xs
xsm
sm
md
lg

เฮ!“วุฒิสภา”โชว์เพาว์ ตี“อุดม มั่งมีดี”วืดป.ป.ท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

** มติเสียงส่วนใหญ่วุฒิสภา หรือสภาสูงออกเสียงในการประชุมวุฒิสภาเมื่อ 14 มกราคม 2556 ไม่เห็นชอบให้ “อุดม มั่งมีดี” อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ที่ตามข่าวก่อนหน้านี้บอกว่าได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือป.ป.ท.
“อุดม มั่งมีดี” อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นเพื่อนผู้พิพากษาร่วมรุ่นกับสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย เข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างเปิดเผย และมีบทบาทสำคัญ จนได้รับความไว้วางใจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดีอาญา
ก่อนหน้านี้ “อุดม”ได้รับการเสนอชื่อจากกระทรวงยุติธรรมโดย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ชงเข้าที่ประชุมครม. ตั้งแต่เมื่อ 2 เมษายน 2555 ให้เป็นกรรมการป.ป.ท. จากนั้นมีการเสนอชื่อเสื้อแดงตัวพ่อคนนี้เป็นป.ป.ท.ต่อไปให้สภาผู้แทนราษฎร มีการใช้เสียงข้างมากในสภาฯเพื่อไทย เห็นชอบให้อุดมเป็นป.ป.ท.ไปเมื่อ 31 ตุลาคม 2555 ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 258 เสียง ไม่เห็นชอบ 3 เสียง
ทั้งที่ประชุมสภาผู้แทนฯวันดังกล่าว ส.ส.ประชาธิปัตย์เกือบทั้งหมด ได้วอล์กเอาท์ออกจากห้องประชุม เพราะไม่เห็นด้วยกับการเสนอชื่อ รวมถึงขอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบประวัติฯ แต่ก็ต้านไม่ไหว เพราะส.ส.เพื่อไทยส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนฯ ไม่เห็นด้วย
จนมีการส่งชื่ออุดมมาที่วุฒิสภาพิจารณาเป็นลำดับต่อมาตามกฎหมาย แต่กว่าวุฒิสภาจะพิจารณาวาระดังกล่าวได้ ก็เมื่อ 14 ม.ค. 56 สุดท้ายผลการประชุมลับกว่า 2 ชั่วโมง ที่ประชุมวุฒิสภาก็มีมติไม่เห็นชอบให้อุดมเป็นป.ป.ท.ไปด้วยคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ 67 คะแนน เห็นชอบ 51 คะแนน และไม่ออกเสียง 3 คะแนน
ทำให้อุดมไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา เป็นป.ป.ท.ไปตามมาตรา 5 ของพ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 ผลออกมาแบบนี้เลยทำให้กระทรวงยุติธรรมและคณะรัฐมนตรีก็ต้องไปหารือกันอีกครั้ง ในการเสนอชื่อคนเป็นป.ป.ท.คนใหม่แทนอุดม
มติวุฒิสภาดังกล่าว แสดงให้เห็นอะไรบางอย่างภายในวุฒิสภา ว่าฝ่ายนิติบัญญัติได้ออกฤทธิ์ออกเดชกับฝ่ายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งผลคะแนนที่ออกมา ทำให้ที่หลายคนเคยคิดว่าเพื่อไทยน่าจะรุกคืบเข้าไปในสภาสูงได้มากแล้ว ท่าจะไม่จริงเสียทีเดียว
แม้จะเป็นการประชุมลับ แต่ก็มีข่าวออกมาว่า เหตุผลหลักๆที่วุฒิสภาไม่เห็นชอบให้อุดม เข้าไปมีบทบาทในบอร์ดป.ป.ท.เพราะเห็นว่าตัวอุดม อายุปาเข้าไป 72 ปีแล้ว ซึ่งแม้กฎหมายจะไม่ได้ห้ามเอาไว้ เพราะเขียนไว้แค่ว่า ต้องอายุไม่ต่ำกว่า 45 ปีเท่านั้น แต่ตามกฎหมายให้ผู้เป็นป.ป.ท. มีเวลาทำงานในตำแหน่งได้ 4 ปี ส.ว.หลายคนเลยเห็นว่า ตัวอุดมอายุมากเกินไป เพราะขนาดกรรมการองค์กรอิสระหลายแห่งก็ให้อายุไม่เกิน 70 ปี
อย่างไรก็ตาม มีข่าวว่าเหตุผลหลักที่ทำให้อุดม วืด อดเป็นป.ป.ท.น่าจะเป็นเพราะการพิจารณาเรื่องบทบาทที่ผ่านมาของตัวนายอุดมมากกว่า เพราะแม้ตามกฎหมายจะระบุว่า ผู้จะเป็นป.ป.ท.ต้องไม่เป็นผู้มีตำแหน่งในพรรคการเมือง แต่คนส่วนใหญ่ก็รู้จักตัวอุดมกันทั่วประเทศ เพราะเป็นอดีตตุลาการที่เคยขึ้นเวทีเสื้อแดง-นปช. ไปวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรม และการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระบางแห่งอย่างร้อนแรงมาแล้ว เช่น การวิจารณ์คดียุบพรรคไทยรักไทย-พรรคพลังประชาชน
การที่อุดม เลือกเปิดตัวบนเวทีเสื้อแดงเช่นนี้ ทำให้หลายคนเห็นว่า อาจเป็นเพราะต้องการตามรอยเพื่อนอดีตตุลาการอีกคนหนึ่งในพรรคเพื่อไทย คือ มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา-อดีตแกนนำเสื้อแดง ที่ต่อมาได้เป็นส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชาชน และตอนนี้ก็มีตำแหน่งการเมืองอยู่ในรัฐบาลเพื่อไทย
