xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สมการอำนาจปี 56

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - บทวิเคราะห์การเมืองของ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรค ค่อนข้างสะท้อนปรากฏการณ์ความขัดแย้งที่เป็นอยู่พอสมควร

บัญญัติวิเคราะห์จาก 4 ตัวแปรหลัก ได้แก่

ตัวแปรที่ 1 คือรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีลักษณะการทำงานที่เป็นอำนาจนิยมมากขึ้น โดยเชื่อมั่นว่าการใช้อำนาจที่เด็ดขาดกระทำกับคู่ต่อสู้ทางการเมือง และคนที่มีความเห็นต่างจากตนเองและมั่นใจว่าจะเป็นวิธีการที่ได้ผล อย่างกรณีการตั้งข้อหากับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่สั่งสลายการชุมนุมปี 53 ทั้งที่คนมีประสบการณ์ทางคดีต่างให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องที่ไกลมาก ซึ่งสามารถสรุปได้ว่าเป็นการทำให้คู่ต่อสู้ทางการเมือง และคนเห็นต่างได้รับความยุ่งยาก รวมถึงอย่างกรณีที่รัฐบาลชุดนี้สลายการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) เมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา ก็มีหลายฝ่ายมองว่าข้ามขั้นตอน และทำรุนแรงเกินไป ซึ่งกรณีนี้เห็นได้ชัดว่า หันมาใช้อำนาจมากขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวแปรที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงได้

ตัวแปรที่ 2 คือปัญหาของประชาชน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าปี 2555 ที่ผ่านมาหนักหนาสาหัส ทั้งเรื่องค่าครองชีพ ราคาสินค้า ราคาพลังงาน ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ จนทำให้เกิดการชุมนุมเรียกร้องหลายครั้ง แต่รัฐบาลก็ใจเย็น หากในปีหน้ารัฐบาลยังนิ่งเฉย ก็เชื่อว่าจะมีการชุมนุมมากขึ้น และหากรัฐบาลมั่นใจกับการสลายการชุมนุมเหมือนม็อบ อพส.ก็จะเป็นปัญหา

ตัวแปรที่ 3 คือ การที่รัฐบาลจะทำเพื่อคนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากรากฐานของเผด็จการ จะต้องแก้ทั้งฉบับ รัฐบาลก็ประกาศเดินหน้าด้วยการทำประชามติ โดยตั้งเป้าว่าหากประชามติไม่ผ่านก็จะกลับมาแก้เป็นรายมาตรา ทั้งที่ความจริงแล้ว สามารถแก้เป็นรายมาตราได้ แต่ก็มีความพยายามแก้ทั้งฉบับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความมุ่งหมายที่แท้จริงคือต้องการแก้บางมาตรา ไม่ใช่เรื่องของรัฐธรรมนูญที่มาจากเผด็จการ ซึ่งเชื่อว่าจะนำไปสู่ความรุนแรงได้ เพราะจะมีฝ่ายต่อต้านออกมา เนื่องจากเห็นว่ามีวาระซ่อนเร้น และหากการทำประชามติผ่านได้ตามที่รัฐบาลต้องการ เชื่อว่าจะทำให้กระบวนการทางกฎหมายถูกบิดเบือน และหากรัฐบาลจำเป็นต้องหาทางสร้างแรงจูงใจให้คนออกมาใช้สิทธิ์ให้เกินกึ่งหนึ่ง ก็เกรงว่าการให้ความเข้าใจประชาชนจากเวทีสานเสวนาต่างๆ นั้น อาจจะให้ข้อมูลที่เบี่ยงเบน และจะนำไปสู่ความขัดแย้ง

ตัวแปรที่ 4 คือปฏิกิริยาคนเสื้อแดง โดยเฉพาะการชุมนุมครั้งสุดท้ายที่โบนันซ่า เขาใหญ่ ที่มีการประกาศปฏิญญา 3 ข้อนั้น ก็มีแนวโน้มที่จะทำให้การเมืองปี 2556 ไม่ราบรื่น และอาจมีความขัดแย้งมากขึ้น

