อธิบดีศาลอาญาชี้ศาลลงโทษจำคุก 10 ปี “สมยศ” หมิ่นเบื้องสูง เหตุเผยแพร่บทความ ลักษณะดูหมิ่นสถาบันฯ ยันชัดไม่ใช่ความเห็นทางวิชาการ ระบุกฎหมายแต่ละประเทศย่อมแตกต่างกัน ส่วนกรณีศาลไม่ให้ประกันตัวเพราะถูกตำรวจจับกุมคาด่านอรัญฯ ขณะเตรียมหนีออกนอกประเทศ
วันนี้ (24 ม.ค.) นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงกรณีคำพิพากษาจำคุกนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในคดีหมิ่นเบื้องสูงว่า ในการพิจารณาคดีของศาลอาญานั้นมีหลักการพิจารณาเป็นสากลเหมือนกับศาลยุติธรรมอื่นทั่วโลก คือ พิจารณาตามตัวบทกฎหมายที่มีบัญญัติเอาไว้ และพิจารณาว่าจำเลยมีความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่ โดยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็บัญญัติไว้ว่าเป็นความผิดตามกฎหมายของประเทศไทย และการที่นายสมยศนำบทความดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งแม้จะเป็นบทความของคนอื่นมาตีพิมพ์เผยแพร่ ก็เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 ของกฎหมายไทย และในรายละเอียดข้อต่อสู้คดีก็แสดงให้เห็นว่าบทความที่นายสมยศนำมาเผยแพร่ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ อย่างกรณีของกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งก็ไม่มีความผิดแต่อย่างใด แต่บทความของนายสมยศเป็นข้อความที่มีลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยาม ทำให้สถาบันฯ ได้รับความเสียหาย
ก่อนหน้าที่ศาลจะมีคำพิพากษานั้น นายสมยศก็ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 112 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยออกมาว่าไม่ขัด ศาลอาญาจึงได้อ่านคำพิพากษาดังกล่าว แต่ทั้งนี้กระบวนการของคดียังไม่สิ้นสุด จำเลยอาจจะยื่นอุทธรณ์ เเละศาลอุทธรณ์อาจมีความเห็นต่างหรือเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ได้ ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่าโทษ มาตรา 112 หนักเกินไปนั้น ศาลยุติธรรมไม่มีหน้าที่ไปมองว่ากฎหมายหนักหรือเบา เป็นเรื่องของอำนาจนิติบัญญัติ ส่วนที่มองว่าต่างประเทศไม่มีกฏหมายลักษณะนี้นั้น ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะสภาพขนบธรรมเนียมของแต่ละประเทศย่อมไมฎเหมือนกัน อาทิ ประเทศอื่นก็มีกฎหมายที่ประเทศไทยเราไม่มี ยกตัวอย่างเช่น มาเลเซีย ก็มีกฎหมายเกี่ยวกับเพศ ซึ่งประเทศเราก็ไม่มี เเต่การที่จะมองว่ากฎหมายหรือศาลไทยเป็นองค์กรทำหน้าที่พิทักษ์หรือปกป้องกษัตริย์ ก็เป็นมุมมองเเค่ฝ่ายเดียว การที่จะมองหรือวิจารณ์องค์กรตุลาการของไทยสามารถกระทำได้ เเต่ต้องเป็นไปอย่างสุจริต อย่ามีอคติ เป็นการเเสดงความเห็นทางวิชาการ ศาลก็จะไม่ถือความ เเต่ถ้าเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงมีอคติโจมตีสถาบันตุลาการอย่างไม่เป็นธรรม ศาลก็จะออกหมายเรียกมาไต่สวน เพราะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เเต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจอีกทีว่าจะดำเนินการขั้นไหน ตอนนี้ตนกำลังให้เจ้าหน้าที่ของศาลตรวจสอบข้อมูลทางเว็บไซต์ในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน
อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากล่าวต่อว่า ส่วนที่มีการวิจารณ์จากนักวิชาการบางฝ่ายว่าศาลอาญาไม่มีอำนาจพิจารณาคดี 112 เพราะขั้นตอนอ่านกระบวนการพิจารณาของศาลมีการใช้คำว่าในพระปรมาภิไธยนั้นว่า คนที่ยกเหตุผลอย่างนี้มาพูด เเม้เป็นนักวิชาการเเต่ก็ไม่ได้พูดด้วยวิชาการ เป็นคนที่มีอคติต่อสถาบัน แม้กระทั่งในต่างประเทศเองก็มีการใช้คำว่าในพระปรมาภิไธยเหมือนกับของไทย ซึ่งเป็นการยึดถือทางสัญลักษณ์ตามธรรมเนียมที่มีมานานเท่านั้น ไม่ได้นำตรงนี้มาเกี่ยวเป็นประเด็นในการพิจารณาคดี หรือเกี่ยวข้องกับสำนวนคดีเเต่อย่างไร
นอกจากนี้ กรณีที่มีการนำไปเปรียบเทียบกับคดีของนายยศวริศ ชูกล่อม หรือ “เจ๋ง ดอกจิก” ทั้งเรื่องคำพิพากษา เเละการให้ประกันตัวนั้น ต้องบอกว่ารายละเอียดและข้อเท็จจริงของทั้งสองคดีไม่เหมือนกัน โดยการปราศรัยของ “เจ๋ง ดอกจิก” นั้นมีความกระทบกระเทือนต่อความมั่นคง ต่อสถาบันฯ น้อยกว่ากรณีของนายสมยศ ทั้งนี้ มาตรา 112 ถือว่าเป็นมาตราที่สำคัญมีผลกระทบความมั่นคง เป็นมาตราที่ประชาชนละเมิดไม่ได้ ศาลจะพิจารณาอย่างรอบคอบถึงความหนักเบา ของพฤติการณ์ รวมทั้งศาลจะพิจารณาว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเเล้วจำเลยจะมีการหลบหนีหรือไม่ ขณะเดียวกัน นายยศวริศ หรือ “เจ๋ง ดอกจิก” ก็ยังถูกดำเนินคดีที่ร้ายเเรงกว่า คือ คดีก่อการร้ายเเละได้รับการประกันตัว เพราะศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี แต่กรณีของนายสมยศทราบว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวได้ที่บริเวณชายเเดนไทย-กัมพูชา ขณะกำลังเตรียมหลบหนีออกนอกประเทศ เเละระหว่างคุมขัง พนักงานสอบสวนก็ได้คัดค้านการประกันตัวมาโดยตลอด มูลเหตุในการพิจารณาจึงต้องเเตกต่างกันออกไป ต่อมานายสมยศได้ยื่นคำร้องขอประกัน แต่ศาลอาญาไม่ให้ประกัน จากนั้นก็มีการยื่นคำร้องไปยังศาลอุทธรณ์ที่สูงขึ้นไป ก็มีคำสั่งไม่ให้ประกันเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น