ประเด็นสำคัญที่ทำให้หลายคนรู้จักชื่อ อุดม มั่งมีดี ขึ้นไปอีก ก็เพราะก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้ว ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ก็ยอมรับกลางสภาฯในตอนตอบกระทู้สดของ วัชระ เพชรทอง ส.ส.ประชาธิปัตย์ ว่า บุคคลที่ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานสอบสวนคดี จตุพร พรหมพันธุ์ ถูกสอบสวนว่าทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กรณีจตุพรขึ้นเวทีปราศรัยบนเวทีเสื้อแดงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีเนื้อหาการปราศรัยไม่เหมาะสม ซึ่งเดิมดีเอสไอ มีท่าทีจะเอาผิดจตุพร แต่ต่อมาก็สั่งไม่ฟ้อง
ตัวเฉลิม บอกกลางสภาฯว่า ที่ดีเอสไอสั่งไม่ฟ้องก็เพราะมีการไปหารือข้อกฎหมายกับ อุดม มั่งมีดี หลังธาริต ไม่ยอมบอกว่า คนที่ให้ข้อแนะนำข้อกฎหมายว่า จตุพรไม่ผิด มาตรา 112 คือใคร จนเมื่อเฉลิมยอมรับอย่างเป็นทางการกลางสภาฯ ผู้คนทั้งประเทศถึงได้รู้ว่า ที่จตุพร รอดคุกคดี 112 นอกจากต้องขอบคุณธาริตแล้ว ยังต้องขอบใจ “อุดม” อีกด้วย
**มีเสียงชื่นชมอย่างมาก ที่วุฒิสภา มีมติไม่เห็นชอบให้อุดม เป็นป.ป.ท.
ด้วยเหตุเพราะที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ของป.ป.ท. ที่โครงสร้างองค์กรถูกออกแบบมาให้เป็นเสมือน ป.ป.ช.ในภาครัฐ เพื่อมาช่วยแบ่งเบาภาระของป.ป.ช. แม้จะเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ที่ก็ต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็มีความพยายามจะออกแบบองค์กรมาให้สามารถทำงานได้อย่างมีอิสระพอสมควร แต่ปรากฏว่า ในช่วงรัฐบาลชุดนี้ ที่พล.ต.อ.ประชา คุมกระทรวงยุติธรรม กลับปรากฏว่า ป.ป.ท. มีปัญหาอย่างมากในเรื่องการทำงาน สังคมเห็นชัดว่าป.ป.ท.โดนการเมืองแทรกแซงอย่างหนัก ทำให้การตรวจสอบเรื่องการทุจริตต่างๆ มีปัญหา
ดูได้จากกรณีการสั่งย้าย พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ จากเลขาธิการ ป.ป.ท. ไปเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม หลังมีข่าวว่า ฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะเครือข่าย “เจ๊ด.” ในเพื่อไทย ไม่พอใจที่พ.ต.อ.ดุษฏีไปตามสอบปมทุจริตบางเรื่องแล้วเจอตอใหญ่ มีเครือข่ายนักการเมืองมีส่วนพัวพันกับเรื่องการทุจริตหลายโครงการ เช่น งบป้องกันและช่วยเหลือน้ำท่วมปี 54 หรือกรณีการเลี่ยงภาษีการนำเข้ารถหรูจากต่างประเทศ เข้ามายังประเทศไทย
**เลยมีการเชือด พ.ต.อ.ดุษฎี พ้นเก้าอี้เลขาธิการป.ป.ท.ไป หลังมีข่าวลือว่า เพราะขอแล้วไม่ได้
ทำให้ภาพลักษณ์ของป.ป.ท.ช่วงที่ผ่านมาอยู่ในสภาพที่หลายคนไม่เชื่อถืออีกต่อไปแล้ว สภาพป.ป.ท.วันนี้ จึงไม่แตกต่างอะไรกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ อีกหนึ่งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม
การที่ต้นทางอย่างวุฒิสภา จะมาช่วยกลั่นกรองคนเข้าไปอยู่ในป.ป.ท. ให้ได้คนที่สังคมยอมรับอย่างแท้จริง จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะอย่างน้อยก็จะได้ไม่ทำให้ป.ป.ท. แย่หนักไปกว่าเดิม
เนื่องจากหากองค์กรนี้ ที่ควรต้องปลอดจากการเมืองกลับมีคนซึ่งสังคมมองว่าอิงการเมืองไปทำงาน ก็มีแต่จะทำให้ป.ป.ท.ที่แย่หนักอยู่แล้วตอนนี้ ยิ่งกู่ไม่กลับ เพราะตอนนี้คดีสำคัญหลายคดีที่ค้างในป.ป.ท. ก็พบว่าแทบไม่มีอะไรคืบหน้าออกมาเลย นับแต่เปลี่ยนตัวเลขาธิการป.ป.ท. เป็น พ.ต.อ.โภคพิบูลย์ โปตระนันทน์
วุฒิสภาที่เคยได้รับฉายาจากสื่อมวลชนประจำรัฐสภาในการตั้งฉายาเมื่อปลายปี 55 ว่า “ตะแกรง...เลือกร่อน” ด้วยเหตุผลว่า สภาสูงเลือกที่จะตรวจสอบเฉพาะเรื่องที่ส.ว.บางกลุ่มต้องการ
**แต่หากส.ว.เลือกร่อนแบบนี้ คือกลั่นกรองคนไปทำงานให้ประเทศอย่างดีที่สุด แล้วสังคมได้ประโยชน์ ก็ทำไปเถอะ อย่างน้อยก็มีคนให้กำลังใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น