"ตัวแปร 4 ตัว ทั้งหมดนี้จะเป็นตัวเร่งที่จะกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะตัวอำนาจนิยมและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลไม่ถอยแน่ ทั้ง 2 ตัวนี้จะเป็นตัวเร่งสำคัญให้เกิดความขัดแย้งสูงขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล หากรัฐบาลไม่ใช้อำนาจเกินขอบเขต มุ่งหน้าแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน โดยไม่ให้ความสำคัญกับวาระซ่อนเร้นที่เป็นประโยชน์กับพวกพ้องมากเกินไป และพูดคุยกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้”

“หากรัฐบาลเดินหน้าทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญและเกิดความไม่ชอบพามากล พยายามใช้อำนาจรัฐนำไปสู่ทิศทางที่ต้องการ โอกาสที่จะเกิดเวทีของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็มีมาก และจะเกิดความขัดแย้งขึ้นทันที และจะเกิดการเมืองนอกสภาฯ อย่างแน่นอน เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเป้าหมายเพื่อคนคนเดียว” บัญญัติวิเคราะห์ไว้

นั่นหมายความว่า ความขัดแย้งทางการเมืองจะขมวดปมไปที่ “รัฐธรรมนูญปี 2550”

ประเด็นสำคัญของรัฐธรรมนูญคือ มาตรา 309

ทั้งนี้มาตรา 309 ระบุว่า "บรรดาการใด ๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้"

สิ่งที่จะนำไปสู่ข้อขัดแย้งก็คือ การแก้ไข รธน.มาตรา 309

ทั้งนี้เพราะผลของการยกเลิกมาตรา 309 อาจทำให้บรรดาผู้ที่ถูกกล่าวหาหรือถูกลงโทษทางการเมืองในช่วงที่ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวร้องต่อศาลว่าคำสั่งของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีผลบังคับใช้อีกต่อไป อันอาจส่งผลให้การตรวจสอบหรือการกระทำหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ไม่ชอบด้วย คดีทั้งปวงของ ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว อาจถูกระงับโดยไม่ต้องดำเนินการต่อ

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าตามประเพณีที่ผ่านมา ศาลยอมรับบรรดาคำสั่งของคณะปฏิวัติรัฐประหารให้เป็นกฎหมายใช้บังคับ มีศักดิ์ศรีเทียบเท่าพระราชบัญญัติ จึงต้องยกเลิกโดยรัฐสภา
ดังนั้น หนทางยกเลิกจึงต้องใช้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น

แม้กระทั่งพรรคเพื่อไทย โต้โผในการแก้ไขยังไม่กล้ายอมรับตรงๆว่า จะแก้ไขมาตรา 309 เพราะกลัวกระแสคัดค้าน

แม้ว่าจะมีส.ส.ของพรรคถึง 265 ที่นั่งในสภา แต่หากวัดกันที่จำนวนเสียงที่เลือกเข้ามา 15.7 ล้านคน เมื่อเทียบกับพรรคประชาธิปัตย์ที่มีคนเทคะแนนให้ 11.4 ล้านคน

ไม่ได้ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จึงไม่ได้ “กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ” ทั้งหมด

ประชาธิปไตยรวมศูนย์ที่พรรคเพื่อไทย จึงยังไม่สามารถสำแดงตัวออกมาได้เต็มที่
สถานการณ์การเมืองในปี 2556 จึงมีแนวโน้มเป็นไปดังนี้

1) ปัญหาทางเศรษฐกิจค่อนข้างไม่ใหญ่โตมากนัก หลายสำนักวิจัยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตในอัตราประมาณ 5%

แต่ปัญหาคนตกงาน เนื่องจากค่าแรง 300 บาท อาจจะปะทุในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสสองของปี 2556 ซึ่งจะทำให้เกิดข้อเรียกร้องจากภาคธุรกิจ และแรงงานที่ได้รับผลกระทบ

แม้กระทั่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังประเมินว่า ไม่มีปัจจัยเสี่ยงในประเทศใดที่น่าเป็นห่วง ทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตประมาณ 4.6% โดยมีปัจจัยหนุนจากการบริโภคและการลงทุน

