” ชี้ฟีฟ่าไม่อนุมัติใช้บางกอกอารีน่าแข่งฟุตซอลสุดอับอายชาวโลก โวยจะแบกหน้าไปขอจัดอย่างอื่นได้ยังไง จี้รัฐบาล “อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์” ร่วมรับผิดชอบ งงสร้างที่หนองจอกทั้งที่มีปัญหาการจราจร ด้าน “ส.ว.พิชิต” ขอรัฐเข้ม รปภ.นักท่องเที่ยว ขณะที่ “ส.ว.คำนูณ” แนะ “กิตติรัตน์” ทำตามคำสั่งคลังจำนำข้าวเป็นธรรม

วันนี้ (12 พ.ย.) ที่รัฐสภา การประชุมวุฒิสภา ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นพ.เจตน์ ศิระธรานนท์ ส.ว.สรรหา ได้หารือ ว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกครั้งที่ 7 เป็นที่น่าภาคภูมิใจที่สหพันธุ์ฟุตบอลนานาชาติได้เลือกประเทศไทยเป็นสนามแข่งขัน แต่กรณีที่ฟีฟ่าไม่อนุญาตให้ใช้สนามบางกอกฟุตซอลอารีน่า หนองจอก เป็นสนามแข่ง ทั้งๆ ที่เพิ่งสร้างเสร็จเพื่องานนี้โดยเฉพาะ ได้สร้างความอับอายขายหน้าให้แก่ประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยการเผยแพร่ข่าวในขณะที่มีการแข่งขันยิ่งทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทยย่อยยับลงไปกว่าเดิม แล้วจะแบกหน้าไปขอจัดการแข่งขันในระดับโลกในกีฬาอย่างอื่นๆ ได้อย่างไร มีเวลาเตรียมตัวแต่สนามกลับสร้างไม่เสร็จ ผู้ที่รับผิดชอบ สมาคมฟุตบอลฯ กกท. กทม. กระทรวงมหาดไทย รัฐบาลอภิสิทธิ์ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชอบมากน้อยแล้วแต่ความเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ฟีฟ่ามีมติเลือกไทยเป็นเจ้าภาพตั้งแต่ 18 มี.ค. 2553 และรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้อนุมัติงบกว่า 1,200 ล้านบาท เมื่อ พ.ค. 2554 โดยมอบให้ กทม.ดำเนินการโดยเลือกพื้นที่หนองจอก แทนที่จะเลือกที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า

“อย่างไรก็ตาม จากปัญหาน้ำท่วมใหญ่จึงได้ลดเวลาการก่อสร้างลงเหลือ 250 วันจาก 500 วัน ซึ่งระยะเวลานั้นไม่สามารถก่อสร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่ๆ ได้ ฟีฟ่าก็มาตรวจเป็นระยะๆ จนยกเลิกในที่สุดเพราะมีการดัดแปลงวัสดุก่อสร้างทำให้มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัย คำถามคือ การก่อสร้างมีเวลาตั้งแต่ต้นปี 2553 มีเวลาจำกัดเหตุใดจึงไม่เร่งดำเนิน และการการแข่งขันระดับโลกควรจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานหรือไม่ ทำไมจึงสร้างที่หนองจอกเพราะสนามจุคนดู 12,000 คน มีปัญหาในการระบายคนย่อมลำบากในการขนย้ายผู้ชม เพราะมีปัญหาการจราจร และรอขนส่งมวลชนมาภายหลัง และสร้างเสร็จแล้วจะใช้สนามทำอะไรจึงเกิดความคุ้มค่า” นพ.เจตน์กล่าว

ด้าน พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ ส.ว.สรรหา หารือว่า ขอฝากไปยังรัฐบาลให้กำชับถึงมาตรการในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ ทั้งนี้จาก 2 เหตุการณ์ถือว่าได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของการท่องเที่ยวไทย คือ คดีนักท่องเที่ยวจากประเทศเนเธอร์แลนด์ถูกข่มขืนที่อ่าวนาง จ.กระบี่ ซึ่งซึ่งเจ้าหน้าที่จับกุมผู้ก่อเหตุได้ แต่ผู้ต้องหาให้การภาคเสธ และส่งอัยการฟ้อง และได้รับการประกันตัวในชั้นศาล แต่ต่อมามีคลิปเผยแพร่ทางสื่อว่าคนชั่วแห่งเมืองกระบี่และไม่ให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยว และอีกคดีหนึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นทำร้ายนักท่องเที่ยวที่หาดนพรัตน์ธารา ที่ ต.อ่าวนาง อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 เราจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะต้องสร้างรายได้ โดยจะต้องคำนึงถึง 6 ยุทธศาสตร์ แต่หนึ่งในยุทธศาสตร์ คือ ความเชื่อมั่นภาครัฐของนักท่องเที่ยว หากรัฐบาลไม่กำหนดมาตรการให้จริงจังจะมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทยอย่างยิ่ง

ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ขอหารือไปยังนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่กำกับดูแลกระทรวงพาณิชย์ ขอเรียกร้องให้ท่านปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของนายกิตติรัตน์ ในฐานะ รมว.คลัง ควบตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และประธานคณะกรรมการและนโยบายกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ขอให้ดำเนินการติดตามประเมินผลในโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ที่ให้ราคาสูงกว่าราคาตลาด เกือบร้อยละ 50 ตามหนังสือที่ กค 0904/16437 ลงวันที่ 18 กันยายน 2553 ที่ รมว.คลัง เป็นคนลงนามเอง ข้อ 8.3 หน้า 6 ใจความสำคัญว่า “โครงการรับจำนำข้าวเปลือกเป็นโครงการที่ดี ที่ช่วยเหลือเกษตรกร อย่างไรก็ตาม การรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด ควรมีมาตรการวางแผนการรับจำนำที่ดี และดูแลเรื่องการสวมสิทธิจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในอนาคตจะมีการเปิดเสรีอาเซียน ในปี 2558 นอกจากนั้นโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของประเทศไทยส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น ประเทศส่งออกรายอื่นได้รับผลประโยชน์ ในขณะที่ประเทศไทยไม่สามารถขายข้าวได้ เนื่องจากราคารับจำนำยังคงราคาสูงกว่าราคาในตลาดโลก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่แก้ไขปัญหาเพื่อรักษาอันดับผู้ส่งออกข้าวของไทย และหารายได้จากการส่งออกข้าวเข้าสู่ประเทศ” ข้อ 8.4.3 “ให้รัฐบาลติดตามประเมินผลโครงการอย่างเป็นรูปธรรม โดยอาจให้องค์กรเอกชน ศึกษาถึงผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินโครงการรับจำนำ เพื่อนำมาแก้ไขให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”


กำลังโหลดความคิดเห็น