2) นโยบายรัฐ โดยเฉพาะนโยบายที่มุ่งหวังให้มีการโกงกันอย่างเปิดเผย เช่น นโยบายรับจำนำข้าว โดยในปัจจุบันข้าวเก่าของปี 2555 ยังค้างสต็อกอยู่ประมาณ 12 ล้านตัน แต่ในปี 2556 ยังมีข้าวสารล็อตใหม่เข้ามาอีกจำนวนมาก ทำให้เกิดความเสียหายทางด้านการเงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าว รวมทั้งหากยังไม่สามารถขายข้าวเก่าได้ จะทำให้ข้าวที่เก็บไว้เสื่อมคุณภาพ สร้างความเสียหายกับภาษีของคนทั้งประเทศ

ขณะเดียวกันโครงการรถคันแรกก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โดยเริ่มโครงการมาตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2554 ถึง 31 ธ.ค. 2555 มีผู้มาลงทะเบียนขอใช้สิทธิแล้วทั้งสิ้น 1.25 ล้านราย แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 7.39 แสนคัน รถกระบะ 2.58 แสนคัน รถยนต์นั่งที่มีกระบะ หรือดับเบิลแค็บ 2.57 แสนคัน

คิดเป็นเงินคืนภาษีทั้งสิ้น 9.05 หมื่นล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2556 จะต้องตั้งงบคืนภาษีรถยนต์คันแรกให้กับประชาชนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

นั่นหมายความว่า รัฐบาลกำลังมีปัญหาทางการเงินเพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลจะไม่มีรายได้สำหรับการลงทุนในโครงการต่างๆ

3) พรรคประชาธิปัตย์ พรรคฝ่ายค้านได้กลายเป็นศัตรูรายสำคัญของคนเสื้อแดง นั่นจึงทำให้พรรคเพื่อไทยแสดงผลงาน เพื่อบรรเทาความไม่พอใจดังกล่าว โดยยืมมือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยเฉพาะธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ

ดีเอสไอเริ่มปฏิบัติการเด็ดหัวขบวนประชาธิปัตย์ โดยการส่งสำนวนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สอบสวนคดีทุจริตโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์อาชีวศึกษา (เอสพี 2) ภายใต้โครงการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง วงเงิน 5,300 ล้านบาท ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)

ดีเอสไอยังแจ้งให้ “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” อดีตรมว.ศึกษาธิการ ของพรรคประชาธิปัตย์ เข้ามาให้ปากคำกับดีเอสไอ

ทั้งๆที่คดีดังกล่าวผ่านความรับผิดชอบของดีเอสไอ ไปอยู่ในมือ ป.ป.ช.แล้ว

หลังจากนั้น ธาริต ซึ่งคิดว่า ชีวิตของเขามีอายุยืนยาวกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ปลด “พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข” พ้นจากหัวหน้าคณะสอบสวนคดีการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติเมื่อปี 2553 ที่มีผู้เสียชีวิตรวม 90 ศพ

แล้วเขาก็ก้าวมาทำหน้าที่นี้ด้วยตัวเอง แล้วจึงแจ้งข้อหา “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรี และ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตรองนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ฐาน “ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59, 83, 84 และ 288 โดยอ้างคำพิพากษาศาลอาญาคดี “พัน คำกอง” ว่า เสียชีวิตเพราะการปฏิบัติหน้าที่ของทหาร

เท่านั้นยังไม่สาแก่ใจ...เปิดศักราชใหม่เพียงวันเดียว ธาริตก็แจ้งข้อกล่าวหาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งพิพากษาไปด้วยในตัว ด้วยการแนะนำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยกเลิกสัมปทาน

ธาริตบอกว่า ได้ออกหนังสือเชิญ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมพวก รวม 11 ราย ประกอบด้วย 1.ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ 2.นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. 3.นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ปลัด กทม. 4.นางนินนาท ชลิตานนท์ รองปลัด กทม. 5.นายธนา วิชัยสาร ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. 6.นายประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด 7.นายอมร กิจเชวงกุล กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด 8.นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 9.นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการและผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 10.บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และ 11.บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

“เข้ารับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันประกอบกิจการรถรางโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือได้รับสัมปทานจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 ม.ค.2515 ข้อ 3 ข้อ 4 ข้อ 11 และข้อ 16 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 มาตรา 83 มาตรา 84 และมาตรา 8 ในวันที่ 9 ม.ค. เวลา 09.00 น.-15.00 น.” ธาริตอธิบายกฎหมายประกอบข้อเท็จจริง
เขาบอกว่า การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ย่อมทำให้สัญญาให้บริการเดินรถ รวมถึงสัญญาอื่นที่เกี่ยวข้องที่ทำโดยไม่มีอำนาจครั้งนี้ เป็นนิติกรรมต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะ ซึ่งยอมรับว่าหากสัญญาถูกยกเลิกอาจกระทบกับผู้ที่ซื้อหุ้นไปก่อนหน้านี้แน่นอน แต่ทั้งหมดเป็นหน้าที่รับผิดชอบของผู้ที่ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย

นอกจากนั้น ในวันที่ 2 ม.ค.56 วันเดียวกัน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม สร้างผลงานให้เจ้านายต้อนรับปีใหม่ โดยได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ 1/ 2556 เรื่องเพิกถอนคำสั่งกระทรวงกลาโหม

ทั้งนี้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ประกอบกับมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ยศทหาร พ.ศ.2479 และข้อบังคับ กห.ว่าด้วยการบรรจุ ปลด ย้าย เลื่อนและลดตำแหน่งข้าราชการกลาโหม พ.ศ.2502 หมวด 1 ข้อ 4 (2) จึงให้เพิกถอนคำสั่งดังต่อไปนี้

1.คำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ 720/30 ลง 7 ส.ค. 30 เรื่อง บรรจุบุคคลเข้ารับราชการเฉพาะในรายหมายเลข 1 นายอภิสิทธิ์ หมายเลขประจำตัว 6302030807 คุณวุฒิ Bachelor of Arts (Philosophy, Politics, and Economics) แห่ง University of Oxford ประเทศอังกฤษ เป็นข้าราชการกลาโหมพลเรือนชั้นสัญญาบัตร ตำแหน่ง รร.อจ.ส่วนการศึกษา รร.จปร. (ชกท.2701) (อัตรา พ.ต.) รับเงินเดือน ระดับ น.1 ชั้น 3 (2,765 บาท) นอกนั้นคงเดิม

2.คำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ 339/31 ลง 26 เม.ย.31 เรื่องแต่งตั้งข้าราชการกลาโหมพลเรือนเป็นนายทหารสัญญาบัตร เฉพาะในรายหมายเลข 1 ว่าที่ ร.ต.อภิสิทธิ์ หมายเลขประจำตัว 6302030807 รรก.อจ.ส่วนการศึกษา รร.จปร. (เหล่า สบ.) นอกนั้นคงเดิม
ทั้งถูกถอดยศ ทั้งถูกดำเนินคดีร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนา แต่พรคประชาธิปัตย์ยังไม่เพลี่ยงพล้ำเสียทีเดียวนัก

นักกฎหมายหลายคนเชื่อว่า ธาริตอาจจะมีชะตากรรมไม่แตกต่างจาก พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ อดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ที่สำคัญธาริต มีโอกาสถูกฟ้องหลายคดีพอสมควร โดยฐานความผิดตามประมวลกฎหมายและวิธีพิจารณาความคดีอาญา หมวดที่ 2 ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมมาตรา 200 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา หรือจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดๆ ในตำแหน่งอันการมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใด มิให้ต้องโทษหรือให้รับโทษน้อยลง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน สูงสุดถึง 7 ปี และเสียค่าปรับ 1,000-14,000 บาท และถ้าการกระทำหรือไม่กระทำนั้นเป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ รับโทษหนักขึ้น หรือต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึ ง 20 ปีและปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 40,000 บาท

มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 - 20,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ

4) พรรคเพื่อไทย พรรคที่มีทักษิณ เป็นเจ้าของ มีจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค และภูมิธรรม เวชยชัย เป็นเลขาธิการพรรค เป็นพรรคขาดแคลนบุคคลากรที่มีคุณภาพมาก
นั่นจึงทำให้การแต่งตั้งรัฐมนตรีมีข้อจำกัด

ที่สำคัญเจ้าของพรรคยังแสดงพฤติกรรมต่อต้านสถาบันสำคัญของไทย โดยได้รับอิทธิพลความคิดจากฝ่ายซ้ายในอดีต

มวลชนจำนวนมากที่ฐานเสียงนักการเมืองพรรคนี้ จะมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแปลงกายเป็นคนเสื้อแดง จนไม่สามารถแยกแยะระหว่างหัวคะแนนของพรรค กับแกนนำเสื้อแดง
ในปัจจุบัน แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะกุมอำนาจรัฐอยู่จริง ด้วยจำนวน ส.ส.มากถึง 265 คน แต่กลับไม่สามารถสร้างความยอมรับให้เกิดขึ้นได้ทั่วประเทศ ที่สำคัญยังไม่สามารถ “ใช้อำนาจ” ได้เต็มที่
นอกจากนั้น แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่มีปัญหาทางการเงิน แต่การเปิด “โอกาสให้โกงกันอย่างเปิดเผย” แสดงถึง “ส่วย” ที่จะต้องส่งให้กับผู้ที่อยู่เบื้องหลังจำนวนมาก ซึ่งกลายเป็นจุดอ่อนของระบบประชาธิปไตยไทยมากที่สุด

ภายใต้การนำของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทยยังไม่สามารถแสดง “จุดยืนทางการเมือง” ที่ชัดเจน นอกจากการแก้ปัญหาแบบรายวัน

นั่นจึงทำให้เสียงวิจารณ์ว่า “ผู้นำไม่มีสมอง” จึงมีน้ำหนักมากพอสมควร

มิหนำซ้ำยังมีปัญหาในการบริหารจัดการภายใน จนทำให้กลุ่มทุนที่ร่วมลงขันกับทักษิณ มีบทบาทต่อการกำหนดผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรี

ไม่แปลกที่คนอย่างพงศ์เทพ เทพกาญจนา หรือวราเทพ รัตนากร อดีตคนสนิทของเนวิน ชิดชอบ จึงนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี เมื่อพ้นโทษแบนทางการเมือง

แต่พรรคเพื่อไทยยังมีจุดแข็งในเชิงทางการตลาด โดยผลักดันนโยบายประชานิยม เพื่อรักษาอำนาจไว้ให้นานที่สุด

5) กลุ่มพลังทางการเมือง กลุ่มมวลชนที่สำคัญยังคงเป็น กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มคนเสื้อแดง และกลุ่มคนสายกลาง ทั้งสามกลุ่มนี้ มีเพียงสองกลุ่มแรกเท่านั้นที่มีระบบการจัดตั้ง และต้องการดึงกลุ่มคนสายกลางเข้ามาสนับสนุน

ปัญหาของทั้งสามกลุ่มก็คือ มองภาพประชาธิปไตยแตกต่างกัน

กลุ่มพันธมิตร ต้องการรักษาสถาบันหลักของชาติเป็นสำคัญ และต้องการระบบประชาธิปไตยที่โกงกิน ตะกละตะกราม

แต่กลุ่มคนเสื้องแดง ต้องการประชาธิปไตยที่เปิดเวทีให้พวกเขามีสิทธิ์ มีเสียงด้วย โดยไม่สนว่าใครจะโกงจะกินกันอย่างไร และมีเพียงคนบางคนกลุ่มในเสื้อแดงเท่านั้นที่ต่อต้านสถาบันหลักของชาติ
ภาพที่แตกต่างกันทั้งสองกลุ่ม จะขมวดปมไปที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งถือกันว่า เป็นการยอมรับสิทธิ์และความคิดเห็นของแต่ละฝ่ายอย่างเป็นทางการ

โดยที่ผลประโยชน์ในรัฐธรรมนูญ จะแสดงออกผ่านตัวหนังสือที่เขียนไว้

ดังนั้นโดยสรุปแล้ว ความขัดแย้งเชิงอำนาจทางการเมืองในปี 2556 จึงยังโฟกัส “ผลประโยชน์ในรัฐธรรมนูญปี 50” เป็นสำคัญ


กำลังโหลดความคิดเห็น